xs
xsm
sm
md
lg

ทำให้เจ้าเท่ากับคนธรรมดา

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

ดูหลายคนที่ร่วมลงชื่อท้ายข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ที่เสนอให้ลดบทบาทและสถานะของพระมหากษัตริย์และทำให้ราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เทียบเท่ากับ “คนธรรมดา” ในทางกฎหมายแล้ว ต้องนับว่าน่าครั่นคร้ามไม่เบา ถ้าเรามองแค่เปลือกภายนอกหรือเลียวหลังไปมองอดีต

บางคนฉงนกับบางชื่อ แต่ผมเฉยๆ ความดีงามในอดีตของคนเรานั้นเป็นเกียรติยศที่น่ายกย่องชมเชยแน่ แต่ปัจจุบันต่างหากที่บอกว่าเขามีจุดยืนอย่างไร แม้ว่าหลายคนในนั้นจะเป็นเพื่อนฝูงที่เคยมักคุ้นกัน

มีคนสรุปข้อเสนอของนิติราษฎร์ไว้แล้ว

1. ยกเลิกมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ออกจากลักษณะว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร

2. เพิ่มเติมลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของกษัตริย์ ราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในประมวลกฎหมายอาญา

3. แบ่งแยกการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งกษัตริย์ออกจากราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

4. แก้ไขอัตราโทษโดยไม่บัญญัติอัตราโทษขั้นต่ำ เพิ่มโทษปรับ ลดอัตราโทษขั้นสูง โดยเปรียบเทียบกับอัตราโทษที่ใช้ในกรณีของบุคคลทั่วไป ให้การกระทำผิดต่อพระมหากษัตริย์สูงกว่าบุคคลทั่วไป 1 ปี และแยกแยะโทษของการกระทำผิดฐานหมิ่นประมาท และดูหมิ่น

5. บัญญัติเหตุยกเว้นความผิดในกรณีติชมหรือแสดงข้อความโดยสุจริตเพื่อรักษาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ

6. บัญญัติเหตุยกเว้นโทษ ในกรณีที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง แต่หากการพิสูจน์นั้นไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ห้ามมิให้พิสูจน์

7. ห้ามบุคคลทั่วไปกล่าวโทษ ให้สำนักราชเลขาธิการซึ่งมีกองนิติการสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้กล่าวโทษ

นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวตอนหนึ่งในการเสวนาครั้งนี้ถึงสถิติที่เกี่ยวกับคดีในมาตรา 112 ในศาลอาญา ทศวรรษ 2540 ปีหนึ่งๆ มีไม่เกิน 10 คดี แต่พอช่วงทศวรรษ 2550 เป็นต้นมา คดีความเกิดขึ้นมากมาย บางปีมีกว่า 200 คดี เฉพาะปี 2553 ปีเดียวมีเกือบ 400 คดี ขณะที่ผู้ถูกฟ้องร้องเมื่อถึงศาลแล้ว ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการประกันตัว เพราะศาลเห็นว่า เป็นคดีร้ายแรง

“เนื้อหาของกฎหมาย มาตรา 112 เราไม่สามารถนิยามได้อย่างชัดเจนว่า การดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์นั้นเป็นอย่างไร ซึ่งขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของผู้พิพากษาโดยตรง แต่หากย้อนกลับไปดูเมื่อ 10-20 ปีที่ผ่านมา คดีเหล่านี้ที่ถูกยกฟ้องกับที่ถูกตัดสินจำคุกนั้น ก็ไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน”

ตรรกะนี้เป็นตรรกะที่ตลกมากครับ และถูกกลุ่มคนที่สนับสนุนให้ยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 นำมาใช้บ่อยครั้ง คำถามว่ามาตรา 112 ในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากทศวรรษที่ 2540 หรือ

ผมจะไม่เถียงว่าควรจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือไม่ก็ได้ แต่ถามว่าถ้ามาตรา 112ควรถูกยกเลิกหรือแก้ไขเพราะคนกระทำผิดเพิ่มมากขึ้น มันควรจะเป็นความผิดของกฎหมายเช่นนั้นหรือ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นทุกวันนี้ผู้ต้องหาคดียาเสพติดก็เพิ่มขึ้น แถมรัฐยังใช้อำนาจฆ่าตัดตอนแบบข้ามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม จนมีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตจำนวนมาก ถ้าอ้างว่าแบบมาตรา 112 เราไม่ต้องยกเลิกกฎหมายยาเสพติดด้วยหรือ

สำหรับผมแล้ว ถ้าบอกว่าให้ควรยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงก็ควรจะมีเหตุผลที่ดีกว่านี้ และผมคิดว่าสังคมพร้อมจะถกเถียงและหาทางออกร่วมกัน

