xs
xsm
sm
md
lg

“ศิษย์หลวงตาบัว” ยันเคลื่อนไหวต้าน พ.ร.ก.โอนหนี้ฯ “คำนูณ” ชี้อันตรายยิ่งกว่าแก้ รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ศิษย์หลวงตามหาบัว” ยันพร้อมเคลื่อนไหวต้านการออก พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ เนื่องจากกระทบคลังหลวง วอนรัฐบาลทบทวนใหม่หากจริงใจต่อประเทศจริง ด้าน “คำนูณ” ย้ำเป็นการปล้น “คลังหลวง-แบงก์ชาติ-ประชาชน” ที่สำคัญทำลายระบบธนาคารกลางให้อ่อนแอ ส่งผลต่อเศรษฐกิจประเทศในอนาคต ชี้อันตรายใหญ่หลวงยิ่งกว่าการแก้รัฐธรรมนูญเสียอีก

 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายการ “คนเคาะข่าว”  

วันที่ 5 ม.ค. เมื่อเวลา 20.30 น. คณะลูกศิษย์หลวงตามหาบัว ประกอบด้วย พระครูอรรภกิจนันทคุณ (พระอาจารย์นพดล) พระครูนิรมิตวิยากร (พระอาจารย์วิทยา) พระครูวัชรธรรมาจารย์ (พระอาจารย์จิรวัฒน์) พระสรรวัต ปภัสสโร และนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้ร่วมพูดคุยในรายการ “คนเคาะข่าว” ทาง ASTV ถึงประเด็น “พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ”

พระอาจารย์นพดลกล่าวว่า พบว่าการออก พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. ..... เกี่ยวข้องกับคลังหลวง เลยจำเป็นต้องออกมาบอกให้สังคมจับตาดู เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายได้

พระอาจารย์วิทยากล่าวว่า อยากให้ทบทวนพระราชกำหนดในมาตราที่จะกระทบต่อคลังหลวง เช่น มาตรา 7(2) และ 7(3) แม้ไม่มีผลตอนนี้ แต่อนาคตมันกระทบคลังหลวงแน่นอน แม้รัฐบาลไม่แตะโดยตรง แต่การบีบแบงก์ชาติให้มารับภาระหนี้สินทั้งหมดโดยที่แบงก์ชาติไม่ได้มีหน้าที่ตรงนี้ ก็จะมีเหตุให้กระทบเงินทุนสำรองได้ จึงอยากเตือนว่าถ้าจะออกเป็น พ.ร.ก.ให้หยุดไว้ก่อน

พระอาจารย์วิทยากล่าวอีกว่า เห็นใจรัฐบาลต้องหาเงินกู้เงินมาเยียวยาน้ำท่วม แต่ไม่ควรอ้างน้ำท่วมมาเป็นเหตุกระทบคลังหลวง หากจริงใจต่อประเทศจริงควรหาวิธีเยียวยาประเทศด้วยวิธีที่ไม่กระทบต่อคลังหลวง พวกตนไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องการเงินแต่เชื่อในคำสั่งของหลวงตามหาบัว ว่าหากใครมาแตะต้องคลังหลวงถือว่าเป็นมหาโจร รัฐบาลปากบอกไม่แตะ เชื่อไม่ได้ เพราะวิธีการมันแตะ ถ้าไม่แตะจริงๆแนวทางที่ทำก็ต้องไม่ส่อแววด้วย พวกตนจึงออกมาเตือนประชาชนก่อนว่าอาจจะเกิดความเสียหายได้ ซึ่งหากรัฐบาลออก พ.ร.ก.นี้ ก็จำเป็นต้องเคลื่อนไหว ส่วนจะเคลื่อนไหวอย่างไรต้องรอดูว่ารัฐบาลจะเอาอย่างไร

พระอาจารย์สรรวัตกล่าวว่า ใน พ.ร.ก.มาตรา 7(3) ให้มติ ครม.สามารถโอนเงินหรือสินทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศ หรือกองทุนฟื้นฟูฯ เข้าไปใช้หนี้ได้ ซึ่งอันนี้อันตราย เพราะจะมีรัฐบาลชุดไหนบ้างที่มีคุณธรรมพอ ในเมื่อกฎหมายเปิดกว้างมาก อาจเกิดปัญหาต่อระบบการบริหารการเงินของประเทศ จะเกิดปัญหาอย่างใหญ่หลวง ถ้าออก พ.ร.ก.นี้สำเร็จอาจมีผลกระทบต่อเครดิตของประเทศ ตรงนี้ประเทศจะมีแต่จนลง ขอให้ทบทวนใหม่ได้หรือไม่ แต่ถ้าไม่มีทางออกจริงๆ ก็ควรเปิดให้มีประชาพิจารณ์

นายคำนูณกล่าวขยายความว่า ประเด็นนี้เคยมีมติ ครม.ออกมาเมื่อปลายปีที่แล้ว แต่ช่วงเทศกาลปีใหม่ ผู้คนไม่สนใจนัก เขามีแนวโน้มที่จะออก พ.ร.ก.มา 4 ฉบับ แนวทางการแก้ปัญหาก็คือ 1. ออกกฎหมายให้แบงก์ชาติออกซอฟท์โลน 3 แสนล้านบาท 2. ออก พ.ร.ก.เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท ตั้งกองทุนเพื่ออนาคต 3.ออกกฎหมายตั้งกองทุนประกัน 5 หมื่นล้านบาท 4.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯให้กับแบงก์ชาติ ซึ่งแบงก์ชาติไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง โดยนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล (ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย) ก็ออกมาแถลงข่าวคัดค้าน จากนั้นก็มีการหารือเมื่อ 30 ธ.ค. ระหว่างแบงก์ชาติ กระทรวงการคลัง สรุปออกมาว่าจะทำอย่างไรก็แล้วแต่การโอนหนี้จะทำอยู่ภายใต้ 3 กรอบ ก็คือ 1. ต้องไม่เป็นทางให้แบงก์ชาติพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม 2. ต้องไม่กระทบทุนสำรองระหว่างประเทศ เข้าใจว่าสองข้อนี้เป็นเงื่อนไขของผู้ว่าแบงก์ชาติ ส่วนข้อ 3. ต้องไม่กระทบงบประมาณ อันนี้เป็นข้อเสนอของรองนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง หรือรัฐบาล

หลังจากปีใหม่ ร่าง พ.ร.ก.นี้ก็เข้าสู่ ครม. โดยนายกิตติรัตน์ไปแถลงที่ตลาดหลักทรัพย์ ยืนยันว่าเป็นมติ ครม.อนุมัติในหลักการแล้ว และให้กฤษฎีกาไปดูในรายละเอียด จากนั้นให้ดำเนินการได้เลย ไม่ต้องเอาตัวร่างกลับเข้า ครม.อีกครั้ง ถ้าเป็นตามนี้ รองนายกฯ ก็ไม่ควรอยู่เป็นรองนายกฯ อีกต่อไป เรื่องสำคัญแบบนี้รัฐบาลทำลับๆ ล่อๆ ได้อย่างไร

นายคำนูณกล่าวต่อว่า รัฐบาลชุดนี้พยายามเอาเงินคลังหลวงมาใช้ตั้งแต่ขึ้นบริหารประเทศใหม่ๆแต่ก็ถูกคัดค้านจนล้มแผนไป พอเกิดน้ำท่วมเรื่องนี้ก็มาอีกแล้ว ในนามของการแก้ปัญหาน้ำท่วม ที่เขาตั้ง กยน. (กรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารทรัพยากรน้ำ) และกยอ. (คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ) นี่คือการปรับคณะรัฐมนตรีทางประตูหลัง ไม่ใช่ตั้งขึ้นแก้น้ำท่วมเพียงอย่างเดียว แต่ผนวกการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเข้าไปด้วย

ทีนี้ถ้ารัฐบาลจะเอาแต่ พ.ร.ก.กู้เงิน ให้แบงก์ชาติออกซอฟต์โลน 3 แสนล้าน หรือตั้งกองทุนประกัน 5 หมื่นล้าน ตนก็ไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะคัดค้าน

“แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องจับตา คือ ไปเอาเรื่องโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาท เข้ามาผนวกเป็นชุด พ.ร.ก. ซึ่งมันเป็นปัญหาของประเทศจริง แต่ถามว่าเร่งด่วนจนต้องเป็น พ.ร.ก.หรือไม่ ไม่ใช่ เพราะถ้าจะแก้ปัญหาจริง ต้องตกลงพร้อมใจกันระหว่างกระทรวงการคลัง แบงก์ชาติ รัฐบาล และคณะศิษย์หลวงตามหาบัว

แต่ทีนี้กลับเอาเรื่อง 2 เรื่องมาผนวกกัน ตอบได้อย่างเดียวคือ เขาต้องการปลดภาระหนี้ 1.14 ล้านล้านบาทออกไปจากรัฐบาล ออกไปจากกระทรวงการคลัง คิดในเชิงง่ายที่สุด กระทรวงการคลังไม่ต้องตั้งงบประมาณจ่ายดอกเบี้ยปีละประมาณ 4.5-5 หมื่นล้าน แต่คิดอีกทางหนึ่ง จริงๆแล้วต้องการจะเสกหนี้จำนวนนี้ให้พ้นจากความเป็นหนี้สาธารณะ เพื่อจะได้กู้ได้เท่าจำนวน 1.14 ล้านล้านบาท

ต้องบอกว่าเพดานหนี้สาธารณะของไทยยังไม่เต็มเพดาน จริงๆถ้าจะกู้แก้น้ำท่วมสามารถกู้ได้อีก 5-6 แสนล้าน ทีนี้เข้าใจว่าผู้ประสงค์จะออกนโยบายเช่นนี้ มีวาระซ่อนเร้นที่ต้องการใช้สถานการณ์น้ำ ที่ผู้คนกำลังเดือดร้อน ผ่านการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ออกไป เพื่อเสกหนี้ตัวนี้ไปซุกไว้ที่แบงก์ชาติ จึงขอเรียกมันว่า พ.ร.ก.ซุกหนี้ มันก็เป็นหนี้ของประเทศนั่นแหละ ซุกที่ไหนก็เป็นหนี้ประเทศ แต่มันมีนัยยะการนิยามว่าเป็นหนี้สาธารณะหรือไม่ นี่ยังถกเถียงกัน แต่อย่างเบาที่สุดคลังจะหมดภาระปีละ 5 หมื่นล้านบาท เพื่อจะได้ไปกู้หนี้ยืมสินใหม่มาได้ อันนี้คือความสำคัญ” นายคำนูณกล่าว

นายคำนูณกล่าวอีกว่า ดูร่าง พ.ร.ก.แล้ว พูดได้สั้นๆ ว่า 3 ปล้น 1 ทำลาย

1. ปล้นธนาคารแห่งประเทศไทย มาตรา 7(1) กำหนดให้ 90 เปอร์เซ็นต์ของเงินกำไรของธนาคารแห่งประเทศไทยต้องไปใช้หนี้ ซึ่งมาตรา 7(3) อันตรายที่สุด คือกำหนดให้มติครม.สามารถโอนเงินหรือสินทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศ หรือกองทุนฟื้นฟูฯ เข้าไปใช้หนี้ได้ สินทรัพย์ของกองทุนฟื้นฟูฯไม่เป็นไร แต่ของธนาคารแห่งประเทศไทยนี้ อย่าประมาทเพราะก็คือเงินตราต่างประเทศ ทุนสำรองระหว่างประเทศ อาจไม่ใช่คลังหลวง แต่เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศในส่วนของการธนาคาร

2. ปล้นคลังหลวง มาตรา 7(2) ระบุไว้ว่า ให้โอนสินทรัพย์คงเหลือในบัญชีผลประโยชน์ประจำปีตามกฎหมายว่าด้วยเงินตราหลังจากการจ่ายเมื่อสิ้นปี เข้าบัญชีตามมาตรา 5 โดยไม่ต้องโอนเข้าบัญชีสำรองพิเศษ บัญชีสำรองพิเศษก็คือคลังหลวง บัญชีผลประโยชน์ประจำปีโดยปกติตามกฎหมายเงินตรา ให้เข้าคลังหลวง แต่มี พ.ร.ก.ปี 45 ให้เงินที่เหลือจากบัญชีผลประโยชน์ประจำปีมาใช้หนี้เงินต้นกองทุนฟื้นฟูฯ แต่ พ.ร.ก.นี้แก้ไข ให้ส่วนที่เหลือจากบัญชีผลประโยชน์ประจำปีมาใช้หนี้ทั้งเงินต้นและทั้งดอกเบี้ยกองทุนฟื้นฟูฯ

