ยังคงเคลื่อนไหวกันต่อเนื่องสำหรับกลุ่มนิติราษฏร์ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของคณาจารย์กลุ่มหนึ่งจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เชื่อว่าตลอดปี 2555 คงยิ่งป่วนหนักขึ้นไปอีกกับการรุกจะให้มีการทบทวนและแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เป็นบทลงโทษความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นสถาบันฯ
ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมจัดงานล่ารายชื่อประชาชนที่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 ในกลางเดือนมกราคมนี้ หรือการเดินสายสร้างความเข้าใจผิดๆ ให้กับผู้คนเกี่ยวกับเรื่องมาตรา 112
อย่างเช่นการกระทำของกลุ่มนิติราษฎร์เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมาคือ 27 ธันวาคม 2554 ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้คนกำลังสาละวนอยู่กับการนับถอยหลังปีเก่าเข้าสู่ปีใหม่ จึงทำให้สังคมอาจพลาดการติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของคนกลุ่มนี้ไป ว่ากำลังมีพฤติกรรมเหิมเกริม เล่นไม่เลิกหนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะในงานดังกล่าวที่มีการเสวนาเรื่อง"เสรีภาพนิสิตนักศึกษาในพระปรมา ภิไธย" ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตามข่าวที่ปรากฏพบว่าเป็นการจัดงานของกลุ่มประชาคมจุฬาฯ หนึ่งในผู้ไปพูดในวงเสวนาคือแกนนำคนหนึ่งในกลุ่มนิติราษฏร์ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” จากนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
ซึ่งเนื้อหาที่ปรากฏในเว็บไซต์ของสำนักข่าวประชาไท บางตอนเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งแต่ “ทีมข่าวการเมือง”ขอนำมาถ่ายทอดไว้ส่วนหนึ่งเพื่อให้สังคมได้แลเห็นพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ที่วันๆ ไม่คิดจะทำอะไรให้บ้านเมืองนอกจากหาเรื่องจะแก้ 112
นายปิยบุตรระบุไว้ในตอนหนึ่งว่า สถานะของสถาบันที่เป็นอยู่ในปัจจุบันซึ่งมีอำนาจมากเกินควรจะเป็นในระบอบประชาธิปไตย มิได้เป็นมาแต่ไหนแต่ไรตามที่หลายๆ คนอาจได้รับรู้ เนื่องจากในความเป็นจริง สถาบันกษัตริย์ถูกยกระดับให้ มีอำนาจเท่าที่เป็นในปัจจุบันตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมา ซึ่งนับเป็นเพียง 40-50 ปีของการช่วงชิงทางความคิด และอุดมการณ์ระหว่างคู่ขัดแย้งฝ่ายต่างๆ ในประวัติศาสตร์เท่านั้น เช่นเดียวกับการรัฐ ประหาร 19 กันยายน 2549 ที่สะท้อนถึง ความขัดแย้งระหว่างนักการเมืองจากการ เลือกตั้งและฝ่ายจารีตนิยมที่ใช้การโฆษณา ชวนเชื่อ ก็เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการดำเนินไปของสนามที่ต่อสู้เชิงความคิดที่ยังไม่สิ้นสุดในสังคมไทย
“สถาบัน กษัตริย์จำเป็นต้องปรับตัวให้อยู่ได้กับประ ชาธิปไตย โดยแยกการใช้อำนาจจากรัฐให้ เป็นเพียงหน่วยทางการเมืองหน่วยหนึ่ง ซึ่งทำให้กษัตริย์ไม่สามารถใช้อำนาจใดๆ ผ่านรัฐได้อีกต่อไป
โดยในทางรูปธรรมนั้นหมายถึงการไม่อนุญาตให้กษัตริย์สามารถทำอะ ไรเองได้ เนื่องจากผู้ที่รับผิดชอบคือผู้สนอง พระบรมราชโองการ รวมถึงการไม่อนุญาตให้กษัตริย์แสดงพระราชดำรัสสดต่อสาธารณะ และการสาบานต่อรัฐสภาในฐานะประมุขว่าจะพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ “
ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นคำกล่าวของคนที่เป็นคนไทย คนที่เป็นครูบาอาจารย์ของนักศึกษากฎหมาย เพราะเป็นการแสดงความเห็นที่ไม่ได้มีตรรกะ-เหตุผลอะไรมารองรับเพื่ออธิบายชุดความคิดและความเชื่อดังกล่าวให้สังคมได้พิจารณาประกอบด้วยไว้เลย
