xs
xsm
sm
md
lg

วงเสวนาสิทธิ์ ชี้ กกต.พลาดหนัก รับปรองดองริบหรี่ แนะเพิ่มอำนาจ คอป.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อนุ กมธ.สิทธิ์ วุฒิฯ เสวนาเลือกตั้ง 54 ผลกระทบสิทธิมนุษยชน ปธ.พีเน็ต จี้ กกต.ปรับปรุงตัว ด้าน กก.สิทธิ์ รับการเมืองในสภายังเชื่อถือไม่ได้ เหตุยึดแต่พวกตน ยันแก้ รธน.ชาวบ้านไม่ได้ประโยชน์ ชู ประชาชนตื่นตัว เสนอนโยบายรัฐ-ฮิวแมนไรท์วอทช์ รับสังคมปรองดองริบหรี่ เหตุนักการเมืองตอกลิ่มขัดแย้ง แนะเพิ่มอำนาจ คอป.ซัดสังคมขาดขันติธรรม-รองอธิการ มสธ.ชี้ กกต.ชนวนปัญหา ทำผิดพลาด

วันนี้ (6 ก.ย.) ที่รัฐสภา คณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษา ติดตามตรวจสอบและส่งเสริมการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ได้จัดการเสวนาในหัวข้อเรื่อง “วิเคราะห์เลือกตั้ง 54...ผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน” โดยผู้เข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พล.อ.สายหยุด เกิดผล ประธานมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย นายสุนัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ และ นายคมสัน โพธิ์คง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

โดย พล.อ.สายหยุด กล่าวว่า การจัดการเลือกตั้งที่ผ่านมา ถือว่าเป็นไปอย่างเรียบร้อย แต่ในเชิงลึกแล้ว ยังพบว่า มีการข่มขู่ คุกคาม และสังหาร รวมถึงการใช้เงินซื้อเสียงอยู่ ดังนั้น ตนมองว่า กกต.ในฐานะที่ดูแลการเลือกตั้ง ควรจะแก้ไขปรับปรุงในหลายๆ ด้าน อาทิ การใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งมากเกินความจำเป็น และทำให้สูญเสียงบประมาณโดยใช่เหตุ การตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ถือว่ามีความบกพร่อง การสนับสนุนร่วมมือของเอกชนที่มาให้ความรู้แก่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งยังน้อย ซึ่งตามความเห็นส่วนตัวมองว่าการเมืองภาคประชาชน และนักการเมือง ยังไม่มีความสมดุล เพราะภาคประชาชนนั้นยังมีความอ่อนแอ ทั้งที่รัฐธรรมนูญได้ให้ความสำคัญ และระบุว่า รัฐบาลต้องมีส่วนสนับสนุน ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ กกต.ต้องทำหน้าที่

“การเลือกตั้งที่ผ่านมา แม้ประชาชนที่เป็นกลางทางการเมืองจะยอมรับผลการเลือกตั้ง แต่ประชาชนต้องช่วยกันติดตาม ตรวจสอบ ทักท้วงการทำงานของรัฐบาลเพื่อทำให้การบริหารของรัฐบาลได้ทำเพื่อประโยชน์ประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นการบริหารเพื่อญาติพี่น้อง หรือเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง” พล.อ.สายหยุด กล่าว

