xs
xsm
sm
md
lg

รมว.คลัง หวังโยกเงินจากพันธบัตรสหรัฐฯ ลงทุนในเอเชีย แทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
“ธีระชัย” แจงผ่านเฟซบุ๊ก กองทุนมั่งคั่ง ไม่แตะคลังหลวง แต่โยกเงินที่ ธปท.ซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ ไปลงทุนเขื่อนในลาว โรงงานไฟฟ้าที่เขมร ท่าเรือในเวียดนาม แทน ถ้าขาดทุนรัฐบาลยินดีรับผิดชอบ แต่ถ้ากำไรรัฐบาลขอแบ่งกำไรด้วย “กรณ์” ดักทางการเมืองแทรกแซง ธปท. แนะปชช.จับตาเสถียรภาพเก้าอี้ผู้ว่าฯ



นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค Thirachai Phuvanatnaranubala ถึงเรื่องการตั้งกองทุนมั่งคั่ง ซึ่งถูกมองว่าอาจกระทบต่อเงินสำรองระหว่างประเทศ หรือทองคำที่รับบริจาคจากหลวงตามหาบัว โดยเขาระบุว่า

“แนวคิดเรื่องกองทุนความมั่งคั่งที่ผมขอให้ ธปท.ไปศึกษานั้น ไม่มีการแตะต้องคลังหลวง ไม่มีการแตะต้องเงินสำรองที่จำเป็นต้องมีเพื่อใช้หนุนหลังเงินบาท และไม่มีการแตะต้องทองคำที่ได้รับบริจาคมาใดๆ ครับ เพียงแต่นำเอาส่วนที่ปัจจุบัน ธปท.เอาไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ เปลี่ยนไปลงทุนในโครงการในภูมิภาคแทน

การที่เรามีเงินทุนสำรอง แล้วเอาไปทุ่มซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ขณะนี้สหรัฐฯก็มีหนี้ล้น และสหรัฐฯก็ถูกสถาบันจัดอันดับลดเกรดหนี้ รวมทั้งสภาคองเกรสก็ยังถกเถียงกันไม่จบว่าจะแก้ปัญหาวิกฤตสถานะการคลังของสหรัฐกันอย่างไร รวมทั้งธนาคารกลางของสหรัฐก็มีทีท่าจะพิมพ์เงินดอลลาร์ออกมาอีกไม่รู้เท่าไหร่ ลงทุนแบบนี้ ไม่ควรทำมากเกินไปครับ”

“แต่หากเราเปลี่ยนจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ไปเป็นลงทุนในโครงการที่ดีๆ ในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนในลาว โรงงานไฟฟ้าที่เขมร ท่าเรือในเวียดนาม โดยเฉพาะถ้าเน้นโครงการของรัฐบาลที่มี World Bank หรือ Asian Development Bank เข้ามาร่วมจัดการด้วยนั้น น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศของเรามากกว่าครับ เท่ากับเราลงทุนในตัวเอง น่าจะดีกว่าเอาเงินไปให้สหรัฐกู้อย่างเดียว”

“หากสามารถใช้วิธีให้ ธปท. เป็นผู้ลงทุน โดยยังคงเป็นทรัพย์สินของ ธปท.แต่แยกบัญชีย่อย และหากมีขาดทุน รัฐบาลก็รับผิดชอบ หากมีกำไร ก็ตกเป็นของรัฐบาล โดยเปิดให้ ธปท.สามารถคิดค่าใช้จ่ายได้เต็มที่ ก็น่าจะเป็นธรรมทั้งแก่รัฐบาลและแก่ ธปท.ในวันนี้ ผมจึงได้ขอให้ World Bank ช่วยไปศึกษาว่าวิธีการนี้ จะมีข้อดี ข้อเสีย อย่างไร และควรมีข้อระวังอย่างใด”

“หลักคิดของผม คือ เงินออมของเอเชีย ควรจะใช้ทำประโยชน์ให้แก่เอเซียให้มากๆ และไม่จำเป็นต้องเอาไปให้สหรัฐหรือยุโรปกู้เสียทั้งหมด เงินที่ลงทุนในเอเซีย ย่อมทำให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศไทยมากกว่าครับ”

“ถามว่า การลงทุนในโครงการในเอเซียจะมีความเสี่ยงมากกว่าการให้กู้แก่สหรัฐหรือยุโรปหรือไม่ คงต้องยอมรับว่ามีความเสี่ยงสูงกว่าอยู่บ้าง เพราะประเทศเอเซียไม่ร่ำรวยเท่าสหรัฐและยุโรป เงินที่จะนำไปลงทุนในเอเชีย จึงควรจะเป็นส่วนที่เหลือจากที่จำเป็นต้องใช้หนุนการออกธนบัตร และไม่ใช่เงินสำรองส่วนใหญ่ แต่เรื่องความเสี่ยงนั้นสามารถบริหารจัดการได้ครับ”

“ระหว่างทางเลือกที่เอาเงินไปให้สหรัฐและยุโรปกู้อย่างเดียว เทียบกับแบ่งออกมาบางส่วนเพื่อพัฒนาเอเชีย ผมว่าทางหลังน่าจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศไทยมากกว่า ประเทศเอเซียวันนี้อาจจะไม่ร่ำรวยเท่า แต่ก็เป็นประเทศที่ตั้งใจทำงาน ตั้งใจพัฒนาประเทศกัน และถ้าเราไม่ให้ความสำคัญแก่ภูมิภาค เราจะอยู่กันได้อย่างไร ถ้าคอยเอาเงินไปให้แต่คนรวยเขากู้ เมื่อไรเราเองจะร่ำรวยกับเขาบ้าง”