แต่ในทางปฏิบัติ แบงก์ชาติใช้หนี้ไม่ได้มา 2 ปีแล้ว เพราะกฎหมายเงินตราออกแบบมาให้คลังหลวงมีแต่ได้ไม่มีจ่ายออก ช่วงที่ค่าบาทแข็ง 2 ปี บัญชีผลประโยชน์ประจำปีเมื่อตีค่าทรัพย์สินแล้วไม่เหลือไปชำระหนี้ได้เลย ด้านบัญชีสำรองพิเศษ (คลังหลวง) ก็มีแต่เงินไหลเข้า เป็นการที่บรรพชนออกกฎหมายเงินตราเพื่อให้ใช้เงินก้อนนี้เมื่อวิกฤติสุดๆจริงๆ เท่านั้น การที่มีมาตรา 7(2) นี้ แม้ว่านายกิตติรัตน์บอกว่าไม่แตะทุนสำรอง ไม่แก้ไขกฎหมายเงินตรา แต่แทงแบงก์ชาติให้ไปแก้กฎหมายเงินตรา อันนี้เป็นการปล้นคลังหลวงทางอ้อม

3. อันนี้เป็นการปล้นที่อันตราย เป็นการปล้นประชาชนและภาคธุรกิจ ผู้ฝากและผู้กู้เงินจากสถาบันการเงิน รัฐบาลไม่อยากยุ่งกับศิษย์หลวงตามหาบัว และผู้ว่าแบงก์ชาติก็ปกป้องเต็มที่ ในการหารือก็เลยจะไปเก็บเงินค่าธรรมเนียมเข้ากองทุนเพิ่มจากสถาบันการเงิน ปกติสถาบันการเงินต้องส่งเงินเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝาก 0.4 เปอร์เซ็นต์ของยอดเงินฝากที่ต้องคุ้มครอง แต่เมื่อออกมาตรา 8 เขาให้เก็บเงินสถาบันการเงินเข้ากองทุนฯ โดยเมื่อรวมกับที่สถาบันการเงินจะต้องจ่ายเข้ากองทุนฯแล้วไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นต์

ที่บอกว่า ปล้นประชาชน และภาคธุรกิจ เพราะมีหรือที่สถาบันการเงินจะรับความเสียหายไว้กับตัวเอง เขาก็จะมาปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เงินฝาก

ที่สำคัญที่สุด คือ หนึ่งทำลาย คือ ทำลายระบบธนาคารกลาง ออกแบบให้ทำหน้าที่ของธนาคารกลาง ก็คือเพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพทางการเงิน และเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน และระบบการชำระเงิน หน้าที่ไม่ใช่เพื่อทำตามคำสั่งรัฐบาล ชำระหนี้แทนรัฐบาล ไม่ใช่แก้ปัญหาเศรษฐกิจ

แต่นี่รัฐบาลกำลังใช้วิธีข่มขืนบังคับขืนใจให้ธนาคารกลางต้องทำ จึงเห็นว่าอันตรายร้ายแรงอย่างใหญ่หลวง เพราะถ้าธนาคารกลางถูกรัฐบาลบังคับให้ทำอะไรก็ได้ ต่างชาติจะเชื่อถือหรือ ธนาคารกลางอ่อนแอลง ระบบเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไรในอนาคต

ยกตัวอย่างง่ายๆ ธนาคารกลางมีหน้าที่กำหนดอัตราดอกเบี้ย ในเมื่อธนาคารกลางเองต้องจ่ายดอกเบี้ยกองทุนฟื้นฟูฯ คิดว่าเขาจะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อให้ตัวเองจ่ายเพิ่มขึ้นหรือ สำหรับตนเรื่องนี้อันตรายกว่าแก้รัฐธรรมนูญอีก



คำต่อคำ รายการ “คนเคาะข่าว” วันที่ 5 มกราคม 2554

เติมศักดิ์- สวัสดีครับ รายการคนเคาะข่าว 5 มกราคม 2555 ประเด็นสนทนาของเราในวันนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ และเกี่ยวข้องกับความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ซึ่งหลายฝ่ายกำลังวิจารณ์ว่าทั้งสองเรื่องนี้กำลังถูกท้าทาย สั่นคลอนอย่างยิ่ง จากการที่รัฐบาลได้ผลักดันที่จะออกกฎหมายโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ จำนวน 1.14 ล้านล้านบาท ให้มาเป็นภาระของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจากเนื้อหาสาระที่มีการเผยแพร่ของสื่อนั้น ก็มีความกังวลว่าจะไปกระทบต่อคลังหลวง กระทบต่อความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ และกระทบต่อสถาบันการเงิน ซึ่งสุดท้ายแล้วคนที่จะรับภาระ หรือว่าจะถูกผลักภาระก็คือผู้ที่ฝากเงิน ก็คือประชาชนทั่วไป

ทำให้วันนี้มีความเคลื่อนไหวที่สำคัญอย่างยิ่ง ก็คือ กลุ่มลูกศิษย์หลวงตามหาบัว ได้เดินทางไป 4 ที่ คือที่กระทรวงการคลัง ทำเนียบรัฐบาล คณะกรรมการกฤษฎีกา และที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อแสดงจุดยืน ขอให้ยกเลิกมาตราที่มีเนื้อหากระทบกระเทือนต่อทุนสำรองเงินตรา หรือคลังหลวง ที่มีอยู่ในพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน

โดยเนื้อหาตอนหนึ่งของหนังสือที่ศิษยานุศิษย์ของหลวงตามหาบัวมีต่อ 4 หน่วยงานสำคัญ ก็คือ ตามที่มีข่าวปรากฏต่อสาธารณะว่าจะมีการดำเนินการออกพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. ... โดยมาตรา 7 (2) ให้โอนสินทรัพย์คงเหลือในบัญชีผลประโยชน์ประจำปี ตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา หลังจากการจ่ายเมื่อสิ้นปี เข้าบัญชี ตามมาตรา 5 โดยไม่ต้องเข้าบัญชีสำรองพิเศษ และในมาตรา 7 (3) ของกฎหมายนี้ ให้โอนเงินหรือสินทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือกองทุนฯ เข้าบัญชีตามมาตรา 5 ตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนดนั้น คณะศิษยานุศิษย์ขององค์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ทั้งบรรพชิต และคฤหัสถ์ เล็งเห็นว่าพระราชกำหนดดังกล่าวกระทบโดยตรงต่อทุนสำรองเงินตรา ซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะล่อแหลม และยังถือได้ว่า ร่างพระราชกำหนดนี้กระทบต่อพินัยกรรมขององค์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

นี่คือที่มาของประเด็นสนทนาของเราในวันนี้ เราจึงได้นิมนต์เรียนเชิญพระลูกศิษย์หลวงตามหาบัว 4 รูป 4 ท่าน มาสนทนากับเราในวันนี้ ประกอบด้วย ท่านแรกพระอาจารย์นพดล นันทะโน ท่านที่ 2 พระอาจารย์วิทยา กิจจวิชโช ท่านที่ 3 พระอาจารย์สรรวัต ปภัสสโร และท่านสุดท้ายพระอาจารย์จิรวัฒน์ อัตตรักโข และวันนี้ผู้ที่ร่วมสนทนากับเราอีกท่านหนึ่งนะครับ สมาชิกวุฒิสภาแบบสรรหา คุณคำนูณ สิทธิสมาน ครับ

ผมเริ่มต้นที่พระคุณเจ้านะครับ ที่วันนี้ได้ไปเคลื่อนไหว 4 ที่ ที่กระทรวงการคลัง ทำเนียบรัฐบาล กฤษฎีกา และที่ธนาคารแห่งประเทศไทย จุดยืนครั้งนี้ ในการเคลื่อนไหวคัดค้านครั้งนี้คืออะไรครับ

พระ อ.นพดล- ที่ไปวันนี้ก็ไปแบบด่วนเลยนะ ตัดสินใจเมื่อเช้า พอดีพระท่านมาหารือด้วยก็เลยรวบรวมกันได้ เพราะว่าถึงแม้คำของท่านรัฐมนตรี ท่านรองนายกฯ จะพูดว่าไม่แตะเงิน ใช้คำว่าเงินหลวงตาด้วยนะ ซึ่งมันผิดสังเกต ใช้คำอย่างนี้ ท่านรองนายกฯ ใช้คำอย่างนี้มันผิดสังเกตตั้งแต่แรกแล้ว เราก็ยังจับไม่ได้ว่ามันจะเกี่ยวคลังหลวงหรือไม่เกี่ยว จนกระทั่งติดตามข่าวจริงๆ แล้ว คิดว่าเกี่ยวแน่นอน ถึงจะพยายามใช้คำเลี่ยงไป แต่ว่าเกี่ยวแน่นอน ก็เลยจำเป็นต้องออกมาเคลื่อน บอกให้สังคมจับตาดู แล้วก็เนื่องจากว่ามันมีแนวโน้มที่จะเป็นพระราชกำหนดด้วย การเตรียมที่จะไม่ให้มันหนักไปกว่านี้ ไม่ให้เกิดความเสียหายได้ ยิ่งจำเป็นต้องเคลื่อนอย่างรวดเร็ว แต่ว่ารัดกุม สุภาพ จึงได้ไปที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะบอกให้สังคมรับทราบเสียก่อนว่าชุดกฎหมายชุดนี้น่าจะอันตรายนะ

เติมศักดิ์- ต้องการให้สังคมได้ตระหนัก ตื่นตัว ว่ากฎหมาย เรียกง่ายๆ ว่ากฎหมายการโอนหนี้มาที่ธนาคารแห่งประเทศไทย โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 1.4 ล้านล้านบาท ไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทย จะกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ วันนี้ทั้ง 4 หน่วยงาน มีปฏิกิริยาอย่างไรบ้างครับ เรียนเชิญท่านพระอาจารย์วิทยาครับ

พระ อ.วิทยา- ทีแรกก็ไปพบรัฐมนตรีฯ คลัง แต่ท่านก็ส่งตัวแทนมารับทราบปัญหา เราก็ยื่นหนังสือไปถึงรัฐมนตรีฯ คลัง เกี่ยวกับข้อ มาตราที่ว่าจะกระทบกระเทือนต่อคลังหลวง แล้วก็ไปที่ทำเนียบรัฐบาล ยื่นหนังสือถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ท่านเป็นหัวหน้ารัฐบาล ก็อยากให้ท่านพิจารณาว่า ในมาตรา 7 (2) กับ 7 (3) ถึงแม้ว่าจะไม่มีผลโดยตรงในตอนนี้ก็ตาม แต่ว่ามันจะเป็นเหตุทำให้ต้องกระเทือนถึงคลังหลวงแน่นอนในอนาคต ถึงแม้รัฐบาลไม่แตะโดยตรงก็ตาม แต่การไปบีบบังคับให้แบงก์ชาติต้องมารับภาระหนี้สินทั้งหมดโดยที่แบงก์ชาติเขาก็ไม่ได้มีหน้าที่ตรงนี้ หน้าที่ของแบงก์ชาติไม่ใช่มาใช้หนี้สิน แล้วมันก็จะมีเหตุทำให้กระเทือนถึงเงินทุนสำรองได้ เหมือนกับว่ารัฐบาลไม่ทำเอง แต่ว่าอาจจะไปบีบ บีบให้แบงก์ชาติไปทำ เพราะฉะนั้นเราก็เป็นห่วงตรงนี้ ก็อยากจะออกมาเตือนไว้ก่อนว่า ถ้ารัฐบาลจะออกเป็นพระราชกำหนด ก็อยากจะให้หลีกเว้นตรงนี้ไว้เสียก่อน อย่าเพิ่งไปทำอะไรให้กระทบกระเทือนคลังหลวงเลย มันจะได้ไม่ต้องเกิดเรื่องเกิดราว เพราะคลังหลวงมันก็เหมือนกับว่า หลวงตาท่านเคยพูดไว้หนักนะ ท่านเทศน์ไว้ตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2543 คล้ายๆ ท่านจะพูดล่วงหน้าเอาไว้ หรือยังไงก็ไม่ทราบ แต่ว่าเนื้อหาของท่านที่ท่านพูด ก็อยากจะอัญเชิญมาให้ท่านทั้งหลายได้รับฟังกัน ท่านบอกว่า "พี่น้องชาวไทยทั้งหลาย มหาโจรจะเข้ามาปล้นบ้านปล้นเมืองดังที่กล่าวเวลานี้ เฉพาะอย่างยิ่งคือคลังหลวงของเรา เราจะยืนตัวแข็งอยู่ หรือจะยืนแบบหลวงตาบัว หลวงตาบัวนี่โบกมือให้เข้ามา ให้โคตรมันเข้ามา อย่าว่าแต่โจร ให้โคตรของโจรเข้ามา จะให้มันตายหมดทั้งโคตรเลย หลวงตาบัวตายเมื่อไรไม่สนใจ จะฟัดกับโจรให้ขาดสะบั้นไปทั้งโคตร นี่พี่น้องชาวไทย เป็นลูกชาวไทย เป็นลูกชาวพุทธ กล้าหาญชาญชัยต่อหลักความจริง ให้เอาหลักความจริงมาปฏิบัติ ควรพลีชีพ ก็พลีชีพลงไป พลีชีพเพื่ออัฐิเพื่อธรรม บูชาธรรมไปเลย แต่พลีชีพแบบมหาโจรนี้ จม จมทั้งนั้น"

