xs
xsm
sm
md
lg

ข้าราชการ กสม.สุดทน สำนักวิจัยฯ เชิญ"นิติราษฎร์"เป่าหู-ชี้ไม่เหมาะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วรเจตน์ ภาคีรัตน์
เจ้าหน้าที่ กสม.สุดทน ร่อนหนังสือค้านเชิญนิติราษฎร์บรรยาย อ้างไม่เหมาะสม เหตุมีแนวคิดล้มสถาบันฯ ด้าน ผอ.สำนักวินิจฉัยและคดี โบ้ยแค่ความคิดต่าง ส่วน “วรเจตน์” ยันเสนอแก้ ม.112 แถมเล่นลิ้นกลางวงสัมมนาแก้ไม่ใช่ล้มล้าง หวังให้สถาบันอยู่ยั้งยืนยงคู่ประเทศไทยและตีกันออกจากการเมือง

วันนี้ (13 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักพิมพ์ต่างๆ ได้รับจดหมายร้องเรียนจากผู้ที่อ้างว่าเป็นข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมุนษยชนแห่งชาติ แสดงความไม่เห็นด้วยกับการที่สำนักวินิจฉัยและคดี สำนักงานคณะกรรมการสิทธิฯ ได้จัดอบรมปฐมนิเทศข้าราชการบรรจุใหม่และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานระหว่างวันที่ 13-14 ม.ค.แล้ว มีการเชิญ เช่น นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ มาเป็นวิทยากร บรรยายพิเศษ โดยเห็นว่า มีความไม่เหมาะสม เนื่องจากอาจารย์ในกลุ่มนิติราษฏร์มีแนวคิดชัดเจนที่จะแก้ไขประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา112 โดยเฉพาะนายปิยบุตร ที่ได้เสนอความเห็นในการเสวนาที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2554 ในลักษณะจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันเบื้องสูงอย่างชัดเจน

“การเชิญกลุ่มนิติราษฎร์มาให้ความรู้กับข้าราชการบรรจุใหม่และเจ้าหน้าที่ เป็นการขัดแย้งกับ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ.2554 มาตรา 37(3) ที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการรัฐสภาสามัญว่า ต้องเป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็น ประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ” จดหมายร้องเรียนระบุ

ด้าน นายโสภณ ตะติโชติพันธ์ ผอ.สำนักวินิจฉัยและคดี ได้ชี้แจงว่า การที่มีคนไม่เห็นด้วยถือว่า เป็นความเห็นส่วนบุคคลที่แตกต่าง แต่นำเรื่องส่วนรวมมาโยงเข้าหากันไม่ได้ ซึ่งการอบรมในครั้งนี้ไม่ใช่เชิญแค่อาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์ ยังได้มีการเชิญตัวแทนจากศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ มาเป็นวิทยากรให้ความรู้ โดยเฉพาะเรื่องการส่งคดีต่างๆ ที่กรรมการสิทธิฯรับมาพิจารณา โดยเน้นเรื่องขององค์ความรู้เป็นหลัก ไมได้เกี่ยวข้องกับการแก้กฎหมายใดๆ แม้แต่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ดังนั้น ใครจะเห็นแตกต่างอย่างไรก็เป็นเรื่องส่วนบุคคล และตนก็รู้ดีว่า ใครเป็นคนทำเรื่องดังกล่าว ซึ่งไม่อยากให้คิดไปฝ่ายเดียว เพราะการเชิญแต่ละคนมา เนื่องจากเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายแต่ละด้าน จึงไม่ควรนำเอาความขัดแย้งในทางการเมืองมาเกี่ยวข้อง และขณะนี้ก็ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวใดของข้าราชการกรรมการสิทธิฯ โดยการอบรมก็จะดำเนินการไปตามกำหนดการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้จะมีการคัดค้าน แต่การอบรมยังคงเป็นไปตามกำหนดการ โดยนายวรเจตน์ บรรยายเรื่อง สิทธิมนุษยชนตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ตามรัฐธรรมนูญ และตาม พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ขณะที่ นายปิยบุตร บรรยายเรื่องการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยองค์กรศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป ซึ่งไม่อนุญาตให้สื่อเข้ารับฟังการบรรยายดังกล่าว

