xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ความอยากของ”เดอะโต้ง”กิตติรัตน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กิตติรัตน์ ณ ระนอง
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-“กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ พยายามแสดงบทบาทความเป็น “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยอาศัยมติคณะรัฐมนตรีผ่านร่างพระราชการกำหนดทางการเงินถึง 4 ฉบับ

ที่สำคัญคือ ร่าง พ.ร.ก. เกี่ยวกับการโอนหนี้ของกองทุนฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงินมูลค่า 1.14 ล้านล้านบาท

และร่างพ.ร.ก.กู้เงิน จำนวน 3.5 แสนล้านบาท

การกระทำครั้งนี้ ก็ดำเนินการอย่างไม่โปร่งใส มีเจตนาเคลือบแฝงไปด้วยกลิ่นอายการเมือง

อย่างน้อยที่สุด รัฐบาลยิ่งลักษณ์ กลัวถูกวิจารณ์ว่า “เอาแต่กู้” หลังจาก “เอาไม่อยู่” มาระยะหนึ่งแล้ว

จนต้องมีการเก็บเอกสารการประชุมคณะรัฐมนตรี

นอกจากนั้น การออก พ.ร.ก. 4 ฉบับนี้ ยังทำให้ “หุ้นกิตติรัตน์” ถูกปั่นราคาไปถึงตำแหน่ง “รมว.คลัง” ที่เขาคาดหวังมาก ในการปรับครม. ต้นปีนี้

นั่นหมายความว่า กิตติรัตน์ สามารถก้าวขึ้นสู่เก้าอี้ผู้นำตลาดทุน และตลาดเงิน ได้อย่างเต็มภาคภูมิ

แต่อีกด้านหนึ่งก็แสดงถึง “ภูมิปัญญา” ด้านสถิติการเงินการคลังของ “ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” ซึ่งธีระชัย เคยวิจารณ์การทำงานของแบงก์ชาติว่า..ยึดหลักสถิติมากเกินไป

ทั้งๆ ที่หากไม่มีหลักสถิติให้ยึด ไม่แน่ว่าสถานะการเงินของประเทศ อาจจะอยู่ในขั้นล้มละลายไปแล้วก็ได้

ประกอบกับมีความเห็นร่วมกันของนักข่าว และคนทำงานในกระทรวงการคลัง รวมทั้ง ส.ส. รัฐมนตรี ว่าควรปลด ธีระชัย ออกจากตำแหน่ง ด้วยเหตุผลนับประการ

ที่สำคัญ รมว.คลัง คนนี้เป็นที่พึ่งนักการเมืองไม่ได้

แปลไทยเป็นไทย ก็คือ บริหารการเงินการคลังไม่เป็น แล้วยังบริหารนักการเมืองไม่ได้อีก

“ธีระชัย” เคยอาศัยอำนาจรมว.คลัง สั่งการบ้านธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) 4 เรื่องด้วยกัน

โดยขีดเส้นตายว่า จะต้องทำให้เสร็จภายใน 1 เดือน เหมือนจะส่งสัญญานสีแดงเพื่อปลด “ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.)...การบ้านทั้ง 4 เรื่องได้แก่

เรื่องที่ 1. ได้ขอให้ ธปท. ไปศึกษาการตั้งกองทุนความมั่งคั่ง โดยให้นำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศส่วนหนึ่งออกมาจัดตั้ง ให้มีการแยกบัญชีต่างหาก ซึ่งอาจจะต้องมีการแก้กฎหมาย เพื่อให้นำเงินทุนสำรองออกมาใช้

การตั้งกองทุนมั่นคั่ง จะเป็นการบริการร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับ ธปท. โดยต้องมีข้อตกลงว่า กำไรจะนำไปทำอะไร และ ขาดทุนใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

เรื่องที่ 2. ให้หาแนวทางการแก้ไขหนี้กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่เดิมมีจำนวน 1.1 ล้านล้านบาท แต่ ธปท. ชำระหนี้เงินต้นได้เพียง 1.6 แสนล้านบาท ขณะที่คลังชำระดอกเบี้ยไป 6.7 แสนล้านบาท มีเงินต้นที่เหลืออีก 1.1 ล้านล้านบาท ที่ ธปท. ยังชำระไม่ได้ และเป็นภาระกับงบประมาณ

