xs
xsm
sm
md
lg

“อัจนา” แนะตั้งกองทุนมั่งคั่ง อย่ากลัวหนี้หากมั่นใจแผนดี สังคมตรวจสอบได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้บริหาร ธปท.ต้องการความชัดเจน กองทุนมั่งคั่ง แนะหากต้องการทำจริง ควรใช้แนวทาง รบ.เกาหลี โดยออกพันธบัตรขายให้ ปชช. แล้วนำมาแลกเป็นเงินดอลลาร์กับแบงก์ชาติ เพื่อนำเงินไปลงทุน “อัจนา” ลั่น หากคลังต้องการนำไปหารายได้จริง จะไปกลัวอะไรกับหนี้สาธารณะ แต่อย่าเอาเงินภาษี ปชช.ไปเสี่ยง เพราะไทยไม่มีทรัพยากร แร่-ทองคำ เหมือนประเทศที่มีกองทุนฯ แนะการทำอะไรต้องให้โปร่งใส และเปิดเผยให้สังคมรับรู้ด้วย

นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ สายเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงนโยบายการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของรัฐบาล โดยระบุว่า แม้ขณะนี้ ธปท.จะมีเงินเพียงพอจากเงินสำรองระหว่างประเทศบางส่วนประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 300,000 ล้านบาท ที่จะนำมาจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่ง ได้นั้น แต่เงินส่วนนี้ได้จากทุนสำรองทั้งหมดลบด้วยเงินส่วนหนึ่งที่ ธปท.จะต้องออกมาหนุนหลังธนบัตรใช้หมุนเวียนในประเทศอีกประมาณ 5-10 ปีข้างหน้า ตามยอดธนบัตรที่พิมพ์ตามการเติบโตของประเทศ อัตราเงินเฟ้อ และลบด้วยเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ เช่น กรณีที่เกิดเหตุการณ์เลวร้าย ทำให้นักลงทุนต่างประเทศถอนเงินลงทุนออกจากตลาดเงินและตลาดทุนไทยเหมือนช่วงที่เกิดวิกฤตปี 2540

อย่างไรตาม ธปท.ไม่ได้มีปัญหาอะไรที่กระทรวงคลังจะนำเงินทุนสำรองทางการที่มีบางส่วนไปลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนให้เพิ่มขึ้น ซึ่งก็ถือเป็นความคิดที่ดี แต่มองว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่เงิน หากรัฐบาลต้องการจะนำทรัพย์สินหรือทุนสำรองทางการออกไป รัฐบาลควรต้องซื้อหนี้ที่มีภาระผูกพันก้อนนี้ออกไปด้วย อาจจะเป็นวิธีการออกพันธบัตรรัฐบาล เพื่อขอกู้สินทรัพย์ ธปท. ออกไปก็ได้ ลักษณะเดียวกับที่ประเทศเกาหลี คือ รัฐบาลเกาหลีออกพันธบัตรขายให้ประชาชน เมื่อรัฐบาลได้เงินวอนมา ก็นำเงินวอนไปแลกเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ กับธนาคารกลางของเขา แล้วนำเงินดอลลาร์เอาไปตั้งกองทุนฯ ต่อไป

ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลัง ระบุว่า ไม่ต้องการก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นนั้น นางอัจนา กล่าวว่า หากกระทรวงการคลังต้องการนำเงินไปจัดตั้งกองทุนความมั่นคั่ง เพื่อหารายได้จริง จะไปกลัวอะไรกับหนี้สาธารณะที่ปัจจุบันอยู่ในระดับร้อยละ 47 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่จะต้องเพิ่มขึ้นจากกลยุทธ์การลงทุนที่ดีของประเทศ

ดังนั้น รัฐบาลจะต้องแน่ใจแล้วว่าเป็นการลงทุนที่ดี และคุ้มค่าที่จะนำเงินสำรองทางการไปเสี่ยงลงทุนจริงๆ เพราะเงินส่วนนี้เป็นของประเทศชาติ ซึ่งจะทำแบบหลายประเทศอื่นๆ ที่ตั้งกองทุนฯ ไม่ได้ เพราะเขามีทรัพยากร เช่น แร่ ทองคำ เป็นต้น ที่มีเหลือพอจะนำมาสร้างความมั่งคั่งในอนาคต ขณะที่เงินสำรองมาจากเงินบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลมาตั้งแต่ปี 2540 และที่เห็นว่ามีเงินสำรองที่มีมากประมาณ 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะไปซื้อดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเกินไป

