xs
xsm
sm
md
lg

คำถามถึงนิติราษฎร์ : แก้ 112 โดยไม่แก้ 112 ได้หรือไม่?

เผยแพร่:   โดย: พัฒน์ ปริยวงศ์

พัฒน์ ปริยวงศ์
นักกฎหมายอิสระ
http://www.facebook.com/verapat.pariyawong

ผมเห็นว่าคณะนิติราษฎร์ค่อนข้างโชคดี เพราะตั้งแต่เสนอเรื่อง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มานั้น ดูท่าจะยังไม่มีผู้ใดสามารถนำเสนอ “เหตุผลเชิงนิติศาสตร์” มาหักล้างนิติราษฎร์อย่างตรงไปตรงมาได้เลย

ย้ำนะครับ ผมไม่ได้กำลังบอกว่าผมเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเรื่อง มาตรา 112 ที่นิติราษฎร์เสนอนะครับ แต่ผมกำลังตั้งข้อสังเกตว่า การทักท้วงหรือต่อต้านนิติราษฎร์ มักอ้างเหตุผลที่ไม่ตรงประเด็น ไม่ว่าเหตุผลนั้นจะน่าฟังหรือ “โดนใจ” เพียงใดก็ตาม

บางท่านอ้างว่า นิติราษฎร์ต้องการล้มเจ้า เป็นพวกจาบจ้วงสถาบัน...

ลองอ่านข้อเสนอนิติราษฎร์ให้ดีอีกครั้งนะครับ นิติราษฎร์กำลังพยายามสร้างสถานะความคุ้มครองพิเศษแบบใหม่ คือ “ความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์...” (ซึ่งความผิดแบบนี้ไม่เคยมีมาก่อนในประมวลกฎหมายอาญา) กล่าวคือ นิติราษฎร์กำลังทำให้ มาตรา 112 ไม่เป็นเรื่องของ “ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” อีกต่อไป แต่เป็นเรื่อง “เกียรติยศศักดิ์ศรีของบุคคล” หากมองในมุมหนึ่ง ผลที่ตามมาก็คือ การพูดจาแตะต้อง “สถาบัน” (ในที่นี้ผมหมายถึงผู้ที่ได้รับความคุ้มครองตาม มาตรา 112) อาจเป็นความผิดที่ชัดเจนและฟ้องกันง่ายมากขึ้น

กล่าวคือ ไม่มีข้อโต้แย้งในการตีความกฎหมายว่าใครจะจาบจ้วงสถาบันจนกระทบถึง “ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” หรือไม่ เพราะบัดนี้ข้อเสนอนิติราษฎร์อาจทำให้ตีความได้ว่า หากกระทบ “พระเกียรติ” หรือ “ชื่อเสียง” ก็เป็นความผิดแล้ว (เว้นแต่จะมีเหตุยกเว้นความผิด เช่น ติชม แสดงความเห็นโดยสุจริต แต่นิติราษฎร์ก็ย้ำอีกว่าเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ฯลฯ) จึงปรากฏชัดว่านิติราษฎร์ไม่ได้ต้องการล้มเจ้า

บางท่านอ้างว่า นิติราษฎร์รับงานจากคุณทักษิณ...

ลองคิดให้ดีนะครับ ถ้าคุณทักษิณหวังไม่ดีต่อประเทศอย่างที่บางท่านเชื่อ ผมคิดว่าวิธีที่คุณทักษิณจะกลับมาเรืองอำนาจได้ง่ายและสะดวกที่สุด ก็คือการ “เกี้ยเซียะ” หรือเข้าไปรอมชอมประสานผลประโยชน์กับกลุ่มอำนาจเก่า หรืออย่างน้อยก็อย่าไปทำอะไรขัดใจกัน จะได้ให้อภัย ร่วมมือแบ่งปันอำนาจและผลประโยชน์กันได้ ตอนนี้เริ่มมีผู้แปลสัญญาณที่สะท้อนออกมาบ้างแล้ว เช่น การที่คุณเฉลิม อยู่บำรุง และแกนนำพรรคเพื่อไทยยืนยันว่าจะไม่แตะต้องมาตรา 112 อีกทั้งแกนนำเสื้อแดงในพรรคเพื่อไทยก็ดูจะไม่ได้รณรงค์เรื่องนี้อย่างเข้มข้น แม้คนเสื้อแดงจะเคยเป็นเหยื่อของมาตรา 112 มามากก็ตาม

บางท่านพูดแล้วฟังดูดีหน่อย บอกว่าแก้กฎหมายไปก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะปัญหาอยู่ที่คน การแก้ปัญหาจึงต้องแก้ที่คน...