เรื่องที่ 3. ต้องการให้ ธปท. เข้าไปกำกับการดูการออกตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้น (ตั๋วบีอี) ของธนาคารพาณิชย์ ที่มีการขยายตัวจำนวนมาก เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีปัญหาทำให้เกิดความเสียหาย และมาเป็นภาระทางการคลัง โดยส่วนตัวต้องการให้โอนการกำกับดูแลตั๋วบีอี ไปไว้ที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

เรื่องที่ 4. ขอให้ ธปท. ทบทวนกรอบเงินเฟ้อที่ประกาศใช้ใหม่ปี 2555 โดยให้คำนึงถึงปัจจัยภาวะเศรษฐกิจในและนอกประเทศ รวมถึงแนวนโยบายของรัฐบาลที่ต้องดำเนินการ เพราะกรอบเงินเฟ้อที่ใช้อยู่ในปัจจุบันที่ 0.5-3 % ต่อปี ถือว่า กว้างเกินไป ทำให้ ธปท. ไม่ค่อยกังวลดูแลเงินเฟ้อตอนที่อยู่ในระดับต่ำ

กลายเป็น รมว.คลัง ที่ไม่รู้จักหน้าที่ของตัวเอง เหมือน ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช ที่ชอบวิจารณ์การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

ทั้งๆ ที่กระทรวงการคลัง มีหน้าที่บริหาร “รายได้-รายจ่าย” ของประเทศ

ทำให้การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา ธีระชัย ถูกลดบทบาทกลายเป็นเพียง “ตัวประกอบฉาก” เท่านั้น

การออกพระราชกำหนด 4 ฉบับ ตกเป็นผลงานของ “กิตติรัตน์” ซึ่งนำเสนอต่อที่ประชุม แม้จะมีความสับสนกันมากว่า ครม.มีมติเรื่องดังกล่าวอย่างใด เพราะในเอกสารผลการประชุมครม.ไม่ปรากฏเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด

สำหรับ พ.ร.ก. 4 ฉบับ ที่นายกิตติรัตน์ นำเสนอนั้น ประกอบด้วย

1. พ.ร.ก.แก้ไขพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อปล่อยกู้ดอกเบี้ย 3 แสนล้านบาท พ.ศ.... เพื่อให้สถาบันการเงินปล่อยกู้แก่ผู้ประสบอุทกภัย
2. พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.... เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รับผิดชอบทั้งดอกเบี้ย และเงินต้น 1.14 ล้านล้านบาท
3. พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อโครงสร้างพื้นฐาน พ.ศ.... ซึ่งจะออกเป็นพันธบัตรช่วงเดือน ธ.ค. 2555-2557 ซึ่งเป็นเงินกู้ทั้งใน และต่างประเทศ
4. พ.ร.ก.จัดตั้งกองทุนประกัน 5 หมื่นล้านบาท พ.ศ.... ที่สำคัญคณะรัฐมนตรี พยายามปกปิดเรื่องนี้ไว้ เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตัวเอง ทั้งๆที่กำลังใช้เงินภาษีของประชาชนบริหารประเทศ

Other people’s money ถูกละเลย เพราะประชาชนในประเทศนี้ ไม่อยู่ในสายตาของพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว

นักข่าวรายงานว่า เรื่องการแถลงข่าวต่อสังคม ถูกหยิบยกขึ้นถกเถียงกันมาก เพราะกลัวว่า จะถูกนำไปเปรียบเทียบกับรัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่เคยวิจารณ์ไว้

“นายธีระชัย ได้ชี้แจงว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่พูดได้ ต้องเปิดเผย อธิบายให้ประชาชนเข้าใจ ไม่มีอะไรต้องปกปิด แต่นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ได้แย้งว่า ต้องเข้าใจการเมืองด้วย ถ้าไม่พูดได้จะดีกว่า เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก แล้วประชาชนจะนำเปรียบเทียบกับรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทันทีว่า พรรคเพื่อไทยไปว่าเขาออก พ.ร.ก.กู้เงิน แต่แล้วคุณก็ออกเหมือนกัน แม้จริงๆ ไม่เหมือนกัน แต่ต้องไปหาความต่างของเราก่อนว่าเป็นอย่างไร เราต้องกู้เงินแน่นอน ถ้าไม่ทำ ก็ไม่มีเงินมาใช้ฟื้นฟู แต่ก่อนจะไปพูด ขอให้ไปจัดระบบความคิดให้ดีก่อน และรอไว้กลับจากการประชุม ครม.ที่จังหวัดเชียงใหม่ก่อน ก็ยังจะดีกว่า และต้องให้ทั้งสองท่านไปคุยกัน” นักข่าวรายงานข้อความการโต้แย้งในที่ประชุม

