“มาร์ค” ชี้การเร่งออก พ.ร.ก.เงินกู้ 3.5 แสนล้าน อาจขัด รธน. ห่วงรัฐบังคับแบงก์ชาติปั๊มเงิน 3 แสนล้านทำเงินเฟ้อพุ่ง อัด “โกร่ง” อย่าโยนบาปให้ ธปท. ค้านโอนหนี้ให้แบงก์ชาติไม่ใช่ปิดโอกาสประชาชน แต่ปิดโอกาสรัฐบาลล้วงเงิน ธปท. ดักคอรัฐใช้ข้ออ้างน้ำท่วมสร้างหนี้ให้ประเทศ
วันนี้ (8 ม.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมนำร่าง พ.ร.ก.4 ฉบับ กลับเข้าสู่ที่ประชุมครม.อีกครั้งว่า ในกรณี พ.ร.ก.ตั้งกองทุนประกันภัย 5 หมื่นล้านบาท ตนเห็นด้วยว่าเป็นเรื่องจำเป็น และอยู่เงื่อนไขที่จะออก พ.ร.ก.ได้ เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่การออก พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ถ้ามีโครงการที่อธิบายต่อสังคมได้ว่าจำเป็นต้องใช้เงินทันทีจึงจะเข้าข่าย แต่ตนยังมองไม่เห็นว่าโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งอาจต้องใช้เวลา 3-7 ปี ทำไมจึงต้องกู้เงินจำนวนมากในขณะนี้ ซึ่งจะขัดต่อเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับการให้ ธปท.ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 3 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลมีทางเลือก โดยให้ธนาคารออมสินไปปรับปรุงระเบียบเงื่อนไข และเป็นกลไกในการทำหน้าที่นี้ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดเงื่อนไขว่าการออก พ.ร.ก. ต้องเป็นความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งตนมั่นใจว่ารัฐบาลสามารถใช้ธนาคารออมสินและธนาคารแทนได้ โดยจะมีความคล่องตัวมากกว่า เนื่องจากผู้ได้รับความเดือดร้อนเป็นลูกค้าของธนาคารเหล่านี้อยู่แล้ว แต่ที่รัฐบาลเลือกที่จะให้ธปท.เป็นผู้ออกสินเชื่อน่าจะเป็นเรพาะต้องการหลีกเลี่ยงภาระของรัฐบาลที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยส่วนต่างให้ธนาคารพาณิชย์ จึงผลักภาระทั้งหมดให้ ธปท.รับผิดชอบ ซึ่งก็มีความกังวล เราะที่ผ่านมาไม่เคยมีการให้ธปท.พิมพ์ธนบัตรเข้าระบบเพิ่มถึง 3 แสนล้านบาทมาก่อน จึงต้องจับตาดูว่า เงินที่เพิ่มเข้าไปในระบบส่วนนี้จะกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อของประเทศอย่างไร
ส่วนกรณีที่รัฐบาลยกเลิกการออก พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟู 1.14 ล้านล้านบาทไปให้ ธปท. นายอภิสิทธิ์มองว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ยังมีปัญหา ในเรื่องที่จะใช้เงินจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากและการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากธนาคารพาณิชย์เพิ่มเพื่อมาใช้หนี้ โดยรัฐบาลไม่ควรไปแตะเงินในกองทุนคุ้มครองเงินฝากที่มีอยู่แล้ว และให้กองทุนนี้เก็บเงินต่อไปเพื่อคุ้มครองเงินฝากให้ครบตามเป้าหมาย เพราะยังขาดอยู่มากพอสมควร