ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ถึงชั่วโมงนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า 1 ในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล "ทักษิณส่วนหน้า" คือการล้วงบัญชีทุนสำรองพิเศษหรือภาษาชาวบ้านเรียก "คลังหลวง" ออกมาใช้ โดยใช้อำนาจรัฐออกเป็นพระราชกำหนด
นอกเหนือจากงบประมาณแผ่นดิน "แม้ว ดูไบ" เห็นขุมทรัพย์มหาศาลที่อยู่ในความดูแลของแบงก์ชาติ เพราะรสชาติความหอมหวานของความมั่งคั่งจากการลอยค่าเงินบาทยังติดอยู่ปลายลิ้น...
ปฏิบัติการ "ปล้นกลางแดด" จึงเกิดขึ้นภายใต้ร่าง พ.ร.ก.การเงินว่าด้วยการปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. .....
หากผ่านด่านแรก (ไม่ต้องส่งเงินเข้าคลังหลวง) ไปได้ การแปรสถานภาพคลังหลวงไปเป็นบริษัทเอกชนเหมือนแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อเอาเงินไปลงทุนหากำไร ย่อมไม่ไกลเกินเอื้อม แม้ ร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าวยังมีขั้นตอนกฤษฎีการและเงื่อนไข 3 ข้อที่รัฐบาลกับแบงก์ชาติต้องชัดเจนคือประเด็นการพิมพ์ธนบัตรใหม่ เงื่อนไขกองทุนสำรองเงินตรา และการเป็นหนี้สาธารณะกับภาระงบประมาณ แต่โดยสรุปประตูคลังหลวงถูกเปิดออกแล้ว!...
***นายใหญ่ใช้ ดร.โกร่ง กางเกงแดง!
การทำสงครามชิงบ้านชิงเมืองรอบใหม่นี้ "ทักษิณ ชินวัตร" มีแกนนำทุกภาคส่วน ไม่ว่าสายการเมือง สายม็อบ สายนักวิชาการ เช่นกันในสายเศรษฐกิจ "วีรพงศ์ รามางกูร" หรือที่นักข่าวรู้จักกันในนาม "ดร.โกร่ง" คือหัวหน้าทีม เพราะรู้กลไกโครงสร้างเศรษฐกิจ กระทรวงการคลังและแบงก์ชาติ
ที่สำคัญ "ดร.โกร่ง" รู้วิธีแปลงนโยบายรัฐบาลเป็นทุนให้เอกชน เพราะเวลาส่วนใหญ่ในชีวิต ดร.โกร่งทำงานอยู่ในบริษัทเอกชนด้วยการรับจ้างเป็นบอร์ด
"วีรพงศ์" จบด็อกเตอร์ สาขาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐ มีต้นทุนสูงจากการเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจรัฐบาลพลเอกเปรมเมื่อครั้งเจอวิกฤตน้ำมันเมื่อปี 2527 ต่อเนื่องมารัฐบาลพลเอกชาติชายและนายอานันท์ ปันยารชุน ทว่า ความเป็นคนเก่งไม่ได้รับประกันถึงพฤติกรรมและลักษณะนิสัยส่วนตัว
ไลฟ์สไตล์ที่มีความสุขกับการใช้ชีวิตในสนามกอล์ฟทำให้ "วีรพงษ์" พอใจกับการรับตำแหน่งประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ตามมติ ครม.ยิ่งลักษณ์ วันที่ 8 พ.ย.54
คนแบงก์ชาติเชื่อว่า "วีรพงศ์" เป็นตัวตั้งตัวตีในการผลักดันหนี้กองทุนฟื้นฟู 1.14 ล้านล้านบาทให้แบงก์ชาติรับผิดชอบ ผ่าน "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" รองนายกฯ อดีตอธิการบดี ม.ชินวัตร อดีตเอ็มดีตลาดหุ้น โดยนำเข้า ครม.ด้วยข้ออ้างเพื่อช่วยลดภาระงบประมาณ ที่สำคัญหนี้ดังกล่าวแบงก์ชาติใช้อุ้มแบงก์พาณิชย์ ก็ต้องไปรับผิดชอบกันเอง
***หลังเล่นละครแหกตาให้ "ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล" รมว.คลัง อดีตเลขา ก.ล.ต. เล่น
บทคนดี คัดค้านการออก พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฯ ต้องทบทวนใหม่ สุดท้าย ครม.ก็ไฟเขียว เกาเหลาระหว่างกิตติรัตน์กับธีระชัยจึงเป็นแค่เกมต่อรองเก้าอี้ภายในพรรคกันเองในฤดูปรับ ครม. เพราะคนกลุ่มนี้มีนายใหญ่คนเดียวกัน***
