xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” ชำแหละแถลงการณ์ “นิติราษฎร์” แฝงเปลี่ยนแปลงการปกครอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คำนูณ” ชำแหละ “นิติราษฎร์” เสนอนำธรรมนูญชั่วคราว 2475 มาเป็นแนวทางร่าง รธน.ใหม่ เหตุมีเนื้อหาลดสถานะกษัตริย์ให้สภาผู้แทนฯ วินิจฉัยความผิดได้ อีกทั้งมาตรา 112 ก็จะตกไป พร้อมตั้งข้อสังเกต “ทักษิณ” ก็เคยยกย่องธรรมนูญฉบับนี้ แต่เชื่อคงไม่คิดไกลขนาดนั้น แนะหากเห็นต่างให้รีบถอย

 คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ “คนเคาะข่าว” 

วันที่ 4 ต.ค. นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.แบบสรรหา และนายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัย  ได้ร่วมพูดคุยในรายการ “คนเคาะข่าว”  ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV

โดยนายคำนูณกล่าวว่า นิติราษฎร์เขาคิดไปไกลกว่าทักษิณ และจะอุ้มทักษิณไปสู่จุดที่เขาคิด หรือเป็นภาพฝันของประเทศไทยที่เขาต้องการ ภาพฝันคือประชาธิปไตยสมบูรณ์ ซึ่งเขาเชื่อว่ามันเกิดขึ้นเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ หลังการปฏิวัติ 2475 ตนคิดว่าอ่านอาจารย์วรเจตน์ออก รู้ว่าอาจารย์คิดอะไรอยู่ เพราะเรื่องเหล่านี้ตนก็ศึกษามา

แถลงการณ์ของนิติราษฎร์ มี 4 ประเด็น 1.การลบล้างผลพวงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549  2.การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เอานี้พ่วงเข้ามามันมีเหตุ  3.กระบวนการยุติธรรมกับผู้ต้องหาและการเยียวยา  4.การยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 แล้วจัดทำขึ้นใหม่ ถ้าพ.ต.ท.ทักษิณรู้ว่าสิ่งที่เขาเสนอมาเป็นประโยชน์แก่ตัวเอง แต่ถ้าไม่ได้คิดไปไกลอย่างที่นิติราษฎร์คิด ต้องรีบถอย เพราะมันอันตราย

ก่อนหน้านี้เสื้อแดงร้อยทั้งร้อยบอกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ดีที่สุด แต่แถลงการณ์ของนิติราษฎร์ในประเด็นที่ 4 การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ข้อ 2 ระบุว่า “คณะนิติราษฎร์เห็นว่ารัฐธรรมนูญที่ควรนำมาเป็นต้นแบบในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ สมควรเป็น 1.พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวพุทธศักราช 2475 2.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามพุทธศักราช 2475 และ 3.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2489” และบอกว่า “อาจนำรัฐธรรมนูญ 2540 ในส่วนของการประกันสิทธิและเสรีภาพ ตลอดจนโครงสร้างสถาบันทางการเมืองและองค์กรทางรัฐธรรมนูญเท่าที่สอดคล้องกับพัฒนาการในยุคร่วมสมัยมาเป็นแนวทางในการยกร่าง” แสดงว่านิติราษฎร์ลดค่าของรัฐธรรมนูญ 2540 เหลือแค่อาจนำมาใช้และนำมาใช้แค่บางส่วน  

นายคำนูณกล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญ 3 ฉบับที่นิติราษฎร์จะนำมาใช้เป็นต้นแบบ เป็นของคณะราษฎรทั้ง 3 ฉบับ ตนเห็นว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งที่จำเป็นต้องพูด คือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ซึ่งบังคับใช้อยู่เพียง 5 เดือนเศษ

“ประเด็นสำคัญ คือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีรากฐานมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือราชอาณาจักรสยามทุกฉบับ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับถาวร 10 ธันวาคม 2475 เป็นต้นมา โดยมาตรา 8 ระบุว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้”  อันนี้คือคุ้มครองทั้งสถาบันกษัตริย์ และองค์กษัตริย์ เมื่อมีรัฐธรรมนูญมาตรา 8 จึงเป็นที่มาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 สมมติไม่มีรัฐธรรมนูญมาตรา 8 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็ไม่มีฐานรองรับ” นายคำนูณกล่าว

