xs
xsm
sm
md
lg

คณะนิติราษฎร์ รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม 2555 ??!

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน / หน้ากระดานเรียงห้า

เห็นแถลงการณ์คณะนิติราษฎร์เนื่องในโอกาสครบ 5 ปีรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และการดาหน้าออกมาสนับสนุนเห็นด้วยของคนพรรคเพื่อไทยแล้วใช่ไหม ผมเห็นแล้วก็เชื่อว่ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะเริ่มต้นนับ 1 ตั้งแต่ปลายปีนี้ต่อต้นปีหน้าจะเป็นการเริ่มต้นจุดชนวนความขัดแย้งรอบใหม่ที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิม และคุณทักษิณ ชินวัตรจะยังไม่กลับมาเมืองไทยเร็ว ๆ นี้แน่นอน

ก่อนหน้านี้มีการพูดถึงเรื่อง “นิรโทษกรรม” และ “ พระราชทานอภัยโทษ” ให้พี่ชายนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน แต่คณะนิติราษฎร์ไปไกลกว่า คือให้ประกาศว่าเรื่องอะไรก็ตามที่เริ่มต้นจากกรณี 19 กันยายน 2549
 
“เสียเปล่า, ไม่เคยเกิดขึ้น และไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย”

ไม่ใช่ให้ประกาศเฉย ๆ ลอย ๆ แต่ให้นำไปจัดทำเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ

กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็เช่นกัน ก่อนหน้านี้คนพรรคเพื่อไทยให้ใช้รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นตัวตั้ง หรือไม่ก็ให้เอามาใช้แทนเลย แต่คณะนิติราษฎร์ไปไกลกว่าอีกเช่นกัน โดยให้ค่ารัฐธรรมนูญ 2540 ไว้จำกัดจำเขี่ยมาก เพราะให้ย้อนไปดึงเอารัฐธรรมนูญของ “คณะราษฎร” คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 มาเป็นต้นแบบกันเลยทีเดียว เริ่มต้นตั้งแต่ “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475” ตามมาด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 นี่เป็นหลักการใหม่ที่คนพรรคเพื่อไทยยังไม่เคยพูดชัดเจนมาก่อน
มาดูข้อความในแถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ประเด็นที่ 4 ข้อ 2 กันทุกตัวอักษรนะ

“...เห็นว่ารัฐธรรมนูญที่จะนำมาใช้เป็นต้นแบบในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่สมควรเป็นพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 และอาจนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ในส่วนของการประกันสิทธิและเสรีภาพตลอดจนโครงสร้างสถาบันการเมืองและองค์กรทางรัฐธรรมนูญเท่าที่สอดคล้องกับพัฒนาการในยุคร่วมสมัยมาเป็นแนวทางในการยกร่าง”

เห็นมั้ยครับว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ถูกลดคุณค่าไปแค่ “อาจนำ” มาร่วมพิจารณาเฉพาะส่วนโครงสร้างสถาบันทางการเมืองและองค์กรทางรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่ใช่ปรัชญาและแนวทางหลัก

แล้วพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 หรือที่ผมขอเรียก ณ ที่นี้ว่ารัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 มีอะไรโดดเด่นเป็นพิเศษหรือ ?

ความโดดเด่นเป็นพิเศษคือเป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้น 3 วันหลังคณะราษฎรทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจากในหลวงรัชกาลที่ 7 โดยคณะราษฎรเป็นผู้จัดทำฝ่ายเดียวแล้วนำมาถวายพระองค์ท่าน แม้พระองค์อาจไม่ทรงเห็นด้วยในเนื้อหาบางประการ แต่ด้วยพระราชปณิธานสูงสุดที่ไม่ต้องการให้แผ่นดินนองเลือดจึงทรงยินยอม แต่ก็ลงพระอักษรกำกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้ว่า “ชั่วคราว” อันเป็นผลให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่พระองค์ท่านมีส่วนร่วมพระราชทานความเห็นด้วยออกมาประกาศใช้ในอีก 5 เดือนเศษต่อมาในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ซึ่งมีเนื้อหาบางประการแตกต่างออกไป

ในรัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 ไม่มีคำว่า “พระมหากษัตริย์” เหมือนรัฐธรรมนูญทุกฉบับต่อ ๆ มา โดยใช้คำว่า “กษัตริย์” เฉย ๆ

หลักการสำคัญอันเป็นเสมือนการแสดงเจตนารมณ์ปฏิบัติประชาธิปไตย-เปลี่ยนระบอบบรรจุอยู่ในมาตรา 1 ด้วยข้อความที่สั้น กระชับ เมื่อพูดถึงอำนาจสูงสุดของประเทศก็มีแต่คำว่า “ราษฎร” เท่านั้น ไม่มีข้อความต่อมาที่ระบุถึง “พระมหากษัตริย์” ไว้ในมาตราเดียวกันเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับต่อ ๆ มา
“อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”

