xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” เตือน “สมศักดิ์” ดื้อแก้ รธน. ผลักภาระให้กษัตริย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คำนูณ” เตือนประธานสภาฯ ดันแก้รัฐธรรมนูญวาระ 3 เป็นการผลักภาระให้ “กษัตริย์” เนื่องจากพระองค์จะต้องทรงตัดสินพระทัยในการลงพระปรมาภิไธย พร้อมยกตัวอย่างคดีอาชกรรมสงครามเมื่อปี 2489 ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยว่าศาลสามารถวินิจฉัยกฎหมายจากฝ่ายนิติบัญญัติได้ ทั้งที่ตอนนั้นรัฐธรรมนูญไม้ได้ให้อำนาจไว้เลย ด้าน “ปานเทพ” ย้ำต้องจับตา พ.ร.บ.ปรองดองใกล้ชิด ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญปล่อยให้เป็นขั้นตอนทางกฎหมายไปก่อน ยังไม่ใช่เงื่อนไขการชุมนุม

วันที่ 5 มิ.ย. นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.แบบสรรหา และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ร่วมในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV

โดยนายคำนูณกล่าวว่า ตอนนี้รัฐบาลถอยเรื่องพรบ.ปรองดอง แต่แก้รัฐธรรมนูญวาระ 3 ยังก้ำกึ่ง ตราบใดที่ยังไม่มีการทูลเกล้าฯ พ.ร.ฎ.ปิดสมัยประชุมสภาโอกาสก็เกิดขึ้นได้ตลอด

นายคำนูณกล่าวอีกว่า กรณีที่ศาลใช้อำนาจตีความว่ากฎหมายใดขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ กรณีที่ฮือฮาที่สุดคือคดีอาชกรรมสงคราม ตอนนั้นรัฐธรรมนูญ 2489 ไม่ได้ให้อำนาจศาลวินิจฉัยว่ากฎหมายใดขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยให้อำนาจสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้วินิจฉัย แต่ศาลก็เขียนในคำวินิจฉัยชัดเจนว่า 1. ศาลเป็นผู้ใช้กฎหมาย จึงต้องดูว่าอะไรเป็นกฎหมายหรือเป็นกฎหมายที่ใช้ได้หรือไม่ ซึ่งการวินิจฉัยเช่นนี้เป็นอำนาจของศาล 2. ภายใต้ระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยซึ่งมี 3 อำนาจ คือ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ต่างมีอำนาจยับยั้งควบคุมซึ่งกันและกัน เมื่อกฎหมายตราออกมาโดยฝ่ายนิติบัญญัติอย่างไม่ถูกต้อง ศาลย่อมมีอำนาจในการแสดงให้เห็นความไม่ถูกต้องนั้นได้ 3. จำเป็นต้องมีอำนาจชี้ขาดว่ากฎหมายใดขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ มิฉะนั้นข้อความที่ว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดก็จะไม่มีผล จะให้สภานิติบัญญัติซึ่งเป็นผู้ออกเองชี้ขาดเองย่อมไม่ถูกต้อง และให้อำนาจฝ่ายบริหารชี้ขาดก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะไม่ใช่เรื่องของฝ่ายบริหาร

ศาลฎีกาเมื่อปี 2489 วินิจฉัยไว้แบบนั้น แม้รัฐธรรมนูญตอนนั้นไม่ได้ให้อำนาจศาลเลย แต่ศาลก็ตีความอำนาจของท่านเองไปในลักษณะที่สามารถทำได้ จริงอยู่ที่ข้อเท็จจริงเมื่อปี 2489 กับตอนนี้อาจไม่เหมือนกันสักทีเดียว แต่เห็นได้ว่าเคยเกิดกรณีนี้ขึ้น แถมตอนนี้มีมาตรา 68 ที่ให้อำนาจศาลยับยั้งการกระทำที่จะได้อำนาจมาโดยวิธีการนอกรัฐธรรมนูญได้