นี่เป็นเทศน์ของหลวงตาที่เทศน์ไว้ตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2543 แล้วก็ในพินัยกรรมของท่าน ฝากฝังให้ลูกศิษย์ช่วยกันปกป้องคุ้มครองคลังหลวง เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่ารัฐบาลจะทำ มีหนี้สินมาก อันนี้ก็เป็นเรื่องของหนี้สาธารณะ ซึ่งเราก็เข้าใจอยู่ แต่ว่าวิธีการที่จะไปใช้หนี้สาธารณะนั้น ก็มีวิธีการหลากหลาย ก็อยากให้รัฐบาลช่วยกันหาวิธีการอื่นเสียก่อน ไม่ใช่วิธีการที่มันจะมากระทบกระทั่งคลังหลวง ถึงแม้ พ.ร.ก.นี้ไม่ชี้ชัดก็ตาม แต่ว่าเราก็เชื่อถือไม่ได้ เพราะว่าตัวจริงของ พ.ร.ก.นี้จะออกมาเป็นยังไงก็ไม่รู้

เพราะฉะนั้นเราจึงจำเป็นต้องมาประกาศให้สังคมรับทราบเสียก่อนว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ถ้าหากออกมาแล้ว มากระทบกระเทือนต่อคลังหลวงเมื่อไร เราก็ต้องออกมาปกป้อง

เติมศักดิ์- วันนี้ในการไปที่ทำเนียบรัฐบาล คณะศิษย์ได้พบกับนายแพทย์ประสิทธิ์ ชัยวิรัตนะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ก็มีบทสนทนาอันหนึ่งที่ทำให้น่าคิดเหมือนกันว่า ความสับสนในเรื่องที่ว่าร่าง พ.ร.ก.โอนหนี้ฯ ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.เป็นมติ ครม.ออกมาหรือยัง เราไปดู ไปฟังบทสนทนาที่เกิดขึ้นระหว่างคณะศิษย์หลวงตามหาบัว กับรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายแพทย์ประสิทธิ์ ชัยวิรัตนะ นะครับ น่าสนใจครับ

(VTR : การสนทนาระหว่างคณะศิษย์ฯ + นายแพทย์ประสิทธิ์)

เติมศักดิ์- คุณผู้ชมจะเห็นว่ารองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายแพทย์ประสิทธิ์ ชัยวิรัตนะ ได้บอกกับคณะศิษย์หลวงตามหาบัว ได้บอกกับพระคุณเจ้า ว่าไม่ได้เป็นมติ ครม.

พระ อ.จิรวัฒน์- ไม่มี ไม่เห็น แล้วก็เอามติ ครม.มาให้ดู แต่วันที่ 4 ตอนเย็น นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี ได้แถลงตอนเย็นชัดเจนว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบร่าง พ.ร.ก.ทั้ง 4 ฉบับ เพื่อให้สามารถดำเนินการ และกำหนดกลยุทธ์การพัฒนาประเทศระยะยาวได้ โดยทางกฤษฎีกาเข้าไปดูรายละเอียด คาดว่าภายในวันศุกร์ที่ 6 มกราคมนี้ รายละเอียดต่างๆ จะครบถ้วน ถ้าหากทางกฤษฎีกาไม่มีส่วนใดติดขัดก็ดำเนินการในขั้นตอนการออกกฎหมายได้เลย โดยไม่ต้องเสนอเข้าที่ประชุม ครม.อีกครั้ง ใครโกหกกันแน่เนี่ย

เติมศักดิ์- เป็นคำพูดที่ขัดแย้งกันระหว่างรองเลขาธิการนายกฯ ที่บอกว่ายังไม่มีเป็นมติ ครม.กับรองนายกรัฐมนตรี ที่บอกว่าเป็นมติ ครม.ที่รับหลักการ พ.ร.ก.ทั้ง 4 ฉบับแล้ว

พระ อ.นพดล- ตั้งข้อสังเกตกันใหม่ มันอาจจะเป็นกฎสำนักนายกฯ เกี่ยวกับการประชุม ครม. มันมีสมัยที่คุณทักษิณอยู่ เวลาออกพระราชกำหนดแปลกๆ ออกมา เพราะว่าคุณทักษิณได้แก้ไขระเบียบวิธีการของการประชุม ครม.เรียกว่าการประชุม ครม.ที่มีนายกฯ หรือมีรัฐมนตรีเพียงแค่คน สองคน ก็ถือว่าเป็นการประชุม ครม.จำได้ไหมตอนที่คุณวิษณุเป็นคนร่างให้ แล้วมีระเบียบวิธีการว่าด้วยการประชุม ครม.แบบนี้ ซึ่งอาจจะเป็นอย่างนี้ก็ได้

เติมศักดิ์- ช่วงนี้ผมขออนุญาตมาที่ท่าน ส.ว. คุณคำนูณครับ ตกลงร่าง พ.ร.ก.โอนหนี้ ที่เรากำลังพูดถึง มันมีอันตรายอย่างไร

คำนูณ- ผมเอาเรื่องมติ ครม.หรือไม่ก่อนนะครับ ประเด็นนี้มันเคยมีมติ ครม.ออกมาตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม เมื่อปลายปีที่แล้ว แต่ว่าเนื่องจากอยู่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ผู้คนก็อาจจะยังไม่ได้สนใจนัก จะมี 3-4 ประเด็น ก็คือเขามีแนวโน้มที่จะออก พ.ร.ก.ออกมา 3-4 ฉบับ แนวทางการแก้ปัญหาของเขาก็คือ หนึ่ง คือออกกฎหมายให้แบงก์ชาติออกซอฟต์โลน 3 แสนล้านบาท สองก็คือ ออก พ.ร.ก.เงินกู้ 3.5 ล้านบาท ตั้งกองทุนเพื่ออนาคตอะไรสักอย่าง สามก็คือ ออกกฎหมายตั้งกองทุนประกัน 5 หมื่นล้านบาท และสี่ก็คือ เรื่องโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ให้กับแบงก์ชาติ ซึ่งแบงก์ชาติไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ท่านผู้ว่าฯ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ก็ออกมาแถลงข่าวอย่างที่ต้องถือว่าแรงสำหรับท่านนะครับ เป็นที่ประจักษ์อยู่

จากนั้นก็ได้มีการหารือกันในวันที่ 30 ธันวาคม วันสุดท้ายของการทำงาน ระหว่างแบงก์ชาติ คลัง อะไรทำนองนี้ แล้วก็สรุปออกมาเป็นว่า จะทำยังไงก็แล้วแต่ การโอนหนี้จะทำอยู่ภายใต้ 3 กรอบ กรอบที่ 1 ก็คือ จะต้องไม่เป็นทางให้แบงก์ชาติพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม กรอบที่ 2 ก็คือ จะต้องไม่กระทบกับทุนสำรองระหว่างประเทศ เข้าใจว่า 2 ข้อนี้เป็นเงื่อนไขของท่านผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ส่วนข้อ 3 ก็คือ จะต้องไม่กระทบกับงบประมาณ อันนี้เป็นข้อเสนอของนายกิตติรัตน์ หรือของรัฐบาล 3 ข้อนี้ก็เป็นกรอบที่รองฯ กิตติรัตน์เอามา

จากนั้นมา โดยส่วนตัวผม ช่วงปีใหม่ ผมก็พยายามทำความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ เพราะเชื่อว่าในการประชุม ครม.วันแรกที่เปิดทำการ คือวันที่ 4 มกราคม จะต้องมีการเสนอร่างพระราชกำหนดเข้าไป เพราะว่าจากนั้นเข้าใจว่ารองฯ กิตติรัตน์ จะเริ่มปรึกษากับทางกฤษฎีกาอะไรแล้ว เมื่อวานนี้ผมก็พยายามตามอยู่ตลอด ที่จริงก็ไม่สบาย แต่ก็ตามอยู่เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ และพี่น้องประชาชนอาจจะไม่ติดตามมากนัก ก็เป็นข่าวสับสนกัน 2 ทาง ทางหนึ่งบอกว่า ครม.ตีกลับให้ไปทบทวน พ.ร.ก.ทั้ง 4 ฉบับ โดยให้ไปปรึกษากับ กยอ.กับ กยน.ก่อน อีกทางหนึ่งซึ่งเป็นทาง ต้องขออนุญาตเอ่ยนามเขา คือเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ เขาก็ยังบอกว่า ครม.ให้ไปทบทวน แต่เขาเผยแพร่ร่าง พ.ร.ก.ออกมา ก็มีชื่อชัดเจนว่าเป็นร่าง พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. ... ผมก็ดูในร่างที่เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจเขาเผยแพร่ ผมก็ว่าอันตรายแล้ว อันนี้มันปล้นกัน แต่ผมก็ยังไม่มั่นใจว่าจริงหรือไม่ จนกระทั่งตอนเย็น ตอนเย็นรองนายกฯ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ท่านไปแถลงที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งก็เป็นเรื่องสำคัญ การไปแถลงที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ชี้แจงให้นักวิเคราะห์หุ้นและสื่อมวลชนทราบ ท่านยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าเป็นมติคณะรัฐมนตรี อนุมัติในหลักการ แล้วก็ให้กฤษฎีกาไปดูในรายละเอียด ไปปรึกษา กยอ.-กยอ.จากนั้นก็คือให้ดำเนินการไปได้เลย ไม่ต้องเอาตัวร่างกลับเข้า ครม.อีกครั้งหนึ่ง

ถ้าไม่จริงตามนี้ รองนายกฯ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ก็ไม่ควรอยู่เป็นรองนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป ส่วนท่านรองเลขาฯ ท่านนายแพทย์ประสิทธิ์ ผมว่าท่านคงไม่รู้เรื่องหรอก ก็คงไม่เป็นไร แต่ผมกำลังจะบอกว่าเรื่องสำคัญอย่างนี้ รัฐบาลมีพฤติกรรมลับๆ ล่อๆ คือถ้าท่านจะทำท่านก็ควรกล้าหาญแถลงออกมา ว่าจะเอายังไง แล้วเรื่องเหล่านี้ต้องเป็นนายกรัฐมนตรีที่แถลง

ทีนี้ผมจะพูดภาพรวมให้เห็น อาจจะใช้เวลาสักนิดหนึ่ง แต่จะพยายามให้ย่นย่อที่สุด จำได้ไหมครับว่ารัฐบาลชุดนี้ตั้งแต่เข้ามา ประโยคแรกๆ เลยเขาก็พูดถึงทุนสำรองระหว่างประเทศ มีเยอะ ต้องเอามาใช้ ตอนนั้นก็คือตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (SWF) เอ่ยปากโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน บอกจะไปลงทุนในบ่อน้ำมันในเขมร ว่าไปโน่น ผมก็ตั้งหลักคัดค้านตั้งแต่ตอนนั้น ก็ปรากฏว่าเรื่องนี้ก็พับไป แต่ตัวเลขมันประมาณนี้ล่ะครับ 3 แสนล้านบาท

ทีนี้พอน้ำท่วม 2-3 เดือน เรื่องนี้มาอีกแล้ว ในนามของการแก้ปัญหาน้ำท่วม ซึ่งพี่น้องประชาชนก็ไม่อยากจะถูกน้ำท่วมอีก จะเสียเงินสักเท่าไรก็จำเป็น แต่ต้องเข้าใจนะครับว่าเมื่อเขาตั้ง กยอ.ขึ้นมา แล้วก็ กยน.ขึ้นมา ผมเคยบอกว่านี่คือการ Back Door Reshuffle การปรับคณะรัฐมนตรีทางประตูหลัง เหมือนกับว่าคนกุมเศรษฐกิจขณะนี้ก็คือคุณวีรพงษ์ รามางกูร หรือว่าทีมที่อยู่ใน กยอ. คุณนิพัทธ์ พุกกะณะสุต คุณพันศักดิ์ วิญญรัตน์ คุณอะไรต่ออะไรอีกหลายคนซึ่งมีชื่อเสียงในการเล่นแร่แปรธาตุทางการเงิน การคลัง มาโดยตลอด ก็เป็นผู้ที่มีความสามารถสูงมาก ผมก็เคยพูดในสภาฯ

คราวนี้ในเรื่องของการแก้ปัญหาน้ำท่วม มันไม่ใช่จะแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างเดียว แต่ท่านผนวกการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเข้าไปด้วย แล้วก็ผุดโปรเจกต์ออกมามีตัวเลขกลมๆ จะตั้งกองทุนเพื่ออนาคตของชาติ เป็น พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้าน อันนั้นก็แล้วไป ผมว่าพระอาจารย์ก็คงไม่เดือดร้อนอะไร ถึงจะไม่อยากให้เขากู้มาก แต่ก็เป็นเรื่องของรัฐบาลเขาบริหารประเทศไป

