xs
xsm
sm
md
lg

วุฒิสภาซักแผนตั้งกองทุนมั่งคั่งฯ ธปท.โดดขวาง เล็งยื่นการบ้าน5ข้อวัดใจคลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน-กมธ.สถาบันการเงิน วุฒิสภา ซักแผนจัดตั้งกองทุนมั่งคั่งของรัฐบาล ส.ว.คำนูณ ติงแบงก์ชาติควรเก็บเงินไว้มากกว่า เพราะโลกกำลังผันผวน ธปท.ย้ำขวางเต็มที่ หากรัฐล้วงเงินคลังหลวงตั้งกองทุนฯ ชี้ฐานะประเทศยังไม่มั่นคง เตรียมสรุปการบ้าน 5 ข้อเสนอรมว.คลัง ระบุหากทำจริงต้องยึดหลักธรรมาภิบาล การเมืองห้ามจุ้น แนะทำประชาพิจารณ์ถามชาวบ้านก่อน เหตุความเสี่ยงสูง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (20 ก.ย.) ที่รัฐสภา ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเงิน การคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน ของวุฒิสภา โดยมีนายถาวร ลีนุตพงษ์ ประธานกมธ.เป็นประธานการประชุม มีวาระการประชุมเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล เรื่องการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ซึ่งได้เชิญนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าให้ข้อมูลต่อกมธ. แต่นายประสาร ติดภารกิจ และได้มอบหมายให้ นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท.เป็นผู้มาชี้แจงแทน โดยผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่ได้สอบถามถึงฐานะทางเงินของประเทศไทย ว่า มีความมั่นคงเพียงพอที่จะนำเงิน 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3 แสนล้านบาท จากเงินสำรองระหว่างประเทศมาตั้งกองทุนได้ โดยไม่กระทบวินัยการเงินการคลังหรือไม่

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ในฐานะกมธ.ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดรัฐบาลต้องการนำเงินที่อยู่ภายใต้การควบคุมของ ธปท.มาตั้งกองทุน เพราะไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่าจะสามารถบริหารเงินเหล่านี้ เพื่อให้ก่อประโยชน์ได้สูงสุด ที่สำคัญ ยังไม่เห็นความจำเป็นถึงการตั้งกองทุนจากแหล่งที่มาของเงินดังกล่าว เนื่องจากตามหลักแล้วเงินสำรองของประเทศมีหลักการเพื่อเก็บไว้ใช้ในยามจำเป็นเมื่อประเทศประสบกับภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ

“ตอนนี้ทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะด้านพลังงาน ซึ่งถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศกำลังหมดไป ยิ่งเป็นการแสดงให้เห็นความจำเป็นว่าประเทศเราสมควรจะรักษาเงินสำรองในประเทศให้มีจำนวนมากพอเพื่อไม่ให้กระทบกับฐานะของประเทศหากในอนาคตทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้นหมดไปจริงๆ”นายคำนูณกล่าว

ขณะที่นางอัจนา ชี้แจงว่า เงินสำรองระหว่างประเทศของไทยในขณะนี้ส่วนใหญ่ เป็นสินทรัพย์ที่มีหนี้ภาระผูกพันจากการออกพันธบัตร และการลงทุนในต่างประเทศ ดังนั้น ในภาพรวมไทยยังมีฐานะเป็นลูกหนี้สุทธิอยู่ และฐานะการลงทุนต่างประเทศสุทธิของไทยยังคงติดลบ โดยในปี 2552 ติดลบประมาณ 4.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลจะไม่สามารถนำเงินไปลงทุนได้ เพราะในหลายประเทศที่มีฐานะการเงินไม่ต่างจากไทยก็มีการจัดตั้งกองทุนในลักษณะนี้เช่นกัน เพียงแต่ว่าหากรัฐบาลต้องการจัดตั้งกองทุนมั่งคั่งจริง ต้องมีกลยุทธ์ที่ชัดเจนว่าจะนำเงินจำนวนมากนี้ไปลงทุนในด้านไหนเพื่อลบจุดอ่อนของประเทศ

