โฆษกรัฐบาลอ้างจำเป็นต้องออก พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูให้ ธปท.รับผิดชอบ เพื่อนำเงินที่ต้องเสียดอกเบี้ยปีละ 6.5 หมื่นล้าน มาฟื้นฟูประเทศหลังเกิดน้ำท่วม ระบุใครขวางเสมือนปิดโอกาสประชาชนและประเทศในการสร้างอนาคตที่ดีกว่า ด้าน “โกร่ง” ฉะ ธปท. ทำตัวเป็นรัฐอิสระ พูดให้สังคมไม่ไว้วางใจนักการเมือง
นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงถึงเหตุผลที่ ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการออก พ.ร.ก.เกี่ยวเนื่องกับการฟื้นฟูประเทศหลังน้ำลด และหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า เนื่องจากปี 2554 ประเทศไทยเกิดวิกฤตอุทกภัยอย่างหนัก ทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ สังคม ระบบการคมนาคมขนส่ง และการท่องเที่ยวของประเทศอย่างมาก รัฐบาลจึงต้องลงทุนฟื้นฟูบูรณะประเทศ เพื่อวางรากฐานการปรับโครงสร้างในระยะยาว จำเป็นต้องหาเงินทุนมหาศาลมาซ่อมแซม พัฒนา แก้ไขปัญหา และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศ
ทางคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ได้เสนอให้มีการเตรียมการด้านการเงินเพื่อการลงทุน วางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศด้วยการออก พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ
นางฐิติมากล่าวว่า ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงถึงเหตุผล และความจำเป็นเร่งด่วนในการออก พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้กองทุนฯว่า เนื่องจากหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ที่ปัจจุบันมียอดคงค้างจำนวน 1.14 ล้านล้านบาทนั้น เป็นหนี้ที่เกิดจากวิกฤติสถาบันการเงินที่ต้องปิดกิจการไปถึง 56 แห่ง ตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งหนี้จำนวนนี้ประชาชนไม่ได้เป็นผู้ก่อขึ้น แต่ตลอดระยะเวลาตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย บริหารประเทศใน ปี 2541 จนถึงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการนำงบประมาณของชาติ ซึ่งมาจากภาษีอากรของพี่น้องประชาชนมาจ่ายดอกเบี้ยให้ปีละประมาณ 65,000 ล้านบาท รวมเป็นเงินที่จ่ายดอกเบี้ยไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 600,000 ล้านบาท
สำหรับเงินต้นที่ ธปท.เป็นผู้ใช้หนี้ พบว่ากว่า 13 ปีที่ผ่านมา เงินต้นลดลงไปเพียง 300,000 ล้านบาทเท่านั้น ทำให้เห็นว่าหนี้กองทุนฟื้นฟู เป็นหนี้ที่ประชาชนต้องชดใช้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด หากยังบริหารเหมือนเดิมไปเรื่อย ๆ อีกกี่ปีภาระเงินต้นที่ธปท.รับผิดชอบอยู่จะจบ
โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ถ้าลองคำนวณจากสถิติการชำระหนี้มาโดยตลอดของ ธปท. คาดว่าจะสามารถชำระหนี้เงินต้นจบสิ้นในอีกประมาณ 50 ปีข้างหน้า และกระทรวงการคลังต้องชำระหนี้ดอกเบี้ยให้อีก 50 ปีเช่นกัน หากรัฐบาลไม่ต้องรับภาระหนี้ดอกเบี้ยปีละประมาณ 65,000 ล้านบาทแล้ว รัฐบาลจะสามารถนำเงินงบประมาณไปดำเนินการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศได้อีกหลายเรื่อง เช่น การแก้ไขบริหารจัดการน้ำของประเทศ การขุดลอกคลอง การสร้างพื้นที่กักเก็บน้ำ แก้มลิง งานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยุคใหม่ได้
ดังนั้น รัฐบาลต้องปรับแผนการดำเนินงานให้เหมาะสม และวางแผนสำหรับอนาคตโดยขอให้ ธปท.เข้ามาช่วยแก้ปัญหาแบกรับภาระดอกเบี้ยอันเป็นการช่วยประหยัดเงินภาษีประชาชน ดังนั้นรัฐบาลจึงขอโอกาสนำเงินภาษีประชาชน ไปสร้างประเทศมากกว่าการชำระดอกเบี้ยที่ไม่มีวันสิ้นสุด การแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนฟื้นฟูอย่างถาวรเป็นส่วนสำคัญที่จะเพิ่มความคล่องตัวให้แก่รัฐบาลนี้ และรัฐบาลต่อๆ ไปด้วย ดังนั้นรัฐบาลต้องออก พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้กองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการออก พ.ร.ก.นี้ จึงเสมือนเป็นการสนับสนุนการปิดโอกาสของประชาชน ปิดโอกาสของประเทศในการสร้างอนาคตที่ดีกว่า ยืนยันว่าการออก พ.ร.ก.ทำได้โดยไม่กระทบวินัยทางการเงินและการคลังของประเทศ
นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) เจ้าของแนวคิดโยกหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ไปให้ ธปท.รับผิดชอบ กล่าวในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชนว่า กรณีที่ ธปท.แสดงความกังวลเกี่ยวกับ พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน มาให้ ธปท.ในส่วนของมาตรา 7 (3) ที่คล้ายกับว่าให้ ธปท.โอนหรือเขียนเช็กเปล่าให้กับรัฐบาลว่า สังคมไทยไว้ใจ ธปท. แต่ไม่ไว้ใจ รมว.คลัง นักการเมือง ซึ่งเรื่องนี้เป็นมาตั้งแต่ในอดีต
“ถ้าปิดประตูไม่ให้ รมว.คลังทำอะไรได้ แบงก์ชาติ (ธปท.) ก็เป็นรัฐอิสระ และชอบพูดให้สังคมไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี ขัดหลักประชาธิปไตย เพราะรัฐมนตรี นักการเมือง มาจากประชาชน แบงก์ชาติไม่ได้มาจากประชาชน แต่มาพูดให้ไม่ไว้วางใจนักการเมือง”
ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลเกี่ยวกับการคิดค่าธรรมเนียมสถาบันการเงินเพิ่ม หลังออก พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นอำนาจของ ธปท.ที่ต้องไปดูแล หากไม่ทำอะไรเลยหนี้ก้อนดังกล่าวของกองทุนฟื้นฟูฯ คงเป็นหนี้ไปตลอดกาลอวสาน
ด้าน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ กล่าวเสริมว่า หนี้ที่มีอยู่ไม่ว่าจะที่ไหนก็เป็นหนี้ของประเทศ ดังนั้น หนี้ที่เกิดขึ้นจากตรงไหนจึงควรอยู่ตรงนั้น และ ธปท.เองเคยบอกว่าจะรับผิดชอบ ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2541 กระทรวงการคลังได้ออกเงินชดใช้หนี้ให้ก่อน ซึ่ง ธปท.บอกเองว่าจะให้ตามหลัง