หากเกิดปัญหากับสถาบันการเงินรัฐบาลต้องมีคำตอบว่าใครจะรับผิดชอบคุ้มครองบัญชีเงินฝากให้ประชาชนไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อบัญชีตามกฎหมายที่ออกมา ส่วนการเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มจากธนาคารเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ต้องไม่ทำให้กระทบในเรื่องส่วนต่างดอกเบี้ยกับประชาชน เพราะธนาคารอาจมีการส่งต่อต้นทุนไปยังประชาชนในลักษณะการกดดดอกเบี้ยเงินฝาก หรือเพิ่มดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งการดูแลก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ทำให้มีคำถามว่าหากรัฐบาลเห็นความจำเป็นที่จะให้สถาบันการเงินเข้ามามีส่วนรับผิดชอบหนี้ก้อนนี้ เหตุใดจึงให้สิทธิ์กับสถาบันการเงินในการลดภาษีนิติบุคคลจาก 30 เป็น 23 เปอร์เซ็นต์ ทั้งๆ ที่ควรเรียกเก็บเท่าเดิม และนำเงินส่วนต่างไปชำระหนี้
“ภาระไม่ควรตกอยู่กับประชาชน แต่เป็นเพราะรัฐบาลไม่ยอมทบทวนการใช้จ่ายเงินของตัวเอง มุ่งทำโครงการประชานิยมที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์และความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ อีกทั้งยังเป็นโครงการที่ไม่ได้ช่วยคนจน ทำให้เป็นข้ออ้างในการกู้เงินแก้ปัญหาน้ำท่วม กลายเป็นภาระในอนาคต และเป็นภาระกับ ธปท. โดยรัฐบาลเล่นแร่แปรธาตุแต่งบัญชี และยังมาเป็นภาระกับประชาชน เพราะเมื่อบังคับให้ ธปท.ต้องอัดฉีดเงินเข้าระบบ ก็จะเกิดภาวะเงินเฟ้อ ของแพง ตามมา ซึ่งผมคิดว่ากรณีให้ ธปท.ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำไม่ใช่เพราะหาแหล่งเงินไม่ได้ แต่เป็นเพราะรัฐบาลพยายามทุกวิถีทางที่จะไม่รับผิดชอบ โดยโยนภาระให้ ธปท.พยายามทุกวิถีทางที่จะนำเงินจาก ธปท.ออกมาไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนก็ตาม” นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงกรณีที่นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุว่าผู้ที่ออกมาคัดค้านการโอนหนี้กองทุนไปให้ธปท.ถือเป็นการปิดโอกาสประชาชนว่า ภาระไม่ว่าจะทำในรูปแบบไหน ก็ตกอยู่กับประชาชนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง การคัดค้านไม่ใช่ปิดโอกาสประชาชน แต่ปิดโอกาสรัฐบาลในการล้วงเงินของ ธปท.เท่าน้น และคิดว่าการที่นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธาน กยอ.ออกมากล่าวหาว่า ธปท.ทำให้ประชาชนไม่ไว้วางใจนักการเมืองนั้น ความจริงในรัฐบาลอื่นก็ไม่ควรมีปัญหา แต่เป็นเรื่องของรัฐบาลชุดนี้ที่แสดงเจตนามาตั้งแต่ต้นว่าอยากใช้เงินของ ธปท.โดยไม่ทบทวนระบบของตัวเอง และยังเป็นแนวคิดที่กระทบต่อความเชื่อมั่นกับ ธปท. ในการบริหารเงินและสถาบันการเงินอย่างมีอิสระด้วย รัฐบาลจึงควรย้อนกลับไปดูตัวเองมากกว่าที่จะโทษคนอื่น เพราะหากรัฐบาลทำในสิ่งที่ถูกต้องก็ไม่มีผลกระทบทางการเมืองตามมา ซึ่งตนเคยเสนอมาโดยตลอดว่ารัฐบาลต้องหารือกับ ธปท.เพื่อให้นโยบายสอดคล้องกัน ไม่ใช่ออกมติ ครม.ไปบังคับ จนเกิดปัญหาทะเลาะเบาะแว้งต่อหน้าสาธารณะ
