xs
xsm
sm
md
lg

“กรณ์” ปลุกต้านรัฐออก กม.เผด็จการ ศก.ไม่รู้ “แม้ว” หวังใช้ลงทุนธุรกิจข้ามชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (แฟ้มภาพ)
“กรณ์” ปลุกต้านรัฐออกกฎหมายเผด็จการเศรษฐกิจ หวั่นพาชาติเสี่ยงล่มสลายตามรอยเศรษฐกิจยุโรป งง มติ ครม.ร่าง กม.กู้เงิน 4 ฉบับ แต่ไม่มีบันทึกในที่ประชุม ซัดโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ให้ ธปท.หวังกู้เงินเพิ่ม เสี่ยงมีหนี้สาธารณะเกือบ 100% ไม่รู้เป็นใบสั่ง “ทักษิณ” กู้เงินลงทุนทำธุรกิจข้ามชาติ จวก ใช้อำนาจรัฐบังคับแบงก์ชาติพิมพ์เงินใช้หนี้ แนะ “ธีระชัย” เรียกเก็บค่าธรรมเนียม ธ.พาณิชย์ แบ่งภาระหนี้ ไม่ให้ขึ้นดอกเบี้ยกับ ปชช. แทนดึงเงินจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ซัด รมว.คลัง หากทำเพื่อ ปชช.ควรลาออกรักษาศักดิ์ศรีตัวเอง ห่วง “ผู้ว่าการแบงก์ชาติ” ทำตามนโยบายรัฐไม่ได้

วันนี้ (5 ม.ค.) ที่รัฐสภา นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรมว.คลัง กล่าวถึงกรณีมติ ครม.ที่อนุมัติหลักการในร่างกฎหมายเกี่ยวกับการกู้เงิน 4 ฉบับ ว่า ยังมีเรื่องน่าสงสัยหลายประการ เพราะในรายงานการประชุม ครม.ไม่ปรากฏมติเรื่องนี้ จึงไม่มั่นใจว่า มีมติจริงหรือไม่ เพราะมีเพียงแค่การแถลงข่าวของ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ เท่านั้น ตนข้องใจว่า ในเมื่อมีมติเรื่องสำคัญถึง 4 เรื่อง ทำไมไม่บันทึกในที่ประชุม ซึ่งจะติดตามเรื่องนี้เพื่อขอความกระจ่าง อย่างไรก็ตาม หากเรื่องนี้เป็นจริงก็ต้องดูว่าคณะกรรมการกฤษฎีกา มีการแก้ไขเนื้อหากฎหมายหรือไม่ เพราะทั้ง 4 เรื่องมีบางเรื่องที่ตนเห็นด้วย เช่น กรณีกองทุนประกันภัย แต่บางเรื่องจะมีปัญหาต่อโครงสร้างการเงินการคลังของประเทศอย่างรุนแรง โดยในส่วนของ พ.ร.ก.ที่ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ภาคอุตสาหกรรมผ่านธนาคารพาณิชย์ ตนมีคำถามว่า ในปัจจุบันรัฐบาลสามารถใช้ธนาคารออมสินในการทำหน้าที่นี้ ในการปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยเดียวกัน และรัฐบาลก็แสดงความโปร่งใสด้วยการตั้งงบประมาณชำระส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยให้ธนาคารออมสิน ซึ่งตนเห็นว่า ในวงเงิน 3 แสนล้านบาท ที่จะให้ ธปท.ปล่อยเงินกู้อยู่ในวิสัยที่ธนาคารออมสิน สามารถทำเองได้ ดังนั้น การแก้กฎหมายของ ธปท.ก็ต้องถามว่า เพื่อไม่ให้มีค่าใช้จ่ายในเรื่องการชดเชยดอกเบี้ยใช่หรือไม่ ซึ่งเท่ากับเป็นการผลักภาระให้กับแบงก์ชาติ และจะกลายเป็นปัญหาในการบริหาร ว่า แบงก์ชาติจะนำเงินส่วนไหนมาชดเชยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยต้นทุนส่วนต่างของแบงก์ชาติอื่น ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลต้องชี้แจง