ทีนี้จริงๆ ถ้ารัฐบาลจะเอาแต่เรื่องกู้เงิน 3.5 แสนล้าน เป็น พ.ร.ก. นี่หนึ่งล่ะ สอง จะให้แบงก์ชาติออกซอฟต์โลน 3 แสนล้าน ซึ่งผู้ว่าฯ แบงก์ชาติโอเคแล้ว โดยจะทำครั้งเดียว และสาม จะตั้งกองทุนประกันอะไรอีก 5 หมื่นล้าน ผมว่าพระอาจารย์ก็ไม่เดือดร้อน โดยส่วนตัวผมแม้จะไม่เห็นด้วยและคัดค้าน แต่ก็คงจะไม่มีน้ำหนักอะไร แต่สิ่งหนึ่งที่พี่น้องจะต้องจับตาเอาไว้ก็คือว่า เขาไปเอาเรื่องโอนหนี้ 1.14 ล้านล้านบาท เข้ามาผนวกเป็นชุด พ.ร.ก. ซึ่งมันเป็นปัญหาของประเทศจริง เรายอมรับ แต่ถามว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องทำเป็น พ.ร.ก.ไหม ไม่ใช่ เป็นเรื่องที่ถ้าจะแก้ปัญหามันจะต้องเป็นเรื่องตกลงที่ยินยอมพร้อมใจกัน ทั้งคลัง ทั้งแบงก์ชาติ ทั้งรัฐบาล ทั้งคณะศิษย์หลวงตา ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องคลังหลวง หรือบัญชีสำรองพิเศษ ซึ่งส่วนหนึ่งในนั้นก็เป็นเงินที่นำบริจาคโดยหลวงตามหาบัว และพี่น้องประชาชน

แต่คราวนี้เขากลับเอาเรื่อง 2 เรื่องมาผนวกกัน ผมก็ถามว่า ตั้งคำถามอยู่เสมอว่าทำไม ผมตอบคำถามได้อย่างเดียวเท่านั้น คือเขาต้องการปลดภาระหนี้ 1.14 ล้านล้านบาท ออกไปจากรัฐบาล ออกไปจากกระทรวงการคลัง คิดในเชิงง่ายที่สุดก็คือ กระทรวงการคลังไม่ต้องตั้งงบประมาณจ่ายดอกเบี้ยปีละประมาณ 5 หมื่นล้าน 4.5 หมื่นล้าน หรือแล้วแต่ขึ้น-ลงตามอัตราดอกเบี้ย แต่คิดไปอีกทางหนึ่งก็คือ คนที่รู้จักผู้อยู่เบื้องหลังนโยบายเหล่านี้ดี เขาบอกว่าจริงๆ แล้วก็คือ ต้องการจะเสกหนี้จำนวนนี้ให้พ้นจากความเป็นหนี้สาธารณะ เพื่อที่จะได้มี room สำหรับการกู้ได้เท่าจำนวน 1.14 ล้านล้านบาท

ต้องบอกนะครับว่าเพดานหนี้สาธารณะของไทย ยังไม่ถึงขั้นเต็มเพดาน จริงๆ ถ้าจะกู้เงินแก้ปัญหาเรื่องน้ำ เรื่องอะไรต่ออะไร ผมเข้าใจว่าได้อีก 5-6 แสนล้านบาท กองทุนนี่ก็ตั้งไว้เพียง 3.5 แสนล้านบาท ผมเข้าใจว่าผู้ประสงค์จะออกนโยบายเช่นนี้ ซึ่งผมหวังว่าคงจะล้มนะ เขามีวาระซ่อนเร้นที่ต้องการที่จะใช้สถานการณ์น้ำที่ผู้คนกำลังเดือดร้อน อยากให้ใช้เงิน และคงไม่มีเวลามาติดตามเรื่องที่มันมีความสลับซับซ้อนทางเทคนิคอย่างนี้ ผ่านการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ออกไป เพื่อเสกหนี้ตัวนี้ไปซุกไว้ที่แบงก์ชาติ ผมจึงเรียกมันว่า พ.ร.ก.ซุกหนี้

เราเคยได้ยินคนบางคนเกี่ยวข้องกับการซุกหุ้นมาแล้ว แต่นี่ซุกหนี้ครับ คือมันก็เป็นหนี้ของประเทศนั่นล่ะ คุณจะไปซุกไว้ที่ไหนมันก็เป็นหนี้ของประเทศ แต่มันจะมีนัย นิยามของการเป็นหนี้สาธารณะหรือไม่ นี่ก็ยังถกเถียงกัน แต่อย่างเบาที่สุดก็คือคลังหมดภาระไปปีละ 5-6 หมื่นล้าน คุณก็ไปกู้หนี้ยืมสินใหม่ได้ นี่คือความสำคัญ

ทีนี้เมื่อผมดูตัวร่าง พ.ร.ก.แล้ว ผมสรุปความคิดออกมา พัฒนามาจนวันนี้เป็นคำพูดสั้นๆ ว่า "3 ปล้น 1 ทำลาย" ปล้นที่ 1 ก็คือปล้นธนาคารแห่งประเทศไทย ในมาตรา 7(1) กำหนดให้ 90% ของเงินกำไรของธนาคารแห่งประเทศไทยต้องไปใช้หนี้ ใน (3) ที่อันตรายที่สุดก็คือ กำหนดให้มติ ครม.สามารถที่จะโอนเงิน หรือสินทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือของกองทุนฟื้นฟูฯ เข้าไปใช้หนี้ได้ สินทรัพย์ของกองทุนฟื้นฟูฯ นี่ไม่เป็นปัญหา มันก็จะอยู่หลักแสนล้านเหมือนกัน เป็นพวกหุ้นธนาคารกรุงไทย อะไรต่อมิอะไร แต่สินทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทย เพิ่งมาตกผลึกหลังจากได้พูดคุยกับผู้รู้จริงๆ ที่เขารักชาติ เขาบอกว่าคุณคำนูณ อย่าไปประมาท 7(3) นะ สินทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ก็คือเงินตราต่างประเทศ ก็คือทุนสำรองระหว่างประเทศ อาจจะไม่ใช่คลังหลวง คือเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศในส่วนของฝ่ายการธนาคาร ปล้นธนาคารแห่งประเทศไทย

สอง ปล้นคลังหลวง ผมจะใช้คำแรงไปหรือเปล่าก็ไม่ทราบ ถือว่าใช้คำแรงมากสำหรับบุคลิกของผม แต่ว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ครับ คือในมาตรา 7(2) เขาก็ระบุไว้ว่า ให้โอนสินทรัพย์คงเหลือในบัญชีผลประโยชน์ประจำปี ตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา หลังจากการจ่ายเมื่อสิ้นปี เข้าบัญชีตามมาตรา 5 โดยไม่ต้องโอนเข้าบัญชีสำรองพิเศษ บัญชีสำรองพิเศษนี่ก็คือคลังหลวง บัญชีผลประโยชน์ประจำปี โดยปกติตามกฎหมายเงินตรา เข้าคลังหลวง แต่มี พ.ร.ก.ปี 45 ให้เงินที่เหลือจากบัญชีผลประโยชน์ประจำปี มาใช้หนี้เงินต้นกองทุนฟื้นฟูฯ แต่ว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้เขาแก้ไข ก็คือให้ส่วนที่เหลือจากบัญชีผลประโยชน์ประจำปี มาใช้หนี้ทั้งเงินต้น ทั้งดอกเบี้ยกองทุนฟื้นฟูฯ

แต่ประเด็นก็คือ ในทางปฏิบัติแบงก์ชาติใช้หนี้ไม่ได้มา 2 ปีแล้ว เพราะว่าการที่บรรพบุรุษ บรรพชนของเราเขาออกแบบกฎหมายเงินตราไว้อย่างสุดยอด คือทำให้คลังหลวง หรือบัญชีทุนสำรองพิเศษ มีแต่ได้ มีแต่รับ ไม่มีจ่ายออก บัญชีผลประโยชน์ประจำปี คือวิธีลง book บัญชีสำรองพิเศษ จะลง book แต่เฉพาะกำไร กำไรจากการขายจริงกี่เท่า ขาดทุน ผลประโยชน์ประจำปีหักไป ตีราคา ตีราคาในที่นี้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องค่าเงิน ที่ระยะหลังมันมีความผันผวน กำไรเข้าสำรองพิเศษ ขาดทุน ผลประโยชน์ประจำปีรับเอาไป

เพราะฉะนั้นในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็ง 2 ปี บัญชีผลประโยชน์ประจำปี เมื่อตีราคา ตีค่าทรัพย์สิน ท้ายปีแล้วไม่มีเหลือไปชำระหนี้ได้เลย บัญชีสำรองพิเศษก็มีแต่เงินไหลเข้า ถามว่าแบบนี้มันเห็นแก่ตัวไหม ตอบว่าถ้าไม่รู้ประวัติศาสตร์ ก็อาจจะบอกว่าบัญชีสำรองพิเศษ หรือคลังหลวง นี่เห็นแก่ตัว แต่จริงๆ ถ้ารู้ประวัติศาสตร์ก็จะเห็นได้ว่าบรรพชนของเราเขาออกแบบกฎหมายเงินตราไว้ เพื่อให้เงินก้อนนี้เป็นเงินที่มีแต่พอกพูน และมีไว้ใช้ในยามที่วิกฤตสุดๆ จริงๆ เท่านั้น ไม่ใช่พอเห็นว่ามากหน่อยก็จะเอามาใช้

เรื่องนี้ก่อนหน้านี้แบงก์ชาติก็ได้หารือกับคณะพระอาจารย์ ว่าอยากจะขอแก้ไขวิธีการลงบัญชี ว่าเฉพาะการตีราคา ให้ลง book ในสำรองพิเศษทั้งกำไรและขาดทุน มันจะได้มีเงินเหลือสักปีละ 1-2 หมื่นล้าน ไปใช้หนี้เงินต้นกองทุนฟื้นฟูฯ เพราะฉะนั้นการที่คุณมี พ.ร.ก.มาตรา 7(2) ถึงรองฯ กิตติรัตน์ ท่านจะฉลาดมาก บอกว่าไม่แตะต้องเงินสำรอง ไม่มีแก้ไขกฎหมาย แต่ท่านกำลังเล่นสนุ้ก แทงแบงก์ชาติเป็นลูกบ๋อย ไปแก้กฎหมายเงินตรา อันนี้คือปล้นที่ 2 ที่ผมเห็นว่า ก็คือปล้นคลังหลวงทางอ้อม

ปล้นที่ 3 นี่อันตราย ก็คือ ผมเคยใช้คำว่าปล้นสถาบันการเงินทั้งระบบ แต่นี่ใช้คำใหม่ก็แล้วกัน เป็นว่า ปล้นประชาชนและภาคธุรกิจ ผู้ฝากและผู้กู้เงินจากสถาบันการเงิน เพราะว่าในเมื่อรัฐบาลไม่อยากจะยุ่งกับคณะลูกศิษย์หลวงตา ให้ท่านต้องออกมาประท้วง ออกมาคัดค้าน แล้วท่านผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ท่านก็ดีมาก ท่านก็ปกป้องเต็มที่ว่าถ้าคณะศิษย์ไม่ยอมก็ไม่ให้แตะ เป็นเงื่อนไขข้อ 2 ของท่าน

การหารือเขาก็เลยจะไปเก็บเงินค่าธรรมเนียมเข้ากองทุนเพิ่ม จากสถาบันการเงิน สถาบันการเงินโดยปกติจะต้องส่งเงินเข้ากฎหมายใหม่ก็คือ กองทุนคุ้มครองเงินฝาก 0.4% ของยอดเงินฝากที่ต้องคุ้มครอง เขาออกกฎหมายมาในมาตรา 8 ให้เก็บเงินสถาบันการเงินเข้ากองทุนโดยเมื่อรวมกับที่สถาบันการเงินจะต้องจ่ายเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝากแล้ว ไม่เกิน 1% เขาเปิด room ไว้อีกประมาณ 0.6%

เติมศักดิ์- จากเดิม 0.4

คำนูณ- จะเก็บเพิ่มอีก แต่ว่ารองฯ กิตติรัตน์ ในการชี้แจงกับคลื่น 101 เช้านี้ เขาบอกว่าจะไปลดตรงโน้น แล้วมาตรงนี้ ทำให้สถาบันการเงินเสียเท่าเดิม

