อดีต รมว.คลัง วอนรัฐหยุดเผด็จการเศรษฐกิจบีบแบงก์ชาติปั๊มเงิน เชื่อ ดันทุรังหาทางล้วงคลังหลวง หลังโอนหนี้กองทุนไม่สำเร็จ แนะสังคมจับตาใกล้ชิด สวน “โกร่ง” อ้าง ประชาธิปไตยข่มทั้งที่ตัวเองไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง สับสร้างหนี้เพิ่มทำไทยแบกหนี้ชั่วกัลปาวสาน ฉะไม่จริงใจลดภาระ ตั้งงบชำระหนี้แค่พันล้าน แต่ละเลงลงประชานิยม หยัน ครม.แค่ตรายางปล่อย กยอ.จูงจมูกระวังติดคุก
วันนี้ (8 ม.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง กล่าวถึงแนวทางการใช้หนี้กองทุนฟื้นฟูฯของหลายรัฐบาลที่ผ่านมา รวมทั้งพรรคไทยรักไทยไม่ดำเนินการตรงกับหลักธรรมาภิบาล แต่ทำไมวันนี้รัฐบาลจึงเร่งรีบแก้ไขหลักการนี้ที่อาจกระทบความเชื่อมั่นการบริหารต่อระบบการเงินขอประเทศ จนได้รับความเสียหาย รัฐบาลต้องปรับปรุงแนวทางบริหารด้านเศรษฐกิจเปลี่ยนจากวิธีเผด็จการทางเศรษฐกิจที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ด้วยการใช้อำนาจฝ่ายบริหารบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) เป็นการหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก่อน อย่าให้มีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างรัฐมนตรีในรัฐบาล หรือระหว่างรัฐบาลกับแบงก์ชาติ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนและทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุน เพราะไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศ โดยต้องกำหนดแนวทางบริหารที่มีความเป็นเอกภาพ ไม่ใช่ขัดแย้งผ่านสื่อมวลชน และวิธีคิดรัฐบาลผิดที่ต้องการใช้เงินของแบงก์ชาติ เนื่องจากมีข้อตกลงระหว่างกระทรวงการคลัง และแบงก์ชาติ อยู่แล้วว่าใครดูแลในส่วนไหน โดยกระทรวงการคลังรับภาระเรื่องดอกเบี้ย ส่วนแบงก์ชาติดูแลเงินตัวเอง การบีบแบงก์ชาติจะทำให้ต้องพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม หรือใช้เงินจากทุนสำรองระหว่างประเทศ เพียงแค่รัฐบาลต้องการใช้เงินไปทำประชานิยมที่ไม่จำเป็น รัฐบาลจึงต้องทบทวนเรื่องนี้ เพราะสุ่มเสี่ยงและอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ประเทศไหนให้ธนาคารกลางพิมพ์เงิน หรือนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้จะเกิดปัญหาวินัยการเงินการคลังตามมา จนกระทบเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อีกทั้งจะถูกตั้งคำถามเรื่องธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศตามมาด้วย เท่ากับรัฐบาลกำลังทำลายทุนของประเทศเป็นการปล้นทุนประเทศ ทำลายความหน้าเชื่อถือของประทศ
“ต้องตั้งคำถามกับรัฐบาล ว่า แนวคิดการโอนหนี้ขาดสามัญสำนึกผู้มีอำนาจ เผด็จการเสียงข้างมากในสภาเพื่อทำตามอำเภอใจปิดหลักการที่ถูกต้อง ดังนั้น ต้องตอบว่าที่คิดและสร้างความวุ่นวายแล้วประชาชนได้อะไร การโอนหนี้เพื่อให้รัฐบาลมีเงินใช้เพิ่มขึ้นทั้งที่ยังเป็นหนี้ประเทศนั้นบ้านเมืองดีขึ้นหรือไม่ มีใครได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ พ.ร.บ.งบประมาณและหนี้สาธารณะมีกรอบว่ารัฐบาลจะกู้ได้เท่าไหร่หรือเสถียรภาพการเงินของประเทศ รัฐบาลกำลังทำลายกรอบนี้ ด้วยการยกเลิกขีดจำกัดการใช้เงินของประชาชน ที่ผ่านมา เคยอ้างว่า หาเงินเก่งไม่ต้องกู้แต่วันนี้ผ่านมาแค่ 5 เดือน รัฐบาลเริ่มกู้แล้วกว่า 1 ล้านล้านบาทมากกว่ารัฐบาลชุดที่แล้วที่บริหารประเทศ 2 ปี การบอกว่า สามารถหารายได้จึงเป็นแค่ราคาคุย และการหาเงินไม่ได้เสริมสร้างความแข่งขันของประเทศ หรือหารายได้ยั่งยืน แต่เป็นการปล้นแบงก์ชาติ จึงขอให้ทบทวนนโยบายนี้” นายกรณ์ กล่าว