***“คำนูณ” ชำแหละ “3 ปล้น 1 กดหัว”
โดยสรุป พ.ร.ก.โอนหนี้ให้แบงก์ชาติ กำหนดให้แบงก์ชาติรับผิดชอบชำระหนี้ 1.14 ล้านล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย บังคับแบงก์ชาติให้ใช้หนี้ยังกดหัวให้อยู่ใต้อำนาจ ครม. ยังเปิดช่องให้รัฐบาลดึงเงินทุนสำรองมาใช้ โดยเอาเงินจากบัญชีผลประโยชน์ไปใช้โดยไม่ต้องส่งคลังหลวง ขณะที่แบงก์พาณิชย์ทุกแห่งก็ต้องร่วมชดใช้หนี้ผ่านกองทุนสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
เกี่ยวกับเรื่องนี้ คำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา วิเคราะห์ไว้อย่างชัดเจน ภายใต้หัวข้อ “3 ปล้น 1 กดหัว” ดังนี้
ปล้นที่ 1 ปล้นคลังหลวง (บัญชีทุนสำรองพิเศษ) โดยมาตรา 7(2) กำหนดให้นำเงินที่เหลือในบัญชีผลประโยชน์ประจำปีไปใช้หนี้ที่บังคับโอนมาเลยไม่ต้องส่งไปคลังหลวงตามพ.ร.บ.เงินตรา อันจะทำให้คลังหลวงไม่มีโอกาสจะมีเงินเพิ่มอีกเลยผิดวัตถุประสงค์ของบุรพกษัตริย์และบรรพชนรวมทั้งหลวงตาที่จะให้คลังหลวงมีแต่เพิ่มไม่มีลดเพื่อไว้ใช้ในยามวิกฤตจริงๆ เท่านั้น
ปล้นที่ 2 ปล้นแบงก์ชาติ โดยมาตรา 7(1) กำหนดให้ร้อยละ 90 ของผลกำไรของแบงก์ชาติต้องไปใช้หนี้ที่บังคับโอนมา
ปล้นที่ 3 ปล้นธนาคารพาณิชย์ในลักษณะลงโทษแบบเหมารวม โดยมาตรา 8 - 9 - 10 กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องส่งเงินเข้ากองทุน และนำเงินจากกองทุนสถาบันคุ้มครองเงินฝากมาใช้
ส่วน 1 กดหัว คือกดหัวแบงก์ชาติให้อยู่ใต้อาณัติ ครม. ผิดวิสัยของธนาคารกลางที่มีมาตรฐาน โดยมาตรา 7(3) เปิดกว้างให้ครม.สามารถกำหนดให้แบงก์ชาติโอนทรัพย์สินใดไปใช้หนี้ก็ได้
***ศิษย์หลวงตาแนะประชาพิจารณ์
ทางด้านความเคลื่อนไหวลูกศิษย์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน พระครูอรรถกิจนันทคุณ (พระอาจารย์นพดล นันทโน) เจ้าอาวาสวัดป่าดอยลับงา จ.กำแพงเพชร ในฐานะตัวแทนลูกศิษย์หลวงตาและโครงการผ้าป่าช่วยชาติ ผู้ดูแลเรื่องเงินและทองคำที่บริจาคให้แบงก์ชาติ แสดงความเป็นห่วงในเรื่อง พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟู พระครูอรรถกิจนันทคุณบอกว่าจากการเดินสายพูดคุยกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทุกคนก็ได้รับปากกับคณะลูกศิษย์ว่า จะไม่แตะต้องเงินคลังหลวง ดังนั้นหากมีการแก้กฎหมายอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับทุนสำรองเงินตรา หรือใกล้เคียงกับคลังหลวงได้ ถึงแม้ว่าไม่แตะคลังหลวงในขณะนี้แต่ก็ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงที่จะเจาะเข้ามาที่คลังหลวงได้ในอนาคต การที่รัฐบาลใช้อำนาจในการตัดสินใจด้วยการออก พ.ร.ก. โดยไม่ได้ผ่านความคิดเห็นของประชาชน หรือผู้เกี่ยวข้อง ถือเป็นการผลักภาระหนี้ให้คนอื่น
"รัฐบาลควรจะมีการทำประชาพิจารณ์ เพื่อที่จะแนวคิดร่วมกันของทุกฝ่าย เพราะตลอดเวลาทุกคนเข้าใจตรงกันว่า หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เป็นหนี้สาธารณะ ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องร่วมกันรับภาระ รับควักร่วมจ่าย ให้ใครคนหนึ่งรับอย่างเดียวโดยคนอื่นไม่ควักไม่สมควร เรื่องนี้เราอดเป็นห่วงไม่ได้ เพราะอาจจะกระทบความปลอดภัยและความมั่นคงได้"
***แฉรัฐบาลโอนหนี้ให้ประชาชน
แม้ปัจจุบันสถานะกองทุนฟื้นฟูเป็นนิติบุคคลแยกออกจากแบงก์ชาติ แต่คนในกองทุนฟื้นฟูรู้สึกประหลาดใจกับประเด็นที่ว่าหากมีการโอนหนี้สินดังกล่าวจะส่งผลให้หนี้สาธารณะของรัฐบาลหายไปประมาณ 10% แต่ความเป็นจริงไม่ใช่ เพราะตามกฎหมายของการนับหนี้สาธารณะ หนี้ของกองทุนฟื้นฟู ไม่ว่า รัฐบาลจะค้ำประกันหรือไม่ ยังเป็นหนี้สาธารณะของรัฐบาลเช่นเดิม การโอนภาระหนี้ดังกล่าวมาให้กองทุนฟื้นฟู จึงไม่ได้ทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีลดลงแต่อย่างใด
