xs
xsm
sm
md
lg

นิติราษฎร์หรือนิติทรราชย์

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

อ่านแถลงการณ์ของนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลุ่มหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า “คณะนิติราษฎร์” แล้ว ตอบได้คำเดียวว่า เป็นการเอาสถานะทางวิชาการไปรับใช้การเมืองอย่างน่าอดสูที่สุดในประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

มหาวิทยาลัยที่สอนให้รักประชาชน

เพราะเนื้อหาในแถลงการณ์นั้นไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงหลักการทางวิชาการแต่เต็มไปด้วยทัศนคติรสนิยมส่วนตัวเลื่อนลอยไร้หลักการที่ต้องการตอบสนองเป้าหมายของทักษิณ ชินวัตรเพียงอย่างเดียว

เนื้อหาหลักข้อเสนอของคณะที่เรียกตัวเองว่า “นิติราษฎร์” มีดังนี้

1. ประกาศให้รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และการกระทำใดๆ ที่มุ่งต่อผลในทางกฎหมายเป็นโมฆะโดยเฉพาะกระบวนการโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)

2. ต้องปรับปรุงแก้ไข ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

3. ให้เยียวยาช่วยเหลือหรือจ่ายค่าทดแทนแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 อย่างไม่เลือกปฏิบัติ

4. ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยนำต้นแบบมาจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2475, รัฐธรรมนูญ 2475, รัฐธรรมนูญ 2549 และอาจนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ในส่วนของการประกันสิทธิและเสรีภาพ ตลอดจนโครงสร้างสถาบันการเมืองและองค์กรทางรัฐธรรมนูญเท่าที่สอดคล้องกับพัฒนาการในยุคร่วมสมัยมาเป็นแนวทางในการยกร่าง

คนที่ลงชื่อท้ายแถลงการณ์ที่ต้องบันทึกไว้มีดังนี้ วรเจตน์ ภาคีรัตน์,จันทจิรา เอี่ยมมยุรา, ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล, ธีระ สุธีวรางกูร, สาวิตรี สุขศรี, ปิยบุตร แสงกนกกุล, ปูนเทพ ศิรินุพงศ์

ผมไม่รู้ว่า อาจารย์เหล่านี้เป็นเสื้อแดงหรือไม่ แต่การเป็นเสื้อแดงก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่ทัศนคติของอาจารย์ก๊วนนี้สอดคล้องกับทักษิณและคนเสื้อแดงอย่างไม่ต้องสงสัย

และการแฝงตัวใต้เสื้อคลุมนักวิชาการนั้นมันสามารถบิดเบือนอำพรางเป้าประสงค์ที่แท้จริงได้

ฟันธงไว้เลยว่า เป้าหมายต่อไปของนักวิชาการกลุ่มนี้คือ การผลักดันตัวเองเข้าไปเป็นหนึ่งในคณะกรรมการชุดรื้อศาลและองค์กรอิสระของอุกฤษ มงคลนาวิน

คำถามที่นักวิชาการกลุ่มนี้ตอบไม่ได้ก็คือ ทำไมต้องเริ่มต้นแค่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และมุ่งเน้นที่ลบล้างผลการสอบสวนของ คตส. ถ้าผลพวงของการรัฐประหารไม่ชอบธรรม ถามว่าทำไมเราไม่ย้อนกลับไปที่ปี 2475 เลยล่ะครับ เพราะรัฐธรรมนูญทุกฉบับก็มาจากการรัฐประหารทั้งสิ้น

การอ้างแบบมักง่ายของธีระ สุธีวรางกูร ที่ให้สัมภาษณ์สื่อในเวลาต่อมาก็ดูน่าขันเลื่อนลอยและไร้เหตุผลว่า เราไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารทุกครั้ง และการกระทำดังกล่าวแต่ละครั้งอยู่ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน เราจึงต้องเริ่มต้นที่เหตุการณ์ 19 กันยายน 49 ซึ่งใกล้เราที่สุด แต่ถ้าใครไม่ยอมรับรัฐประหารก่อนหน้านี้ ก็มานั่งคุยกัน

ตลกไหมครับ

หรือเป้าหมายของคณะนิติราษฎร์ คือ นิติศาสตร์เพื่อราษฎรที่ชื่อ ทักษิณ ชินวัตรคนเดียว เพื่อให้รัฐคืนเงินให้ตระกูลชินวัตร และให้ทักษิณไม่มีความผิด

โดยไม่สนว่า ก่อนเกิดเหตุรัฐประหาร 19 กันยายนนั้น ระบอบทักษิณมีพฤติกรรมอย่างไร ทักษิณมาจากการเลือกตั้งแต่ทักษิณได้แทรกแซงองค์กรอิสระและทำลายกระบวนการตรวจสอบนักการเมืองลงอย่างไร ทักษิณได้ใช้อำนาจอย่างชอบธรรมหรือไม่ หาประโยชน์ให้ตัวเองจากอำนาจอย่างไร และทำไมเมื่อทักษิณถูกทหารโค่นจากอำนาจจึงมีประชาชนกลุ่มหนึ่งออกมาแสดงความยินดีโห่ร้องและชื่นชม (ผมไม่พูดถึงการใช้อำนาจที่ตามมาของคณะรัฐประหารหลังจากนั้น)