ที่ผมบอกว่าปล้นประชาชนผู้ฝากเงิน ผู้กู้เงิน และภาคธุรกิจ เพราะอะไรครับ มีเหรอครับที่สถาบันการเงินเขาจะรับความเสียหายไว้กับเขาอย่างนี้ เขาก็จะมาปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งในประเด็นนี้เริ่มมีผลกระทบต่อหุ้นของสถาบันการเงินในวันนี้ แล้วคนในภาคธุรกิจ ภาคสถาบันการเงิน เขาพูดกันในเชิงไม่เห็นด้วยเยอะ นี่คือ 3 ปล้น

แต่ที่สำคัญที่สุดที่ผมอยากจะเน้นก็คือ "1 ทำลาย" ก็คือทำลายระบบธนาคารกลาง พี่น้องประชาชนควรจะทราบนะครับว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย แม้จะไม่ใช่องค์กรอิสระ แต่ก็ไม่เหมือนกับหน่วยงาน กระทรวง ทบวง กรม ที่อยู่ภายใต้รัฐบาลโดยทั่วไป แต่ว่าออกแบบไว้เพื่อให้ทำหน้าที่ของธนาคารกลาง

หน้าที่ของธนาคารกลาง คืออะไรครับ หน้าที่ของธนาคารกลางก็คือ เพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพทางการเงิน และเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน และระบบการชำระเงิน นี่คือหน้าที่ของธนาคารกลางของทุกประเทศ ของระบบทุนนิยมในโลก หรือระบบคอมมิวนิสต์ก็มี หน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ใช่มีหน้าที่จะมาทำตามคำสั่งของรัฐบาล ไม่ใช่มีหน้าที่จะต้องมาชำระหนี้แทนรัฐบาล ไม่ใช่มีหน้าที่จะต้องมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้กับรัฐบาล แต่หน้าที่ของธนาคารกลาง ซึ่งกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย 2485 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งใหญ่ 2551 กำหนดไว้ในมาตรา 7 ธนาคารแห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินภารกิจอันพึงเป็นงานของธนาคารกลาง เพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพทางการเงิน และเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินและระบบการชำระเงิน

เขามีวรรค 2 ไว้ด้วย บอกว่า การดำเนินภารกิจตามวรรค 1 ต้องคำนึงถึงการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วย เขาก็ให้คำนึงถึงนะ ไม่ใช่ว่าไม่เหลียวแลเสียเลย แต่ว่าไม่ใช่จะต้องซ้ายหัน ขวาหัน ตามคำสั่งของรัฐบาล หลายท่านยังตีความด้วยซ้ำไปว่า มาตรา 7 วรรค 2 ควรจะต้องตีความว่า มันขึ้นกับวรรค 1 จะคำนึงถึงนโยบายของรัฐบาลแค่ไหน ก็ต้องอยู่ภายใต้กรอบของการทำหน้าที่ธนาคารกลาง ถ้ามันเกินกรอบนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ต้องไม่ปฏิบัติตาม

แต่ทีนี้รัฐบาลกำลังจะใช้วิธีการข่มขืน บังคับ ขืนใจ ให้ธนาคารกลางต้องทำ โดยการใช้อำนาจของตัวเอง ออกพระราชกำหนด ไม่ใช่พระราชบัญญัติด้วยนะครับ ไม่ผ่านสภานะครับ แล้วก็เป็นร่างพระราชกำหนดที่ลับๆ ล่อๆ จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่ามันคืออะไร แต่เพียงที่รองฯ กิตติรัตน์ ท่านแถลงเมื่อวานนี้ ต้องขอบคุณท่านมาก ท่านแถลงเหมือนร่างที่กรุงเทพธุรกิจเผยแพร่ออกมาเป๊ะเลย เราจึงทั้งสิ้นทั้งปวงก็อยู่ที่ท่าน

นี่เป็นประเด็นที่ผมเห็นว่าเป็นเรื่องอันตราย ร้ายแรงอย่างใหญ่หลวง เพราะอะไรรู้ไหมครับ เพราะว่าถ้าธนาคารกลางถูกรัฐบาลบังคับขืนใจให้ทำอะไรก็ได้ ต่างชาติเขาจะเชื่อถือไหมครับ ธนาคารกลางอย่างแบงก์ชาติจะอ่อนแอลงไหมครับ ระบบเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไรในอนาคต ธนาคารกลางไม่มีรายได้อื่นนอกจากพิมพ์แบงก์ ถึงแม้คุณจะบอกว่าไม่พิมพ์แบงก์แล้ว แต่ต่อไปในอนาคตไม่มีใครรู้ และที่สำคัญผมจะยกตัวอย่างง่ายๆ ใครมีหน้าที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยครับ ธนาคารกลางใช่ไหมครับ แล้วในเมื่อธนาคารกลางเองจะต้องจ่ายดอกเบี้ยกองทุนฟื้นฟูฯ ปีละ 4 หมื่นล้าน การขึ้นลงของอัตราดอกเบี้ยต่อ 1% เท่ากับ 14,000 ล้าน แล้วคุณคิดว่าธนาคารกลางจะเป็นพระแบบพระอาจารย์? เขาจะขึ้นดอกเบี้ยไปทำไมล่ะ ขึ้นไปเราก็จ่ายเพิ่ม 14,000 ล้าน

เพราะฉะนั้นคุณกำลังเล่นเกมอันตรายนะ คุณทำลายระบบธนาคารกลาง คุณเอาธนาคารกลางมาทำหน้าที่ที่ไม่ใช่หน้าที่ของเขา ธนาคารกลางต้องมาจ่ายดอกเบี้ย ธนาคารกลางจะรู้เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนดีที่สุด แล้วในเมื่อมีเรื่องการลงบัญชี การตีราคาทรัพย์สิน เพื่อจะเหลือเงินมาอะไรทั้งหมดนี่ ผมว่านี่เป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวงในอนาคต สำหรับผมเรื่องนี้อันตรายกว่าแก้รัฐธรรมนูญอีกครับ

พระ อ.จิรวัฒน์- แล้วก็เคยเตือนไว้แล้วด้วย ตอนที่มาคัดค้านกองทุนมั่งคั่งฯ ว่าถ้าจะทำให้ออกเป็น พ.ร.บ. อย่าออกเป็น พ.ร.ก. แต่นี่ก็แอบๆ ซ่อนๆ แล้วก็เลื่อนไปจนถึงปีใหม่ จนวันสุดท้ายวันที่ 30 ลับๆ ล่อๆ เพราะปีใหม่คนก็ไปเที่ยว ไม่ได้สนใจใส่ใจ

คำนูณ- แต่ก็ต้องเข้าใจว่าเขาก็คงมีความขัดแย้งภายในกันใหญ่พอสมควร ก็ได้แต่หวังว่าการที่เขาไม่มีมติ ครม.ออกไป เมื่อสดับตรับฟังเสียงคัดค้านจากสังคมแล้ว เขาจะปรับตัวได้

เติมศักดิ์- พระคุณเจ้าทั้ง 4 ท่านมองอย่างไรครับ "3 ปล้น 1 ทำลาย" โดยเฉพาะทำลายสถานะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ และสถานะของธนาคารกลาง บทบาทของธนาคารกลางที่ควรจะเป็น

พระ อ.จิรวัฒน์- ก็เห็นมาแล้ว ก็เตือนไว้ก่อนแล้ว อย่างที่คุณคำนูณอธิบายนี่ล่ะ แล้วหลวงตาก็พูดตรงกันอย่างนี้ คุณคำนูณก็ใช้คำไม่รุนแรงนะ ก็ตรงกันนะ คำว่าปล้นแหล่ะ หลวงตาก็ใช้คำรุนแรงไว้ให้เห็นตั้งแต่ปี 43 แล้วมันยังเป็นปัจจุบันเลย เป็นของใหม่สดๆ ร้อนๆ ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา มันไม่ได้ล้าสมัยไปเหมือนกับคำพูดของนักปราชญ์ เป็นสัจ เป็นธรรม จะพูดกี่วัน กี่เดือน กี่ปี มันยังเป็นของทันสมัยอยู่ ไม่มีล้าสมัยไปเลย

พระ อ.สรรวัต- ฟังคุณคำนูณแล้วตกใจนะ คือมันไปไกล ไปได้ถึงขนาดนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่ไปพบกับทางแบงก์ชาติ การที่เขาขอแก้วิธีการลงบันทึกทางบัญชี เขาก็พูดถึงเรื่องนี้อยู่ เขาก็กังวลใจว่าถ้าเข้ามาแทรกแซงกิจการของธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว มันโอกาสที่ 1. ก็คือถูกสถาบันที่ให้เครดิตของประเทศ ลดเกรดไปได้ เพราะไม่มีประเทศไหนที่เขาจะมาดำเนินนโยบายแบบนี้ ปกติแล้วธนาคารกลางจะต้องเป็นอิสระจากรัฐ ถ้าเมื่อไรที่มาครอบงำ ถ้าเขาต้องการเงิน แบงก์ชาติมีหน้าที่ทำอะไร ก็มีหน้าที่พิมพ์แบงก์อยู่แล้ว ถ้าเขาไม่มีทางออกก็ต้องพิมพ์แบงก์ในที่สุด ซึ่งตรงนี้มันจะเป็นผลเสียกับเศรษฐกิจประเทศไทยมาก

อีกอันหนึ่ง แม้กระทั่งประเทศแถบยูโรโซน ที่เขาประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เขาก็ไม่ทำแบบนี้ ไม่เข้ามาแทรกแซง อย่างที่โยมคำนูณว่า ยิ่งเห็นชัดเลยว่าไม่ควรออกเป็น พ.ร.ก. เพราะว่ามันกระทบต่อประชาชนทั่วประเทศ จริงๆ อาตมาไม่ทราบว่ากฎหมายลักษณะนี้มีการคุ้มครองหรือเปล่า ถ้ากฎหมายที่กระทบต่อประชาชนทั้งประเทศ ไม่ควรจะออกเป็น พ.ร.ก. ควรจะมีการหารือ เพื่อที่จะปรึกษาหารือกัน

อาตมาเห็นด้วยที่ทางรัฐบาลเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เพราะว่าเรื่องนี้มันเดือดร้อนจริงๆ แต่ว่าจริงๆ แล้วมันมีทางออกหลายทาง จากที่ได้ไปคุยกับทางแบงก์ชาติ เขาก็ได้เสนอทางออกโดยการออกพันธบัตรเงินกู้ ไม่ใช่กู้ผ่านแบงก์ชาติ แต่ว่ากู้ผ่านประชาชน มันมีข้อดีคือ ปัจจุบันนี้ดอกเบี้ยธนาคารต่ำอยู่แล้ว แต่เมื่อไรที่รัฐบาลออกพันธบัตร ปกติดอกเบี้ยจะสูงกว่าธนาคารทั่วไป อันนี้ก็ช่วยให้ประชาชนมีเงินใช้เพิ่มขึ้นมาอีกสักหน่อย ในขณะที่มันเกิดภาวะวิกฤตในเรื่องอุทกภัยเหล่านี้ ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ก็มีข้อดี ซึ่งแบงก์ชาติก็รับรองว่าจะไม่มีผลกระทบกับค่าเงินบาท ก็สามารถรองรับได้ ซึ่งทางออกก็มีหลายทาง อาตมาก็สงสัยว่าทำไมไม่ออกทางนี้

คือพอมาอ่านร่าง พ.ร.ก.นี้แล้ว อาตมาก็ต้องมาอ่านใหม่นะ มาทบทวน มาตรา 7 (2) นี่ ให้โอนสินทรัพย์คงเหลือในบัญชีผลประโยชน์ประจำปี ตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา หลังจากการจ่ายเมื่อสิ้นปี เข้าบัญชีตามมาตรา 5 โดยไม่ต้องเข้าบัญชีสำรองพิเศษ อันนี้อาตมาอ่านดูแล้วอาตมาก็คิดว่า มันก็เหมือนเดิมนะ เหมือน พ.ร.ก.ปี 45 ที่หลวงตาเคยอนุญาต ก็คือผลประโยชน์ประจำปี มันเป็นบัญชีหนึ่งที่อยู่ในคลังหลวง ซึ่งทางหม่อมอุ๋ยไปขอหลวงตาไว้ หลวงตาก็อนุญาตแล้ว ที่เอาไปใช้ในส่วนเงินต้นกองทุนฟื้นฟูฯ แล้วก็เขียนซ้ำเดิมเข้าไป อาตมาก็เอะใจอย่างหนึ่งว่า ถ้าเหมือนเดิม ทำไมต้องเขียนในนี้ด้วย มันเหมือนกับเขียนเพื่อเตรียมที่จะเปิดช่องว่างอะไรบางอย่างหรือเปล่า ไม่จำเป็น ซึ่งตรงนี้อยากจะถามผู้ออก พ.ร.ก.นี้ว่ามีเจตนาอย่างไร อันนี้มันขึ้นอยู่กับเจตนารมณ์ของเขา คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง

เติมศักดิ์- เนื้อหาในวงเล็บ 2 ของมาตรา 7 นี่ เคยเกิดใน พ.ร.ก.เมื่อปี 2545

พระ อ.สรรวัต- ซึ่งมันซ้ำเดิม จะมีต่างบ้างก็คืออันนี้ไม่ใช่แค่ใช้เฉพาะเงินต้นนะ ใช้ดอกเบี้ยด้วย แต่อันอื่นไม่รู้จะตีกินไปถึงจุดอื่นหรือเปล่า แล้วก็มาตรา 7(3) ให้โอนเงินหรือสินทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือกองทุนฯ เข้าบัญชีตามมาตรา 5 ตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด อันนี้ทราบจากท่านผู้รู้ เขาบอกว่า เนื้อหากฎหมายนี้ โอนเงิน หรือสินทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือกองทุน เข้าบัญชีตามมาตรา 5 ตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ยกตัวอย่างว่า ถ้าเกิดคณะรัฐมนตรีเขาให้แบงก์ชาติโอนเงินเข้าไปจำนวน 9 แสนล้าน จะทำได้ไหม

เติมศักดิ์- ถ้าตามมาตรานี้น่าจะทำได้

พระ อ.สรรวัต- ซึ่งมันอันตราย อาตมาอยากจะขอเตือนรัฐบาลไว้ว่า รัฐบาลของพรรคเพื่อไทย เขามาเป็นรัฐบาลยุคนี้ได้ แต่ไม่ได้แปลว่าสมัยหน้ารัฐบาลอื่นจะเข้ามาเป็นไม่ได้ ซึ่งรัฐบาลต่างๆ ที่เข้ามาเป็นรัฐบาลของไทย จะมีรัฐบาลไหนที่มีคุณธรรมพอที่จะรักษาตรงนี้เอาไว้ ซึ่งกฎหมายมันเปิดช่องกว้างมาก แล้วอาตมาก็กังวลใจกับรัฐบาลชุดนี้ด้วยว่า ถ้ามาตรานี้ออกได้ จะเกิดอะไรขึ้นกับแบงก์ชาติ มันจะเกิดปัญหาใหญ่หลวงในเรื่องการบริหารระบบการเงินของประเทศ ซึ่งตอนนี้อาตมาก็ทราบจากโยมเขาแจ้งว่าสำนักข่าวต่างประเทศมาสนใจข่าวนี้แล้ว สนใจมาก สำนักข่าวบลูมเบิร์ก เนื้อข่าวอาตมาไม่เห็น เขาแจ้งมา แต่ถ้าเมื่อไรที่ออก พ.ร.ก.ฉบับนี้สำเร็จ อาจจะมีผลกระทบกับเครดิตของประเทศได้ ซึ่งเครดิตก็จะมีผลกับพวกนักลงทุนจากต่างประเทศด้วย ถ้าหากว่าปัญหาจากน้ำท่วมเอย ค่าแรง 300 บาทเอย แล้วเครดิตตรงนี้ตกไป อาจจะมีผลให้นักลงทุนจากต่างประเทศย้ายฐานไปผลิตที่ประเทศอื่น ก็เป็นไปได้ ซึ่งจะมีผลทำให้จีดีพีของประเทศลดลงแน่นอน ซึ่งมันก็น่ากลัว ซึ่งต่อไปประเทศไทยจะมีแต่จมลงเพราะ พ.ร.ก.ฉบับนี้ อาตมาก็เลยกังวลใจ

เติมศักดิ์- รัฐบาลชุดนี้กำลังพยายามหาข้ออ้าง หาเรื่องที่จะล้วงคลังหลวง

พระ อ.สรรวัต- จริงๆ อาตมาเชียร์นะให้เขาหาเงินให้ได้มาแก้ปัญหาน้ำท่วม สำคัญ สงสารชาวบ้าน เห็นๆ อยู่ ลูกศิษย์หลวงตามีโรงทานไปช่วยตั้ง 4 แห่ง กระจายกันช่วยตามกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่ขออย่างเดียวว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ให้ไปทบทวนใหม่ได้ไหม อย่างน้อยถ้าไม่มีทางออกจริงๆ ก็เปิดประชาพิจารณ์กับประชาชน ซึ่งจริงๆ แล้วการประชาพิจารณ์อาตมาเชื่อว่าในที่สุดแล้วน่าจะหาทางออกได้ เพราะว่านักวิชาการเก่งๆ ก็มี แล้วส่วนตัวอาตมา อาตมาก็เชื่อใจในทีม กยอ.-กยน.บางส่วน ต้องเรียกว่าบางส่วน แต่เขาอาจจะไม่ได้มีส่วนในตรงนี้ ซึ่งถ้าเขาหาเงินได้โดยไม่กระทบประเทศไทย ไม่กระทบระบบการเงินประเทศไทย น่าจะดี ซึ่งทางออกแบงก์ชาติก็เคยเสนอ ก็คือเช่นการออกพันธบัตรรัฐบาลให้ประชาชนกู้ อันนี้ก็น่าจะดี

เติมศักดิ์- จะว่าเป็นการแก้ปัญหาหนึ่ง แล้วไปทำให้เกิดปัญหาใหญ่

พระ อ.สรรวัต- ปัญหาใหญ่กว่าเดิมเยอะ ตรงนี้อาตมาอยากจะขอฝาก หลวงตาเคยเทศน์เอาไว้เหมือนกับว่าประเทศไทยกำลังป่วยอยู่ อาตมาสรุปคร่าวๆ นะ คือประเทศไทยกำลังป่วยอยู่ เป็นบาดแผลใหญ่เลย เรื่องอุทกภัยก็ตาม เรื่องเศรษฐกิจที่มันกระทบกระเทือนมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำก็ตาม เรื่องอะไรต่างๆ เหล่านี้ ภาวะการเมืองบ้างอะไรบ้าง ค่าแรงที่มันขึ้นราคา 40% ขึ้นมาพรวดเดียวจนนักลงทุนต่างชาติตกใจ หลวงตาบอกว่าแผลนี้จะมารักษา เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งรัฐบาลควรจะรีบรักษา แต่แทนที่จะรักษาโดยเอายาจากภายนอกมารักษา กลับเอาเนื้อหัวใจของตัวเองมาทำยา ก็คือคลังหลวง หรือแม้กระทั่งแบงก์ชาติก็ตาม ก็เปรียบเหมือนกับเนื้อปอด ซึ่งไม่ควรจะเอาออกมาใช้อย่างยิ่ง เพราะว่าจุดนี้เขาก็มีภาระของเขาอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นหนี้ 4 แสนล้าน ซึ่งเกิดจากการที่แบงก์ชาติเขารองรับภาวะผันผวนของเงินบาท คือถ้าเกิดค่าเงินบาทผันผวนปั๊บ อะไรจะเกิดขึ้น การส่งออกของไทยเรากระเทือนทันที ซึ่งการส่งออกมันเป็นรายได้หลักของประเทศไทย

ประการที่ 2 ก็คือเงินส่วนหนึ่งที่อยู่ในแบงก์ชาติ มูลค่ามหึมา มันไม่ใช่ของแบงก์ชาติทั้งหมด มันมาจากนักลงทุนต่างประเทศที่เขามาแลกเป็นเงินบาท แล้วก็เอาเงินบาทไปใช้ลงทุนในประเทศไทย ซึ่งมันแน่นอนเขาไม่ใช่คนบ้านเรา สักวันก็ต้องโอนเงินและแลกเปลี่ยนเป็นเงินของเขากลับไป ส่วนของแบงก์ชาติฐานะการเงินก็เหลืออยู่ไม่มากเท่าไร ซึ่งเขาก็ต้องการที่จะเก็บไว้เพื่อรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจโลก

เติมศักดิ์- เหมือนในหนังสือที่คณะศิษย์ยื่นต่อหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องว่า มันอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะล่อแหลม ภูมิคุ้มกันของเราต้องดี ทุนสำรองของเราต้องแน่นหนามั่นคง แต่การทำที่ว่านี้ การผ่านกฎหมายที่ว่านี้มันเป็นอันตรายต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และทุนสำรอง ในภาวะที่โลกจะเป็นยังไงต่อไป ก็ล่อแหลมมาก เชิญท่านพระอาจารย์วิทยาครับ

พระ อ.วิทยา- อาตมาก็เห็นใจรัฐบาลว่าเวลานี้ประเทศไทยเราก็มีหนี้มีสินเยอะ รัฐบาลก็จำเป็นจะต้องหาเงินมาเพื่อบริหารประเทศ แต่ทีนี้เวลารัฐบาลจะกู้เงิน จะกู้เงินมาเพื่อใช้หนี้ เพื่อเยียวยาน้ำท่วมอะไรก็ตาม ก็อ้างเหตุที่เกี่ยวกับน้ำท่วม ซึ่งอันที่จริงน้ำท่วม ก็เสียหายไป คนไทยก็ยอมรับกันอยู่ จะไปโทษใครไม่ได้ แต่การที่จะมาเยียวยาน้ำท่วม ไม่ควรที่จะอาศัยมาเป็นเหตุเพื่อที่จะมากระทบกระทั่งกับคลังหลวง เพราะฉะนั้นหากรัฐบาลอยากที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศชาติจริงๆ ก็อยากให้รัฐบาลใช้วิธีการบริหารจัดการเรื่องการเงินการคลังในวิธีการอื่นที่จะไม่กระทบกระเทือนคลังหลวง จะทำยังไงก็ได้ แล้วแต่รัฐบาลจะใช้ฝีมือในการบริหารประเทศ นั่นล่ะถึงจะเป็นการตอกย้ำว่ารัฐบาลจริงใจต่อประเทศจริง ไม่ใช่ว่าพอเกิดวิกฤตอะไรของประเทศขึ้นมาก็จ้องแต่จะมาเอาเงินในคลังหลวง เพราะว่าในคลังหลวง ที่จริงพวกเราเป็นพระป่า เราก็ไม่ได้มีความรู้ความเชี่ยวชาญอะไรเกี่ยวกับเรื่องการเงินการคลัง แต่เราเชื่อมั่นในคำของหลวงตาที่สั่งเอาไว้ ว่าเป็นคำหนัก ให้เราทุกคนช่วยปกป้องคุ้มครองคลังหลวง แล้วท่านก็พูดย้ำอย่างที่อ่านให้ฟังเมื่อกี้ ถึงขนาดว่า ถ้าใครมุ่งหวังที่จะมาแตะต้องคลังหลวง นั่นก็เรียกได้เลยว่าเป็นมหาโจร เพราะฉะนั้นรัฐบาลชุดนี้ถ้ามีความจริงใจต่อประเทศ หวังที่จะบริหารประเทศให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองจริงๆ เราก็ไม่อยากเห็นรัฐบาลมาแตะต้องคลังหลวง หรือจะกระทำการอะไรก็แล้วแต่ ที่รัฐบาลบอกเวลานี้ว่า ไม่แตะคลังหลวง ไม่ทำอะไรทั้งหมด แต่มันเป็นแต่เพียงลมปาก เราเชื่อไม่ได้ ว่าจริงๆ แล้วจะแตะหรือไม่แตะ แต่ว่าวิธีการมันแตะอยู่แล้ว เหมือนกับบอกว่าไม่กิน ไม่เอา แต่ว่าแลบลิ้นแผล่บๆๆ อยู่นี่ เราก็เชื่อไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าคุณจะไม่แตะจริงๆ เจตนาหรือแนวทางการปฏิบัติมันต้องไม่ส่อแววด้วย

อันนี้เราถึงเป็นห่วงว่า 7(2) กับ 7(3) เป็นอันตรายต่อคลังหลวง เพราะฉะนั้นเราก็ออกมาเตือนประชาชนไว้ก่อน และให้ประชาชนได้รับทราบว่านี่กำลังจะเกิดอันตรายกับคลังหลวงของเราขึ้นแล้ว ถ้าหากรัฐบาลออก พ.ร.ก.นี้ออกมาจริงๆ เราก็คงต้องมีการเคลื่อนไหว ส่วนจะเคลื่อนไหวยังไงก็ต้องดูว่ารัฐบาลเอายังไง

เติมศักดิ์- ผมขออนุญาตพระคุณเจ้าทั้ง 4 ท่าน และคุณคำนูณ ช่วงนี้พักกันก่อน แล้วเดี๋ยวช่วงหน้ากลับมาสนทนากันอีกช่วงหนึ่งว่ามีแนวทางใดที่เราจะสามารถที่จะยับยั้งกฎหมายที่เรามองแล้วเป็นอันตรายต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของชาติไว้ได้ สักครู่กลับมาสนทนากันต่อครับ

ช่วงที่ 2

เติมศักดิ์- กลับมาช่วงสุดท้ายของคนเคาะข่าวนะครับ วันนี้เราสนทนากันในประเด็นที่สังคมต้องจับตามองอย่างยิ่ง กับกฎหมาย พ.ร.ก.การโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาท ให้มาเป็นภาระของธนาคารแห่งประเทศไทย และมันจะไปเกี่ยวข้องกับเรื่องของทุนสำรองระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ตาม เราสนทนากับคณะศิษย์หลวงตามหาบัว และ ส.ว.สรรหา คุณคำนูณ สิทธิสมาน นะครับ

