ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ขัดแย้งทางความคิดกันพอสมควรนับตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารประเทศ ระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย กับกระทรวงการคลังเกี่ยวกับวิธีคิดทางด้านเศรษฐกิจ 3 กรณี
กรณีแรก รัฐบาลมีความคิดจะจัดตั้งกองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติ โดยหมายจะจับจ้องเอาเงินจากทุนสำรองเงินตรา หรือที่หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เรียกว่า “คลังหลวง” ออกมาเพื่อไปลงทุนในกิจการน้ำมัน และพื้นที่การเกษตรในต่างประเทศ โดยอ้างเหตุว่าธนาคารแห่งประเทศไทยบริหารขาดทุนอย่างมโหฬารและขาดทุนมากเกินความจำเป็น สู้นำเงินมาจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งจะเกิดประโยชน์มากกว่า
ด้านธนาคารแห่งประเทศไทยแม้จะมีปัญหาการขาดทุนอยู่มากก็จริง แต่ก็ให้เหตุผลว่าเป็นความจำเป็นที่จะต้องรักษาเสถียรภาพของค่าเงินไม่ให้เกิดความผันผวน และต้องควบคุมอัตราเงินเฟ้อด้วย ซึ่งอาจทำให้จำเป็นต้องขาดทุนในทุนสำรองระหว่างประเทศ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปลงทุนในกองทุนมั่งคั่ง โดยมีความเป็นห่วงด้านสถานการณ์วิกฤติในยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่มีความไม่แน่นอนสูง จำเป็นจะต้องมีทุนสำรองระหว่างประเทศที่มากพอเพื่อใช้สำหรับรองรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดที่มีโอกาสจะเกิดขึ้น
แต่ความขัดแย้งนี้ก็ถูกยุติไปเมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ออกมาติดเบรกเรื่องดังกล่าว เพราะเห็นว่ายังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน และต้องพิจารณาให้เกิดความรอบคอบอีกครั้ง เพราะรัฐบาลในขณะนั้นยังไม่ทันไรที่เข้ามาบริหารประเทศ เหล่าคณะลูกศิษย์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ก็เริ่มเคลื่อนไหวคัดค้านเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวางเพิ่มมากขึ้น
ในระหว่างนั้นเอง ธนาคารแห่งประเทศไทยก็พยายาม “แก้มือ”ในสภาวะที่มูลค่าเงินสกุลและยูโร และดอลลาร์สหรัฐกำลังเสื่อมถอยด้อยค่าและมีความไม่แน่นอนสูง จึงแปลงสินทรัพย์ในทุนสำรองระหว่างประเทศเป็นทองคำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นอัตราความเร็วในการสะสมทองคำที่สูงติดระดับโลกในช่วงปีที่ผ่านมา โดยหวังจะลดปัญหาการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนให้น้อยลง
กรณีที่สอง ความคิดของธนาคารแห่งประเทศไทยที่แทบทุกอย่างพุ่งเป้าไปที่การควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ทั้งปริมาณเงินในระบบ อัตราดอกเบี้ย ในขณะที่กระทรวงการคลังเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อเป็นเรื่องที่ไม่เลวร้ายหากมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มากกว่า จึงต้องเปิดโอกาสให้มีอัตราเงินเฟ้อได้สูงขึ้น เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางรัฐบาล ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกลับมองว่าการตั้งเป้าอัตราเงินเฟ้อที่สูงไปจะทำให้คนจนเสียเปรียบและเดือดร้อนมากกว่าและจะทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนห่างกันมากขึ้น
บังเอิญมีน้ำท่วมเกิดขึ้นใหญ่ การปะทะกันทางความคิดและการตอบโต้กันผ่านสื่อก็ได้พักยกกันไปช่วงหนึ่ง แต่กลับมาอีกครั้งหลังน้ำลด เพราะ ดร.วีระพงษ์ รามางกูร ได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ซึ่งก็มีแนวคิดอยู่แล้วที่จะใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศมาลงทุนให้ได้ผลตอบแทนมากกว่าในอดีต จึงมีความคิดที่จะนำเงินส่วนนี้มาแก้ไขปัญหาน้ำท่วมด้วย และทำให้เกิดการปะทะทางความคิดเป็นกรณีที่สาม
โดยเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่ามีแนวคิดเสนอให้นำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศส่วนหนึ่งมาใช้ลงทุนแก้ไขปัญหาน้ำทั้งระบบ ซึ่งอาจจะให้รัฐบาลออกพันธบัตรมารองรับ โดยจะต้องให้ผลตอบแทนดีกว่าการนำเงินทุนสำรองฯไปให้รัฐบาล
สามวันถัดไป เราก็เห็นการตอบโต้ความคิดเห็นจาก ธนาคารแห่งประเทศไทยมาอีกครั้ง
วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กรณีที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ หรือ กยอ. มีแนวคิดที่จะนำเงินลงทุนสำรองระหว่างประเทศบางส่วนมาใช้ในการฟื้นฟูประเทศหลังน้ำท่วมนั้น ในขณะนี้ยังไม่เห็นรายละเอียดที่ชัดเจนว่า กยอ.จะดำเนินการด้วยวิธีใด แต่เห็นว่าการออกพันธบัตรรัฐบาลสกุลเงินบาทขายให้กับ นักลงทุนทั่วไปน่าจะเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากสามารถดำเนินการได้ง่ายและมีต้นทุนถูก เนื่องจากขณะนี้พันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยต่ำอยู่เพียงแค่ร้อยละ 3.44 ขณะที่การออกพันธบัตรรัฐบาลในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ก็สามารถทำได้แต่จะใช้ต้นทุนสูง โดยพันธบัตรดอลลาร์สหรัฐนั้น 10 ปี ดอกเบี้ยจะอยู่ที่ร้อยละ 4.3
เพื่อทบทวนความทรงจำและคำอธิบายให้เข้าใจอย่างง่ายที่สุดเกี่ยวกับทุนสำรองระหว่างประเทศแบ่งออกได้เป็นดังนี้
1.ทุนสำรองเงินตรา (คลังหลวง) เป็นทรัพย์สินต่างประเทศและทองคำที่ใช้สำหรับหนุนหลังการพิมพ์ธนบัตร ที่สะสมมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีดอกผลเกิดขึ้นทุกปี ปัจจุบันมีธนบัตรออกใช้อยู่ประมาณ 1.19 ล้านล้านบาท แต่ในขณะที่มีทรัพย์สินสูงถึง 2.056 ล้านล้านบาท แต่หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ได้ใช้กุศโลบายระดมทองคำมาบริจาคจากลูกศิษย์และมวลมหาประชาชนเข้าในคลังหลวงนี้ เพื่อป้องกันเงินจำนวนนี้เอาไว้ใช้ในยามที่เกิดวิกฤติของประเทศจริงๆ
2.ทุนสำรองทั่วไป เป็นทรัพย์สินเงินตราต่างประเทศที่เกิดจากการค้าขายระหว่างประเทศ การท่องเที่ยว และการลงทุน จากต่างประเทศ ถ้าธนาคารแห่งประเทศไทยต้องการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มก็จะนำเงินจากส่วนนี้ไปให้ในทุนสำรองเงินตรา เพื่อพิมพ์ธนบัตรเงินบาทเพิ่มให้รองรับกับความต้องการของเงินตราต่างประเทศที่ไหลเข้าประเทศ แต่โดยปกติธนาคารแห่งประเทศไทยจะใช้วิธีกู้เงินบาทในประเทศมาแลกกับเงินตราต่างประเทศที่ไหลเข้ามา เพื่อไม่ให้มีเงินบาทในตลาดมากเกินไปซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อไม่เป็นไปตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งเป้าหมายเอาไว้ ปัจจุบันมีสินทรัพย์อยู่ประมาณ 4.08 ล้านล้านบาท โดยสินทรัพย์เกือบทั้งหมดมาจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกู้เงินบาทในประเทศในรูปแบบต่างๆแทบทั้งสิ้น
อันที่จริงความคิดของ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ในการออกพันธบัตรเงินบาทระยะยาวกู้เงินจากธนาคารแห่งประเทศไทย น่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยเอง เพราะประการแรกทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเปลี่ยนทรัพย์สินที่ถือส่วนใหญ่เป็นเงินตราต่างประเทศซึ่งด้อยค่าลงทางบัญชีให้กลายเป็นพันธบัตรของรัฐบาลไทยที่ถือในรูปเงินบาท ในขณะอีกด้านหนึ่งกระทรวงการคลังก็จะได้แหล่งเงินกู้ที่ไม่ติดภาระผูกพันเงินกู้ต่างประเทศที่มักจะมาพร้อมกับสเปคสินค้าที่ต่างชาติกำหนดมาในการจัดซื้อจัดจ้างเสมอ
ถ้าดำเนินการตามนี้ไม่น่าจะมีอะไรขัดข้อง และน่าจะเกิดประโยชน์ต่อทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย และรัฐบาล เหลือแต่เพียงว่าเงินที่กู้ไปนั้นก่อให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า และมีความโปร่งใสหรือมีการทุจริตคอร์รัปชั่นมากน้อยแค่ไหน?