ทั้งนี้ ในส่วนของ ธปท.ได้มีการข้อสรุปในเบื้องต้นเกี่ยวกับหลักคิดการจัดตั้งกองทุนมั่งคั่ง 5 ประการ คือ 1.ต้องมีกลยุทธ์การลงทุนที่ชัดเจน เพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ของประเทศ เช่น การกำหนดว่าจะลงทุนในด้านพลังงาน เพราะตอนนี้ประเทศไทยมีจุดอ่อนเรื่องนี้และมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 2.หากรัฐบาลจะนำสินทรัพย์ของธปท.ไป ก็ต้องนำหนี้สินที่เกิดจากการหาสินทรัพย์นั้นๆ ไปด้วย 3.รัฐบาลต้องกำหนดเจตนารมณ์ว่า หากจะใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศ ต้องนำไปเฉพาะในส่วนของบัญชีที่อยู่ในความดูแลของ ธปท.โดยไม่แตะต้องบัญชีสำรองเงินตราหรือที่เรียกว่าคลังหลวงทั้ง 3 บัญชี 4.หากดูการบริหารกองทุนมั่งคั่งในต่างประเทศ จะพบว่าขนาดของกองทุนต้องมากพอ ไม่ใช่เพียง 100-200 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือว่าไม่มีประโยชน์ ต้องมีขนาดไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ตรงนี้แสดงให้เห็นด้วยเราไม่ได้ต้องการทั้ง 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ที่มีอยู่ในเงินสำรองระหว่างประเทศ และ 5.ต้องมีธรรมาภิบาลรองรับที่ดี มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ รวมไปถึงการมีโครงสร้างองค์กรใหม่ที่ปลอดจากการเมือง

“สิ่งที่สำคัญสำหรับการตั้งกองทุนมากที่สุด คือ ธรรมาภิบาล เพราะการลงทุนลักษณะนี้มีความเสี่ยงสูงมาก ถ้าในช่วงที่โลกประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจย่อมส่งผลให้เงินที่นำไปลงทุนเกิดความเสียหายได้และขาดทุนเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การบริหารเงินในกองทุนต้องทำแบบมืออาชีพโดยปราศจากฝ่ายการเมือง เพราะอาจจะส่งผลเสียหายต่อฐานะของประเทศในระยะยาว ขณะเดียวกัน ควรมีกระบวนการสอบถามความคิดของประชาชนผ่านกระบวนการทำประชาพิจารณ์ หรือประชามติเพื่อให้รู้ว่าสังคมมีการรับรู้และความพร้อมต่อการที่ประเทศไทยจะมีกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติหรือไม่ ในฐานะเป็นผู้เสียภาษี” นางอัจนาระบุ

ทั้งนี้ นายคำนูณ ยังได้ฝากให้ทาง ธปท.ยืนยันให้หนักแน่น ว่า ผลการศึกษาเกี่ยวกับกองทุนมั่งคั่งที่จะส่งให้แก่รัฐบาลนั้น ข้อสำคัญ คือ การไม่แตะเงินสำรองระหว่างในส่วนของ 3 บัญชีในฝ่ายออกบัตร ธปท.รวมทั้งยังมีข้อห่วงใยที่จะมีการแก้ไขกฎหมายอีกหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ พ.ร.บ.เงินตรา เป็นต้น รวมทั้งตั้งข้อสังเกตด้วยว่าหากมีการแก้ไข พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ฝ่ายการเมืองอาจฉวยโอกาสแก้ไขเพื่อเปิดช่องให้สามารถเข้ามาแทรกแซงให้สามารถโยกย้ายผู้ว่าการ ธปท.ได้ เพราะปัจจุบันนี้ ถือเป็นโชคดีที่มี พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศ พ.ศ.2551 ทำให้ฝ่ายการเมืองไม่สามารถโยกย้ายผู้ว่าการ ธปท.ได้ง่ายๆ

นางอัจนา ได้กล่าวตอบว่า ธปท.จะนำเสนอเป็นรายงานเพื่อให้กระทรวงการคลังได้ทราบอย่างเป็นทางการต่อไป โดยรวมเงื่อนไข 5 ประการข้างต้น รวมทั้งเน้นย้ำว่า รัฐบาลไม่ควรนำเงินในบัญชีสำรองเงินตรา หรือที่เรียกว่าคลังหลวงทั้ง 3 บัญชีมาใช้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการแก้กฎหมายนั้น คงต้องรอดูในรายละเอียด ทำให้ไม่มั่นใจว่า หากรัฐบาลจะตั้งกองทุนมั่งคั่งนำเงินส่วนนี้ ต้องมีการแก้ไขกฎหมายกี่ฉบับ แต่โดยหลักหากจำเป็นต้องจัดสรรเงินออกไปรัฐบาลควรออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อมาขอกู้สินทรัพย์ไปจาก ธปท.
กำลังโหลดความคิดเห็น