xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” ตอก “นิติราษฎร์” ล้างผลรัฐประหาร ต้องล้างต้นเหตุด้วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วรเจตน์ ภาคีรัตน์
“วรเจตน์” ปฏิเสธ “นิติราษฎร์” ไม่เกี่ยวเสื้อแดง หวังกลับสู่ระบบก่อนรัฐประหาร “ไชยันต์” สงสัยจะดำเนินคดี “ทักษิณ” อย่างไร “คำนูณ” ชี้ต้องมององค์รวม ล้างผลรัฐประหาร ต้องล้างต้นเหตุด้วย “ส.ศิวรักษ์” ไม่ควรดึงสถาบันฯ มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง


รายการ “ตอบโจทย์” ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้เชิญวิทยากรประกอบด้วย นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา, นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม, ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ แกนนำคณะนิติราษฎร์ และ ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อแสดงความคิดเห็นกรณีข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ ที่ให้ลบล้างคดีความที่เป็นผลจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยมีพิธีกรคือ นายภิญโญ ไตรสุริยะธรรมา โดยพิธีกรเริ่มต้นจากการให้ ดร.วรเจตน์กล่าวชี้แจงถึงกรณีถูกพาดพิงว่าเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในหลายกรณี

ดร.วรเจตน์กล่าวว่า ประการแรกตนไม่เคยขึ้นเวทีของ นปช.(แนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) เลยแม้แต่ครั้งเดียว ส่วนการเบิกความช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณก็ ไม่มี ตนเคยแต่ออกแถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วยกับการยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ และภายหลังทนายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็มาอ้างถึงแถลงการณ์ของตนที่ทำออกมา ซึ่งตนไม่ได้รู้เห็นด้วย

ส่วนคำถามที่ว่านิติราษฎร์เอาเจ้า หรือไม่เอาเจ้า ดร.วรเจตน์กล่าวว่า ข้อกล่าวหาเรื่องสถาบันกษัตริย์ ทำลายคนไปมาก ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ จากแถลงการณ์ครั้งล่าสุด เราชัดเจนว่าให้มีการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ยึดตามหลักการเมื่อปีพ.ศ. 2475 ยึดการปกครองแบบประชาธิปไตยภายใต้พระมหากษัตริย์เป็นประมุข ยึดตามหลักกฎหมาย และอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน คณะนิติราษฎร์เรายืนยันการปกครองประชาธิปไตยในรัฐอาณาจักร ไม่เป็นสาธารณรัฐ มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

นายสุลักษณ์กล่าวว่า ตนอยากเตือนว่าการเอาสถาบันกษัตริย์มาเป็นเครื่องมือการเมืองนั้นอันตรายมาก เพราะจะเป็นการบั่นทอนสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนเรื่องข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ ตนเห็นด้วยบางประการ แต่ไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด เป็นความคิดของนักกฎหมายรุ่นใหม่ที่เน้นราษฎร มุ่งไปที่ราษฎร แต่กระบวนการยุติธรรมตอนนี้ไม่เป็นไปแบบนั้นเลย กระบวนการยุติธรรมต้องเน้นประชาชนเป็นใหญ่ ไม่ใช่อำมาตย์ หรือศาลเป็นใหญ่ ต้องฟังราษฎรให้มาก
ตนอยากจะชมเชยคณะนิติราษฎร์ว่ามีกึ๋น ที่หันมาหา 2475 ที่สาระ ทุกคนเท่าเทียมกันหมด เพราะกษัตริย์เป็นสมมติราษฎร์ไม่ใช่เทวราช ตอนนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือ จนจะเป็นราชาธิปไตยแบบกลายๆ ไปแล้ว