แต่ข้อนี้ก็ไม่ตรงประเด็นอีกเช่นกัน เพราะหากทุกปัญหา “แก้ได้ที่คน” เช่นที่ว่า ก็คงไม่ต้องมีการตราหรือแก้ไขกฎหมายหรือมีศาลและตุลาการอีกทั้งประธานตุลาการที่คอยสลับตำแหน่งตีความกฎหมายให้วุ่นวายเสียกระมัง สู้เอาเงินและเวลาไปตั้งศูนย์บำบัดคนทั้งประเทศไม่ง่ายกว่าหรือ?

จะมีที่ฟังแล้วน่าสนใจหน่อย ก็คือข้อทักท้วงของ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่ง “จำใจ” วิจารณ์นิติราษฎร์รายวันผ่าน facebook (http://www.facebook.com/profile.php?id=100001298657012) ทำนองว่า นิติราษฎร์กำลังทำข้อเสนอโดยคำนึงถึงการหาแนวร่วมเป็นหลัก ทั้งที่จริง (สำหรับ ดร.สมศักดิ์) นิติราษฎร์ก็รู้ดีอยู่แก่ใจว่าสิ่งที่ถูกต้อง คือการยกเลิก มาตรา 112 ไปเลย แล้วไม่ต้องบัญญัติความผิดอะไรมาคุ้มครองพระเกียรติหรือชื่อเสียงของสถาบันอีก ดร.สมศักดิ์ มองว่า การเสนอครึ่งๆ กลางๆ แบบที่นิติราษฎร์ (ซึ่งกำลังดัง) เสนออยู่ จะไปกลบกระแสที่คนธรรมดาทั่วไปหลายคนเสนอให้ยกเลิกทั้งหมด สุดท้ายนิติราษฎร์ก็จะทำให้สังคมสะดุดกระแสความคิด นอกจากนี้ ดร.สมศักดิ์ ยังเชื่อว่า ไม่ว่านิติราษฎร์ หรือ ดร.สมศักดิ์ จะเสนอเรื่อง มาตรา 112 อย่างไร ก็ไม่มีทางจะทำได้เป็นจริงในขณะนี้ ฉะนั้นจะเสนอทั้งทีก็เสนอให้เลิกชัดเจนไปเลยจะดีกว่า

ผมมองว่าข้อโต้แย้งของ ดร.สมศักดิ์ (หรือฝ่ายที่เสนอให้ยกเลิก มาตรา 112 ไปเลย) มีปัญหาหลายประการ

ข้อแรก คือ ดร.สมศักดิ์ พยายามจะแยก “บทบาทนักวิชาการ” ของนิติราษฎร์ออกเป็นเอกเทศโดยสิ้นเชิงออกจาก “บทบาทผู้นำทางความคิด” ซึ่งผู้นำทางความคิดไม่เพียงแต่ต้องมีหลักการที่หนักแน่นชัดเจน แต่ต้องมีวิธีการนำเสนอที่แยบคายและก้าวให้เข้ากับจังหวะของสภาพความคิดที่เป็นจริงในสังคม ไม่ใช่เพื่อก้าวไปไกลจนล้ำความคิด แต่ต้องก้าวให้ใกล้เพื่อชักนำความคิด ดร.สมศักดิ์ คงแย้งผมว่า คนอย่างที่ว่าก็คือพวกโหนกระแสตามกระแส แต่ผมกลับมองว่าจังหวะและโอกาส คือ เงื่อนไขของความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้สำคัญน้อยไปกว่าเนื้อหาที่นำเสนอ และ “ผู้นำทางความคิด” ที่ดีไม่จำเป็นต้องมั่นใจว่าความคิดส่วนตัวของตนเองนั้นดีที่สุดหรือถูกต้องที่สุดเสมอไป แต่ “ผู้นำทางความคิด” อาจเป็นเพียงผู้ชักนำให้เกิดความคิดในลู่ในทางที่ดี แม้จะไม่ดีที่สุดสำหรับตน แต่อาจดีกว่าสำหรับคนอื่น ก็เป็นได้

