xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นน้ำท่วมทำขนส่งเวชภัณฑ์สะดุด รพ.ขอนแก่น ลดปริมาณจ่ายยาคนไข้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 สำหรับโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ณ ขณะนี้ยังไม่มีปัญหาขาดแคลนยา เพราะมีสำรองในโกดังเวชภัณฑ์สามารถให้บริการคนไข้ได้นาน1-2เดือน
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - หวั่นสภาพปัญหาน้ำท่วมขังนานพ่นพิษถึงผู้ป่วย แม้โรงงานผลิตยาส่วนใหญ่ยังเดินเครื่องได้ แต่การขนส่งเวชภัณฑ์ส่งโรงพยาบาลต่างจังหวัดอาจสะดุด โรงพยาบาลศรีนครินทร์เผยสต๊อคยาอยู่ได้นาน1-2เดือนแต่ประสานขอความช่วยเหลือจากมทบ.23ไว้แล้ว ขณะที่โรงพยาบาลขอนแก่นลดปริมาณยาให้คนไข้เพื่อให้เหลือใช้นานที่สุด และหากโรงงานหยุดผลิตพร้อมเสนอให้ สธ. นำเข้ายา บรรเทาปัญหาขาดแคลน

ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ คณะบดีคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.)เปิดเผยถึงการสำรองยาหรือเวชภัณฑ์ของโรงพยาบาลศรีนครินทร์และศูนย์หัวใจสิริกิติ์ว่า ณ ขณะนี้ยังไม่มีปัญหาขาดแคลนยาสำหรับแจกจ่ายให้กับคนไข้แต่อย่างใด เพราะได้ทำการสต๊อกยาไว้ใช้ประมาณ 1- 2 เดือน อย่างไรก็ตามหากภาวะน้ำท่วมยังคงเป็นเช่นนี้อีกนาน การขาดแคลนยาสำหรับคนไข้ที่มารักษาอาจจะเกิดขึ้นได้เช่นกัน

ดังนั้น จึงได้มีการประสานไปยัง มณฑลทหารบกที่ 23 เพื่อขอความช่วยเหลือในการขนส่งยามาให้ หากจำนวนยาที่มีในสต๊อกจะไม่พอสำหรับจ่ายให้กับคนที่เข้ามารักษาตัวกับสถานพยาบาลทั้งสองแห่งของเราจริงๆ

สำหรับการสำรองยาของทางโรงพยาบาลศรีนครินทร์นั้นมีสำหรับจ่ายยาให้กับคนไข้ได้นาน 25-27 วัน ส่วนศูนย์หัวในสิริกิติ์ มีสต๊อกไว้นาน 45 วัน เชื่อว่าปัญหาขาดแคลนยาเวชภัณฑ์คงไม่เกิดขึ้น เนื่องจากบริษัทที่ผลิตยาส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรม บางบริษัทอาจจะถูกน้ำท่วมบ้าง แต่ก็มีจำนวนไม่มาก จะติดขัดเพียงปัญหาการขนส่งเท่านั้น ซึ่งรถขนส่งทั่วไปไม่สามารถส่งมอบยาให้ได้ แต่ทางเราได้ประสานกับทางทหารเอาไว้

ด้าน นพ.วีระศักดิ์ อนุตรอังกูร รองผู้อำนวยการด้านระบบบริการสุขภาพ โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น กล่าวว่า โรงพยาบาลขอนแก่นไม่ต่างจากที่อื่นๆ กรณีปัญหาการขาดแคลนยาที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากโรงงานที่ผลิตยาส่วนหนึ่งผลิตไม่ได้ สำหรับการเตรียมรับกับปัญหาในช่วงนี้คือ ลดจำนวนการจ่ายยาให้คนไข้ลง เดิมที่เคยจ่ายยาให้คนไข้รับประทานนาน 3 เดือน ก็ลดลงลงเหลือ 1-2 เดือน

ประการต่อมา ได้ประสานไปยังเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ที่ประจำในพื้นที่ พยายามให้ดูแลรักษาคนไข้หรือผู้ที่เจ็บป่วยให้อยู่ในพื้นที่ก่อน ไม่ให้เคลื่อนย้ายเข้ามายังโรงพยาบาล ซึ่งคงจะช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่หากภาวะน้ำท่วมยังคงอยู่ ต้องมีการร่วมวางแผนกับกระทรวงสาธารณสุขว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

นพ.วีระศักดิ์ ระบุว่า หากสถานการณ์น้ำท่วมยังคงมีอยู่ต่อไป คงจะต้องทำหนังสือเสนอไปยังกระทรวงสาธารณสุขเพื่อหาทางแก้ไข เช่น อาจจะเสนอให้นำเข้ายาจากต่างประเทศเหมือนสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นอื่นๆ ซึ่งขณะนี้ทางผู้บริหารของโรงพยาบาลในจังหวัดร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และ ขอนแก่น กำลังหารือร่วมกัน ทั้งประเด็นการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากพื้นที่น้ำท่วม และปัญหาการขาดแคลนยาที่อาจเกิดขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น