ครม.ไฟเขียว งบ ส.กยน.150 ล.ไฟเขียว ช่องทางหาเงิน ตั้งอภิมหากองทุนช่วยน้ำท่วม 3.5 แสนล้าน สร้างเมกะโปรเจกต์วางระบบต้น-กลาง-ปลายน้ำ ปลดล็อก พ.ร.บ.ธปท.เพิ่มเงื่อนไข เปิดทางระดมทุน พร้อมตั้งกองทุนประกันน้ำท่วม 5 หมื่นล้าน สร้างความอุ่นใจวงการธุรกิจประกันภัย
วันนี้ (27 ธ.ค.) นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.รับทราบ และเห็นชอบตามมติคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ตามที่เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ เสนอแนวทางการกำหนดกรอบอัตรากำลังเจ้าหน้าที่สำหรับปฏิบัติงานในสำนักงานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (ส.กยน.) จำนวน 31 คน ประกอบด้วย รองเลขาธิการ หรือผู้ช่วยเลขาธิการ 1 คน ข้าราชการ 10 คน พนักงานราชการและลูกจ้าง 20 คน โดยการยืมตัวบุคคลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจัดจ้างเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมกรอบอัตรากำลังของ ส.กยน.ในเบื้องต้นจำนวน 31 คน และการจัดสรรกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2555 จากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน จำนวน 153.76 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของ ส.กยน.
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบตามที่ นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ได้เสนอการเตรียมการด้านการเงินเพื่อการลงทุนวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ ดังนี้ 1.โอนหนี้คงค้างจากการแก้ไขปัญหาของสถาบันการเงินเมื่อปี 2540 ให้กับกองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF) และให้ ธปท.เป็นผู้บริหารจัดการและชำระหนี้ โดยไม่นับรวมเป็นหนี้สาธารณะ 2.จัดตั้งกองทุนเพื่อสร้างอนาคตประเทศ และเตรียมการกู้เงินเพื่อลงทุนวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศให้กับกองทุนฯบริหารในวงเงินเบื้องต้น 350,000 ล้านบาท 3.แก้ไข พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ ธปท.สามารถให้สินเชื่อผ่อนปรนแก่สถาบันการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบผลกระทบจากน้ำท่วมในปี 2554 ในวงเงิน 300,000 ล้านบาท
4.ขยายการดำเนินการของกองทุนวายุภักษ์ เพื่อเพิ่มความสามารถของรัฐวิสาหกิจในการระดมทุนเพื่อการลงทุน และลดภาระหนี้สาธารณะของรัฐวิสาหกิจ 5.จัดตั้งกองทุนประกันภัยน้ำท่วม วงเงิน 50,000 ล้านบาท เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการและสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจประกันภัยของไทย และ 6.จัดให้มีระบบการบริหารจัดการน้ำที่มีความเป็นเอกภาพในการสั่งการ (Single Command Authority) โดยพิจารณาจัดตั้งหน่วยงานกลางที่มีอำนาจบริหารจัดการและสั่งการที่บูรณาการและต่างประเทศ ในการเผชิญเหตุกับเหตุการณ์น้ำท่วมทุกกรณีทั้งในยามปกติและยามฉุกเฉิน รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับธุรกิจประกันภัยต่อ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการลดความเสี่ยงจากการขึ้นค่าเบี้ยประกันและการไม่ต่อประกัน