นอกจากนี้ หนี้กองทุนฟื้นฟูที่เกิดจากวิกฤตปี 40 คนในรัฐบาลชุดนี้ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา จึงไม่ควรโยนภาระไปให้ ธปท.เพียงฝ่ายเดียว เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และการเป็นรัฐบาลต้องคิดถึงอนาคต การรักษาวินัยการเงินการคลัง และรักษาระบบด้วย รัฐบาลต้องเข้าใจว่าธปท.ไม่มีผลประโยชน์ของตัวเอง และผู้บริหาร ธปท.ก็ไม่ได้มีผลประโยชน์ แต่เขารักษาระบบ รัฐบาลต่างหากที่ต้องทบทวนตัวเอง เพราะหากออกนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอิสระของ ธปท. ก็จะกระทบต่อโครงสร้างการเงินการคลังของประเทศ
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนเชื่อว่าจากนี้ไปรัฐบาลควรใช้ภาวะน้ำท่วมในการกู้เงินอีกหลายโครงการตามมา เพราะในยุทธศาสตร์ของกยอ.ที่จะใช้เงินสูงถึง 2.7 ล้านล้านบาท มีจำนวนกว่า 2 ล้านล้านบาท ที่กำหนดว่าจะใช้เพื่อปรับโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้เวลานานนับสิบปี ทำให้วันนี้รัฐบาลไม่กล้าที่จะแสดงโครงการที่ชัดเจนต่อสังคม เพราะงบกลาง 1.2 แสนล้านบาท รัฐบาลยังกำหนดโครงการได้เพียงครึ่งเดียวของเงินดังกล่าว อีกทั้งครึ่งหนึ่งในจำนวนที่กำหนดรายละเอียดได้ก็เป็นเรื่องการเยียวยาประชาชน วิธีคิดของรัฐบาลจึงเพียงแค่ต้องการระดมเงินมาไว้ในกระเป๋าตัวเองนอกงบประมาณไม่ให้มีการตรวจสอบเท่านั้น
ผู้นำฝ่ายค้านกล่าวว่า นโยบายหลายอย่างกำลังส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยเพราะการปรับค่าแก๊สเอ็นจีวี และแอลพีจี เพราะในขณะที่รัฐบาลพยายามเพิ่มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ความจริงกลับเพิ่มภาระให้ประชาชน ซึ่งตนคาดว่าเรื่องน้ำมันดีเซลจะเป็นปัญหาตามมาอีก ยังไม่ควรการปรับตัวเลขค่าไฟฟ้าจาก 90 หน่วย เป็น 50 หน่วย และการยกเลิกรถไฟฟรี ซึ่งทำให้ประชาชน 4-5 ล้านครัวเรือนที่ใช้ไฟฟรีขณะนี้จะไม่ได้รับประโยชน์ ซึ่งจะทำให้เดือดร้อนมาก อีกทั้งการลดลงเป็น 50 หน่วยก็ไม่สมเหตุสมผล ทำให้ค่าครองชีพประชาชนจะสูงขึ้นตามมา ต้นทุนขนส่งจะสูงขึ้น ยิ่งถ้ารัฐบาลปล่อยให้น้ำมันดีเซลสูงเกิน 30 บาทต่อลิตร สินค้าต่างๆ ก็จะทยอยขอปรับราคาขึ้น ซึ่งเท่ากับว่าสิ่งที่นายกฯเคยหาเสียงว่าจะชากค่าครองชีพลงนั้น กลายเป็นกระชากค่าครองชีพชึ้น
นอกจากนี้ การที่รัฐบาลขาดการเอาใจใส่ในการเดือดร้อนของประชาชน ตั้งแต่ปัญหาน้ำท่วมมาจนถึงหลายนโยบาย ทำให้ประชาชนหันมาใช้วิธีการปิดถนนเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลมาดูแล ซึ่งตนขอวิงวอนไปยังประชาชนว่าควรจะเคลื่อนไหวในกรอบ อย่าสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น แต่รัฐบาลก็ส่งสัญญาณผิดมาโดยตลอด เพราะคนในรัฐบาลใช้วิธีการนี้มาก่อน โดยในช่วงน้ำท่วม รัฐบาลก็ส่งสัญญาณชัดว่าถ้าใครไม่โวยวายก็ไม่ดูแล แต่ใครโวยวายก็เข้าไปแก้ไข จึงกลายเป็นการสร้างค่านิยมที่ผิด ซึ่งตนเชื่อว่าต่อไปนี้ประชาชนจะใช้วิธีปิดถนนเรีกยร้องความสนใจจากรัฐบาลมากขึ้นเรี่อยๆ