ข้อที่สอง ตรรกะของ ดร.สมศักดิ์ เช่นนี้ไม่ต่างอะไรกับการทำตนเป็นผู้พยากรณ์อ่านใจประชาชนคนไทยอย่างเบ็ดเสร็จ ผมไม่ทราบจริงๆ ว่า ดร.สมศักดิ์ อาศัยเกณฑ์อะไร นอกจากเกณฑ์ความรู้สึกส่วนตัว ที่จะวัดว่าการแก้ไขยกเลิก มาตรา 112 ที่ถูกต้องนั้น กำลังเป็นไปหรือจะต้องเป็นไปในแนวทางหรือทิศทางใด และแนวทางที่นิติราษฎร์เสนออยู่จะสำเร็จจริงหรือไม่

และข้อที่สาม ดร.สมศักดิ์ มักจะมุ่งกล่าวถึงประเด็นข้อเสียและปัญหาของมาตรา 112 (ซึ่งผมไม่ได้เถียง) แต่กลับไม่ค่อยพูดถึงภารกิจอีกขั้วของ มาตรา 112 ในแง่มุมที่เป็นประโยชน์หรืออาจ “จำเป็น” ต่อพันธกิจของรัฐประชาธิปไตยเสียด้วยซ้ำ ตัวอย่างสุดขั้ว เช่น หากมีผู้ตั้งขบวนการต่อต้านการตรากฎหมาย โดยแสดงอาการอาฆาตมาดร้ายสถาบันเพื่อข่มขู่ให้พระมหากษัตริย์วิตก หรือกลัว หรือลังเล ที่จะทรงลงพระปรมาภิไธยในกฎหมายฉบับดังกล่าวอันเป็นกระบวนการขั้นตอนสำคัญตามรัฐธรรมนูญ ในบริบทขั้วนี้ มาตรา 112 ย่อมเป็นเครื่องมือสำคัญในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญเสียด้วยซ้ำ

ด้วยเหตุนี้ หากให้วิจารณ์อย่างสุจริตใจ ผมคิดว่าที่ผ่านมานิติราษฎร์ไม่ได้เหน็ดเหนื่อยทางสติปัญญาอย่างที่หลายคนคิด

2. คำถามที่ยังไม่เคยมีใครถามนิติราษฎร์?

หากผู้ใดต้องการให้นิติราษฎร์คิดมากหน่อย ผู้นั้นก็อาจลองตั้งคำถามเหมือนชื่อบทความที่ผมตั้งว่า เราจะสามารถแก้ปัญหา มาตรา 112 โดยไม่ต้องแก้ไข มาตรา 112 ได้หรือไม่?

เป็นไปได้หรือไม่ว่า มาตรา 112 ซึ่งปัจจุบันถูกบัญญัติไว้ในลักษณะ “ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” นั้น ก็ถือว่ามี “ตำแหน่งแห่งที่” ที่เหมาะสมอยู่แล้ว กล่าวคือ หากตีความให้ถูกต้อง ผู้ที่จะกระทำผิดตาม มาตรา 112 นั้น ไม่เพียงแต่จะต้องหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แบบธรรมดาทั่วไปเท่านั้น แต่ต้องกระทำในลักษณะหรือด้วยเจตนาที่รุนแรงถึงขั้นกระทบถึง “ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” อีกด้วย กล่าวคือ มาตรา 112 ต้องตีความตัวบทให้สอดคล้องกับตามเจตนารมณ์ของลักษณะความผิด ไม่ใช่นำลักษณะความผิดมาใช้เป็นตัวบท