แต่ถ้าหากรัฐบาลคิดจะล้วงเงินจากทุนสำรองเงินตรา (เงินคลังหลวง) มาใช้เฉยๆ โดยไม่คิดจะออกพันธบัตรรัฐบาลไปกู้เงิน ก็ต้องหลายคำถามให้ชัดเจนเสียก่อนว่า กรณีน้ำท่วมครั้งนี้มีน้ำหนักเพียงพอเทียบกับการใช้เงินจากคลังหลวงในประวัติศาสตร์เพื่อกอบกู้ประเทศทั้ง 4 ครั้งก่อนหน้านี้แล้วหรือยัง? ได้แก่
ครั้งที่ 1 เหตุการณ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ใช้เงินถุงแดงหรือคลังหลวงที่สะสมทองคำและเงินตราต่างประเทศตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ไถ่บ้านไถ่เมืองจากการล่าอาณานิคมจากฝรั่งเศส เพื่อให้สยามยังคงรักษาเอกราชไว้ได้
ครั้งที่ 2 เหตุการณ์ที่ประเทศไทยแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 และต้องใช้เงินคลังหลวงเป็นค่าไถ่ย้ายจากกลุ่มประเทศแพ้สงครามมาอยู่กลุ่มประเทศที่ชนะสงครามโลก
ครั้งที่ 3 คือใช้ค้ำจุนเงินบาทไม่ให้กลายเป็นเศษกระดาษจากการโจมตีค่าเงินบาทในปี 2540 เงินคลังหลวงกลายเป็นเงินก้อนสุดท้ายที่เหลืออยู่ในการปกป้องค่าเงินที่ทำให้ไม่ถูกนำไปใช้เล่นพนันกับการปกป้องค่าเงินในปี 2540 จนประเทศไทยกลับมาอยู่รอดได้ในวันนี้
ครั้งที่ 4 คือรัฐบาลตรากฎหมายออกเป็นพระราชกำหนดปี 2545 ดึงเงินจากคลังหลวง จำนวน 1.6 แสนล้านบาท เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยไปชำระหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จึงทำให้มีเงินเหลือพอที่ทำให้ประเทศไทยคืนหนี้ ไอเอ็มเอฟ ก่อนกำหนดระยะเวลาถึง 2 ปี ประกาศอิสรภาพทางเศรษฐกิจและดึงความเชื่อมั่นได้อีกครั้ง
ถึงอย่างไร หากจะยืมเงินจากทุนสำรองระหว่างประเทศไม่ว่าจะรูปแบบไหนและวิธีใด ขอประการเดียวอย่าหมกเม็ดแก้ไขกฎหมายเปลี่ยนโครงสร้างระบบคลังหลวงให้กลายเป็นเปิดฝาโอ่งใช้จ่ายตักเอาได้ตามอำเภอใจแบบไร้ขีดจำกัดโดยไม่ยอมปิดฝาโดยเด็ดขาด
เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น รับรองได้ว่าคณะลูกศิษย์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ทั่วประเทศก็คงออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านแน่นอน !!!