ด้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว่า ตนยังไม่มั่นใจว่าการใช้เงินจำนวนมากของรัฐบาลจะเป็นหลักประกันการแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ เพราะขณะนี้รัฐบาลเพียงกำหนดยุทธศาสตร์ในภาพกว้าง โดยไม่เปิดให้ท้องถิ่นเข้าไปมีส่วนร่วมในขั้นตอนนี้ ซึ่งในส่วนของ กทม. ได้มีการตั้งคณะกรรมการไว้ชุดหนึ่ง มีตนเป็นประธาน เพื่อเตรียมการรองรับในการแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่ต้องรอกรอบใหญ่ของรัฐบาลให้ชัดเจนก่อน โดยจะได้เสนอความเห็นไปยังรัฐบาล เพื่อให้การวางระบบมีความเชื่อมโยงในแต่ละพื้นที่ เพราะหากรัฐบาลสามารถบริหารน้ำในพื้นที่ กทม.ได้ ก็จะทำให้ภาระของ กทม.ลดลง โดย กทม.ยังเดินหน้าแผนเดิมอยู่คือ การสร้างอุโมงค์ยักษ์ และกทม.พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาล เพราะเราอยู่ปลายน้ำ ไม่มีใครสามารถรับประกันได้ว่าน้ำจะไม่ท่วม กทม. เนื่องจากเชื่อมโยงถึงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อื่นเหนือ กทม. แม้ว่าจะมีการขุดลอกคูคลอง ท่อระบายน้ำ แต่ในยุทธศาสตร์ใหญ่จะต้องมีระบบเชื่อมโยงกันในแต่ละพื้นที่ด้วย เพราะการที่รัฐบาลจะใช้เงินเป็นตัวตั้งเพียงอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบที่เพียงพอ แม้ว่าเงินจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ถ้าบริหารจัดการไม่ดี ใช้เงินเท่าไหร่ก็ไม่พอ
ม.ร.ว.สุขุมพันธ์กล่าวว่า รัฐบาลจึงต้องให้ความชัดเจนเกี่ยวกับการบริหารควบคู่ไปด้วย เพราะจากการสรุปบทเรียนวิกฤตน้ำที่เกิดขึ้น ในส่วนของ กทม.เห็นชัดเจนเกียวกับแนวป้องกันว่าหลายพื้นที่ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของ กทม. จึงอยากให้รัฐบาลรับฟังกทม.ด้วยว่าตรงไหนเป็นจุดอ่อนที่ กทม.ทำได้ไม่เต็มที่ เช่นบริเวณถนนพหลโยธินตัดรังสิต ซึ่งเป็นจุดอ่อนทำให้น้ำท่วมในพื้นที่วิภาวดี และพหลโยธิน เพราะ กทม.ได้สร้างคันกั้นน้ำชั่วคราว แต่ก็ยังไม่เพียงพอ หากจะทำอย่างถาวร รัฐบาลหรือจ.ปทุมธานีต้องเป็นผู้ดำเนินการ เพราะไม่ได้อยู่ในพื้นที่ของ กทม. แต่ผลกระทบตกอยู่กับ กทม. ซึ่งยังมีอีกหลายพื้นที่ที่มีปัญหาลักษณะเดียวกัน เช่น หลักหก ปทุมธานี และคลองบางคลองที่เชื่อมโยง กทม. เช่นคลองมหาสวัสดิ์ หรือคลองหกวาสายล่าง ล้วนเป็นจุดอ่อนที่ กทม.ไม่สามารถบริหารได้ นอกจากนี้ยังต้องไม่ให้ปัญหาการเมืองเข้ามาเป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการน้ำด้วย เพราะทุกฝ่ายเข้าใจแล้วจากปัญหาที่เกิดขึ้นว่าควรต้องทำอะไร