xs
xsm
sm
md
lg

พท.รุมยำศาล รธน.มันปาก-“คำนูณ” แนะ ปธ.สภาคิดให้ดี หวั่นมีปัญหา"ทูลเกล้า"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พท.รุมยำตุลาการศาล รธน.กลางสภา “เหลิม” ด่าอคติ ปูดที่ประชุมทำหนังสือให้ ปธ.ศาลเซ็นคำสั่งล่วงหน้า ยันไม่เคยคิดล้มการปกครอง “วัฒนา” ยกคดีฟ้อง “มาร์ค” เป็นบรรทัดฐาน ด้าน “อภิสิทธิ์” สวนจ้อสุดมั่ว แจงโยนคดี ม.7 ไป อสส. เหตุร้องยุบพรรค ฝ่ายค้านซัด “ค้อนปลอม” เปิดเวทีให้พวกหลอกด่า “คำนูณ” หวั่นมีปัญหาหากนำร่างแก้ไข รธน.ขึ้นทูลเกล้าฯ แนะคิดให้ดีลงมติวาระ 3



วันนี้ (8 มิ.ย.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.18 น. การประชุมรัฐสภา โดยมีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ซึ่งประธานได้แจ้งต่อที่ประชุมในการรับทราบคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญตามคำร้องมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องแล้ว รวมทั้งมีคำสั่งให้รอการดำเนินการที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง

จากนั้นนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ได้หารือในที่ประชุมว่า เรื่องนี้สภาจะรับทราบเฉยๆ ไม่ได้ เพราะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสถาบันนิติบัญญัติ เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งให้รอการดำเนินการการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อน ทั้งนี้ ตนอยากให้เรื่องนี้มันชัดเจนว่าเราควรปฏิบัติอย่างไร เพราะจะเป็นบรรทัดฐานในการทำงานของรัฐสภาในอนาคต และคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ชอบตามนัยของรัฐธรรมนูญมาตรา 216 หรือไม่ เพราะคำสั่งที่จะผูกพันต่อรัฐสภาต้องเป็นไปตามมาตราดังกล่าว ซึ่งต้องวินิจฉัยโดยตุลาการอย่างน้อย 5 คน ที่ต้องมีมติเสียงข้างมาก มีคำวินิจฉัยส่วนตัวของตุลาการแต่ละท่าน รวมทั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษาถึงจะมีผลผูกพัน

“การที่ศาลเพียงแต่มีคำสั่งผ่านมาทางเลขาฯ สภานำกราบเรียนประธานสภาให้รอการแก้รัฐธรรมนูญนั้น ผมเห็นว่าไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญมาตรา 216 และไม่น่าจะมีผลผูกพันตามที่สภาจะปฏิบัติตาม ซึ่งหากทำตาม ต่อไปมีคำสั่งแบบนี้เรื่อยๆ รัฐสภาเราที่เป็นหนึ่งในสามอำนาจอธิปไตยที่ได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ถือว่าสถาบันนี้จะเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างไร” นายสามารถกล่าว และว่า อีกทั้งองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยกรณีที่มีคำร้องจากศาลรัฐธรรมนูญ คือศาลรัฐธรรมนูญ และอัยการสูงสุดก็ขัดแย้งกัน จึงเป็นโอกาสดีที่สมาชิกรัฐสภาจะได้ช่วยกันแสดงความเห็นและหาข้อสรุปว่าคิดอย่างไรในเรื่องนี้ เพราะมีผลกระทบโดยตรง

“ผมรู้สึกว่าเป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาว่าจะล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมให้ได้อำนาจการปกครองประเทศไม่เป็นไปตามวิถีทางที่รัฐรรมนูญบัญญัติไว้ ตรงนี้เสียหายต่อสมาชิที่เรามีส่วนร่วมในการลงมติรับหลักการ ที่ผ่านมาเราเข้าชื่อตามอำนาจที่ของรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ร้องขอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมเข้าชื่อขอแก้ไขตามที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ ไม่เคยไปซ่องสุมที่ไหนจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง กระทำโดยเปิดเผย ถ้าเราไม่ปกป้องสถาบันนิติบัญญัติจะเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้อง ต่อไปหากมีการร้องเรื่องแบบนี้ไปศาล พอศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องก็จะมีคำสั่งให้รัฐสภาที่เป็นหนึ่งในอำนาจของประเทศยุติหรือชะลอการดำเนินการของเรา มันไม่ถูกต้องในเรื่องของอำนาจ และการแบ่งแยกอำนาจ ดังนั้นอยากให้มีการอภิปรายเพื่อหาข้อสรุป”