ดร.ไชยันต์กล่าวว่า ภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายนที่ตนออกมายอมรับการรัฐประหารตอนนั้น เพราะได้ยุติเงื่อนไข ที่จะนำไปสู่การนองเลือด ตอนนั้น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะชุมนุมวันที่ 20 ก.ย.ก็มีข่าวออกมามากมาย จะมีม็อบชนม็อบ จะมีมือที่สาม แล้วรัฐบาลอาจจะเข้าไปรักษาความสงบ ตอนนั้นกระแสการต่อต้านรัฐประหารเป็นรูปธรรม คนที่ไม่ชอบพ.ต.ท.ทักษิณที่ออกมาต่อต้านก็มี มีการเกิดขึ้นของหลายๆกลุ่ม คนตั้งกลุ่มที่ต่อต้านการรัฐประหาร ก็มี ถ้าคณะนิติราษฎร์ ล้างผลพวงของการรัฐประหาร แล้วทำให้กลุ่มเหล่านี้โล่งใจ ว่าที่เราต่อต้านได้ยุติแล้วนะ ก็เชื่อว่า คนเสื้อแดงที่ต่อต้านรัฐประหารที่จะอยู่ต่อก็ จะลดลง

ตนเห็นว่า ความอยุติธรรมมี 2 เรื่อง คือ เรื่องรัฐประหารที่ทำลายระบบ ความอยุติธรรมอีกอันคือ การทุจริต คอร์รัปชัน ถ้าคณะนิติราษฎร์เสนอให้ล้างรัฐประหารแล้วดำเนินคดีใหม่ ถ้าสามารถลดกระแสความขัดแย้งได้ก็ดี อยากให้ดำเนินคดีต่อได้ แต่จะไปทางไหน ถ้าประชาชนรู้สึกว่าผลของรัฐประหารก็ถูกล้างไปแล้ว แต่ยัง ไม่เห็นใครจะไปแจ้งความที่ไหน พ.ต.ท.ทักษิณก็ไม่ยอมเข้ากระบวนการยุติธรรม ใครจะไปแจ้งความ จะดำเนินคดีต่ออย่างไร

ดร.วรเจตน์กล่าวว่า เรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ต้องว่ากันที่หลักการ ถ้าเราปฏิเสธการรัฐประหาร กระบวนการทางกฎหมายควรถูกลบไป คือ ถ้ากระทำความผิดก็เข้าสู่ ระบบปกติ บังคับทุกคนให้เสมอภาคกัน ตนเห็นด้วยว่ากระบวนการยุติธรรมยังต้องปฏิรูป ต้องช่วยกันคิด ว่าทำอย่างไร ให้ทุกฝ่ายยอมรับได้ หลังจากตัดสินคดีแล้ว ก่อนอื่นต้องทำลายคำพิพากษาที่เชื่อมโยงมาจากการรัฐประหารก่อน แล้วเริ่มแจ้งความดำเนินคดี คนที่เห็นว่าเป็นความผิดก็เริ่มดำเนินคดี

“เราวาดภาพ พ.ต.ท.ทักษิณมากเกินไป แต่ภายใต้การเคารพปวงชน บางเรื่องต้องใช้เวลา เราบอกว่าใช้ระบบปกติ แล้วสร้างกลไกที่ไม่ปกติมาจัดการ ถ้าไม่เริ่มที่ระบบปกติจะแก้ปัญหาอย่างไร เราไปปักธงไม่ได้ว่าเขาผิดแน่ๆ ความผิดมีสองอย่าง คือ ผิดทางการเมือง กับผิดทางกฎหมาย เท่าที่ดูคดีที่ดินรัชดา คดียึดทรัพย์ มีปัญหาในเชิงเนื้อหาทั้งสองเรื่อง ต้องว่ากันทางกฎหมาย จริงอยู่ต้องสนใจจริยธรรม คุณธรรม แต่เกณฑ์มันคนละอย่าง ควรยึดกฎหมายเป็นใหญ่ ว่ากันไป สอบกันไป เอาผิดไม่ได้ก็ต้องไม่ผิด เอาผิดได้ก็ผิด” ดร.วรเจตน์กล่าว

ดร.ไชยันต์กล่าวว่า ถ้าจะให้ดีอยากให้ทำแมปปิ้ง (ขั้นตอนกระบวนการ) ออกมาดีกว่าว่า จะทำอย่างไร ที่ตนอยากเสนอเพิ่มเติมคือ อยากให้ดูตัวอย่างของนายโทนี แบลร์ นายกรัฐมนตรีอังฤษ ที่มีการถูกซักถามข้อสงสัยแล้วออกอากาศให้ประชาชนดูทางทีวี แม้คดีความบางเรื่องอาจจะไม่ผิดกฎหมาย แต่อยากให้ประชาชนได้รับรู้ เพราะบางเรื่องอาจจะเข้าข่ายเรื่องจริยธรรมทางการเมือง อยากให้มีเวทีสาธารณะออกอากาศไปทั่วประเทศ ทั่วโลก แค่นั้นก็พอ