ดังนั้น จึงน่าคิดว่า การที่ตำรวจก็ดี อัยการก็ดี ผู้พิพากษาก็ดี ไปเข้าใจว่า การหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายตาม มาตรา 112 ทุกกรณีต้องถือเป็น “ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” เสมอไปนั้น ถือเป็นการตีความกฎหมายที่กลับหัวกลับหาง คือ แทนที่จะตีความบทบัญญัติให้เข้ากับเจตนารมณ์ของหมวดหมู่ กลับไปตีความหัวข้อหมวดหมู่ได้กลายมาเป็นเนื้อหาของบทบัญญัติมาตรา 112 เสียเอง หรือไม่?

เพื่ออธิบายให้เห็นภาพ เราอาจลองพิจารณาความผิดอื่นที่ถูกบัญญัติไว้ในลักษณะ“ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” เช่นเดียวกับ มาตรา 112 มาตราอื่น เช่น

“มาตรา 115 ผู้ใดยุยงทหารหรือตำรวจให้หนีราชการ ให้ละเลยไม่กระทำการตามหน้าที่ หรือให้ก่อการกำเริบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี”

แน่นอนว่า หาก “พลทหารหมายเลิศ” ยุยงให้เพื่อนทหารในกองร้อยทิ้งอาวุธหนีกลับบ้านในยามที่ต้องสู้กับผู้ก่อการร้าย “พลทหารหมายเลิศ” ย่อมทำ“ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร”

แต่หาก “พลทหารหมายเลิศ” ยุยงให้ “พลทหารลูกรัก” ละเลยไม่กระทำการตามหน้าที่ล้างห้องน้ำตามที่ผู้บังคับบัญชาสั่งการ กรณีนี้จะตีความว่า “พลทหารหมายเลิศ” ได้ทำ “ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ถูกจำคุกได้หรือไม่? หรือเอาผิดทางวินัยให้ไปขัดห้องน้ำเพิ่มก็เพียงพอแล้ว?

หรืออีกตัวอย่าง:

“มาตรา 118 ผู้ใดกระทำการใดๆ ต่อธงหรือเครื่องหมายอื่นใดอันมีความหมายถึงรัฐ เพื่อเหยียดหยามประเทศชาติ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

แน่นอนว่าหาก “นายลูกรัก” เผาธงชาติที่สนามหลวง พร้อมปราศรัยให้ล้มล้างประเทศไทย ย่อมชัดเจนว่าเป็นความผิด

แต่หาก “นายลูกรัก” นั่งเล่นอยู่ภายในบ้านกับ “นายหมายเลิศ” จากนั้น “นายลูกรัก” นำธงชาติไทยมาขยำและพูดจาเหยียดหยามความสามารถของชาติไทยในการแข่งกีฬาให้ “นายหมายเลิศ” ฟัง แล้วก็เปลี่ยนเรื่องคุย “นายหมายเลิศ” จะนำคดีไปฟ้อง “นายลูกรัก” ว่ากระทำ “ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” จนถูกจำคุกได้หรือไม่? หรือเพียงผิดน้ำใจและถูกเพื่อนต่อว่าก็เพียงพอแล้ว?

ลองกลับมาพิจารณาเรื่อง มาตรา 112 สิ่งที่นิติราษฎร์กำลังพยายามเสนอในเวลานี้ คือการย้าย มาตรา 112 ออกจากลักษณะ“ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” แล้วแปลงให้กลายเป็นความผิดเกี่ยวกับ “พระเกียรติยศหรือชื่อเสียง” ซึ่งอ่านมาถึงจุดนี้ หลายท่านเองก็อาจเห็นในสิ่งที่ยังไม่เห็น กล่าวคือ นอกจากข้อเสนอนิติราษฎร์จะไม่ดี (ในมุมมองที่ ดร.สมศักดิ์ พูดมาแล้ว) ข้อเสนอนิติราษฎร์ยังเป็นการสร้างความคุ้มกันพิเศษในทางกฎหมายให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์อีกชั้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏในกฎหมายอย่างเป็นทางการมาก่อน แม้โทษจะเบาลง การฟ้องจะยากขึ้น แต่เพียงผู้ใด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ก็ไม่ได้จำเป็นต้องกระทบ “ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” อีกต่อไป ขอเพียงกระทบต่อ “พระเกียรติยศหรือชื่อเสียง” แล้ว ก็ย่อมถูกฟ้องได้ (หากไม่เข้าข้อยกเว้นที่นิติราษฎร์เสนอ)