รวมทั้งอยากฝากไปยังศาลรัฐธรรมนูญว่าจะก้าวล่วงลงในรายละเอียดของรัฐธรรมนูญที่เราแก้อยู่ว่าการปล่อยให้มี ส.ส.ร.ไปพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินอย่างไรก็ได้ ไม่มีใครตรวจสอบได้ เขาถึงกังวลอันเป็นที่มาของปัจจัยสำคัญที่ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับเรื่องไว้นั้น ซึ่งจริงๆ แล้วกระบวนการวินิจฉัยคำร้องก็ไม่ชอบ ไม่ว่าจะพิจารณาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา68 ซึ่งชัดเจนว่าการร้องต้องร้องผ่านอัยการสูงสุด (อสส.) ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน แล้วค่อยส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย แต่วันนี้ศาลไปรับคำร้องเองโดยไม่ผ่านกระบวนการ อสส.ในที่สุดผลก็เกิดแบบนี้ เมื่อสององค์กรตามมาตรา 68 วรรค 2 มีความเห็นต่างกันเราจะเชื่อใคร สมาชิกรัฐสภาจึงจะต้องมีการหาข้อสรุปกัน

จากนั้นสมาชิกได้อภิปรายแสดงความเห็นกันหลากหลาย โดยฝ่าย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายไม่เห็นควรนำเรื่องนี้มาหารือในสภา เพราะควรยอมรับฟังคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ โดยการชะลอการลงมติวาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อน เพื่อรอผลการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกมา

นายวิรัช กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนเป็นผู้ไปยื่นอัยการสูงสุด และศาลรัฐธรรมนูญหลังจากได้ไคร่ครวญและสอบถามผู้รู้ โดยเพราะ ส.ส.ร.ปี 50 หลายสิบคนว่า สามารถดำเนินการตามมาตร 68 ได้กี่ทาง และยังทำหนังสือไปให้ศาลด้วย เพื่อยืนยันสิทธิการพิทักษ์รัฐธรรมนูญไปสองทาง แต่อัยการสูงสุดกลับดึงเรื่องไว้นาน และนอกจากจะไม่ได้ศึกษาเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วยังวินิจฉัยเรียบร้อยว่าไม่ขัดมาตรา 68 วรรคหนึ่ง ถือเป็นการทำเกินหน้าที่ ไม่ทราบเพื่อรองรับการประชุมวันนี้หรือไม่

ด้าน นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เวทีสภาไม่ใช่ที่แก้ตัวให้กับใคร เพราะศาลรัฐธรรมนูญให้โอกาสไปแก้ตัวได้อยู่แล้วภายใน 15 วัน หากจะดึงดันต่อไปตนก็จะสนับสนุนไม่ขัดขวางเพราะดึงไปไม่เห็นจะมีประโยชน์อะไร ถึงเวลาลงวาระ 3 อยู่ดี อยู่ที่ประธานจะใช้โอกาสตรงไหน แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งมาถึงประธานโดยตรง ประธานสามารถใช้ดุลพินิจได้ทันที ไม่จำเป็นต้องมารับฟังความเห็นของสมาชิกเพื่อเอาไว้รับรองความชอบธรรมของตนเองเท่านั้น

ด้าน ส.ส.พรรคเพื่อไทยหลายคนได้อภิปรายโจมตีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และสนับสนุนคำวินิจฉัยของอัยการสูงสุดเป็นหลัก

นายวัฒนา เมืองสุข ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ปัจจุบันไม่มีกฎหมายไหนห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น กระบวนการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 ทำโดยชอบแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ กรณีมาตรา 68 ใช้บังคับกับกรณีมาตรา 291 ได้หรือไม่ ซึ่งที่จริงแล้วมาตรา 68 ใช้กับหมวด 3 คือ เรื่องสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ทั้งสิทธิการชุมนุม การแสดงความเห็นที่อาจจะไปล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่ได้ แต่มาตรา 291 ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่อยู่ในเรื่องการใช้สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย

นายวัฒนาได้อ้างถึงกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พ.ค.ปี 49 ที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ยื่นคำร้องศาลัฐธรรมนูญกล่าวหาว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 7 ให้ได้มาซึ่งอำนาจไม่เป็นไปตามมาตรา 63 หรือมาตรา 68 ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้น ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วบอกว่าอัยการสูงสุดเท่านั้นที่สามารถใช้สิทธิตามมาตราดังกล่าวได้

“อยากเรียกร้องศาลรัฐธรรมนูญอย่าความจำสั้น การใช้อำนาจสั่งสภาฯ ถือเป็นอำนาจเกินเลยจากรัฐธรรมนูญ เพราะในรัฐธรรมนูญกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องเสนอร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพิจารณาความในศาลรัฐธรรมนูญ แต่เวลาล่วงเลยมากว่า 5ปีจนถึงขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เสนอเข้ามา ถามว่าวันนี้องค์กรตามรัฐธรรมนูญไม่ทำหน้าที่ของตัวเองตามรัฐธรรมนูญ แล้วทำให้เกิดความเสียหายใครจะรับผิดชอบ เพราะการใช้อำนาจระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญด้วยกันต้องมีกฎหมายรับรอง การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ชะลอการดำเนินการลงมติวาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไปอ้างกฎหมายวิธีพิจารณาความทางแพ่งนั้น มันไม่ใช่ เพราะเรื่องการเมืองไม่ใช่เรื่องทางแพ่ง ไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญไปใช้จินตนาการแล้วคิดเอาเอง แสดงให้เห็นว่าเหิมเกริมใช้อำนาจเกินขอบเขต” นายวัฒนากล่าว

นายวัฒนากล่าวต่อว่า สิ่งที่สภาควรจะทำคือ เดินหน้าต่อไป อยากเรียกร้องให้ผู้ตรวจการรัฐสภาใช้อำนาจ แจ้งไปยังศาลรัฐธรรมนูญว่าใช้อำนาจเกินเลยจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และอยากเร่งรัดให้ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ของตัวเองเสนอร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความในศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อจะได้เป็นบรรทัดฐาน การที่สภาหยุดฟังคำสั่งทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจเท่ากับสภากำลังกระทำการขัดรัฐธรรมนูญเอง

นายวัฒนายืนยันว่า มาตรา 130 ระบุว่าการลงคะแนนของสมาชิกถือเป็นเอกสิทธิ์คุ้มครองจะเอาไปฟ้องทางใดทางหนึ่งไม่ได้ และตนยินดีรับผิดชอบ เพราะรัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ อยากให้สภายอมรับความจริงว่ารัฐธรรมนูญปี 50 มีจุดบกพร่องจริงๆ ให้ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจเกินขอบเขต เพราะการถ่วงดุลล้มเหลว และอาจจะส่งผลให้ ส.ว.สรรหาอาจถูกถอดถอนได้ เพราะคนแต่งตั้ง ส.ว.ก็คือประธานศาลรัฐธรรมนูญ สมาชิกเมื่อกระทำความผิดต้องรับผิดชอบด้วยการถูกถอดถอน แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญทำผิดรัฐธรรมนูญกลับไม่มีความรับผิดชอบ

นายวัฒนากล่าวว่า พวกตนก็ห่วงใยสถาบันไม่เคยคิดเปลี่ยนรูปแบบรัฐ เปลี่ยนแปลงการปกครอง การที่สังคมไทยจะเดินหน้าได้ต้องทำสัญญาประชาคมร่วมกันคือ ไทยต้องปกครองด้วยกฎหมายที่ต้องมาจากหลักนิติธรรม กติกาสากล หากศาลรัฐธรรมนูญไม่มั่นใจก็ขอให้เปิดคำสั่งเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 49 ดูหากเห็นแล้ว สั่งยกคำร้องด้วยความหลงผิดไม่มีใครว่า หากมีการลงมติแล้วศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีประโยชน์ในการรับคดีไว้วินิจฉัย ศาลก็ต้องจำหน่ายคดี