ด้าน นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า ในหลักกฎหมายตามระบอบประชาธิปไตยสิ่งมีความสำคัญ คือ ความชอบธรรมของผู้ที่มาเป็นตัวแทน ส.ส.นายกฯ และคณะรัฐมนตรี โดยความชอบธรรมดังกล่าวต้องมาจากกระบวนการที่เป็นการยินยอมของประชาชน ขณะนี้มีความเข้าใจผิดในเรื่องการปกครองในระบอบประชาธิปไตยว่าเป็นการปกครองโดยเสียงข้างมาก ทั้งที่ข้อเท็จจริงแล้วการปกครองในระบอบประชาธิปไตยคือ มติของปวงชนเป็นใหญ่ ไม่ใช่การปกครองโดยเสียงข้างมาก หากปกครองด้วยเสียงข้างมากจะกลายเป็นเผด็จการในระบอบรัฐสภาได้ อีกทั้งในการปกครองต้องเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน คือ ยอมรับเสียงข้างมาก และรับฟังเสียงข้างน้อย ส่วนกระบวนการร่างกฎหมายในปัจจุบันถูกกำหนดขึ้นโดยนักการเมือง เพื่อผลประโยชน์ของนักการเมือง ทำให้ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังนั้นผู้ที่รับผิดชอบในการร่างกฎหมายต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย แต่การเมืองในระบบรัฐสภาปัจจุบัน ยังไม่สามารถเชื่อถือได้ เพราะเป็นการเมืองที่ยึดถือเฉพาะกลุ่มก้อนของตนเอง ดังนั้นตนมองว่า กกต. ซึ่งเป็นองค์กรที่มาของนักการเมือง จะปฏิเสธความรับผิดชอบที่กระตุ้นเตือนให้รู้ว่ากฎหมายที่ออกมาต้องเป็นกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิของประชาชน ประชาชนต้องเป็นเจ้าของกฎหมาย องค์กรการเลือกตั้งต้องทำงานร่วมกับประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้รู้ว่าเขามีสิทธิ์รับรู้ข้อมูลข่าวสาร มีส่วนในการตัดสินใจ ไม่ใช่แค่ใช้เป็นเครื่องมือให้มาเดินรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

“ขณะนี้ต้องยอมรับว่าสังคมไทยมีปัญหา เพราะความขัดแย้ง ความรุนแรง ความไม่ลงลอยกัน โดย 4-5 ปีที่ผ่านมา การขับเคลื่อนการเมืองภาคประชาชนนั้น เป็นประเด็นของการต่อสู้ แย่งชิงอำนาจของกลุ่ม และเพื่อผลประโยชน์ในพื้นที่” นพ.นิรันดร์ ระบุ

สำหรับประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า ตนมองว่า ไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน เพราะว่าสังคมนั้นเต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่างประชาชนที่ถูกเหลื่อมล้ำ และการเมืองที่คิดแต่การเข้าสู่อำนาจ เช่นเดียวกับกรณีการละเมิดและคุกคามผู้สื่อข่าวช่อง 7 ที่อาจกระทบต่อการแสดงออกขั้นพื้นฐานของประชาชนได้ อย่างไรก็ตาม ตนมองว่า หากจะสร้างแนวร่วมเรื่องสิทธิ์ เช่น การเปลี่ยนบริบทการเมืองของประชาชนมากกว่าการชุมนุม แต่ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย กฎหมายที่เอื้อต่อภาคประชาชนในฐานะที่เป็นกรรมการสิทธิฯ บอกได้ว่า ประชาชนตื่นตัวแล้ว คือ การเมืองภาคประชาชนไม่ใช่แค่การชุมนุมคัดค้านประท้วง แต่ได้เข้าสู่การนำเสนอเชิงนโยบายและการตรวจสอบภาครัฐแล้ว

ขณะที่ นายสุนัย กล่าวว่า รัฐบาลชุดใหม่ ยังไม่มีนโยบายที่ตอบโจทย์ด้านสิทธิมนุษยชน เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าเกิดปัญหาความแตกแยกและการแข่งขันทางการเมืองสูง ซึ่งจนถึงขณะนี้สังคมยังคงมีความ หวาดระแวง เพราะรัฐบาลไม่ได้ชี้แจงถึงมูลเหตุ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง ทำให้แต่ละฝ่ายคิดไปเองว่าฝ่ายตนเองเป็นฝ่ายถูก และอีกฝ่ายเป็นฝ่ายผิด ถึงแม้ว่าทางการเมือง พรรคเพื่อไทยจะได้ผู้ชนะแต่ความเกลียดชังยังมีอยู่และนับวันยิ่งฝังรากลึก เพราะถูกตอกย้ำโดยนักการเมือง ซึ่งเห็นได้จากการปราศรัยหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง และการอภิปรายนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ยังคงวนเวียนเรื่องของความขัดแย้ง ทำให้ความปรองดองที่สังคมต้องการนั้นริบหรี่เต็มทน ส่วนกรณีที่รัฐบาลโยนประเด็นการหาข้อเท็จจริงไปให้ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เป็นผู้ดำเนินการนั้น แต่ที่ผ่านมา คอป.ได้พูดเสมอว่าไม่มีอำนาจแม้แต่จะออกหนังสือเรียกชี้แจง ดังนั้นประเด็นนี้รัฐบาลควรให้ความสำคัญหากจะทำความจริงให้ปรากฏแล้ว ต้องออกมติ ครม.เพื่อเพิ่มอำนาจให้กับ คอป.ในการออกหมายเรียกบุคคลมาให้ข้อมูล รวมถึงจัดให้มีสำนักงานเลขาธิการเป็นในส่วนของ คอป.เอง