ผมกลับมาที่เรื่อง ถ้าดูกระแสสังคมตอนนี้ครับคุณคำนูณ มีโอกาสที่กฎหมายฉบับนี้จะไม่คลอดออกมาได้ไหมครับ หรือมีแนวทางใดที่จะยับยั้งกฎหมายที่เป็นอันตรายนี้ได้ไหม

คำนูณ- แนวทางที่จะยับยั้งก็ต้องพูดอย่างนี้ล่ะครับ พูดให้ประชาชนรับรู้ แต่ผมมีความเชื่อในความดี ความงาม ความถูกต้องอยู่บางอย่างว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ ตามร่างที่ออกมามันเกินไปจริงๆ และผมเชื่อว่าภาคธุรกิจ เอกชน เท่าที่ดู คุณเติมศักดิ์ จัดรายการข่าววันนี้ก็คงเห็นว่าเขาก็รับไม่ได้ ผมใช้คำว่าซุกหนี้ ก็มีหลายคนที่ใช้คำว่าซุกหนี้เหมือนกัน เพราะคนที่เขายิ่งอยู่ในแวดวงธุรกิจ เศรษฐกิจระดับสูง เขาเห็นเขาก็อ่านออกแล้ว ผมไม่อยากจะอ่านให้ฟังว่าทางนี้คิดยังไง

มาตรา 7(3) ผมว่ารัฐบาลคิดไว้แล้วว่าจะเอายังไง คือคนที่อยู่เบื้องหลัง พ.ร.ก.ตัวนี้ เขามีความเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีสตางค์มากเกินไป ควรจะเอามาแบ่งเบาการใช้หนี้ได้ การที่เขาเซ็นเช็กเปล่าไว้ใน 7(3) นั้นอันตราย ทีนี้ถามว่าทำไมเขาไม่เลือกวิธีง่ายๆ ก็คงไว้อย่างเดิม แล้วรัฐบาลก็ออกพันธบัตรรัฐบาลขายให้กับประชาชน ซึ่งประชาชนก็ต้องการ ถ้าดอกสูงกว่าเงินฝาก มันก็เป็นการส่งเสริมการออมเงินด้วย

ผมเข้าใจว่าเบื้องหลังจริงๆ ก็คือ รัฐบาลชุดนี้มีแผนการใช้เงินตลอด 4 ปีไว้สูงมาก ทั้งนโยบายประชานิยมต่างๆ ทั้งการสร้างโครงสร้าง ทั้งการลงทุนในรูปแบบที่เคยคิดจะทำเรื่องกองทุนความมั่งคั่งฯ เพราะฉะนั้นเขาจึงไม่ต้องการภาระตรงนี้อยู่กับรัฐบาล เพราะว่าถ้าเขายังเอาภาระตรงนี้อยู่ ปี 2555 นี้ มันมีพันธบัตรที่ครบกำหนดไถ่ถอน F1 กับ F3 ประมาณ 340,000 ล้านบาท ก็คือหมายถึงว่าถ้ารัฐบาลออกพันธบัตรมาก็ต้องตรงนี้ ดังนั้นเขาก็จะเสียโอกาสในการที่จะก่อหนี้ตรงนี้

ถ้าเราสืบสาวราวเรื่องไปจากต้นตอก็คือว่า รัฐบาลต้องการใช้เงินเยอะ ทีนี้เราถาม ไม่ต้องตามหลักพระพุทธเจ้าล่ะ ตามหลักชีวิตของคนปกติโดยทั่วไป เมื่อเรามีรายจ่ายเยอะ เราจะต้องทำยังไงครับ เบื้องต้นจริงๆ ก็คือ เราก็ต้องปรับตัว เราก็ต้องตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปก่อน มันถึงที่สุดจริงๆ แล้วค่อยกู้ อันนี้คือหลักทั่วไป ชีวิตประจำวัน นโยบายประชานิยมต่างๆ ของรัฐบาล บางอย่างผมเชื่อว่าถ้าพูดกับพี่น้องประชาชนตรงๆ ว่ามันต้องชะลอไปสักปี หรือ 2 ปี ผมว่าประชาชนเข้าใจนะ อย่างเรื่องรถคันแรก อะไรต่ออะไร

แต่ทีนี้คือรัฐบาลจะเอาทุกอย่าง นโยบายประชานิยมที่หาเสียงไว้ก็จะไม่ลด แก้ปัญหาน้ำท่วมก็จะทำ แล้วก็บวกกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเข้าไปอีก ซึ่งที่จริงเราก็ยังไม่เห็นภาพรวมว่ารัฐบาลจะทำยังไงบ้าง จะใช้เงินยังไงบ้าง ไอ้ 3.5 แสนล้าน ที่จะตั้งกองทุนเพื่ออนาคต จะสร้างอะไรบ้าง และที่สำคัญคือมันไม่ได้ใช้ในวันนี้ทันที มันไม่ได้ใช้ในปีนี้ ทำไมไม่ตั้งไว้ในงบประมาณ กู้นอกงบประมาณเฉพาะเมื่อจำเป็นจริงๆ

คนที่เขาอยู่ในแวดวงการเงินระดับสูงเขาก็บอกว่า พอมียอดมา มันก็เบิกเงินได้แล้ว ผลประโยชน์ที่จะเล่นแร่แปรธาตุกันตรงนี้มันมีเยอะ ค่าที่ปรึกษาการเงิน คอมมิชชั่นจากการกู้เงิน คอมมิชชั่นจากโครงการเมกะโปรเจกต์ ผลประโยชน์ทับซ้อนต่างๆ สิ่งต่างๆ เหล่านี้คนที่เขารู้จักคนที่อยู่เบื้องหลังนโยบายเหล่านี้ เขารู้ดีว่า มีคนอยู่กลุ่มหนึ่ง ตลอดระยะเวลา 15-20 ปีมานี้ ก็มีแต่มั่งมีศรีสุขขึ้นไปเรื่อยๆ ผมก็ถามเขาไปว่า แล้วมาทำลายระบบธนาคารกลางอย่างนี้ มันจะเกิดอะไรขึ้น ธนาคารกลางก็อ่อนแอลง ในที่สุดเศรษฐกิจของชาติก็อ่อนแอลง สุดท้ายธนบัตรไทยก็จะด้อยค่าลง และสุดท้ายก็กระทบคลังหลวงอยู่ดี และที่สำคัญก็คือ เมื่อถึงเวลาจุดนั้นที่สินทรัพย์ของประเทศไทยด้อยค่าลง มันก็จะเหมือนปี 40 อีกนั่นล่ะ ต่างชาติก็จะเข้ามาช้อปปิ้งในราคาเหมือนได้เปล่า และก็จะมีคนที่อยู่เบื้องหลังนโยบายเหล่านี้ล่ะ เกาะต่างชาติเข้ามา หรือพาต่างชาติเข้ามา เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้ คนบางคนเหล่านี้ ที่มีคนเขาเล่าให้ผมฟังนี่นะ ประเทศชาติจะเป็นยังไง เขามีแต่ได้ และเขาคิดว่าเป็นความชอบธรรมของเขาด้วย นี่ก็เป็นสิ่งที่เราฟังแล้วเราก็เอน็จอนาถ

เพราะฉะนั้นประเด็นก็คือว่า การคัดค้านมันก็วิธีการภายในระบบได้หลายอย่าง หรือการที่พระคุณเจ้าทั้งหลายแหล่เสียสละเดินทางมา เดี๋ยวก็จะกลับอุดรฯ พรุ่งนี้ก็ต้องมาใหม่ เหมือนกับถูกรัฐบาลหลอกพระหลอกเจ้า พรุ่งนี้ให้ไปที่กระทรวงพาณิชย์ ผมพยากรณ์ไว้ล่วงหน้าไม่เจอคุณกิตติรัตน์หรอก ก็ประกาศไว้เลย คุณกิตติรัตน์มาเจอพระท่านหน่อย

แล้วก็บอกไม่รู้ ไม่เห็น ไม่มี ไม่ใช่ ไม่กระทบ แต่ผมเชื่อว่าครั้งนี้มันเป็นเรื่องที่ ตัว พ.ร.ก.ตัวนี้มันเกินไป ในเมื่อมันเกินไป โอกาสที่จะคัดค้านสำเร็จ ผมว่าพอมี ก็ต้องแสดงทุกทาง และอีกทางหนึ่งก็คือ เอาล่ะเมื่อรัฐบาลออกมา สมมุติว่าออกมา คัดค้านไม่สำเร็จ รัฐบาลก็ต้องเผชิญงานหนักในสภาผู้แทนราษฎร ในวุฒิสภา เพราะว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ส.ส.หรือ ส.ว.1 ใน 5 ก็สามารถเข้าชื่อกันให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ว่า อันนี้มันเข้าข่ายพระราชกำหนดหรือไม่ มันก็มีโอกาส ซึ่งผมเชื่อว่าทางพรรคฝ่ายค้านเขาก็คงต้องทำในระดับหนึ่ง

แล้วการอภิปรายอย่างมีเหตุมีผลในสภาผู้แทนราษฎรก็ดี ในวุฒิสภาก็ดี ผมเชื่อว่าน่าจะมีน้ำหนัก ถึงแม้ว่าผมจะคิดว่าในที่สุดก็จะแพ้ ผมคิดว่าแพ้ไว้ก่อน แต่ว่าอย่างน้อยพวกเราทุกคนก็ได้ทำ ไม่นิ่งดูดาย จะได้ผลแค่ไหน ประการใด ก็ขึ้นอยู่กับสังคม ขึ้นอยู่กับสื่อ เพราะต้องยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องยาก ถ้าจะถามว่าเรื่องนี้ล้วงคลังหลวงตรงๆ ไหม ก็ต้องตอบว่าไม่ใช่ คือลักษณะของทางอ้อม แล้วก็ไปบีบบังคับให้แบงก์ชาติทำ แบงก์ชาติพยายามจะพูดคุยทำความเข้าใจกับพระคุณเจ้าต่างๆ พอแบงก์ชาติเจอลูกบังคับแบบนี้เข้า แบงก์ชาติก็อาจจะไม่ต้องมีทางเลือกทางอื่น ก็ต้องแก้ไข พ.ร.บ.เงินตรา

แล้ว พ.ร.บ.เงินตรา ที่แก้ไขไว้ตั้งแต่ปี 2545 นั้น มันก็เปิดช่องไว้ให้ล้วงเงินได้โดยตรงจากคลังหลวง มาตรา 34/2 มันก็ยังเป็นประเด็นอยู่ เพราะฉะนั้นถ้าถามผมว่ามีความหวังไหมว่าการต่อสู้ครั้งนี้จะสำเร็จ ผมว่ามีนะ แต่ว่ามันจะออกมาในรูปไหนเราไม่รู้ เพราะอย่างหนึ่งเขาก็พยายามที่จะหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับคณะศิษย์หลวงตา ไม่อยากจะมายุ่งกับคลังหลวงโดยตรง แต่ใช้วิธีทางอ้อม แล้วก็ให้แบงก์ชาติมาเผชิญหน้าแทน แล้วมันก็มีขั้นตอนอื่นๆ อีกเยอะพอสมควร

แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับพี่น้องประชาชนด้วยว่าเราจะยอมให้เรื่องนี้ผ่านไปง่ายๆ หรือเปล่า บางท่านอาจจะบอกว่าก็สมน้ำหน้าแบงก์ชาติ แบงก์ชาติก็ควรจะโดนบ้าง ผมเองผมไม่ได้เห็นว่าแบงก์ชาติดีนะ ในอดีตแบงก์ชาติก็ผิดพลาดมาเยอะ แต่ขณะนี้เรากำลังพูดถึงการรักษาระบบไว้ เราต้องการรักษาระบบธนาคารกลางไว้ ทำไมล่ะครับ คลัง แบงก์ชาติ คุยกันให้ตกผลึก มันจะต้องมีวิถีทางที่ดีที่สุด แล้วถ้าคลัง รัฐบาล ไม่มีวาระซ่อนเร้น เรื่องจะกู้หนี้ยืมสินกันมหาศาลในรอบ 3-4 ปีจากนี้ไป มันก็สามารถทำทางอื่นได้ แต่ถ้าคุณมีโจทย์อยู่ในใจแล้วว่าคุณคิดจะทำอะไร และคุณก็ใช้วิธีเล่นแร่แปรธาตุ แตะคลังหลวงโดยตรงไม่ได้ ก็แตะทางอ้อม แล้วก็ไปเอาเงินจากสถาบันการเงินมา ทำให้คนฝากเงิน คนกู้เงิน จะต้องเดือดร้อนกันต่อไป