นายกรณ์ กล่าวว่า ส่วนแหล่งที่มาของรายได้ ถ้ารัฐบาลถอยจากการโอนหนี้ให้แบงก์ชาติ พรรคประชาธิปัตย์ก็พร้อมที่จะสนับสนุนในหลักการเกี่ยวกับภาระงบประมาณจากหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ โดยไม่คัดค้านการรวมบัญชี ส่วนที่จะให้สถาบันการเงินเข้ามารับผิดชอบมากขึ้นด้วยการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มนั้น ต้องไม่ปล่อยให้มีการผลักภาระดอกเบี้ยไปที่ประชาน 67 ล้านคน ที่มีบัญชีเงินออมในประเทศ คนเหล่านี้ต้องได้ดอกเบี้ยในอัตราที่เป็นธรรมต่อไป ถ้ารัฐบาลผลักภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯให้สถาบันการเงิน รัฐบาลต้องกำกับดูแลไม่ให้ส่งต้นทุนสูงขึ้นไปเป็นภาระของประชาชนที่มีเงินออมที่มี 60 ล้านบัญชีที่มีเงินออมไม่เกิน 5 หมื่นบาทโดยมีดอกเบี้ยต่ำอยู่แล้ว ดังนั้น รัฐบาลต้องดูแลไม่ให้ดอกเบี้ยต่ำลงไปอีก ส่วนที่จะใช้เงินสะสมในสถาบันคุ้มครองเงินฝากนั้นก็ต้องชัดเจนว่าใครจะคุ้มครองเงินฝากแทนสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ในกรณีที่สถาบันการเงินมีปัญหาขาดสภาพคล่อง อย่าคิดแค่ล้วงเงินคนอื่น ปล้นแบงก์ชาติไม่ได้ ก็ล้วงเงินจากธนาคารพาณิชย์ที่ไปกระทบต่อประชาชน
นายกรณ์ ยังแสดงความกังวลต่อความมั่นคงในระบบการเงินการคลังระยะยาว ว่า ทุนสำรองของแบงก์ชาติควรนำมาใช้สร้างประโยชน์เพิ่มให้ประเทศ เพราะการที่มีเงินสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่ได้สร้างผลตอบแทนที่สูงสุดให้ประเทศต้องไม่ขัดหลักการดูแลเรื่องธรรมาภิบาล ซึ่งคนที่จะกำหนดส่วนเกินเพื่อไปลงทุนต้องให้แบงค์ชาติเป็นผู้กำหนดไม่ใช่นักการเมือง รวมถึงการนำเงินไปลงทุนด้วย เช่น กรณีกองทุนมั่งคั่งหากจะจัดตั้งจะต้องไม่มีนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่รัฐบาลชุดนี้คิดจะใช้มาลงทุนในโครงการของรัฐบาลซึ่งเป็นอันตราย อีกทั้งทุนสำรองจะเอามาใช้ชำระหนี้ของรัฐบาลไม่ได้ ถือเป็นก้าวแรกจากนั้นจะมีข้ออ้างเมื่องบประมาณไม่พอก็จะใช้เงินทุนสำรองนำความหายนะมาสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลมีท่าทีจะถอยไม่โอนหนี้กองทุนให้แบงก์ชาติ แต่สังคมจะมั่นใจได้หรือไม่ ว่า รัฐบาลจะไม่ล้มเลิกแนวคิดในการใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศ และบีบแบงก์ชาติพิมพ์พันธบัตรเพิ่ม นายกรณ์ ยอมรับว่า มีความกังวลในเรื่องนี้ เพราะรัฐบาลมีทิฐิที่จะดึงดันแนวความคิดของตนเอง และแสดงเจตนามาตั้งแต่ต้นว่าต้องการใช้เงินของ ธปท.อีกทั้งกรณีนี้ตนไม่เห็นความจำเป็นต้องเร่งรีบออกเป็นพระราชกำหนด แต่เป็นเพราะรัฐบาลมั่นใจในเสียงข้างมาก จึงหวังใช้อำนาจเผด็จการในฐานะฝ่ายบริหารมารวบรัดสะท้อนให้เห็นถึงทิฐิของผู้มีอำนาจ ซึ่งได้ออกมาให้สัมภาษณ์เชิงดูหมิ่นแสดงความเคียดแค้นต่อ ธปท.ที่ไม่ทำตามในสิ่งที่ตัวเองต้องการจึงพาลใส่ การใช้อารมณ์มาบริหารประเทศถือเป็นสิ่งอันตราย และตนคิดว่าในอนาคตรัฐบาลอาจคิดทำอีกซึ่งสังคมต้องคอยจับตาดูอย่างใกล้ชิด