“รัฐบาลใหม่ควรประกาศเป็นวาระแห่งชาติ การตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชน อย่างเต็มที่และดำเนินผลหลังจากที่ได้ตรวจสอบ ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหา เช่น คนร้องเรียนไม่สามารถอยู่ในพื้นที่ เพราะเป็นเจ้าหน้าที่มีอำนาจให้คุณให้โทษ ประเด็นนี้สำคัญ แต่การเลือกตั้งกลับละเลย และทำให้สถานการณ์เลวร้าย สับสน เหตุที่สังคมมีปัญหามาก เป็นเพราะว่าขาดขันติธรรม และการยอมรับความแตกต่าง” นายสุนัย กล่าว

นายคมสัน ในฐานะสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 และ 50 กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการบังคบใช้กฎหมายมาโดยตลอด เพราะกฎหมายถูกนำไปตีความอย่างบิดเบือน รวมถึงองค์กรที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายนั้นละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งความเห็นส่วนตัวมองว่า กกต.เป็นชนวนปัญหาความขัดแย้ง และแตกแยกของสังคมในยุคปัจจุบัน เนื่องจาก กกต.ที่เปรียบเหมือนประตูสู่การเมืองไม่สามารถใช้อำนาจได้อย่างแท้จริง โดยในหลักการนั้นถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ อาทิ 1.การที่ กกต.วินิจฉัยในอำนาจตัวเองว่าสามารถสอบสวนได้เพียงเรื่องที่ได้รับการร้องเรียนเท่านั้น ทั้งที่มีหลายเหตุการณ์ปรากฎชัดผ่านสื่อมวลชนแต่ก็ไม่ได้ดำเนินการ ซึ่งการปล่อยปละละเลยดังกล่าว ทำให้เกิดความโต้แย้งและการปะทะระหว่างคน 2 กลุ่ม และนัการเมือง 2.การตีความคุณสมบัติผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งที่มีปัญหามากและเป็นความผิดพลาดที่ไม่น่าให้อภัย โดยเฉพาะกรณีของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ทั้งที่มีเวลาและข้อมูลมากพอ แต่กลับเลือกที่จะปล่อยผ่านไปก่อนแล้วสอยทีหลัง ซึ่งตามหลักการของรัฐธรรมนูญ กกต.ไม่มีอำนาจหลังวันลงคะแนนเลือกตั้งไปแล้ว

นายคมสัน กล่าวอีกว่า 3.กกต.ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์นโยบายการหาเสียงของพรรคการเมือง ทำให้มีการใช้นโยบายประชานิยม ในลักษณะให้ทรัพย์ หรือแจกแบบให้เปล่ามากมาย ซึ่งในความเห็นตนถือเป็นการซื้อเสียงชัดเจน 4.การตีความสิทธิ์เลือกตั้งประชาชนที่ใช้สิทธิ์เลือกตั้งนอกเขต ทำให้มีผู้เสียสิทธิ์จำนวนกว่า 2 ล้านคน ถือเป็นปัญหาที่ร้ายแรง และหากให้องค์กรที่มีหน้าที่วินิจฉัย จะถือว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นโมฆะ เพราะสิทธิ์ผู้เลือกตั้งที่เสียไป 2 ล้านคนนั้น เท่ากับ 5 เปอร์เซ็นต์ของการเลือกตั้ง ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ และความชอบธรรมในการเลือกตั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น