การโอนหนี้มาทำให้ฐานะกองทุนฟื้นฟูติดลบจำนวนมาก ทำให้การออกพันธบัตรเพื่อระดมเงินมาชำระหนี้เงินต้นแทนรัฐบาล หากจะทำในอนาคตมีต้นทุนที่สูงกว่าการต่ออายุพันธบัตรรัฐบาลเดิมมาก ดังนั้นถ้าต้องมีการรีไฟแนนซ์พันธบัตรรัฐบาลที่ออกให้กองทุนฟื้นฟู จะกลายเป็นมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นได้
ส่วนการกำหนดให้กองทุนฟื้นฟูเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมจากแบงก์พาณิชย์ ในขณะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้สถาบันคุ้มครองเงินฝากอยู่แล้ว 0.4% ของเงินฝากรวมทั้งระบบ ทำให้แบงก์พาณิชย์ต้องผลักภาระค่าธรรมเนียมดังกล่าวมายังประชาชนมากขึ้น สุดท้ายกลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของคนไทย
***เตือนสุดท้ายกลับไปเป็นภาระคลัง
ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ยอมรับว่าการโอนหนี้ทั้งก้อนมาให้กองทุนฟื้นฟู จะมีผลให้ฐานะกองทุนฟื้นฟูติดลบ เนื่องจากมีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์ที่กองทุนฟื้นฟูมีอยู่ จึงต้องให้ชัดเจนก่อนว่าจะให้กองทุนฟื้นฟูใช้เครื่องมืออะไรในการบริหารจัดการหนี้ และคำว่า “ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท.” ก็ต้องรู้รายละเอียดว่าจะให้ ธปท.ดำเนินการอย่างไรเพราะไม่อย่างนั้นท้ายที่สุดแล้วหนี้ดังกล่าวก็จะกลับกลายมาเป็นภาระการคลังได้
“ในกฎหมาย พ.ร.บ.ธปท.ปี 51 ให้ยกเลิกบทบาทกองทุนฟื้นฟู ในช่วงกลางปีนี้ กระทรวงการคลังจึงส่งจดหมายให้คงสถานะกองทุนฟื้นฟูไว้ก่อน เพื่อช่วยแก้ปัญหาในอนาคตหากเกิดมีปัญหาเกิดขึ้น ซึ่งเป็นคนละวัตถุประสงค์นี้ จึงไม่ใช่บทบาทให้กองทุนฟื้นฟู เพื่อกลับไปแก้ไขปัญหาหนี้ในอดีต”
นอกจากนี้ หากในอนาคตกองทุนฟื้นฟู จะออกพันธบัตรมาชำระหนี้และให้แบงก์ชาติเป็นผู้ซื้อ แบงก์ชาติอาจไม่สามารถซื้อพันธบัตรได้ เพราะการซื้อจะต้องดูฐานะผู้ออกพันธบัตรกับคุณภาพพันธบัตร หากผู้ออกพันธบัตรมีฐานะย่ำแย่ แบงก์ชาติอาจจะซื้อไม่ได้เพราะผิดกฏหมาย
ขณะที่ "กรณ์ จาติกวณิช" อดีต รมว.คลัง มองว่า หนี้สาธารณะลดลงไม่จริง อาจลดลงแค่ตัวเลข สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำคือการโยกหนี้ออกไปอยู่นอกบัญชีเพื่อกู้เพิ่มเติมได้ เท่ากับเป็นการหลอกตัวเอง และเพิ่มภาระให้ประเทศชาติมากขึ้น นอกจากนี้การออก พ.ร.ก.ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของแบงก์ชาติและเศรษฐกิจของประเทศ
จะเห็นว่า "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" ไม่สนใจสารพัดปัญหาจากการออก พ.ร.ก.โอนหนี้ฯ ขอแค่โยนภาระหนี้ 1.14 ล้านล้านบาท ให้พ้นทางไปก่อน แบงก์ชาติไปจัดการเอาเอง จากนี้ไปรัฐบาลจะได้ใช้งบประมาณอย่างเมามัน ไม่ต้องแบ่งไปใช้หนี้กองทุนฟื้นฟู แถมยังกู้เพิ่มได้อีกเพราะอ้างว่าหนี้ลดลง หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน ปฏิบัติการล้วงทุนสำรองในคลังหลวงออกมาต่อยอด โกยเงินมหาศาลเข้ากระเป๋านักการเมืองที่มีนายใหญ่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จ ประเทศไทยก็จะเป็น แค่ลูกไก่ในกำมือ...?!