ส่วนกรณีที่ นายวีระพงษ์ ระบุว่า หากไม่มีการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูให้แบงก์ชาติรับผิดชอบ ก็จะเป็นหนี้ชั่วกัลปาวสาน นายกรณ์ กล่าวว่า ในทางกลับกัน หากมีการโอนหนี้ไปให้แบงก์ชาติเพื่อเริ่มปริมาณเงินกู้ให้กับรัฐบาลก็จะทำให้ประเทศมีหนี้เพิ่มอีกนับล้านล้านบาท ซึ่งต้องนำไปรวมกับหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯอยู่ดี เพราะยังเป็นหนี้ของประเทศ ไม่ว่าจะไปซุกไว้ที่ไหนก็ตาม พร้อมกับตั้งคำถามถึงการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ว่า ใครเป็นผู้มีบทบาท เนื่องจากการเสนอร่าง พ.ร.ก.ที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลังโดยตรง แต่ รมว.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไม่ได้เป็นผู้กำหนด ซึ่งจะเป็นความสับสนในเรื่องการบริหาร
“ผมคิดว่า การที่นาย วีระพงษ์ อ้างเรื่องความเป็นประชาธิปไตย ก็ควรเปิดโอกาสให้ผู้ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจชาติ ไม่ใช่ใช้วิธีคิดเผด็จการมาดำเนินนโยบาย ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบการเงินการคลังของประเทศ การที่ กยอ.กลายเป็นผู้กำหนดนโยบายพัฒนาประเทศแทนที่จะเป็น ครม.ก็จะทำให้ ครม.มีบทบาทเป็นเพียงแค่ตรายางรองรับข้อเสนอของ กยอ.เท่านั้น จึงอยากเตือน ครม.ให้ระมัดระวังในการออกมติที่จะกระทบต่อระบบ เพราะผู้ที่รับผิดชอบตามกฎหมาย คือ ครม.ไม่ใช่ผู้ที่เสนอนโยบาย ซึ่งยังมีความสับสนในเรื่องความโปร่งใสและหลักธรรมาภิบาลที่ดี อีกทั้งขาดจิตสำนึกต่อประชาชน รวมทั้งยังไม่มีความเป็นเอกภาพด้วย ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งปรับปรุงไม่ให้เกิดภาพความขัดแย้งในเชิงนโยบายของคนในรัฐบาลออกสู่สาธารณะเพราะจะกระทบต่อความเชื่อมั่นจนทำให้เสถียรภาพเศรษฐกิจมีปัญหา” นายกรณ์ กล่าว
นายกรณ์ ยังตอบโต้ นายวีระพงษ์ ที่โยนความรับผิดชอบทั้งหมดเกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 ให้ ธปท.รับผิดชอบแต่เพียงฝ่ายเดียว ว่า เป็นความพยายามที่จะหาแพะรับบาป ทั้งที่ นายวีระพงษ์ และ นายกิตติรัตน์ รู้ดีกว่า ปัญหาในขณะนั้นเป็นความผิดพลาดในการบริหารงานของรัฐบาล มีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลของผู้บริหารสถาบันการเงิน และแบงก์ชาติดำเนินนโยบายผิดในการปกป้องค่าเงินบาท จึงถือว่าเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน การกำหนดให้ภาระหนี้ที่เกิดขึ้นจากวิกฤตในครั้งนั้นเป็นของรัฐบาล จึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว นอกจากนี้ คนที่รู้ปัญหาดีที่สุดอีกคนหนึ่ง คือ รมว.คลัง เพราะในขณะนั้นทำงานอยู่ที่แบงก์ชาติ
ทั้งนี้ นายกรณ์ ยังเห็นว่า การโยนบาปให้ ธปท.เป็นเพียงข้ออ้างที่จะปล้นเงินจากแบงก์ชาติมาใช้จ่ายในนโยบายประชานิยมของรัฐบาล ซึ่งเป็นเรื่องอันตราย เพราะรัฐบาลคิดแต่จะกู้โดยไม่พยายามลดภาระหนี้ให้กับประเทศ ซึ่งมีบทพิสูจน์จากการจัดงบประมาณปี 2555 ที่มีการตั้งงบใช้หนี้สาธารณะเงินต้นเพียง 1 พันล้านบาท ในขณะที่รัฐบาลชุดที่แล้วตั้งงบประมาณคืนเงินต้นในการชำระหนี้สูงถึง 5 หมื่นล้านบาท ดังนั้น หากรัฐบาลกู้เงินเพิ่มอีก1 ล้านล้านบาท ก็ต้องถามว่า จะหาเงินจากที่ไหนมาใช้หนี้ เพราะที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยคุยโม้มาโดยตลอดว่าเก่งในเรื่องการหารายได้ ไม่จำเป้นต้องกู้เงิน แต่วันนี้ไม่มีความสามารถในการหารายได้ จึงต้องปล้นแบงก์ชาติ แต่เมื่อทำไม่สำเร็จก็ไปล้วงเงินธนาคารพาณิชย์แทน สุดท้ายผลกระทบจะตกอยู่กับประชาชน