นายกรณ์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่จะกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อลงทุนฟื้นฟูความเสียหายหลังน้ำท่วม ก็ควรมีแผนการลงทุนที่ชัดเจน เพราะขณะนี้มีแต่การขอเงิน ไม่ต่างจากที่กำหนดในงบกลาง 1.2 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดได้ว่าจะใช้อย่างไร และรัฐบาลก็ไม่พยายามให้รายละเอียดโครงการกับทางฝ่ายค้านได้ตรวจสอบ เสนอมาแค่ 4 หมื่นกว่าล้านบาท ในวันที่ 29 ธ.ค.54 จน กมธ.ไม่มีเวลาตรวจสอบ ส่วนอีก 8 หมื่นล้านบาท ไม่มีรายละเอียด ทั้งๆ ที่เหลือเวลาใช้เงินงบประมาณเพียงแค่ 8 เดือน ในขณะที่งบส่วนนี้ยังไม่ชัดเจนรัฐบาลก็จะกู้เพิ่มอีก 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งตนมั่นใจว่า รัฐบาลยังไม่มีแผนฝ่ายค้านจึงไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเช่นนี้ เพราะถ้าต้องการใช้เงินในอนาคตก็ควรใช้เงินในงบประมาณ ไม่ใช่การกู้เพิ่ม ซึ่งเรื่องนี้เป็นจุดยืนของพรรคเพื่อไทยสมัยเป็นฝ่ายค้าน ว่า ไม่ต้องการให้มีการกู้เงินนอกงบประมาณ แต่เมื่อมาเป็นรัฐบาลกลับเปลี่ยนจุดยืน แสดงว่า ที่ผ่านมา เพียงแค่สร้างวาทกรรมทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น

นายกรณ์ กล่าวต่อว่า สำหรับร่างกฎหมายโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ให้กับ ธปท.นั้น เป็นเรื่องที่อันตรายที่สุด ซึ่งจากเนื้อหาที่ปรากฏต่อสื่อมวลชนที่เป็นร่างกฎหมายที่อ่านยากมาก แต่สุดท้าย ก็คือ ภาระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยของกองทุนฟื้นฟูฯโอนไปให้ ธปท.โดยมอบอำนาจให้รัฐบาลในการบังคับ ธปท.โอนทรัพย์สินของ ธปท.ไปไว้ในบัญชีเพื่อชำระหนี้ส่วนนี้ ซึ่งขัดหลักธรรมาภิบาลที่สากล ยอมรับว่า ธนาคารกลางต้องเป็นหน่วยงานอิสระจากรัฐบาล แต่ตอนนี้รัฐบาลกำลังใช้ธนาคารกลางพิมพ์เงิน เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินของรัฐบาล ซึ่งจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือและฐานะทางการเงินของ ธปท.ทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจต่อระบบการเงินการคลังของประเทศ

อดีต รมว.คลัง กล่าวด้วยว่า สิ่งที่รัฐบาลทำเป็นการดึงรายได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้ และยังเตรียมที่จะดึงเงินทุนสำรองมาใช้สมทบ หากรายได้ไม่เพียงพอ หลักคิดเช่นนี้ตนได้บอกกับ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง แล้ว ว่า ไม่ควรดำเนินการ แต่ถ้ารัฐบาลจะใช้วิธีเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากสถาบันการเงินเพิ่ม เพื่อนำเงินส่วนนี้มาแบ่งเบาภาระหนี้กองทุนฟื้นฟู ตนคิดว่า ในหลักการเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เพราะภาระหนี้สินของกองทุนฟื้นฟูเกิดขึ้นจากการเข้าไปดูแลสถาบันการเงินที่มีปัญหาในช่วงวิกฤตปี 40 ดังนั้น เมื่อธนาคารมีความแข็งแรงก็ควรจะช่วยแบ่งเบาภาระในส่วนนี้ แต่รัฐบาลต้องมีหลักประกันไม่ให้ธนาคารพาณิชย์ผลักภาระไปยังประชาชนด้วยการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ซึ่งอยู่ในวิสัยที่รัฐบาลจะกำหนดมาตรการที่ชัดเจนเข้าไปควบคุมดูแลได้ แต่ไม่เห็นด้วยที่จะนำเงินจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากมาใช้ เพราะเงินก้อนดังกล่าวมีไว้เพื่อดูแลเงินให้ประชาชน จึงไม่ควรใช้ผิดวัตถุประสงค์ เพราะจะกระทบกับกลไกคุ้มครองเงินฝากหากเกิดปัญหากับระบบของสถาบันการเงิน

นายกรณ์ กล่าวต่อว่า แนวทางที่รัฐบาลควรทำ คือ การลดภาษีนิติบุคคลให้กับธนาคารเพียงแค่บางส่วน ไม่ใช่ลดภาษีเต็มจำนวนตามนโยบายของรัฐบาล 7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตนได้คุยกับนายธีระชัย และได้ยอมรับว่า เป็นแนวทางที่ถูกต้อง แต่สายเกินไป เพราะให้สิทธิในเรื่องการลดภาษีดังกล่าวกับธนาคารพาณิชย์ไปแล้ว สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลคิดนโยบายไม่ครบ จนส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ และยังทำผิดหลักธรรมาภิบาล โดยที่ไม่มีความจำเป็น