ถ้าให้เลือกระหว่างการรัฐประหารกับการเลือกตั้ง ผมต้องเลือกการเลือกตั้งแน่ แต่ผมก็ไม่มีวันจะทนดูรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมอย่างไรก็ได้

คำถามว่า รัฐประหารเป็นความชั่วร้ายเสมอไปหรือ ถ้ารัฐประหารครั้งนั้นเกิดขึ้นเพื่อล้มล้างรัฐบาลที่ใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแต่ใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมดีกว่ารัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารจริงหรือ

ทรราชย์ไม่จำเป็นต้องมาจากการรัฐประหารครับ แต่อาจมาจากการเลือกตั้งได้ด้วย

เวลาเราไปโต้แย้งนักวิชาการเหล่านี้คัมภีร์ของนักวิชาการที่สนับสนุนเสื้อแดงใช้โต้กลับเรามีอยู่ประโยคหนึ่งคือ “เคยต่อสู้กับระบอบทักษิณมาก่อน” เพื่อจะให้เห็นว่า พวกเขาไม่ได้ทำเพื่อบุคคล แต่มีเป้าหมายเพื่อความถูกต้องเป็นหลัก

แต่ข้ออ้างนั้นมันจะลบล้างพฤติกรรมที่ทำอยู่ในปัจจุบันได้จริงหรือ วันหนึ่งผมทำร้ายภิกษุรูปหนึ่ง ผมจะใช้ข้ออ้างว่า ผมเคยใส่บาตรพระรูปนั้นมาก่อนเพื่อให้พ้นผิดได้ไหม

ถ้าอ้างว่าการปฏิวัติไม่มีความชอบธรรมและต้องคืนความบริสุทธิ์ และเงินที่ยึดมาให้ทักษิณโดยไม่สนถึงพฤติกรรมที่ทักษิณได้กระทำให้ได้ทรัพย์สินเพิ่มขึ้นในระหว่างที่มีอำนาจ ถามว่าทำไมเราไม่คืนเงินที่ยึดมาจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คืนไปให้ครอบครัวเขาเสียด้วยเล่า ไม่ต้องสนใจว่าจอมพลสฤษดิ์จะได้ทรัพย์สินมาอย่างไร เพราะรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ที่มีคำสั่งให้ยึดทรัพย์ก็สืบทอดมาจากการรัฐประหาร

ผมเห็นด้วยครับว่า ควรจะต้องเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ แต่ไม่ใช่เฉพาะเหตุการณ์หลัง 19 กันยายนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องย้อนไปก่อนหน้านั้นด้วย เพราะผลจากการใช้อำนาจของทักษิณที่อ้างว่ามาจากการเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นกรณีฆ่าตัดตอน ตากใบ กรือเซะ หรือว่า ในสายตาของคณะนิติราษฎร์ประชาชนกลุ่มนี้ไม่ใช่ “ราษฎร”

ขณะเดียวกันในฐานะที่ผมเป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาร้ายแรงว่า “ผู้ก่อการร้าย” ทั้งๆ ที่อยู่เบื้องหลังการชุมนุมโดยสงบ ผมคิดว่า การเยียวยาไม่ควรหมายถึงการนิรโทษคนที่กระทำผิด แต่ควรจะเป็นคนที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำผิดของบุคคลอื่น

ส่วนประเด็นมาตรา 112 เหตุผลที่ถูกหยิบยกมาอ้างเพื่อให้ยกเลิกแก้ไขมากที่สุดก็คือ ในปัจจุบันมีผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรานี้เพิ่มมากขึ้นซึ่งเป็นตรรกะที่ตลกมาก เพราะเมื่อมีคนกระทำความผิดเพิ่มขึ้นก็ต้องมีคนถูกดำเนินคดีตามกฎหมายมาตรานี้เพิ่มขึ้น แต่เราแกล้งไม่เห็นว่าขบวนการล้มล้างสถาบันนั้นแพร่หลายเปิดเผยตัวอย่างไร แต่ผมเห็นด้วยว่า ต้องทำให้มีการใช้มาตรานี้อย่างชอบธรรม

ข้อเสนอข้อสุดท้ายก็แปลกครับ ทำไมต้องให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่คณะนิติราษฎร์เสนอ ทำไมไม่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับอื่น เช่น รัฐธรรมนูญ 2517 ซึ่งเราเชื่อกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่ง ทำไมขีดเส้นให้เอารัฐธรรมนูญ 2540 มาเฉพาะหลักประกันเรื่องสิทธิเสรีภาพ และองค์กรตามรัฐธรรมนูญเท่าที่สอดคล้องกับยุคสมัย (ต้องการกลับไปใช้ศาลเดียวอย่างที่เฉลิมแย้มมาแล้วยุบศาลรัฐธรรมนูญกับศาลปกครองใช่ไหม)

หรือว่าคำตอบที่ซ่อนเร้นอยู่ก็คือ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับที่คณะนิติราษฎร์เสนอนั้น มีประเด็นเรื่อง สถานะ/อำนาจสถาบันกษัตริย์ คือ การไม่มีองคมนตรีใช่หรือไม่

คณะนิติราษฎร์ออกมายืนกลางแดดเถอะครับ เลิกหลบอยู่ใต้ชายคามหาวิทยาลัย เลิกใส่เสื้อคลุมนักวิชาการ ผมไม่อยากเรียกพวกคุณว่าเนติบริกร เพราะพวกคุณเป็นเด็กรับใช้นักการเมืองเท่านั้นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น