ความจริงจึงกลับตาลปัตรในบัดดล! ผู้ที่ต่อต้านนิติราษฎร์เพราะรักสถาบัน กลับไม่รู้ตัวว่า “ในทางหนึ่ง” นิติราษฎร์กำลังทำให้สถาบันแตะต้องได้ยากขึ้น ส่วนคนที่สนับสนุนนิติราษฎร์เพราะเชื่อในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น กลับไม่รู้ตัวว่า มาตรา 112 แบบเดิม “ในทางหนึ่ง” อาจสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นดีกว่าที่นิติราษฎร์เสนอเสียอีก!!??

3. แก้ปัญหา มาตรา 112 โดยไม่ต้องแก้ไข มาตรา 112 ได้หรือไม่?

ถึงจุดนี้ย่อมมีผู้แย้งว่าผมเหลวไหลเลอะเทอะ เพราะในความเป็นจริง การตีความบังคับใช้กฎหมาย มาตรา 112 ไม่เคยตีความตามเจตนารมณ์เช่นนั้น เพราะไม่ว่าใครจะพูดจาแตะต้องสถาบันไปทางใด ก็ถูกเหมารวมว่าเป็น “ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ตลอดมาและต้องดำเนินการโดยเด็ดขาดไปเสียหมด

ผมก็เพียงจะตอบว่า หากผู้ใดตอบผมเช่นนั้น ก็เท่ากับยอมรับตามที่ผมอธิบายแล้วว่า มาตรา 112 อยู่ในตำแหน่งแห่งที่ถูกต้องแล้ว เพียงแต่มีการตีความบังคับใช้ มาตรา 112 ที่ผิดเพี้ยน ดังนั้น วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องจึงไม่ควรเป็นการย้ายตำแหน่งลักษณะความผิดตามที่นิติราษฎร์เสนอ แต่ควรเป็นการทำให้กฎหมายมีความชัดเจนมากขึ้น และตีความบังคับใช้ได้ถูกต้องตามเจตนารมณ์อย่างเคร่งครัด สอดคล้องกับทั้งสิทธิเสรีภาพของประชาชนและพันธกิจในทางการเมืองการปกครองของรัฐประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ผมจึงเสนอว่า เราสามารถแก้ปัญหา มาตรา 112 โดยไม่ต้องแก้ไข มาตรา 112 ก็ได้ โดยขอฝากแนวคิดเบื้องต้นดังนี้

ประการแรก ไม่ต้องไปยกเลิกหรือแตะต้อง มาตรา 112 ดังนั้น ผู้ใดที่หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันในลักษณะหรือด้วยเจตนาที่รุนแรงถึงขั้นกระทบต่อ “ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ก็ย่อมต้องรับผิดตามกฎหมาย

ประการที่สอง แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา โดยเพิ่ม “มาตรา 106/1” ให้เป็นบททั่วไปที่คลุมลักษณะ “ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” โดยบัญญัติว่า “การกระทำที่จะถือเป็นความผิดตามบทบัญญัติในลักษณะนี้ได้ จะต้องกระทำในลักษณะหรือด้วยเจตนาที่รุนแรงถึงขั้นกระทบหรืออาจกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรเท่านั้น” ดังนั้น มาตรา 106/1 จึงไม่ได้เป็นการไปแก้ไข มาตรา 112 แต่เป็นการทำให้มาตรา 112 รวมถึงมาตราอื่นๆ ในลักษณะความผิดเดียวกัน เช่น เรื่องยุยงไม่ปฏิบัติหน้าที่ตาม มาตรา 115 หรือเรื่องเผาธงตาม มาตรา 118 ต้องถูกบังคับใช้ตีความอย่างสมเหตุสมผล ส่วนการตีความบังคับใช้กฎหมายจะเป็นต่อไปอย่างไร ย่อมเป็นเรื่องที่นักกฎหมาย นักวิชาการ ผู้พิพากษาตุลาการย่อมต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อวิชาชีพและประชาชน