เพียงแต่ว่ามีข้อต้องวินิจฉัยกันว่าไปอัยการสูงสุดอย่างเดียว แล้วให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาล ซึ่งถ้าอัยการสูงสุดไม่ยื่น หรือยื่นไม่ทันเวลา ก็จบ หรือว่าจะตีความว่าผู้ทราบการกระทำดังกล่าว ไปยื่นอัยการสูงสุดแล้วเมื่อเวลาตามสมควรแล้วไม่ได้ผลไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญหรือยื่นคู่กันไปเองได้ ศาลเลือกตีความตามข้อสองเพื่อให้มาตรา 68 มีผลบังคับได้ แต่ศาลจะบอกว่าการแก้มาตรา 291 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ยังไม่ถึงขั้นตอนนั้น ซึ่งอาจขัดหรือไม่ขัดก็ได้ แต่การตัดสินใจของฝ่ายนิติบัญญัติที่จะเรียกประชุมและลงมติวาระ 3 หรือไม่ มันก็จะมีผลต่อการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญด้วย ส่วนประเด็นที่ว่าผู้ใดจะยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นเรื่องที่จะทำได้ มันมีกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ

ถ้าเราไม่พูดถึงมาตรา 68 ในลายลักษณ์อักษร ต้องตระหนักว่ามาตรานี้คมช.ไม่ใช่คนเขียนขึ้น แต่มีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 40 เพราะไม่ต้องการให้ฝ่ายนิติบัญญัติลุแก่อำนาจ

ส.ว.สรรหากล่าวต่อว่า สมมติแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291 ผ่านสภา แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อลงพระปรมาภิไธย ถ้าพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานลงมาโดยไม่ลงพระปรมาภิไธย หรือไม่พระราชทานลงมาภายใน 90 วัน มีปัญหาแล้ว แสดงว่าประมุขใช้สิทธิวีโต้ หากเป็นเช่นนั้นก็จะเอาเข้าสภาใหม่ถ้ามีมติ 2 ใน 3 ถวายขึ้นไปใหม่ ถ้าไม่พระราชทานลงมาใน 30 วัน สามารถประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้เลย แล้วอะไรจะเกิดขึ้น ตอนนี้มีปัญหาระหว่างรัฐสภากับศาล พอลงมติแล้วก็เป็นปัญหาระหว่างนายกฯกับศาล เมื่อตัดสินใจทูลเกล้าฯแล้วรัฐสภาพ้น นายกฯพ้นจากตัว ภาระตกหนักที่ประมุขแห่งรัฐ กรณีที่ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยเคยเกิดขึ้น แต่ไม่ใช่ประเด็นละเอียดอ่อนอย่างนี้ ประธานสภาฯจะตัดสินใจอย่างไร อย่าลืมพระองค์ท่านทรงชรา ถ้าเดินหน้าลงมติไป เป็นการทำให้ประมุขแห่งรัฐแบกรับภาระ

ด้าน นายปานเทพกล่าวว่า รัฐบาลไม่ปิดสมัยประชุมแสดงว่ามีเป้าหมายทำอะไรให้สำเร็จ ซึ่งอาจมีแทกติคเรื่องการประชุม เพราะวาระเดิมยังพิจารณาไม่จบเลยทั้งแก้รัฐธรรมนูญวาระ 3 และเลื่อนวาระพรบ.ปรองดองเป็นวาระเร่งด่วน จะไม่ประชุมหรือจะเลื่อนอย่างไรต้องมาถกกันก่อน แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญเป็นเงื่อนไขที่พันธมิตรฯไม่ได้กำหนดไว้ในการชุมนุม จนกว่าจะเห็นชัดได้ว่านำไปสู่การล้างความผิดให้พ.ต.ท.ทักษิณและพวก แม้เชื่อว่าจะนำไปสู่จุดนั้น แต่วันนี้เป็นเพียงคาดการณ์ในอนาคตที่ยังมองไม่เห็น ฉะนั้นสังคมยังไม่พร้อมก่อรูปเป็นมวลชนได้มากพอ เราจึงใช้มาตรการทางกฎหมายในการยื่นอัยการสูงสุด ป.ป.ช. และ ก.ก.ต.

