xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการไม่เชื่อ “เหลิม” ไม่แก้ รธน.ช่วย “แม้ว” ซัดพลิกลิ้นตลอด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดี(แฟ้มภาพ)
“อดีต ส.ส.ร.” ไม่เชื่อคำ “เป็ดเหลิม” แถแก้รัฐธรรมนูญไม่ช่วย “นช.แม้ว” เหตุนักการเมืองพลิกลิ้นตลอด ชี้แนวแก้กฎหมายสูงสุดยังเห็นต่างหลายทาง เชื่อไม่ฟอกผิดให้อดีตนายกฯ ยกอดีตศาลยืนยันอำนาจคณะปฏิวัติ แนะตั้งกรรมการ 3 ชุดปฏิรูปทั้งระบบ แก้การเมืองน้ำเน่า

วันนี้ (24 ส.ค.) นายคมสัน โพธิ์คง อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ฉบับปี 2550 กล่าวสนับสนุน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 309 ที่กล่าวถึงการรับรองการกระทำของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ว่าจะไม่ถือว่าเป็นการนิรโทษกรรมให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม ในความเห็นทางกฎหมายต่อเรื่องนี้ยังคงมีแนวคิดที่แบ่งออกเป็นหลายฝ่าย คือ ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าหากแก้มาตรา 309 การสอบสวนในส่วนขององค์กรตรวจสอบ คือ คตส.นั้นถือว่าไม่เคยเกิดขึ้น ขณะที่บางฝ่ายก็เห็นว่าแม้จะยกเลิกมาตรา 309 ออกไป แต่ยังถือว่าคำสั่งที่มาจาก คมช.คงมีอยู่ เพราะช่วงของการยึดอำนาจนั้น คมช.ถือว่าเป็นผู้ที่มีอำนาจรัฐสูงสุด ซึ่งเรื่องดังกล่าวศาลเคยยืนยันว่าคำสั่งคณะปฏิวัติมีฐานะตามกฎหมายไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แม้ว่าจะมีการยกเลิก อำนาจก็จะยังไม่เสียไป รวมทั้งยังมีผู้เห็นว่า มาตรา 309 ซึ่งเป็นการรับรองการกระทำของ คมช.และ คตส. หากมีการยกเลิกไป ก็เท่ากับว่าไม่มีกฎหมายใดรองรับการกระทำ ก็ถือว่าการกระทำที่ผ่านมาเป็นการใช้อำนาจที่ขัดต่อนิติรัฐ ดังนั้นการยกเลิกไปจะสามารถคืนสู่สถานะที่ไม่มี คตส.และไม่เคยมี คมช.เกิดขึ้น

“มาตรา 309 ที่เกี่ยวโยงกับความผิดของ พ.ต.ท.ทักษิณสามารถตีความได้สองแบบ ซึ่งจะตีความออกมาในลักษณะใดก็ขึ้นอยู่ที่ศาล แต่หากจำได้ในคดียึดทรัพย์ของครอบครัวชินวัตร ศาลฎีกาได้มีการพิพากษารับรองสถานะของ คตส.ว่ามีความชอบตามกฎหมาย ซึ่งสิ่งที่ ร.ต.อ.เฉลิมพูดว่าไม่ใช่เป็นการแก้ไขปัญหาให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ถือเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ไม่มีความน่าเชื่อถือ เพราะนักการเมืองมีการพลิกลิ้นได้ตลอดเวลา” นายคมสันระบุ

นายคมสันกล่าวต่อว่า ส่วนตัวเห็นว่าความผิดของ พ.ต.ท.ทักษิณนั้นยังคงมีอยู่ แม้ว่าจะมีการยกเลิกมาตรา 309 ออกไป เพราะการตรวจสอบคดีความของ พ.ต.ท.ทักษิณสมัยนั้นได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 40 รวมถึงกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่วน คตส.เป็นเพียงองค์กรที่ตั้งขึ้นเพื่อการสอบสวนเท่านั้น แม้จะยกเลิก คตส.ไป ความผิดของ พ.ต.ท.ทักษิณก็ยังคงอยู่ และที่ผ่านมาการตัดสินคดีความต่างๆ ของศาลฎีกาจะมีผลผูกพันกับการสอบสวน แต่ไม่ได้ยึดกระบวนการสอบสวน เพราะถือว่ากระบวนการสอบสวนแม้จะมาโดยไม่ชอบ ก็เป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริง ดังนั้นที่ผ่านมาศาลไม่เคยเพิกถอนการสอบสวน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ ร.ต.อ.เฉลิมระบุว่าอาจจะตั้ง ส.ส.ร. 3 โดยการเลือกตั้งตัวแทนจาก 77 จังหวัด และนักวิชาการด้านกฎหมาย 22 คน รวมเป็น 99 คนนั้น นายคมสัน กล่าวว่า โดยหลักการการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทั้งนี้ ตนมีคำถามว่า การให้ประชาชนมีส่วนร่วมจะจำกัดเฉพาะการเลือกตั้งเท่านั้นใช่หรือไม่ ซึ่งในทฤษฎีการมีส่วนร่วมของประชาชนมีหลายหลากรูปแบบ ส่วนวิธีการได้มาของ ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งนั้นมีความเสี่ยงที่จะถูกบิดเบือนเจตนารมณ์ เช่น มีการซื้อเสียง บล็อกโหวต เป็นต้น โดยส่วนตัวมองว่า บุคคลที่จะมาร่วมยกร่างต้องเป็นคนที่มีความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญ และมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ซึ่งหากได้ ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเป็นคนที่ไม่มีความรู้ด้านรัฐธรรมนูญ อาจจะถูกตั้งคำถามว่าเป็นการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมือง ที่ผ่านมามีกลุ่มนักวิชาการด้านกฎหมายเคยหารือเกี่ยวกับปฏิรูปประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ เช่น เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เบื้องต้นอาจให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 3 คณะ คือ 1.กรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2.กรรมการปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคม กระบวนการยุติธรรม และ 3.กรรมการปฏิรูประบบบริหารราชการ
กำลังโหลดความคิดเห็น