ด้าน นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ให้สัมภาษณ์ก่อนการเข้าบรรยาย ถึงกรณีวันที่ 15 ม.ค.ที่ทางคณะกรรมการรณรงค์และแก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) จะล่ารายชื่อจำนวนหนึ่งหมื่นรายชื่อ เพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ว่า แท้จริงเป็นการล่ารายชื่อของ ครก.ไม่ใช่ของคณะนิติราษฎร์ ซึ่งคณะกรรมการกลุ่มดังกล่าว ประกอบด้วย นักวิชาการ นักเขียน ซึ่งจะเปิดตัวในวันอาทิตย์นี้ ในส่วนของคณะนิติราษฎร์ มีหน้าที่ดูแลเรื่องข้อเสนอร่างการแก้ไข ม.ดังกล่าว ซึ่งการดำเนินการของคณะนิติราษฎร์ ยืนยันว่าไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ กับกลุ่มการเมือง หรือพรรคการเมือง ทุกอย่างทำจากมโนสำนึกทางวิชาการ ไม่มีใครอยู่เบื้องหลังและไม่ได้รับใบสั่ง และเห็นว่าสังคมไทยต้องพูดเรื่องนี้กันอย่างตรงไปตรงมา เปิดเผย ด้วยความปรารถนาดีต่อกัน

รศ.ดร.วรเจตน์ กล่าวต่อว่า การล่ารายชื่อดังกล่าวเกิดจากความคิดของนักวิชาการหลายคนคุยกัน นิติราษฎร์ทำเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา และพอดีมีคนอ่านแล้วจึงอยากให้ร่างดังกล่าวเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกัน พรรคการเมืองก็ไม่ได้ทำเรื่องนี้ ซึ่งทางกฎหมายก็ให้สิทธิประชาชนสามารถทำเรื่องดังกล่าวได้ หากนักการเมืองไม่เห็นด้วยเมื่อร่างเข้าสภาก็สามารถโต้แย้งได้ ส่วนการดำเนินการหลังจากได้รายชื่อครบแล้ว ครก.จะเป็นผู้ดำเนินการต่อไป

“วันนี้กระบวนการจะดำเนินต่อไป เป็นกระบวนการที่ดำเนินไปตามกฏหมายกำหนดไว้ เพราะกฏหมายต้องการให้เป็นสิทธิของประชาชน และขอเรียนไว้ว่า ใครที่ขัดขวางการล่ารายชื่อนั้นมีความผิดตามพระราชบัญญัติเรื่องการเข้าชื่อเสนอกฏหมาย มีโทษทั้งจำและปรับ” รศ.ดร.วรเจตน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า หลายคนที่โจมตีนิติราษฎร์ก็ยังไม่ได้ศึกษาเรื่องข้อเสนอว่าตกลงแล้วจะเสนอแก้ไขอย่างไร และเขียนสอดคล้องกับหลักกฏหมายหรือไม่ อีกทั้งจะทำให้ระบบกฏหมายไทยได้รับการยอมรับในระดับสากลอย่างไร ที่สำคัญ แก้แล้วจะเป็นการธำรงค์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้ให้ยั่งยืนโดยวิธีการที่ถูกต้องตามหลักรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามว่า การแก้ไข ม.112 เป็นจุดเริ่มต้นของการล้มระบบอำมาตย์หรือไม่นั้น แกนนำกลุ่มคณะนิติราษฎร์ บอกว่า ทำไมจะต้องใช้คำว่าล้มล้าง แก้ก็คือแก้ ไม่ใช่เสนอยกเลิก การแก้ไขดังกล่าวเป็นผลดีทั้งกฎหมายไทยและสถาบันพระมหากษัตริย์ ลองไปอ่านตัวร่างดู แล้วไปอ่านบทกฎหมายของประเทศอื่นที่มีพระมหากษัตริย์เหมือนกันว่าการคุ้มครองสถาบันของเขา คุ้มครองกันอย่างไร และขอยืนยันว่า การแก้ไขนั้นทำให้ดีขึ้นไม่ได้ทำให้เลวร้ายลง

“กฎหมายคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ตอนนี้ยังไม่เป็นไปตามหลักสากล เป็นตัวบทที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร 2519 เราต้องการแก้ให้เกิดความชอบธรรมในทางประชาธิปไตย และจะทำให้ระบบประชาธิปไตยและสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่คู่กันไปแบบสถิตย์สถาพร ขจัดการนำสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือทางการเมือง”

ผู้สื่อข่าวถามว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ อยู่เหนือการเมืองอยู่แล้ว เหตุใดจึงต้องกันออกจากการเมือง รศ.ดร.วรเจตน์ บอกว่า เวลาที่พูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ในความหมายอย่างกว้างมันคาบเกี่ยวไปถึงหลายส่วน เช่น องคมนตรี บุคคลในหลายส่วน เราต้องพูดให้ตรงตามบริบทตามความจริง
กำลังโหลดความคิดเห็น