ทั้งที่การแสดงความคิดเห็นใดๆ ของคนที่เรียกตัวเองว่านักวิชาการ สิ่งสำคัญคือต้องมีหลักการ-เหตุผล -ข้อมูลอ้างอิงเพื่อเสริมน้ำหนักในสิ่งที่นำเสนอเพื่ออธิบายความคิดและความเชื่อนั้นให้สังคมได้พิจารณาประกอบไปด้วย
เหมือนกับที่จนถึงขณะนี้ ซึ่งหลายฝ่ายทั้งสื่อ-นักการเมือง-นักวิเคราะห์การเมือง ต่างบอกว่า การเมืองในปี 2555 เรื่องการแสดงความคิดเห็นต่อการแก้ไขและยกเลิกมาตรา 112 จะเป็นอีกหนึ่งเรื่องร้อนการเมืองในรอบปีนี้ หลังมีการขยายความ-สร้างประเด็นออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ จากในประเทศสู่ต่างประเทศไปแล้ว
แต่ปรากฏว่า จนถึงตอนนี้คนกลุ่มที่อยากให้แก้ 112 ก็ยังบอกกับสังคมไม่ได้อย่างเป็นกิจจะลักษณะว่า ทำไมถึงต้องแก้ 112 แก้เพราะอะไร แก้เพื่ออะไร แก้กฎหมายนี้แล้ว สังคม-ประชาชนส่วนใหญ่ได้อะไร แล้วกฎหมายหลายฉบับที่คนก็เห็นอยู่ว่าทำให้สังคมไม่ได้รับความเป็นธรรม สร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทำไมกลุ่มนิติราษฏร์ที่เป็นอาจารย์สอนกฎหมายไม่เห็นจะเคลื่อนไหวหรือสะท้อนปัญหาให้สังคมแลเห็น
หรือเพราะคิดว่าสะท้อนออกมาแล้ว คนไม่ให้ความสนใจ ไม่เป็นประเด็นข่าว กลัวไม่ดัง ไม่ตกเป็นที่สนใจของสังคม ไม่สามารถหาแนวร่วมได้ วันๆ เลยเสนอแต่แนวคิดจะแก้ 112 และเสนอแต่ข้อมูลด้านเดียว
เช่นบิดเบือนคำตัดสินคดีอากง SMS โดยไม่เสนอและพูดความจริงให้รอบด้านว่าที่มาที่ไปของคดีนี้เกิดจากอะไร ทำให้คนจำนวนมากเข้าใจผิด พ่วงไปกับการเสนอแนวคิดล้างผิดนิรโทษกรรมให้ทักษิณ ชินวัตร ผ่านการล้มล้างผลพวงรัฐประหารทุกอย่างหลัง 19 กันยายน 2549 ที่เข้าทางพวกนักการเมืองในพรรคเพื่อไทยที่โหนเอาข้อเสนอนิติราษฎร์มาเป็นเครื่องมือทางการเมืองให้กับทักษิณ
การเคลื่อนไหวของกลุ่มนิติราษฏร์ในรอบปีนี้ เชื่อว่าคงเสนอชุดความคิดแบบเดิมๆ แต่เปลี่ยนวิธีเล่นใหม่ ทั้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ -การนิรโทษกรรมล้างผิดคดีการเมืองทุกอย่างหลัง 19 ก.ย. 49 รวมถึงการเคลื่อนไหวแก้ 112
หากกลุ่มนิติราษฎร์ยังคงหลงทิศหลงทาง เสนออะไรมาโดยไม่มีเหตุผลรองรับมาอธิบายต่อสังคมกันแบบที่ทำอยู่ตอนนี้ ที่หลายคนหวั่นเกรงว่านักวิชาการกลุ่มนี้จะถูกนักการเมืองหลอกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองก็น่าหวั่นเกรงว่าอาจจะเกิดขึ้นจริง
เฉกเช่นเดียวกันกับการทำงานของ “คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ” หรือ “คอป.” ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน
ซึ่งจนถึงตอนนี้ คอป.ที่ตั้งมาหนึ่งปีกว่าตั้งแต่สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลังผ่านพ้นเหตุการณ์สลายการชุมนุม 19 พ.ค. 53 ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช้คอป.เป็นผนังพิงหลัง อ้างเรื่อง
สมานฉันท์-ปรองดอง-นิติธรรม
มาตั้งแต่วันแรกที่ตั้งรัฐบาลจนถึงตอนนี้ผ่านไปห้าเดือนกว่า แต่จนป่านนี้ก็ไม่เห็นรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะทำอะไรเป็นรูปธรรมสักอย่างที่จะนำไปสู่การปรองดอง-สมานฉันท์ นอกจากจะหาจังหวะรอแก้ไขรัฐธรรมนูญและออกกฎหมายนิรโทษกรรมโดยอ้างว่าทำแล้วประเทศจะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ ความปรองดองจะเกิดขึ้น เพียงแต่ยังไม่คิดจะขยับทำเพราะยังหาจังหวะไม่ได้ หาบันไดสร้างความชอบธรรมให้ฝ่ายตัวเองไม่เจอ
ส่วนหนึ่งก็เพราะคอป.ก็ยังไม่กล้าออกลูกเด็ดขาด เสนอแนวคิดออกมาเป็นโมเดลเลยว่าเมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์แถลงไว้ต่อที่ประชุมรัฐสภาแล้วว่ารัฐบาลมีนโยบายสร้างความสามัคคีให้กับคนในชาติและนำพาประเทศไปสู่ความปรองดองโดยยึดข้อเสนอคอป.