ประการที่สาม เสนอให้รัฐสภาตรากฎหมาย อาจจะเรียกว่าให้ไพเราะว่า “พระราชบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น พ.ศ. ...” โดยมีหลักการสำคัญ คือ

(1) บัญญัติรับรองคุ้มครองให้การแสดงออก ติชม แสดงความเห็นใดๆ ที่เกี่ยวกับประเด็นสาธารณะ ซึ่งไม่มีความอาฆาตมาดร้ายหรือปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวาย ได้รับการรับรองคุ้มครองว่าไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย หรือเหตุในการเสียประโยชน์ใดๆ ตามกฎหมายที่มีอยู่ และ

(2) กำหนดโทษสำหรับผู้ใดที่เจตนานำกฎหมายหรืออำนาจใดๆ เช่น มาตรา 112 หรือการใช้ดุลพินิจโยกย้ายปูนรางวัลสารพัดมาใช้เป็นเครื่องมือเล่นงานผู้อื่น

กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เกี่ยวกับมาตรา 112 เท่านั้น แต่แผ่อานิสงส์ไปถึงการติชม วิพากษ์วิจารณ์สารพัดเรื่องที่ควรจะทำได้ตามครรลองประชาธิปไตย นักเรียนจะวิจารณ์ครูก็ไม่ต้องกลัวถูกหักคะแนนความประพฤติ เจ้าหน้าที่จะต่อว่าอธิบดีก็ไม่ต้องกลัวโดนปลด คือมีการคุ้มครองและเยียวยาให้ชัดเจนเป็นการทั่วไปโดยผลของกฎหมายเฉพาะที่คลุมกฎหมายอื่นทุกฉบับ เพื่อแก้ปัญหา chilling effect หรือความกลัวต่อกฎหมายหรือแรงในสังคม จนสุดท้ายก็จำใจ censor ตัวเอง

ที่สำคัญ หากประชาชนสามารถผลักดันให้หลักการดังกล่าวได้รับการรับรองอย่างชัดแจ้งไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้มีสถานะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ก็ย่อมไม่เลวเช่นกัน

บทส่งท้าย

ข้อเสนอที่ผมเสนอมา บรรดานักการเมืองและบรรดาคนรักสถาบัน น่าจะยอมรับได้ เพราะไม่มีการแตะต้อง มาตรา 112 เพียงแต่ทำให้ผู้ใช้กฎหมายสามารถตีความและบังคับใช้ มาตรา 112 ได้ถูกต้องตามเจตนารมณ์มากขึ้นเท่านั้น ส่วนคนที่รัก ดร.สมศักดิ์ หาก ดร.สมศักดิ์ จะเมตตาผมหน่อย ก็น่าจะพอรับได้ เพราะเป็นการเลี่ยงการสร้างสถานะความคุ้มครองพิเศษเพิ่มไปจากที่มีอยู่ในปัจจุบัน หนทางในการหาทางออกเรื่อง มาตรา 112 ร่วมกันของทุกฝ่าย หากจะให้มี ก็ยังคงมีอยู่

แต่ผมยังไม่แน่ใจว่าคนที่รักนิติราษฎร์คนอื่นนอกจากผม จะยอมรับได้หรือไม่ ก็จะขอส่งกำลังใจและรอฟังเสียงของนิติราษฎร์ ที่แถลงเปิดตัวคณะรณรงค์แก้ไข มาตรา 112 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 มกราคมนี้ครับ.

ข้อมูลและความเห็นต่อนิติราษฎร์ ดูเพิ่มได้ที่ https://sites.google.com/site/verapat/justice
กำลังโหลดความคิดเห็น