นายคำนูณกล่าวว่า ความคิดของคณะนิติราษฎร์มีทั้งคนเห็นด้วย และคนไม่เห็นด้วย ตนอยากพูดว่า เราผ่านมา 5 ปี แต่ยังหยุดอยู่ที่สถานีทักษิณ สถานีรัฐประหาร อยู่มา 5 ปี คณะนิติราษฎร์เสนอแต่ล้างผลของการรัฐประหาร แต่บ้านเมืองเราไม่ได้มีแค่นั้น ต้องพูดถึงการล้างเหตุรัฐประหารด้วย ไม่ใช่อยู่ดีๆ ทหารนึกจะขึ้นมาทำ รัฐประหารก็ทำ แต่มีคนไม่พอใจระบอบทักษิณตอนนั้น ตั้งแต่ปี 2546 มีนักวิชาการบางคนเรียกระบอบทักษิณว่าเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิทุนด้วย มีความไม่พอใจระบอบผูกขาดอำนาจที่มีมาก่อนแล้ว

“ถ้าจะล้างผลรัฐประหาร ล้างเหตุด้วยดีไหม เพราะถ้ากลับไปก่อน 19 ก.ย. ตอนนั้นมันไม่ใช่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ มีความไม่พอใจที่ก่อตัวขึ้นอยู่แล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ พรรคไทยรักไทย เป็นมิติใหม่ที่พรรคการเมืองและกลุ่มทุนได้ประโยชน์ และเป็นกลุ่มเดียวที่อยู่รอดหลังจากวิกฤตในปี 2540 เป็นการเมืองที่เอาการตลาดนำ มีผลประโยชน์เชิงนโยบาย มีการทุจริตเชิงนโยบาย การบริหารประเทศไป ขณะที่อาณาจักรทางธุรกิจก็มีร่องรอยหลายประการว่าได้ประโยชน์จากนโยบายไปด้วย อย่าพูดว่าจะล้างผลจากรัฐประหารอย่างเดียว ต้องล้างเหตุด้วย เหมือนที่คณะราษฎรเคยว่าไว้ว่า อธิปไตยทางเศรษฐกิจต้องเป็นของประชาชนด้วย” นายคำนูณกล่าว

ดร.วรเจตน์กล่าวว่า ก่อนการรัฐประหาร ตนเคยเรียกร้องให้ปฏิรูปการเมือง ให้แก้รัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งรัฐบาลตอนนั้นมีทีท่าจะยอมแก้รัฐธรรมนูญด้วย แต่เกิดรัฐประหารขึ้นเสียก่อน ถ้าจะให้ลบล้างเหตุของการรัฐประหาร คงเถียงกันไม่จบ เพราะแต่ละคนให้น้ำหนักแต่ละเรื่อง แต่ละเหตุการณ์แตกต่างกัน แต่ถ้าปล่อยให้สังคม เราแก้ปัญหาโดยการหักด้ามพร้าด้วยเข่า เอาทหารมาจัดการ มันไม่ได้ เพราะการมีรัฐบาลมีฝ่ายค้านยังตรวจสอบได้ แต่การที่ทหารเข้ายึดอำนาจ เราตรวจสอบอะไร ไม่ได้เลย การคอรัปชั่นไม่มีใครชอบ วิธีการที่คณะนิติราษฎร์เสนอให้การนิรโทษกรรมเป็นโมฆะ จะสามารถเอาผิดได้ และในที่สุดก็จะไม่แก้ปัญหาแบบนี้อีก จะแก้ ปัญหาโดยระบบ ส่วนการล้างเหตุแห่งการรัฐประหาร ต้องค่อยๆ ทำ ต้องจัดการผลที่ทำให้เกิดความแตกแยกก่อน

คำนูณ สิทธิสมาน
สุลักษณ์ ศิวรักษ์
ไชยันต์ ไชยพร
กำลังโหลดความคิดเห็น