คุณทักษิณ ชินวัตรเคยวิดิโอลิงก์เข้ามา แสดงความชื่นชมข้อความนี้ ว่าเป็นสิ่งที่สวยงามมาก เพราะเป็นไปตามหลักประชาธิปไตยสากล ต่อหน้าการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2552 เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ บอกว่าเป็นข้อความที่งดงามเหลือเกิน เหมือนจะบอกเป็นนัยว่าหากมีการแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่น่าจะใช้ข้อความนี้ ซึ่งผมก็ได้เคยเขียนบทความลงตีพิมพ์ ณ ที่นี้ นี้แสดงความเห็นไปว่าเหมือน ๆ จะกล่าวเป็นนัยให้หวลระลึกถึงเนื้อหาและนัยทางการเมืองในรัฐธรรมนูญฉบับ 3 วันหลัง 24 มิถุนายน 2475 นี้
ไม่ใช่แต่เพียงภาษาเท่านั้นแต่ฐานภาพของ “กษัตริย์” ตามรัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 ไม่เหมือน “พระมหากษัตริย์” ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อมาทุกฉบับต่อจากนั้น

อ่านหมวด 1 ข้อความทั่วไป และหมวด 2 กษัตริย์ ดูก็พอจะรับรู้อารมณ์และเจตนารมณ์ได้

ที่สำคัญและดูเหมือนจะเชื่อมโยงไปถึงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่คณะนิติราษฎร์และคนเสื้อแดงบางกลุ่มเสนอให้ทบทวนด้วยก็คือ รัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 ไม่มีหลักการสำคัญที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับต่อมาบัญญัติคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์และองค์พระมหากษัตริย์ไว้เด็ดขาด ดังเช่นความในมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งก็เหมือนฉบับ 2540 และฉบับอื่น ๆ ก่อนหน้า...

“องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ / ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้”

หลักการนี้มีที่มาที่ไปที่แสดงลักษณะเฉพาะเป็นพิเศษของประเทศไทย และเพราะมีหลักการนี้บรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเหตุให้มีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

ถ้าหลักการนี้ไม่คงอยู่ในรัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็ไม่มีฐานรองรับ

นักวิชาการบางคนที่สนับสนุนคนเสื้อแดงบางกลุ่มเคยเผยแพร่ข้อเขียน“ข้อเสนอ 8 ข้อเพื่อการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” ในโลกออนไลน์เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2553 ข้อเสนอข้อหนึ่งคือให้ยกเลิกมาตรา 8 ในรัฐธรรมนูญ ข้อสองคือให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้รับการเผยแพร่ต่อในสื่อออนไลน์ของคนเสื้อแดงหลายกลุ่ม

แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 ก็ยังคุ้มครองฐานภาพของ “กษัตริย์” แต่ไม่ได้คุ้มครองไว้เด็ดขาดเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับต่อ ๆ มาทุกฉบับจนถึงปัจจุบัน รัฐธรรมนูญฉบับนี้บัญญัติไว้ในมาตรา 6 ว่า...

“กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาชญายังโรงศาลไม่ได้ เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย”
แม้คณะนิติราษฎร์ไม่ได้ระบุออกมาตรง ๆ ว่ารัฐธรรมนูญใหม่ควรจะต้องร่างอย่างนี้ แต่การหยิบยกให้นำแต่เฉพาะรัฐธรรมนูญของคณะราษฎร 3 ฉบับ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 ที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างออกไปจากรัฐธรรมนูญทุกฉบับ มาเป็นต้นแบบ โดยลดความสำคัญของรัฐธรรมนูญ 2540 ลงไป มันชวนให้คิดชวนให้คาดการณ์ได้ไม่ใช่หรือ ?

คำถามก็คือคนพรรคเพื่อไทยทั้งในฟากสภาและฟากรัฐบาลที่ออกมาสนับสนุนน่ะได้อ่านแถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ครบถ้วนแล้วหรือยัง ? และมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่คณะนักวิชาการที่ตั้งชื่อกลุ่มให้ล้อกับ “คณะราษฎร” คณะนี้ดีพอแล้วหรือยัง ??

วันนี้น่ะผู้คนจำนวนหนึ่งเขาสงสัยไปไกลว่าบางคนบางคณะน่ะเตรียม “รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม(ยุคดิจิตัล 2555)” ไว้พร้อมแล้วเพื่อผ่าน “แบบพิธี” ส.ส.ร. 3 ที่เริ่มนับ 1 ปลายปีนี้ !
กำลังโหลดความคิดเห็น