xs
xsm
sm
md
lg

วุฒิฯ รุมสับ ศปภ.บ้อท่าแก้น้ำท่วม-บริหารไร้ธรรมาภิบาล ส่อขัด รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา (ภาพจากแฟ้ม)
ที่ประชุมวุฒิฯ รุมสับ ศปภ.ไร้แผนแก้น้ำท่วม “วีรวิท” ซัดบริหารงานไร้ธรรมาภิบาล ส่อขัด รธน. แนะดึงนโยบายเตรียมพร้อมแห่งชาติปี 48 มาใช้ หยุดลองผิดลองถูกทำประชาชนเดือดร้อนถ้วนหน้า “สุรชัย” ฉะชาวบ้านจะจมน้ำตาย รัฐบาลกลับสร้างภาพว่าน้ำลดแล้ว จี้แจ้งความจริง-เยียวยาให้เต็มที่ “สมชาย” ทวงอภิปรายตาม ม.161 ที่รัฐบาลรับนัดไว้ก่อนปิดสมัยประชุม

วันนี้ (21 พ.ย.) ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมวุฒิสภา พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้สมาชิกหารือถึงปัญหาต่างๆ โดยสมาชิกส่วนใหญ่ได้อภิปรายสะท้อนถึงความล้มเหลวการแก้ไขปัญหาน้ำทวมของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) อย่างกล้างขวาง โดย พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า จากการติดตามการทำงานของ ศปภ.ทำให้พบว่าขณะนี้ ศปภ.ยังไม่มีแผนงานที่เป็นระบบต่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเมื่อเร็วๆ นี้ นายถิรชัย วุฒิธรรม เลขานุการ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และเลขานุการผู้อำนวยการ ศปภ. กล่าวยอมรับกับสื่อมวลชนว่าการบริหารงานที่ผ่านมาของ ศปภ.ไม่มีแผนงานการดำเนินการต่างๆ เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

พล.อ.อ.วีรวิทกล่าวต่อว่า ดังนั้นการดำเนินงานของ ศปภ.ถือว่า เป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักการบริหารบ้านเมืองที่ดี และขัดต่อรัฐธรรมนูญที่ควรต้องมีแผนการทำงาน ทั้งนี้ ล่าสุดนั้นโฆษก ศปภ.ได้แถลงข่าวว่ากรณีที่เกิดปัญหาประชาชนประท้วงให้เปิดคันกั้นน้ำ ศปภ.ไม่สามารถปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของรัฐบาล โดยเฉพาะกรณีการใช้บิ๊กแบ็กได้ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นการสะท้อนภาพการบริหารราชการแผ่นดินที่ขาดธรรมาภิบาล

“คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการปฏิรูประบบงานความมั่นคงของรัฐ วุฒิสภา ได้ส่งข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลให้นำนโยบายการเตรียมพร้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2548 มาใช้ เพื่อให้มีการบริหารจัดการและการบริหารวิกฤตของชาติเป็นไปอย่างถูกต้องเป็นระบบ และมีธรรมาภิบาล เป็นไปตามหลักวิชาการไม่ใช่ทำอย่างลองผิดลองถูกอย่างปัจจุบัน และอย่าให้การบริหารของ ศปภ.ทำให้ประชาชนมีความเดือดร้อนมากกว่าที่ต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน” พล.อ.อ.วีรวิทกล่าว

ด้าน นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา กล่าวในกรณีเดียวกันว่า จากปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่และบางพื้นที่ยังพบว่ามีความขัดแย้งของประชาชน ที่ถกเถียงเรื่องพื้นที่น้ำลด และน้ำไม่ลดนั้น ขอให้รัฐบาลกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อระงับความขัดแย้ง เบื้องต้นรัฐบาลต้องสื่อสารกับประชาชนที่พื้นที่ที่น้ำไม่ลดให้ชัดเจนว่าจะบริหารจัดการน้ำท่วมขังให้แล้วเสร็จเมื่อใด และมีความชัดเจนในการเยียวเป็นกรณีพิเศษอย่างไร รัฐบาลอย่าบอกว่าไม่มีงบประมาณ เพราะตนมองว่ารัฐบาลสามารถชะลอโครงการประชานิยมที่ไม่เป็นประโยชน์บางโครงการออกไปได้เพื่อนำงบประมาณไปเยียวยาปัญหาของประชาชน

ขณะที่ นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลพยายามเสนอภาพสถานการณ์น้ำท่วมว่าน้ำลดแล้ว แต่ยังมีประชาชนจำนวนหนึ่งที่ยังประสบภัยอยู่ โดยส่วนหนึ่งเกิดจากการบริหารจัดการน้ำของรัฐด้วยการกักเก็บน้ำไว้เพื่อผลักดันน้ำตามช่องทาง ทำให้เกิดผู้ประสบอุทกภัยเหนือคันกั้นน้ำ จึงขอฝากไปยังรัฐบาลให้ชดเชยผู้ประสบภัยจากการจัดการน้ำของรัฐได้รับการชดเชยมากกว่าที่ได้กำหนดไว้ เพราะการบริหารจัดการที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ประสบภัยเดือดร้อนมากขึ้น

ส่วน นายชรินทร์ หาญสืบสาย ส.ว.ตาก กล่าวว่า ขณะนี้ยังคงมีปัญหาการบริหารจัดการน้ำจากการรื้อคันกั้นน้ำระหว่าง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี กับเขตบางพลัด กรุงเทพฯ เนื่องจาก อ.บางกรวยังคงมีน้ำท่วมต่อเนื่อง จึงไปรื้อคันกันน้ำบริเวณบางบำหรุ ทำให้ปริมาณน้ำในเขตบางพลัดกลับเพิ่มขึ้นอีก จึงขอฝากรัฐบาลเจรจากับชาวบ้านให้เจรจากับชาวบางกรวย โดยให้ความช่วยเหลือเยียวยาชาวบางกรวยมากกว่าที่กำหนดไว้และขอให้ชาวบางกรวยอดทนสักระยะ ทั้งนี้เพื่อให้น้ำในเขตบางพลัดลดลงเร็วขึ้น

นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ได้กล่าวในช่วงหารือกับที่ประชุมวุฒิสภาว่า ตามที่ตนได้รวบรวมรายชื่อ ส.ว.จำนวน 79 ราย ยื่นเรื่องขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 เพื่อขอให้รัฐบาลมาชี้แจงสถานการณ์ท่วม แม้รัฐบาลจะเปิดให้มีการอภิปรายของที่ประชุมร่วม 2 สภาตามมาตรา 179 ไปแล้วก็ตาม แต่เห็นว่าเป็นคนละประเด็น ดังนั้นสถานการณ์ที่ยังคงมีปัญหาอยู่จึงขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการเรื่องนี้ก่อนจะปิดสมัยประชุมด้วย

นายสมชายกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่ยังคงมีอยู่ เพราะมีคำถามว่าขณะนี้น้ำทางฝั่งตะวันออกของ กทม.ไปถึงคลองด่านแล้วหรือยัง สิ่งเหล่านี้ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ยังไม่ได้ดำเนินการให้เรียบร้อย เช่นเดียวกับเงินเยียวยา 5,000 บาทต่อครัวเรือนนั้นไม่สามารถเยียวยาความรู้สึกของประชาชนได้ เพราะมันเล็กน้อยเกินไป สิ่งที่เราควรทำคือการเร่งระบายน้ำออก
กำลังโหลดความคิดเห็น