ประเด็นสำคัญก็คือว่า ถ้ามาตรา 112 มีปัญหาเรื่องการบังคับใช้ มันก็ควรแก้ไขที่จุดนั้น ผมไม่ได้หมายความนะครับว่า มาตรา 112 อาจจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในอนาคตเพราะเรายังไม่อาจคาดการณ์สภาพสังคมและการเมืองที่จะเปลี่ยนแปลงไปได้ แต่ถ้าเราพูดถึงมาตรา 112 ในบริบทของปัจจุบัน ผมมองไม่ออกเลยว่า มาตรา 112 จะเป็นอุปสรรคต่อระบอบประชาธิปไตยตรงไหน และผมก็เห็นยังมีคนวิจารณ์บทบาทและสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างมีเหตุและผลจำนวนมากที่ไม่ได้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 นั่นย่อมแสดงว่าไม่ได้มีการปิดกั้นให้วิพากษ์วิจารณ์บทบาทและสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด

และในหลวงก็ทรงย้ำด้วยพระองค์เองว่า สามารถวิจารณ์พระมหากษัตริย์ได้

“มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” ยังมองไม่เห็นเลยครับว่า ตรงไหนที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นในระบอบประชาธิปไตย

ผมคิดว่าปัญหาของพวกที่ต้องการยกเลิกหรือแก้ไขมาตรานี้ไม่กล้าที่จะพูดจริงว่า พวกเขาเป็นพวกไม่นิยมกษัตริย์ จึงนำเอาเหตุผลและตรรกะประหลาดมาอธิบาย นักเขียนกลุ่มหนึ่งบอกว่า มาตรา 112 ทำให้พวกเขาเขียนหนังสือไม่ได้ (ทั้งที่จริงแล้วพวกเขาก็ไม่ค่อยมีผลงานอยู่แล้วและส่วนใหญ่ก็มีตัวตนมากกว่างาน)

นอกจากข้อเสนอของนิติราษฎร์ล่าสุดที่เปิดเผยโล่งโจ้งที่สุดว่าต้องการทำให้สถานะของพระมหากษัตริย์เท่ากับคนธรรมดาในทางกฎหมาย

พอพูดอย่างนี้ก็มีคนกล่าวหาว่าผมเหมารวมว่าคนที่สนับสนุนให้แก้หรือเลิกมาตรานี้ไม่ใช่ผู้ไม่เอากษัตริย์ทั้งหมด ผมเห็นด้วยครับ เพียงแต่ว่า บริบทของการแก้ไขมาตรานี้ที่ซ่อนเร้นอยู่นั้นมันอ่านกันไม่ออกหรืออย่างไร

สุวินัย ภรณวลัย เขียนในเฟซบุ๊กว่า ต่อไปนี้เป็นแค่ความเห็นส่วนตัวของผมเพียงลำพังเท่านั้นนะครับ..ปัญหามาตรา 112 ที่กำลังเป็นข้อขัดแย้งอยู่ในขณะนี้ อยู่ใน “บริบททักษิณ” ผมคิดว่าสุวินัยคงข้องใจว่า ทำไมปัญญาชนกลุ่มหนึ่งเพื่อนและพี่จึงไปติดกับดักที่ “บริบททักษิณ” สร้างขึ้นมา และทำไมถึงคิดไม่ได้กับเป้าหมายที่ซ่อนเร้นอยู่ของหมากเกมนี้

พูดตรงๆ ก็คือว่า การเคลื่อนไหวล้มเลิกหรือแก้ไขมาตรานี้มีแกนหลักสำคัญคือ กลุ่มไม่เอากษัตริย์ คนที่สนับสนุนเรื่องนี้ส่วนใหญ่เป็นคนเสื้อแดง คนเสื้อแดงก็คือมวลชนที่สนับสนุนทักษิณ

ข้อเสนอของนิติราษฎร์ก็ชัดเจนว่า พวกเขาต้องการลดบทบาทและสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทยลงมาให้เท่ากับคนธรรมดา ทั้งที่ความจริงแล้วพระมหากษัตริย์เป็นมนุษย์หรือคนธรรมดาคนหนึ่ง แต่พระมหากษัตริย์ได้ทำคุณงามความดี และมีคุณูปการต่อประเทศชาติและสังคมจึงได้รับการยกย่องให้เป็นประมุขของประเทศ พระมหากษัตริย์ในปัจจุบันมิได้ทำตัวเป็นเทวราชาแต่อย่างใด

มาตรา 112 เป็นกฎหมายที่คุ้มครองประมุขของประเทศไม่ใช่กฎหมายหมิ่นประมาท แต่พวกล้มเจ้าที่แอบแฝงปลุกปั่นสังคมนำมาพูดแบบตัดตอนโดยไม่ได้อธิบายถึงข้อเท็จจริงแห่งคดีที่เกิดมากขึ้นในรอบหลายปีเลย

นิติราษฎร์ปฏิเสธสิครับว่าเป้าหมายที่ซ่อนเร้นอยู่ไม่ใช่หวังลดบทบาท และสถานะของพระมหากษัตริย์ในสังคมไทย

พูดอย่างนี้พวกคลั่งทักษิณก็กล่าวหาว่าเป็นพวกคลั่งเจ้าอีก

ที่ตลกมากคือ อาจารย์สุวินัยที่ออกมาต่อต้านพวกนิติราษฎร์ถูกกล่าวหาจากเกษียร เตชะพีระ ว่า ได้ทำร้ายความคิดจิตใจสังคมและผู้คนด้วยความเชื่อของตนอย่างไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อคนอื่นเชิงมนุษยธรรมมากขึ้นทุกที
กำลังโหลดความคิดเห็น