อย่างไรก็ตาม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์แย้งว่า กรณีของนายสุรพงษ์เป็นเรื่องการร้องให้ยุบพรรคการเมืองที่ต้องผ่านการพิจารณาของอัยการสูงสุดถือเป็นการโกหกในสภาทำให้สับสนกับกรณีพิทักษรัฐธรรมนูญทุกคนมีสิทธิเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยที่ใช้เวทีนี้มาโต้แย้งข้อกฎหมาย ควรเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัย หลายเรื่องมีคนไม่เห็นด้วยแต่เมื่อศาลสั่งก็ต้องยุติ กรณีนายสุรพงษ์ไปร้องตนกรณีปราศรัยขอนายกฯ มาตรา 7 เพราะช่วงนั้นมีความวุ่นวายของบ้านเมืองและพยยาามหาทางออก จึงร้องให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่อัยการสูงสุดต้องพิจารณา แต่กรณีที่นายวิรัชยื่นเป็นไปตามมา 68 เรื่องการล้มล้างรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ยุบพรรค จึงเทียบเคียงกันไม่ได้ แต่นายวัฒนาเอาสองกรณีมาเทียบเคียงกันและมาตรา 68 นี้เพิ่มขึ้นใหม่ในรัฐธรรมนูญปี 50 เพราะต้องการพิทักษณ์รัฐธรรมนูญ และเอามาจากเยอรมันที่ต้องการป้องกันเผด็จการจากฮิตเลอร์

ด้าน นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา อภิปรายว่า ตนเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ใช้อำนาจที่ก้าวล่วงอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่เมื่อพิจารณาตามเอกสารที่ศาลรัฐธรรมนูญส่งมายังสภาฯ พบว่ามีความชัดเจนว่าเป็นเพียงคำสั่งทั่วไปหลังจากที่รับคำร้องของผู้ยื่นเท่านั้น ไม่ใช่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ประเด็นต่อไปคืออยู่ที่ดุลพินิจของประธานรัฐสภา ที่จะพิจารณาว่าจะเดินหน้าหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบเงื่อนเวลาพบว่ายังสามารถลงมติวาระ 3 ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 12 หรือ 15 มิ.ย.นี้ จึงเห็นควรลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 วันที่ 12 มิ.ย.นี้เลย หลังจากนั้นไม่ทราบว่าความขัดแย้งในบ้านเมืองจะเพิ่มขึ้นมากขึ้นหรือไม่ หากพิจารณาตามมาตรา 291 วรรคท้ายระบุว่าต้องนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และให้นำบทบัญญัติมาตรา 150 และ 151 มาใช้บังคับ และช่วงเวลานั้นคาดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะนั่งบังลังก์วินิจฉัยประเด็นนี้ หากเป็นเช่นนั้นประมุขแห่งรัฐจะตัดสินใจอย่างไร ขอให้ประธานรัฐสภาคิดให้ดี

“เรามีศักดิ์ศรีฐานะองค์กรกู้สถานะรัฐธรรมนูญ ประธานจะนัดเมื่อไหร่ ขึ้นอยู่ว่าอยากเห็นบ้านเมืองในอนาคตเดินไปอย่างไร กระบวนการศาลรัฐธรรมนูญก็เดินหน้าไป เชื่อว่าไม่เกินสิ้นเดือนกรกฏาคม ก็น่าได้คำวินิจฉัยและเชื่อว่าตุลาการจะระมัดระวังในการวินิจฉัย เพราะมีฐานความผิดที่ยิ่งใหญ่ เพราะใครทำผิดอย่างนี้ท่าทางจะลำบาก” นายคำนูณกล่าว



ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ อภิปรายว่า วันนี้ต้องแยกให้ออกระหว่าง คำสั่ง คำวินิจฉัย คำพิพากษา อย่ามั่วเอามารวมกัน โดยเอากฎหมายลายลักษณ์อักษรเป็นตัวตั้ง แต่ถ้าไม่มีก็ต้องเอาประเพณีปฏิบัติ ไม่ใช่นึกอะไรก็ทำตามใจชอบ การแก้รัฐธรรมนูญได้ผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาให้มีการยกร่างแล้ว เรายังไม่รู้เลยว่า ส.ส.ร.จะเป็นอย่างไร ตรงไหนคือการฝ่าฝืนล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้ได้มาซึ่งอำนาจ วันนี้ตนต้องการอำนาจอะไร เพราะพรรคเพื่อไทยก็เป็นรัฐบาล อย่าหลับหูหลับตาวิพากษ์วิจารณ์ ใครจะคิดล้มล้างการปกครอง ใครจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง แค่คิดก็ผิดแล้ว

“ท่านกลัว และมีอคติ ตุลาการทั้ง 7 คนฟังแล้วถอยไปตั้งหลัก เขาไม่ได้บอกท่านไม่มีอำนาจอย่าตะแบง เขาบอกช่องทางยื่นมันไม่ถูก ท่านตกใจไรนักหนา ผมจะบอกให้เอาบุญ ท่านนั่งแถลงหน้าสลอน บอกว่ารับคำร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วันนี้คู่กรณีของสมาชิกรัฐสภา คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าฟังแล้วมีความคิดว่าที่เดินหน้ามันพลาด จะได้ใช้ประมวลความแพ่งมาตรา 27 ชะลอเหตุเสีย” ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว

รองนายกฯ กล่าวต่อว่า ตนไม่มีอคติ ไม่มีเจตนาเลวร้ายแค่อยากทำความเข้าใจกับประชาชน เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยได้ แต่ต้องรับเรื่องจากอัยการสูงสุด ใครจะรู้ว่าส.ส.ร.จะเป็นใคร แล้วจะยกร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร ใครที่คิดล้มล้างการปกครอง คนเป็นรัฐบาลไม่มีวันคิดโดยเด็ดขาด ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้วินิจฉัย มีอำนาจอะไรให้สภาที่เป็นองค์กรใหญ่ที่สุดในประเทศชะลอการดำเนินการไว้ก่อน ตำรวจ อัยการ ศาลจะไม่มีงานทำเมื่อกฎหมายไม่ได้ออกจากรัฐสภา นี่มุมมองตน ศาลรัฐธรรมนูญขยันเกินเหตุ อ้างว่าแปลภาษาอังกฤษได้อย่างไร เราเป็นคนไทยย้องยึดถือภาษาไทยเป็นหลัก ลงมาล้วงลูกทำไม เพราะเป็นหน้าที่อัยการสูงสุดที่ต้องเป็นคนยื่นคำร้อง

ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวอีกว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายมหาชน เอาวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้กับกฎหมายมหาชนไม่ได้ ตนรู้มาว่าศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องพิจารณาอย่างรวดเร็วรู้ล่วงหน้าว่าจะมีการมายื่นคำร้อง วันที่ 1 ตุลาการมีการเรียกประชุม เมื่อประชุมเสร็จรีบส่งมาให้สภาตอนเย็นวันนั้นทันทีเลย ทำไมถึงขยัน เพราะวันที่ 2-4 มิ.ย.เป็นวันหยุด อยากจะเบรกวันที่ 5 มิ.ย.ไว้ นอกจากนี้ ในที่ประชุมตุลาการยังมีการพูดถึงว่าภายหลังจากลงมติรับรองแล้ว ได้มีการทำหนังสือให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญเซ็นไว้ล่วงหน้า แต่มีตุลาการคนหนึ่งสะกิดว่าน่าเกลียดทำหนังสือถึงประธานสภาไม่ได้ จึงมีหนังสือแจ้งไปยังเลขาธิการสภาแทน

หลังจากอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้านได้สอบถามประธานว่าหลังจากสมาชิกอภิปรายเสร็จแล้วจะมีการลงมติในวาระ 3 ตามที่มีกระแสข่าวหรือไม่ ซึ่ง พล.อ.ธีรเดช มีเพียร รองประธานรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุมได้ยืนยันว่าจะไม่มีการลงมติในวาระ 3 เพราะเป็นแค่วาระการแจ้งให้ทราบเท่านั้น
















กำลังโหลดความคิดเห็น