xs
xsm
sm
md
lg

“พิชาย” ชี้ญาติ “แม้ว” เมินลงชื่อขออภัยโทษเหตุรู้ดีแค่กดดันสถาบันฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คมสัน” ชี้ชัด แดงล่าชื่อขออภัยโทษผิดขั้นตอน ไม่มีชื่อญาติ แถมยื่นสำนักพระราชวัง ทั้งๆ ที่กฎหมายให้ยื่นที่ รมว.ยุติธรรม ด้าน “พิชาย” ตั้งข้อสังเกตเครือญาติ “ทักษิณ” เมินร่วมลงนามอาจเพราะรู้ทันเสื้อแดงว่าแค่กระบวนการกดดันสถาบันฯ ไม่ได้ช่วยนักโทษชายกลับบ้านจริง พร้อมฝากถึง “ประชา” มีศักดิ์ศรีเพียงพอ อย่าเสนอเรื่องขึ้นไป

 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายการ “คนเคาะข่าว”  

วันที่ 6 ก.ย. เมื่อเวลา 20.30 น. นายคมสัน โพธิ์คง รองอธิการบดี ม.สุโขทัยธรรมาธิราช และนายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองคณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมพูดคุยในรายการ “คนเคาะข่าว” โดยนายคมสันกล่าวถึงกรณีขอพระราชทานอภัยโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่เป็นประเด็นขึ้นมาอีกว่า ไม่น่าใช่เรื่องของกรมราชทัณฑ์เสนอเอง เพราะดูกฎหมายแล้วไม่มีช่องที่จะให้กรมราชทัณฑ์เสนอเอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับการพระราช ทานอภัยโทษ จะพบว่าการที่จะขอเสนอพระราชทานอภัยโทษมี 2 ช่องทาง 3 วิธี ช่องทางแรกเป็นเรื่องของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้แนะนำทูลเกล้าฯ ถวายคำแนะนำแด่พระมหากษัตริย์ ในการให้พระราชทานอภัยโทษ ซึ่งมีสองวิธี ที่จะทำได้ คือ 1.ผู้ต้องโทษขอเอง 2.ผู้เกี่ยวข้องขอ ซึ่งโดยทั่วไปผู้เกี่ยวข้องก็คือเครือญาติ

ช่องทางที่ 2 คณะรัฐมนตรีถวายคำแนะนำ ตามหลักการของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 261 ทวิ ซึ่งแก้ไขเมื่อปี 2517 ก็วางหลักการว่าการขอพระราชทานอภัยโทษโดยที่คณะรัฐมนตรีถวายคำแนะนำอาจต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งทั่วไปเวลาออกจะเป็นช่วงวาระสำคัญต่างๆ ครั้งหลังสุดก็เป็นพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษเมื่อ พ.ศ. 2550 แบบนี้เขาจะไม่ขอให้พระราชทานอภัยโทษเป็นรายบุคคล และพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2550 ตามมาตรา 4 ระบุด้วยว่าบุคคลนั้นต้องจำโทษอยู่ หรือต้องอยู่ในการควบคุมของราชการ

เกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีเสนอใหญ่กว่าที่รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมเสนอซะอีก ซึ่งหมายความว่าเกณฑ์เหล่านี้มันเป็นมาตรฐานพอสมควรในวิธีการพิจารณา ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิม บอกว่าพระราชกฤษฎีกาไม่ใหญ่กว่าพระราชกำหนด ก็เป็นสิ่งที่ถูก แต่บังเอิญมันเป็นเกณฑ์ที่วางทั่วไป เป็นมาตรฐาน ถ้าจะไม่ใช้ตามเกณฑ์พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2550 ต้องตอบคำถามสังคมให้ได้

นายคมสันกล่าวอีกว่า โดยทั่วไปการเสนอคำแนะนำ เราถือหลักอันหนึ่งคือพระมหากษัตริย์ทรงปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง หมายความว่าการกระทำทั้งหลายที่กระทำในนามพระประมุข ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการณ์ เสนออะไรไปไม่ใช่พระราชอำนาจโดยอิสระ แต่ผู้รับสนองต้องรับผิดชอบ ถ้าผิดหลักเกณฑ์กฎหมายผู้รับสนองต้องรับผิดชอบ ร.ต.อ.เฉลิมพูดอะไรก็แล้วแต่คนเสนอ ถ้ามันขัดต่อกฎหมาย การเสนออภัยโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็เป็นรายกรณีพิเศษ ซึ่งทางกฎหมายไม่ให้ทำ

รศ.ดร.พิชายกล่าวว่า ร.ต.อ.เฉลิมบอกว่า กฎหมายไม่ได้ห้าม ความจริงกฎหมายไม่ได้ห้ามตั้งหลายอย่าง เช่น ไม่ได้ห้ามให้ ส.ส.พูดภาษาอังกฤษในสภาไทย ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็ไม่พูดกัน มีแต่คนที่มีความรู้ภาษาอังกฤษงูๆ ปลาๆ เท่านั้นที่อยากจะพูด ในหลายอย่างไม่ได้ห้าม แต่คนที่มีอารยะ มีสามัญสำนึกรู้ว่าอะไรควรไม่ควร รู้จารีตประเพณี ก็ไม่ทำ อย่างการพระราชทานอภัยโทษตามจารีตประเพณีที่เราทำมาแต่อดีต คนคนนั้นต้องติดคุกมาก่อน มีความสำนึกในความผิด