“รมว.คลัง ก็พูดว่า รัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงิน แต่ต้องไม่มีความเสี่ยงต่อฐานะการคลังของประเทศ ซึ่งก็ตรงกับที่พรรคประชาธิปัตย์ พูดมาโดยตลอด แต่ความจำเป็นในการโอนหนี้ให้ธปท.เพื่อกู้เงินเพิ่มไม่มี และ รมว.คลัง ก็ยอมรับเรื่องนี้ จึงไม่เข้าใจว่า ทำไม นายกิตติรัตน์ และ ครม.จึงคิดว่าจำเป็นที่ต้องโอนหนี้เพื่อกู้เพิ่ม” นายกรณ์ กล่าว

นายกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้นักลงทุนมีความสับสนมากเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาล เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นคนกำหนดนโยบายด้านการคลัง ระหว่าง นายกิตติรัตน์ และ นายธีระชัย ซึ่งการขัดแย้งในหลักการสำคัญเช่นนี้ หาก นายธีระชัย ไม่เห็นด้วย ก็ขอย้ำข้อเสนอเดิม ว่า ควรลาออกจากตำแหน่ง หรือถ้ารัฐบาลเห็นว่า นายธีระชัย ไม่ตอบสนองความต้องการของรัฐบาลก็ควรปลดออกจากตำแหน่ง หาคนอื่นมาทำแทน ตนยังยืนยันว่า นายธีระชัย มีหน้าที่รักษาจุดยืนวินัยการเงินการคลังและปกป้อง ธปท.ให้มีความเป็นอิสระ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวม สำหรับนายธีระชัย เท่าที่ทราบก็อยู่ในฐานะง่อนแง่นทางการเมือง จึงไม่ทราบว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นเกมการเมืองหรือไม่ ในอดีตสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ก่อนที่จะมีการกำหนดนโยบายสำคัญทางเศรษฐกิจ จะมีการนัดหารือนอกรอบกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เห็นตรงกัน จึงไม่เคยมีภาพความขัดแย้งออกมาสู่สาธารณะ ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น เพราะจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของต่างประเทศเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจ

“ผมคิดว่า วันนี้ นายกิตติรัตน์ ควรกลับไปทำหน้าที่ในฐานะ รมว.คลัง คือ ดูแลเรื่องปากท้องของประชาชน ซึ่งราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยที่กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้เข้าไปดูแล แต่กลับมาทำหน้าที่ในส่วนของกระทรวงการคลัง ซึ่งทำให้เกิดความสับสนในเรื่องบทบาท ระหว่าง รมว.พาณิชย์ และ รมว.คลัง และ รมว.คลัง ก็ควรรักษาศักดิ์ศรีในฐานะรัฐมนตรีด้วยการลาออกหาก ครม.ไม่ฟังคำคัดค้านก็ไม่ควรอยู่ใน ครม.และหาก นายธีระชัย ลาออกด้วยสาเหตุนี้ก็จะเป็นการรักษาจุดยืนที่มั่นคงของกระทรวงการคลัง ให้สังคมได้ประจักษ์” นายกรณ์ กล่าว

อดีต รมว.คลัง เชื่อว่า ภายใต้การบริหารของรัฐบาลชุดนี้ จะทำให้การทำงานของนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.ยากลำบากมากขึ้น แต่มั่นใจว่า นายประสาร เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตัวเอง และมีความหนักแน่นในการรักษาจุดยืนของ ธปท.โดยสามารถฝ่าด่านการเมืองได้ในทุกกรณี โดยหวังว่า ครม.ไม่ใช้อำนาจในฝ่ายบริหาร และนิติบัญญัติ ออกกฎหมายให้แบงก์ชาติต้องทำตาม เพราะจะเกิดปัญหา เป็นการท้าทายหลักการสำคัญในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ และสวนแนวความคิดหลักการสากลที่ให้ความสำคัญต่อความเป็นอิสระของธนาคารกลาง จึงถือเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งจะทำให้แบงก์ชาติมีปัญหาในอนาคต แต่ก็สะท้อนแนวคิดของพรรคเพื่อไทย ว่า พยายามที่จะแทรกแซงองค์กรอิสระมาโดยตลอด ทั้งในส่วนการเมืองและเศรษฐกิจ