“ทีมข่าวการเมือง”เห็นว่า คอป.จะต้องเสนอวิธีการและแนวทางปฏิบัติให้รัฐบาลรับไปทำเลยว่า หนทางการปรองดองที่เป็นรูปธรรมคืออะไร ต้องทำอย่างไรบ้าง?
ไม่ใช่มาเลี้ยงจังหวะ ทำงานเป็นระบบราชการมากเกินไป ทั้งที่คอป.แตกต่างไปจากคณะกรรมการชุดอื่นๆ ที่ตั้งขึ้นมามากมายตามระบบราชการ เนื่องจาก คอป.ตั้งขึ้นมาใน
ภาวะพิเศษและมีภารกิจแบบเร่งด่วน
ไม่ใช่มาทำงานแบบ6 เดือนทีก็เสนอรายงานทีหนึ่ง ประเด็นไหนเป็นเรื่องร้อนก็เสนอข้อคิดเห็นทำเป็นหนังสือถึงรัฐบาล
ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องที่จะนำไปสู่ความปรองดองกลับจะยิ่งสุมไฟให้ประเทศมากขึ้นด้วยซ้ำ อย่างล่าสุดก็ทำข้อเสนอแก้มาตรา 112 ส่งถึงนายกรัฐมนตรีเมื่อ 30 ธันวาคมที่ผ่านมา
โดยหากพิจารณาข้อเสนอของคอป.ต่อเรื่องมาตรา 112 แม้คอป.จะมีความเห็นว่า
“การที่จะยกเลิกความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เสียเลยตามที่บางคนหรือบางฝ่ายเรียกร้อง น่าจะยังไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย”
แต่ในวรรคเดียวกันของข้อเสนอดังกล่าว คอป.ชี้ว่า
“แต่การที่จะคงสภาพความเป็นความผิดอาญาในลักษณะปัจจุบันโดยไม่มีทางออกใดๆ ในการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดที่เหมาะสมนั้น ก็ไม่ถูกต้องเช่นเดียวกัน เพราะจะยังคงมีการใช้หรือพยายามใช้ความผิดฐานนี้เป็นเครื่องมือทางการเมือง อันจะเป็นอุปสรรคในการสร้างความปรองดองของคนในชาติ”
จริงอยู่ว่าคอป.ในฐานะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เป็นกรณีพิเศษ บนสถานะว่าเป็นกรรมการที่เป็นกลาง ไม่ใช่ของฝ่ายเสื้อเหลือง-เสื้อแดง-ประชาธิปัตย์หรือเพื่อไทย
ข้อเสนอดังกล่าวในเรื่อง 112 ของคอป.ครั้งนี้ที่ออกมาช่วงสิ้นปี เป็นสิ่งที่สามารถเสนอได้ ทำได้ แต่เป็นเรื่องเร่งด่วน เรื่องที่ควรเสนอต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในเวลานี้หรือไม่ เป็นเรื่องที่เสนอมาแล้วทำให้สังคมเกิดความปรองดองขึ้นหรือไม่ คอป.ต้องตอบคำถามเหล่านี้
เพราะเรื่อง 112 จะเห็นได้ว่า ทั้งตัวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร -รัฐมนตรี -ส.ส.พรรคเพื่อไทยหรือแม้แต่ระดับแกนนำนปช. ที่เป็นแกนนำตัวจริงไม่ใช่แกนนำเรี่ยราด ก็ยังไม่เห็นมีใครสักคนที่พูดชัดเจนว่าเห็นด้วยกับการแก้ไข 112
เช่นเดียวกับ ฝ่ายค้าน-สมาชิกวุฒิสภา หรือหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีความผิดตามมาตรา 112 อย่าง กระทรวงยุติธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ไม่เห็นมีแม้แต่หน่วยงานเดียวบอกว่าควรแก้ไข 112
แล้ว “คอป.”ไปสาระแนอะไรด้วย ถึงกับต้องรีบร่อนข้อเสนอนี้ถึงนายกฯก่อนสิ้นปี ทำยังกับว่าข้อเสนอนี้หากรัฐบาลตอบรับหรือไม่ตอบรับจะทำให้ความปรองดองสำเร็จหรือล้มเหลวได้เลย
ยิ่งข้อเสนอที่ว่าให้แก้ไขมาตรา 112 โดยให้การสอบสวนดำเนินคดีในความผิดมาตรา 112 จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอำนาจจากเลขาธิการพระราชวัง หลายเสียงบอกตรงกันว่า ไม่น่าจะเป็นผลดีเพราะกลับจะยิ่งเป็นการดึงสถาบันให้เข้าใกล้การเมืองยิ่งขึ้นไปอีก
ทั้งรุ่นใหม่อย่างนิติราษฏร์และรุ่นใหญ่อย่างคอป.ทำงานกันแบบรับลูกส่งลูกกันแบบนี้ ก็ทำให้สงสัยไม่น้อยว่า คนที่ชอบเรียกตัวเองว่านักกฎหมาย ทำงานให้แผ่นดิน และประชาชน
หรือเป็น “เนติบริกร”รับใช้ใครกันแน่