โดยศาลรัฐธรรมนูญรับสำนวนไว้แล้ว 5 สำนวน แม้ไม่ใช่สำนวนของพันธมิตรฯ แต่ก็ถือเป็นการนับหนึ่งในกระบวนการดำเนินคดีความ ทำให้พันธมิตรฯยังไม่จำเป็นต้องใช้มวลชนในเวลานี้ ประกอบกับมีคำสั่งให้ระงับวาระ 3 ไว้ก่อน เราจึงเห็นในมาตรา 216 วรรค 5 ซึ่งบัญญัติไว้ชัดเจนว่า ในกรณีที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันธ์รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ จริงอยู่มีความเห็นขัดแย้งกันอยู่ในหลายกลุ่ม แต่ก็ยังอยู่ในระดับความเห็นไม่ใช่คำวินิจฉัย พวกเราเห็นว่าคำวินิจฉัยจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการลงมติ ซึ่งการลงมติครั้งนี้ 7 ต่อ 1 คือ การรับเรื่อง 5 สำนวนเอาไว้ 5 ต่อ 4 ให้มีมาตรการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ด้วยการลงมติ 5 ต่อ 4 ว่าห้ามลงมติวาระที่ 3 ตอนนี้

ซึ่งหากรัฐบาลดึงดันต่อน่าจะมีความเสี่ยงด้วยซ้ำไป ในการณีที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พรรคใดเลิกกระทำตามวรรค 2 ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งให้ยุบพรรคได้ นี่เป็นที่มาที่ศาลมีคำเตือนไปยังพรรคการเมือง ถ้าฝ่าฝืนหรือไม่ยอมยกเลิกการกระทำก็มีความเสี่ยงในการยุบพรรค จากเดิมไม่รู้จะผิดหรือไม่ต้องรอคำวินิจฉัยสุดท้ายกลายเป็นผิดทันที ฉะนั้นต้องคิดหนักว่าจะไม่ฟังศาลได้หรือเปล่า

นายปานเทพกล่าวต่อว่า ความเห็นของนายณัฐวุฒิ กับร.ต.อ.เฉลิม ถ้าสามารถลบล้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญได้ อยากให้ไปลบล้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในคดีซุกหุ้นพ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อปี 47 ด้วย เพราะในรายงานของคอป.เองก็บอกว่าเป็นการทำลายหลักนิติธรรมโดยตรง หักดิบกฎหมาย ไม่ใช่คำวินิจฉัยที่ถูกต้อง ซึ่งวันนี้ยังไม่มีใครลบล้างได้เลย

เมื่อทำไม่ได้ต้องใคร่ครวญว่าจะเสี่ยงหรือไม่ พวกเราเห็นว่าเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว ถือว่ามีการเริ่มต้นคดี พันธมิตรฯไม่จำเป็นต้องใช้กระบวนการในการชุมนุม เหลือเพียงแค่ พ.ร.บ.ปรองดอง

ที่เป็นห่วงคือจะมีการลงมติผ่าน พ.ร.บ.ปรองดองหรือเปล่า เพราะว่ามีการลงมติไปแล้วให้เลื่อนขึ้นมาเป็นวาระเร่งด่วนพิเศษ เมื่อเปิดประชุมมาเมื่อไหร่ ก็ต้องพิจารณาเรื่องนี้ก่อน แม้ไม่พิจารณาก็ต้องมีการลงมติเลื่อน คำถามคือจะไว้ใจได้อย่างไร ฉะนั้นเราต้องเฝ้าระวัง ซึ่งแหล่งข่าวตนแจ้งมาว่าที่ประชุมพรรคเพื่อไทย มีการหวาดระแวงว่าขณะนี้มีการทำงานเป็นขบวนการ ระหว่งประชาธิปัตย์ พันธมิตรฯ ศาลรัฐธรรมนูญ อำมาตย์ ทหาร เพื่อจัดการรัฐบาล

ส่วนกรณีนิติราษฎร์กล่าวหาศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นการรัฐประหารในรัฐธรรมนูญ นายปานเทพ กล่าวว่า การฉีกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เรียกได้ว่าเป็นการรัฐประหารโดยรัฐสภา เป็นการย้อนข้อหาเขามากกว่า แล้วอันนี้น่ากลัวกว่า เพราะชอบด้วยกฎหมาย บิดผันรัฐธรรมนูญอย่างร้ายแรง จนกระทั่งฉีกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ การที่ศาลระงับการแก้รัฐธรรมนูญ มันเป็นการหยุดรั้งรัฐประหารทางรัฐสภาโดยใช้รัฐธรรมนูญต่างหาก



กำลังโหลดความคิดเห็น