นายคมสันกล่าวว่า เรื่องขออภัยโทษเป็นเรื่องที่คนเสื้อแดงยื่นมาโดยไม่ได้ผ่านกระบวนการ เขาก็ส่งกลับไปที่กรมราชทัณฑ์เพื่อตรวจสอบ และขึ้นอยู่กับว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจะเสนอคำแนะนำหรือไม่

“อยากติงคำพูดที่ว่า ไม่มีกฎหมายห้าม คำนี้ทำคนติดคุกมาแล้ว อย่างกรณีอดีต กกต.ที่เคยพูดว่าการหันคูหาออกไม่มีข้อกฎหมายห้าม ต้องระวังคำพูด โดยชื่อที่ยื่นเข้ามาตรวจสอบแล้วไม่มีผู้ที่เกี่ยวข้อง ก็เท่ากับไม่มีประโยชน์”

รศ.ดร.พิชายกล่าวว่า ประเด็นที่ไม่มีผู้เกี่ยวข้องร่วมลงชื่ออันนี้น่าสนใจ ทั้งลูก ภรรยา น้องชาย อย่างนายพายัพ ถ้ารัก พ.ต.ท.ทักษิณจริงก็น่าจะลงนามแบบเสื้อแดง คิดว่าเขาคงรู้กฎหมายอยู่บ้าง น่าประหลาดใจว่าอยากให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาจริงหรือเปล่า เพราะหากอยู่ต่างประเทศ จะทำให้บทบาทของพวกเขาในเมืองไทยสำคัญมากขึ้น เป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างทักษิณกับบรรดาลิ่วล้อ เหมือนกับว่าตัวเองมีความสำคัญ

นายคมสันกล่าวว่า การลงชื่อเป็นการแสดงตัวตน กรณีที่เครือญาติไม่ลงชื่อ เขาอาจไม่ได้มีเจตจำนงยื่นก็ได้ ทีนี้ประเด็นก็จะกลับมาที่มาตรา 359 ของประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ผู้ต้องคำพิพากษา หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ถ้าจะทูลเกล้าฯ ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์ขอพระราชทานอภัยโทษ จะยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็ได้ ซึ่งปรากฎว่าเขาไม่ได้ยื่นต่อกระทรวงยุติธรรม แต่ไปยื่นที่สำนักพระราชวัง สำนักพระราชวังก็ส่งกลับมาที่กรมราชทัณฑ์ การยื่นแบบนี้มันก็มีปัญหาว่าเขาไม่ได้ยื่นที่ที่ควรยื่น ตอนนี้กระบวนการที่ทำไม่เป็นไปตามกฎหมาย คนเกี่ยวข้องก็พูดไม่ออก เพราะเอาคนจำนวนมากเป็นตัวตั้ง หากปฏิเสธที่จะรับเอาไว้หน่วยงานนั้นๆก็อาจไม่ปลอดภัย

รศ.ดร.พิชายกล่าวว่า เจตนาจริงๆคงไม่ได้ต้องการให้ พ.ต.ท.ทักษิณได้อภัยโทษ ถึงไม่เป็นไปตามกระบวนการที่ควรจะเป็น ด้านหนึ่งต้องการสร้างภาพข่าวให้กว้างขวาง อีกด้านหนึ่งอาจหวังผลทางการเมือง ในแง่ของความต้องการกดดันสถาบันฯ ทีนี้ทางญาติพี่น้องอาจรู้แกวว่าไม่ได้ให้ พ.ต.ท.ทักษิณพ้นโทษจริงๆ แต่ทำเพื่อสร้างภาพทางการเมือง และใช้มวลชนกดดันสถาบันฯ

นายคมสันกล่าวเสริมว่า ก็มองเช่นนั้นได้ เพราะขณะนี้ก็มีความท้าทาย กดดันสถาบันฯอยู่บ่อยๆ ที่สำคัญขณะนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยังไม่สามารถเสนอเรื่องขออภัยโทษได้ เพราะชื่อที่ลงมาไม่มีผู้เกี่ยวข้อง แสดงว่าการยื่นได้จบสิ้นไปแล้ว ถ้าจะทำต้องทำใหม่ ซึ่งให้ผู้เกี่ยวข้องคนเดียวลงนามก็ได้ไม่ต้องมาเป็นแสน

รศ.ดร.พิชายกล่าวว่า ดูแล้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนนี้ (พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก) เป็นถึง พล.ต.อ. น่าจะรู้ประเพณีเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะถูกข่มขู่อย่างไรก็ไม่น่าจะทำตาม น่าจะรู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร หากถูกกดดันมากๆ มีศักดิ์ศรีพอ ก็ต้องลาออกจากตำแหน่ง



กำลังโหลดความคิดเห็น