นายคำนูณกล่าวอีกว่า พระราชบัญญัติธรรมนูญชั่วคราวพุทธศักราช 2475 ไม่มีมาตรา 8 แต่มีมาตรา 6 บอกว่า “กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาชญายังโรงศาลไม่ได้ เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย” แตกต่างจากมาตรา 8 ตนไม่ได้บอกว่าคณะนิติราษฎร์จะคิดให้เป็นอย่างนี้ แต่การที่หยิบยกธรรมนูญชั่วคราว 2475 ขึ้นมา ตนมีสิทธิ์ตั้งคำถามใช่หรือไม่

นอกจากนั้น พ.ต.ท.ทักษิณก็เคยพูดเกี่ยวกับธรรมนูญชั่วคราวนี้ด้วย ท่านจะฟังจากใคร หรือใครชงเรื่องให้พูดไม่ทราบ หรือเห็นแต่เพียงผิวเผินแล้วมาพูดตนก็ไม่ทราบ พ.ต.ท.ทักษิณเคยพูดผ่านทางวิดีโอลิงก์มายังการชุมนุม นปช.เมื่อวันที่ 10  ธันวาคม 2552 โดยพูดว่า

“เรามีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 แต่ก่อนหน้านั้นเรามีธรรมนูญการปกครองฉบับชั่วคราว ซึ่งมีมาตรา 1 บอกว่าอำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย เป็นสิ่งที่สวยงามมาก”

ต่อมา พ.ต.ท.ทักษิณบอกอีกครั้งว่า “วันนี้เรารำลึกประชาธิปไตยที่เรามีรัฐธรรมนูญถาวร แต่ความจริงแล้วมาตรา 1 ของฉบับชั่วคราว เป็นไปตามหลักสากลทั่วโลกเพราะให้อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย”

 และพูดถึงครั้งที่ 3 ว่า “เอารัฐธรรมนูญ 2540 กลับมา 50 เอาไปเลย ใครจะเอาไปไหนก็เอาไป แต่เอา 40 กลับมา แล้วมาแก้ไขจาก 40 เพื่อให้ 40 ของเรานั้น เป็น 40 ที่อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฎรทั้งหลายเสียที”

พูดถึง 3 ครั้ง 3 หน เอ่ยถึงมาตรา 1 ของธรรมนูญการปกครองชั่วคราว 2475 ซึ่งมันเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไม่มีข้อความเฉลิมพระเกียรติอะไรมากมายนัก มาตรา 1 อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย แค่นั้นจบ ไม่มีพระมหากษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับถัดมา จนกระทั่งปัจจุบันที่ปรากฎในมาตรา 3 มีการระบุว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”

นายคำนูณกล่าวว่า การที่นิติราษฎร์ยกธรรมนูญชั่วคราวมาคือนัยสำคัญที่ตนมองเห็น ขอถามว่าเพื่อไทยได้อ่านแถลงการณ์ครบถ้วนแล้วหรือยัง

อีกอย่าง ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เคยมีข้อเสนอให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 8 โดยให้เพิ่มมาตราในลักษณะเดียวกับธรรมนูญชั่วคราว 27 มิถุนายน 2475 ตนคิดมากไปหรือเปล่า แต่นี่เป็นร่องรอยความคิดของนักวิชาการกลุ่มหนึ่งในสังคมไทยที่ก้าวไกลไปเกิน พ.ต.ท.ทักษิณแล้ว และกำลังจะดึง พ.ต.ท.ทักษิณไปด้วย แม้ตนจะเชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะไม่ได้คิดแบบนี้ แต่พอพ่วงกันไปพ่วงกันมาไม่รู้ท่านทราบหรือเปล่าว่าจะพากันไปถึงไหน



กำลังโหลดความคิดเห็น