“ประชาชนต้องตื่นตัวไม่ให้มีการใช้เสียงข้างมากในสภา ออกกฎหมายเผด็จการทางเศรษฐกิจหรือเผด็จการทางการเมือง เพราะขัดแย้งกับหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง ซึ่งตนหวังว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจะไม่ไปถึงจุดที่ทำให้นายประสาร อยู่ในตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท.ต่อไปไม่ได้ แต่ถ้าการออกกฎหมายที่ขัดกับจุดยืนของแบงก์ชาติ ทำให้ นายประสาร ทำงานไม่ได้ตามหลักการที่ควรจะเป็น นายประสาร ก็คงต้องพิจารณาว่าในสถานการณ์เช่นนั้นระหว่างการอยู่ในตำแหน่งกับการออกจากตำแหน่ง สิ่งไหนจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมากกว่ากัน ซึ่งหากปัญหาเดินไปถึงจุดนี้ นอกจากจะสะท้อนว่าคนดีทำงานร่วมกับรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ ยังเป็นสัญญาณที่อันตรายมากกับประเทชาติโดยรวม” นายกรณ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีความเสี่ยงอะไรเกิดขึ้น หาก ธปท.ถูกแทรกแซงได้โดยฝ่ายการเมือง นายกรณ์ กล่าวว่า แบงก์ชาติมีอำนาจพิมพ์เงิน ถ้ารัฐบาลใช้อำนาจในสภา บังคับให้แบงก์ชาติพิมพ์เงิน ก็ต้องนับถอยหลังทางเศรษฐกิจได้เลย ล่มสลายแน่นอน ซึ่งหากคำนวณจากความพยายามที่จะโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาท ให้ ธปท.เพื่อลดปริมาณหนี้สาธารณะก็จะทำให้รัฐบาลกุ้เพิ่มได้อีก 1 ล้านล้านบาท ทั้งๆ ที่สามารถกู้ได้อยู่แล้ว 1-2 ล้านล้านบาท ทำไมจึงต้องขยายวงเงินอีก 1 ล้านล้านบาท เป็น 3 ล้านล้านบาท อยากถามว่าจะนำเงินไปใช้ทำอะไร เพราะขนาด 1.2 แสนล้านบาทในงบกลาง ยังชี้แจงไม่ได้ ตนจึงไม่เข้าใจว่า เป็นเพราะลุด้วยอำนาจที่จะผลักดันทฤษฎีของตัวเอง ทั้งที่เป็นผลลบกับประเทศชาติ และตนเห็นว่า หากทำได้ รัฐบาลก็จะได้รับผลกระทบในเรื่องความเชื่อมั่นเกี่ยวกับหลักธรรมาภิบาลตามมา เพราะเศรษฐกิจปัจจุบันไม่ได้เลวร้ายถึงขั้นต้องใช้เงินจำนวนมากมากระตุ้น ฐานะของประเทศในขณะนี้เพียงพอที่จะเดินหน้าโดยไม่ต้องกู้เงินตามที่รัฐบาลวางแผน เพราะประชาชนจะไม่ได้ประโยชน์จากแนวความคิดนี้เลย

ผู้สื่อข่าวถามเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะมีใบสั่งจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เพื่อระดมเงินปูทางไปสู่การทำธุรกิจข้ามชาติ นายกรณ์ กล่าวว่า เป็นไปได้ทั้งนั้น แต่ตนก็ไม่อยากที่จะกล่าวหา แต่สิ่งที่เห็นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก เพราะรัฐบาลได้ทำในสิ่งที่เสียหายทั้งต่อระบบเศรษฐกิจ และการเมืองของไทย ซึ่งในขณะนี้ถือว่ามีความเสี่ยงไม่แตกต่างจากเรื่องของภัยพิบัติ หากเดินหน้าเรื่องนี้เศรษฐกิจไทยก็อยู่ในภาวะเสี่ยงอย่างยิ่ง เพราะถ้ากู้เต็มจำนวนก็จะทำให้หนี้สาธารณะอาจเพิ่มขึ้นถึงเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เท่ากับว่า ประเทศไทยจะอยู่ในภาวะวิกฤตหนี้ไม่แตกต่างจากที่ยุโรปกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ อีกทั้งสัญญาณที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ก็จะส่งผลให้มีความเชื่อมั่นนักลงทุนลดลง ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ถือว่ารัฐบาลกำลังทำลายต้นทุนที่แข็งแกร่งในเรื่องพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยที่สร้างสมมาอย่างยาวนาน เรื่องการรักษาวินัยการเงินคลังที่ได้รับการยอมรับ ไม่ว่าจะเกิดปัญหาการเมือง หรือมีการปฏิวัติ ประเทศไทยก็ยังยืนอยู่ได้ด้วยทุนของประเทศตรงนี้ แตกต่างจากประเทศอื่นๆ ที่มีประวัติไม่ดีในเรื่องวินัยการเงินการคลัง จนล่มสลายทางเศรษฐกิจ จึงไม่เข้าใจว่า รัฐบาลจะนำพาประเทศไปสู่ความเสี่ยงอย่างนี้ทำไม ตนคิดว่า ผู้ที่มีแนวความคิดที่จะทำเรื่องนี้ต้องบอกกับสังคมว่ากำลังคิดอะไรอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น