ทำให้คนทั่วไปเชื่อ และคิดได้ทันทีว่า “วิทยา” คิดอย่างไร กับประชาชนคนไทย

แปลไทยเป็นไทยก็คือ คิดว่า คนไทยกินแกลบกันทั้งประเทศ

เนื้อหาการให้สัมภาษณ์เรื่องเดียวกันของ รัก-ยม “ธีระชัย-กิตติรัตน์” กำลังหันหลังเดิน

ธีระชัย บอกว่า ครม.ให้กลับไปทบทวน พ.ร.ก.ทั้ง 4 ฉบับ โดยให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำ (กยน.) พิจารณาก่อน ซึ่งรวมถึงการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ที่ ครม.เพียงอนุมัติในหลักการว่า การแก้ปัญหาหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ต้องไม่กระทบกับวินัยการเงินการคลัง

แต่ในตอนเย็นวันเดียวกัน “กิตติรัตน์” ให้สัมภาษณ์ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า ครม.มีมติเห็นชอบหลักการร่างกฎหมาย 4 ฉบับ โดยเฉพาะการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ด้วยการแก้กฎหมายเปิดทางให้ ธปท. เก็บค่าธรรมเนียมเงินฝากจากสถาบันการเงินในอัตราร้อยละของยอดเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครอง ซึ่งเมื่อรวมกับเงินที่สถาบันการเงินต้องส่งให้สถาบันคุ้มครองเงินฝาก 0.4 % แล้ว ยอดรวมต้องไม่เกิน 1 % เพื่อที่ ธปท.จะมีเงินชำระเงินต้น และดอกเบี้ยของกองทุนฟื้นฟูฯ และทำให้สัดส่วนการชำระเงินต้น และดอกเบี้ยไม่เกิน 15 % ของงบประมาณประจำปี ส่งผลให้รัฐบาลกู้เงินเพิ่มเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศตามแผนรัฐบาลได้

นอกจากนี้จะต้องลงทุนระบบบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท การจัดตั้งกองทุนประกันภัย 5 หมื่นล้านบาท รวมถึงภาระค้ำประกันกองทุนอีก 2 แสนล้านบาท

กิตติรัตน์ ตอกย้ำว่า “เราจำเป็นต้องออกกฎหมายทั้ง 4 ฉบับ อย่างเร่งด่วน เพราะปี 2555 เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญในการเตรียมความพร้อมทางการเงิน และจัดระบบน้ำ”

เมื่อนักข่าวถามแย้งว่า “นายธีระชัย ระบุว่า ครม.ตีกลับเรื่องดังกล่าว”

กิตติรัตน์ ตอบทันทีว่า “ ครม.เห็นชอบทั้ง 4 ฉบับ ไม่รู้ว่าท่านอื่นแถลงยังไง แต่ความชัดเจนคือ ครม.ให้ความเห็นชอบ”

พูดกันคนละทิศทาง และคนละความหมาย แต่เรื่องเดียวกัน

โดยสรุปก็คือ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ กำลังให้แบงก์ชาติต้องรับภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาท ตามการบ้านที่ธีระชัย เคยให้ผู้ว่าฯแบงก์ชาติไว้

นั่นหมายความว่า ในเมื่อแบงก์ชาติไม่ทำ รัฐบาลก็ออกกฎหมายบังคับให้รับผิดชอบไป

ข้อสรุปที่สำคัญอีกประการคือ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ จะกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท โดยเชื่อว่าจะ “เอาอยู่” ให้ได้

และสุดท้ายของข้อสรุปที่ยังไม่ได้เปิดเผยก็คือ "ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล" คงต้องพ้นตำแหน่ง รมว.คลัง ในอนาคตอันใกล้นี้

ด้วยความคาดหวังอย่างสูงลิ่วของ “กิตติรัตน์” ที่จะเสียบก้นนั่งเก้าอี้แทน...ฮะ ฮะ ฮา !!
วิทยา บุณรศิริ
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
กำลังโหลดความคิดเห็น