“ทั้งนี้ การนำเงินไปลงทุนในพันธบัตรของสหรัฐฯและยุโรป ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีความเสี่ยงนะครับ เพราะมีหลายประเทศที่ฐานะหนี้ล้น และขบวนการทางการเมืองเพื่อแก้ปัญหาหนี้ ก็ไม่สามารถตกลงกันได้ นอกจากนี้ บางประเทศก็พิมพ์เงินออกมากันมาก ทำให้ค่าเงินมีแต่ลดลง ธปท. จึงได้ขาดทุนจากการลงทุนแบบนี้อยู่เป็นเงินจำนวนมากอยู่แล้วทุกปีๆ ไม่สามารถลดหนี้กองทุนฟื้นฟูได้ ไม่ทำกองทุนมั่งคั่ง ธปท ก็ขาดทุนมหาศาลทุกปีอยู่แล้วครับ”

“ปัญหาที่มีขณะนี้ คือ ธปท.ขาดทุนมหาศาลอยู่แล้วทุกปี และก็ไม่สามารถช่วยลดหนี้กองทุนฟื้นฟูได้ รวมทั้งการลงทุนในประเทศสหรัฐและยุโรปก็ไม่ได้ช่วยการพัฒนาประเทศรอบข้าง ถ้าจะคิดแบบเดิมๆ ก็ไม่เห็นว่าจะสามารถแก้ปัญหาขาดทุน ธปท ได้อย่างไรเลยครับ แต่ทั้งนี้ ผมจะดูทุกประเด็นให้รอบคอบ”

โดยก่อนหน้านี้ นายธีระชัย ระบุว่า “ภายหลังที่ผมหารือร่วมกับ คุณประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าได้มีการเสนอให้ทางไปดำเนินการศึกษาใน 4 เรื่อง
1.การกำหนดกรอบอัตราเงินเฟ้อ ปี 2555
2.เสนอให้มีการแยกทุนสำรองระหว่างประเทศบางส่วน มาจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่ง
3.ให้ทาง ธปท.หาแนวทางการลดภาระหนี้ของกองทุน
4.เสนอให้มีการโยกย้ายงาน ในส่วนการกำกับดูแลการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือตั๋ว BE ของธนาคารพาณิชย์”

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีรัฐบาลมีแนวคิดตั้งกองทุนมั่งคั่งเพื่อนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปลงทุน ว่า เรื่องนี้ต้องพิจารณาใน 2 ข้อ คือ 1.จะมีเงินทุนสำรองเพียงพอในการดำเนินกองทุนหรือไม่ ซึ่งเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเป็นผู้พิจารณา และไม่ควรให้ ธปท.ดูแลเพียงหน่วยงานเดียว แต่ที่ผ่านมานักการเมือง โดยเฉพาะ รมว.คลัง ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ ทำให้เกิดความสับสน จึงไม่ควรเข้ามายุ่ง ไม่ควรมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง และ 2.การลงทุนของกองทุนมั่งคั่ง ควรเป็นการลงทุนในต่างประเทศ เพราะหากนำมาลงทุนในประเทศ และเกิดปัญหาจะยิ่งส่งผลกระทบมากขึ้น

นายกรณ์ กล่าวว่า หากนำเงินในส่วนดังกล่าวไปลงทุนจะกระทบต่อความมั่นใจของต่างชาติ จะทำให้ลดการลงทุน หรือถอนเงินออก และต้องรักษารายได้ต่างประเทศมากกว่ารายจ่าย สิ่งที่ปรากฏวันนี้คือ นักการเมืองมาบอกว่าควรไปลงทุนที่นั่นที่นี่ เป็นการชี้นโยบายไปยัง ธปท. ว่าควรไปลงทุนที่นั่นที่นี้ เป็นการพยายามแทรกแซงการทำงานของ ธปท. แทรกแซงอำนาจบางอย่างให้ประชาชนสับสน

ฝ่ายการเมืองไม่ควรแสดงออก หรือกำกับการทำงานของหน่วยงานอิสระ โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่น จะมาพยายามผลักดันวาระทางการเมืองไม่ได้ รวมทั้งการขึ้นดอกเบี้ยก่อนหน้านี้ด้วย และขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อการลงทุนของต่างชาติแล้ว และเกิดความหวั่นไหวว่า ในที่สุดแล้วจะนำสู่ความเปลี่ยนแปลง นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. หรือไม่ แต่ยืนยันว่ากระบวนการคัดสรรผู้ว่าการ ธปท.มีความโปร่งใส และได้ผู้มีความรู้ความสามารถมีผลงานชัดเจน สร้างความน่าเชื่อถือในการควบคุมเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อยากให้สังคม และกฎหมายช่วยกันคุ้มครองสถาบัน และคนดี ขอรัฐบาลอย่าสร้างสถานการณ์ขึ้นมา
กรณ์ จาติกวณิช
กำลังโหลดความคิดเห็น