“สมมติว่า อยากได้จอแอลซีดี แต่ไม่อยากเสียเงิน ไม่อยากก่อหนี้เพิ่มขึ้นด้วย แล้วจะหาวิธีการด้วยการไปขอเงินแม่เพื่อมาซื้อ ซึ่งถ้าทำแบบนั้น พี่น้องคนอื่นก็อยากทำแบบเดียวกัน ซึ่งมันหมายถึงการสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ดีให้เกิดขึ้นในรัฐบาลยุคต่อไปว่า หากต้องการเงินสำรองประเทศ ก็จะนำออกไปใช้ได้ง่ายๆ อย่างนั้น”

ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวไม่ได้หมายความว่า ธปท.จะปิดประตูตายไม่ทำเลย แต่หากรัฐบาลต้องการจัดตั้งกองทุนมั่งคั่งฯ จริง ต้องมีกลยุทธ์ที่ชัดเจนว่าจะนำเงินจำนวนมากนี้ไปลงทุนด้านไหน เพื่อลบจุดอ่อนของประเทศ และเสถียรภาพเศรษฐกิจได้ในระยะยาว คือ 1.จะต้องมีกลยุทธ์การลงทุนที่ชัดเจน เพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ของประเทศ เช่น การกำหนดชัดเจนว่าจะลงทุนด้านพลังงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศยังด้อย 2.หากรัฐบาลจะนำสินทรัพย์ของ ธปท.ไป ก็ต้องนำหนี้สินที่เกิดจากการหาสินทรัพย์นั้นๆ ไปด้วย

3.ไม่สร้างบรรทัดฐานด้านวินัยการเงิน การคลังที่ไม่ดีให้เกิดขึ้นต่อไป ขณะเดียวกันควรมีกระบวนการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนผ่านกระบวนการทำประชาพิจารณ์ หรือประชามติเพื่อให้รู้ว่าสังคมมีการรับรู้และความพร้อมต่อการที่ประเทศไทยจะมีกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติหรือไม่ ในฐานะเป็นผู้เสียภาษี

4.ไม่แตะต้องบัญชีสำรองเงินตรา หรือบัญชีคลังหลวง ทั้ง 3 บัญชี เพื่อป้องกันการขัดแย้งของสังคม และ 5.ต้องมีธรรมาภิบาลที่ดี มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ มีนักบริหารที่เป็นมืออาชีพ รวมถึงต้องปลอดจากการเมือง

ดังนั้น หากอยู่ในเงื่อนไขกรอบนี้ก็มีความเป็นไปได้ที่มีการจัดตั้งกองทุนฯ แต่ต้องให้นำกองทุนฯ นี้ออกไปจากการดูแลของ ธปท.ไปเลย เนื่องจากไม่ได้มีความเชี่ยวชาญ เพราะ ธปท.ไม่ได้ตั้งองค์กรนี้เพื่อหาผลกำไร แต่เป็นองค์กรที่รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจประเทศเป็นหลัก คือ สร้างความสมดุล สร้างสภาพคล่อง สร้างทุนสำรอง สอดคล้องกับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน แล้วมีทุนสำรองไว้สร้างเสถียรภาพการเงิน หาประโยชน์ รายได้ ภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้

“จะเห็นว่า ที่ผ่านมา มาตรการของภาครัฐให้ความช่วยเหลือประชาชนผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หรือผ่านรัฐวิสาหกิจมักจะไม่ได้รับการการชดเชยความเสียหายจากนโยบายของภาครัฐ และที่แย่กว่านั้น บางรัฐวิสาหกิจมีผลขาดทุนต้องไปกู้เงิน ซึ่งมีต้นทุนดอกเบี้ยที่แพงกว่าดอกเบี้ยกู้ของภาครัฐบาลเสียอีก ดังนั้น คิดจะทำอะไร ก็ควรจะต้องให้อยู่ในกรอบวินัยการเงิน การคลัง” นางอัจนา กล่าวสรุป
กำลังโหลดความคิดเห็น