อย่างนี้มันไม่ใช่วิสัยของรัฐบาลที่ทำงานด้วยความโปร่งใส และมีหลักธรรมาภิบาล ผมเชื่อว่าถ้าสามารถทำให้สังคมเข้าใจในจุดนี้ได้ว่า ที่เราค้าน เราไม่ได้ค้านประเด็นทางการเมือง

ตัวผมเอง สมัยพรรคประชาธิปัตย์ ผมก็ค้าน พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้าน พ.ร.บ.กู้เงิน 4 แสนล้าน เพราะผมไม่เห็นด้วยกับการใช้ระบบกู้เงินนอกงบประมาณ ถ้าอันนี้ผมก็ต้องค้านอีก แต่เที่ยวนี้ถ้าเผื่อว่าคุณแยกเรื่องโอนบัญชี นี่พักไว้ก่อนได้ไหม คุณเอา พ.ร.ก.3 ฉบับนั้นไปก่อน ผมก็ว่ามันก็ยังพอฟังได้นะ ถึงแม้จะมีคนค้าน แต่มันก็จะไม่หนักหนาสาหัสเท่ากับคุณพ่วงเอาการซุกหนี้ พ่วงเอาการทำลายระบบธนาคารกลาง หรือว่าเป็นก้าวแรกของการทำลายระบบธนาคารกลาง พ่วงเข้ามาด้วย ซึ่งผมเชื่อว่าจะทำให้แม้แต่คนที่สนับสนุนรัฐบาลชุดนี้ ก็ต้องคิดว่า พวกคุณกำลังคิดอะไรอยู่

เติมศักดิ์- พระคุณเจ้าทั้ง 4 ท่าน ในฐานะที่เป็นศิษยานุศิษย์หลวงตามหาบัว มีอะไรที่อยากจะเตือนสติสังคมไทย คนไทย หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานของรัฐบาล เกี่ยวกับเรื่องนี้บ้าง เรียนเชิญพระอาจารย์ครับ

พระ อ.นพดล- นี่มันเป็นภาวะที่แย่มากนะ เพราะว่าผู้นำไม่ทำตรงไปตรงมา หลอกด้วย แล้วก็ใช้สำบัดสำนวนต่างๆ นานา แล้วก็มาทำเรื่องใหญ่ด้วย คือการทำลายสถาบันธนาคารกลาง ผลร้ายมันจะเสียหายมากเลย ทีนี้ในความที่มันเสียมากๆ เหมือนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ท่านก็เคยมีพระราชดำรัสไว้ว่าวิกฤตมันจะเป็นโอกาส ความที่แย่มากที่สุดมันถึงเวลาที่วิกฤตจะเป็นโอกาส โอกาสคือความไม่ท้อถอยของประชาชน

การออก พ.ร.ก.มันเป็นประวัติศาสตร์ที่ในรัฐธรรมนูญเหมือนไม่มีทางออกแล้ว รัฐบาลที่กล้าตัดสินใจที่จะออก พ.ร.ก. มันก็จะผ่านไป ผ่านไปแล้วก็แล้วกัน ถึงจะมีพระราชบัญญัติฉบับใหม่ออกมา ยกเลิก แต่สิ่งที่ทำไปแล้วมันก็เสีไยปแล้ว แต่คราวที่มันรุนแรงที่สุดทำให้ประชาชนกล้าที่จะลุกขึ้นมา ไม่ใช่ลุกขึ้นมาในทางที่ผิดรัฐธรรมนูญหรอก จะสู้ในทางรัฐธรรมนูญนั่นล่ะ สู้ในทางคุณธรรมนั่นล่ะ ผลสุดท้ายแล้ว ผู้มีอำนาจน่ะ ประเทศชาติยังมีอยู่ เทวดาอารักษ์ยังมีอยู่ คุณงามความดียังมีอยู่ ก็หวังว่าความจริงจังของประชาชนจะทำให้ในที่สุดแล้วก็น่าจะยอมเสีย ผู้เสนอน่าจะยอมถอนเสียเอง หรือแม้กระทั่งผู้นำ ผู้รักษาบ้านรักษาเมือง ท่านก็จะตัดสินใจของท่านได้ว่าอะไรเป็นอะไร

พระ อ.วิทยา- ก็อยากฝากไปถึงท่านนายกรัฐมนตรีโดยตรงที่ได้ไปยื่นหนังสือวันนี้ด้วย ว่า ขอให้ท่านใช้วิธีการที่ในหลวงทรงแนะนำไว้คือเศรษฐกิจพอเพียง ประเทศชาติของเราบอบช้ำมามากแล้ว เมื่อเกิดความแตกแยกเกิดอะไรสารพัด ทุกสิ่งทุกอย่างก็ตาม ก็ไม่ควรที่จะไปตอกย้ำความแตกแยกให้มันรุนแรงยิ่งขึ้น ก็ใช้เศรษฐกิจพอเพียง เราบอบช้ำเพราะเรามีหนี้สินมาก แต่ว่าเราก็ควรใช้การบริหารที่จำกัด แล้วก็ใช้งบประมาณด้วยความจำเป็นจริงๆ ไม่ใช่เราไปยกหนี้สินที่เรามีไปให้คนอื่น แล้วเราก็ไปสร้างหนี้สร้างสินขึ้นมาใหม่ แต่ละรัฐบาล มีแต่รัฐบาลสร้างหนี้สร้างสินทั้งนั้น แล้วรัฐบาลที่จะเข้ามาตั้งหน้าตั้งตาใช้หนี้ใช้สิน ไม่เห็นปรากฏสักที แล้วหนี้สินที่เกิดขึ้นจากกองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาท เป็นหนี้พันธบัตร เป็นหนี้ของคนไทยทั้งประเทศ อยู่ในประเทศไทยเสียส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่เรื่องเร่งร้อนที่เราจะต้องรีบไปชำระหนี้เลย ถึงแม้ว่าเราจะมีดอกเบี้ยที่จะต้องแบกภาระปีละหลายหมื่นล้านก็ตาม มันก็เหมือนกับว่าเราเอาดอกเบี้ยให้คนไทยด้วยกัน เงินกู้ก็เป็นเงินกู้ของคนไทยด้วยกันในประเทศนี่ล่ะ ไม่ได้รีบร้อนที่จะต้องไปใช้ เท่ากับปีหนึ่งเราก็ผันเงินให้เจ้าของเงินกู้ คือคนไทยด้วยกัน ก็ไม่มีอะไรเสียหายหรอก เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่จะต้องออก พ.ร.ก. โอนหนี้ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย 1.14 ล้านล้านบาท แล้วก็ไปทำลายหลักการของธนาคารแห่งประเทศไทยเสียหายหมด เป็นความยับเยินอย่างชนิดที่เรียกว่าประเทศชาติอาจล้มละลายก็ได้ แล้วประเทศชาติ ธนาคารล้มละลาย คลังหลวงเราก็อยู่ไม่ได้ อันนี้ก็ขอฝากนายกรัฐมนตรีไว้ด้วย

พระ อ.สรรวัต- อาตมาเองก็อยากขอฝากทางคณะรัฐมนตรีด้วยเหมือนกัน ให้พิจารณาช่วยกันหาทางออก ในเรื่องการออกพันธบัตรอาตมาเห็นว่าจริงๆ มันก็น่าจะหาช่องทางออกได้ คือในเรื่องการแก้ไขปัญหาวิกฤตประเทศ เรื่องภัยพิบัติต่างๆ น่าจะแบ่งเป็นขั้นเป็นตอน แล้วก็ดูว่าในขั้นตอนนั้นจะใช้เงินเท่าไร ควรจะเร่งด่วนเท่าไร แล้วก็แบ่งเงินเป็นก้อนๆ แล้วก็ออกพันธบัตรกู้ไปตามระยะ ถ้าวางแผนดีๆ อาตมาคิดว่าน่าจะใช้ได้ อันที่ 2 ก็คือการขึ้นภาษี โดยอิงกับเหตุผลที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์กับประชาชน ซึ่งตรงนี้มีตัวอย่างคือประเทศญี่ปุ่น เขามีการออกภาษีแบบขั้นบันได เช่น คนระดับล่างก็ไม่เก็บภาษี คนระดับกลางก็เก็บระดับหนึ่ง คนที่มีฐานะดีก็เก็บสูงขึ้นไปอีก ของไทยตอนนี้เศรษฐกิจเริ่มจะไม่ดีแล้ว ระดับล่างไม่เก็บ แต่ระดับกลางอาจจะลดลงไปบ้าง เพื่อช่วยฐานะความเป็นอยู่ของเขา ระดับกลางก็เยอะอยู่ในเมืองไทย ส่วนเศรษฐีก็ขอสักหน่อย แล้วมหาเศรษฐีนี่ขอเพิ่มขึ้น เขาเก็บเป็นขั้นบันได 2% 10%ขึ้นไป 20-30% 50-60% ก็มี ประเทศญี่ปุ่น เขาเสียสละมาก ตรงนี้ก็อาจจะมาช่วยได้ระดับหนึ่ง ความเป็นอยู่ในระดับกลางของคนไทยก็พอดีขึ้น ส่วนเศรษฐีอาตมาคิดว่าไม่กระทบกระเทือน เพราะว่าไม่ได้ไปเอาเงินจากในแบงก์ที่เขาฝากไว้ แต่ว่าดูรายได้แล้วขอแบ่งเปอร์เซ็นต์ซึ่งไม่มาก เขาก็ยังคงฐานะเศรษฐีเหมือนเดิม อันนี้ก็เรียกง่ายๆ ว่าเป็นการช่วยเหลือกัน

อันที่ 3 อย่างที่โยมคำนูณเขาบอก ในเรื่องการประหยัด ก็คือประเทศไหนในโลกไม่มีใครเขากู้หนี้แล้วเขาสามารถที่จะหนีหนี้ตัวเองได้ ในที่สุดก็ต้องกลับมารับภาระหนี้สินเหมือนเดิม ฉะนั้นทางออกก็คือการประหยัด ซึ่งหลวงตาก็เคยให้ความคิดเอาไว้ว่า คนไทยเราอยู่กินกันสบาย ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ไม่เคยลำบาก และก็อยู่กันจนเคยตัว ท่านก็สอนให้คนไทยประหยัด ซึ่งช่วงนั้นอาตมาฟังแล้วจะเฉยมาก ไม่ได้คิด แต่ว่าอาตมามารู้ซึ้งในคำสอนของหลวงตาตอนนี้ เรื่องประหยัดช่วยประเทศชาติได้จริงๆ ซึ่งมันเป็นแนวเดียวกับที่ในหลวงทรงพระราชทานเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าเกิดว่าทางรัฐบาลยังยืนยันที่จะออก พ.ร.ก.นี้ ข้อสุดท้ายซึ่งอาตมาไม่อยากให้เกิดขึ้น คือก่อนหน้านี้อาตมาก็รู้อยู่แล้ว ลูกศิษย์หลวงตา จากต่างจังหวัดหลายๆ จังหวัด เขาเตรียมตัวอยู่แล้ว จะขึ้นรถทัวร์ ขึ้นรถอะไรมา เช่ารถอะไรต่างๆ มา อาตมาไม่อยากให้เกิดสถานการณ์แบบนี้ ก็คือม็อบ ซึ่งมันจะกระทบเศรษฐกิจแน่นอน แต่ถ้าไม่มีทางเลือกแล้ว ในที่สุดเขาก็จะออกมา ซึ่งอาตมาอยากจะบอกทางคณะรัฐบาลว่า มันเป็นเรื่องน่าตกใจของรัฐบาล เพราะว่าคณะศิษย์หลวงตาไม่ว่าจะเป็นเสื้อแดงหรือเสื้อเหลือง มากันหมดเลย ซึ่งตรงนี้อยากจะฝากเอาไว้ให้รัฐบาลช่วยพิจารณา

พระ อ.จิรวัฒน์- เตือนสั้นๆ รัฐบาล ด้วยความเมตตาหวังดี อยากบิณฑบาต "อย่าแตะคลังหลวง" เพราะว่าคลังหลวงเป็นหัวใจของชาติ ให้เชื่อ ท่านพูดอะไรก็เป็นจริงอย่างที่กล่าวมาแล้ว ไม่ขัดเคือง พูดแสดงไว้หลายที่หลายทาง แบบเด็ดๆ ขาดๆ ก็ฝากไว้ อย่าแตะคลังหลวง แค่นั้นแหล่ะ บ้านเมืองก็จะไปได้

เติมศักดิ์- วันนี้กราบนมัสการพระคุณเจ้านะครับ ขอบคุณคุณคำนูณนะครับ และนี่คือเรื่องที่สังคมไทยต้องช่วยกันจับตา ต้องช่วยกันตรวจสอบ ไม่ให้รัฐบาลดำเนินการในสิ่งที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ วันนี้คนเคาะข่าวลาไปก่อน สวัสดีครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น