xs
xsm
sm
md
lg

“ปานเทพ” โต้ “เจริญ” ยัน พ.ร.บ.ปรองดองเข้าเงื่อนไขชุมนุม-ชี้ลงมติแก้ รธน.รับความเสี่ยงเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (แฟ้มภาพ)
โฆษกพันธมิตรฯ ชี้แจงกรณีรองประธานสภาฯ อ้างพันธมิตรฯ จะไม่คัดค้านแก้รัฐธรรมนูญ เผยแถลงการณ์ระบุชัด ไม่ว่าจะแก้ไข รธน. หรือออกกฎหมายอื่นที่ลดพระราชอำนาจสถาบัน หรือนิรโทษกรรมแม้ว ถือว่า พ.ร.บ.ปรองดองเข้าเงื่อนไขต้องออกมาชุมนุม ส่วนการแก้ รธน.ชี้ยังไม่สุกงอมพอ แต่ใช้วิธีดำเนินคดีอาญา และการที่ศาล รธน.สั่งระงับลงมติวาระ 3 ถือว่ารับความเสี่ยงทางกฎหมายเอาเอง

วันนี้ (4 มิ.ย.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์” ระบุว่า ขอเรียนชี้แจงกรณีคุณเจริญ จรรย์โกมล (รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง) กล่าวอ้างถึงผมว่า พันธมิตรฯ จะไม่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันจะเป็นเหตุให้ที่ประชุมสภาร่วมจะลงมติวาระที่ 3 เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2555 ที่จะนำไปสู่การฉีกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้น ผมเห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงบางประการดังนี้

1. พันธมิตรฯ ได้มีแถลงการณ์ ฉบับที่ 2/2555 ตามฉันทานุมัติจากการประชุมพันธมิตรฯ ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2555 ในข้อ 3 ระบุว่า:

“3. เราขอยืนยันว่าการชุมนุมครั้งใหญ่นั้นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังคงมีความจำเป็นต้องใช้การชุมนุมเพื่อเคลื่อนไหวต่อไป ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้ คือ

3.1 มีการดำเนินการใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือออกกฎหมายอื่นใด ที่มีความชัดเจนว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสถาบันพระมหากษัตริย์หรือลดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์

3.2 มีการดำเนินการใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือออกกฎหมายอื่นใด ที่มีความชัดเจนว่าจะนำไปสู่การนิรโทษกรรมให้กับนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร และพวก

3.3 เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองเข้าสู่สถานการณ์ความเหมาะสมที่ประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยครั้งใหญ่

ภายใต้เงื่อนไข 3 ประการดังกล่าวข้างต้น เกิดขึ้นเมื่อใด พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยพร้อมจัดให้มีการชุมนุมใหญ่โดยทันที”

ด้วยเหตุผลนี้พันธมิตรฯ จึงถือว่า พ.ร.บ.ปรองดองที่มีเนื้อหาลบล้างความผิดให้กับทักษิณและพวกอย่างชัดเจนเข้าเงื่อนไขเป็นหมากบังคับที่พันธมิตรฯ ต้องออกมาชุมนุมเคลื่อนไหว และแกนนำพันธมิตรฯ ได้ทำตามสัจวาจาที่ให้ไว้กับพี่น้องประชาชนไปแล้วด้วยการชุมนุมวันที่ 30 พฤษภาคม 2555-1 มิถุนายน 2555 ซึ่งการชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยดี

กรณีที่มีกระแสข่าวว่ารัฐได้โยกย้ายข้าราชการตำรวจเพื่อใช้มาตรการความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมในคราวต่อไปที่กำลังจะมาถึงนั้น ในเรื่องนี้ขอเรียนชี้แจงว่าพันธมิตรฯ ยึดมั่นในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธมาโดยตลอด ประกอบกับรัฐบาลชุดนี้มาจากประชาชนเรียกร้องมาตลอดไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง อีกทั้งรัฐบาลชุดนี้กำลังจะสร้างบรรทัดฐานว่ากรณีคนเสื้อแดงชุมนุมที่มีการใช้อาวุธสงครามฆ่าเจ้าหน้าที่รัฐในขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ เผาสถานที่ต่างๆ เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ โดยไม่เป็นความผิดหากเป็นการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งกำลังจะได้รับการนิรโทษกรรมตามมา หากเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงในคราวที่จะเกิดขึ้นเมื่อใด รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบต่อผลที่จะเกิดขึ้นตามมาด้วยเช่นกัน

2. แม้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 จะน่าเชื่อได้ว่านำไปสู่การลบล้างความผิดให้กับนักโทษชายทักษิณและพวก แต่ก็ยังอยู่ในระดับการคาดการณ์ วิเคราะห์ และประเมินเหตุการณ์ในอนาคตที่ยังไม่ได้เกิดขึ้น จึงยังไม่สุกงอมเพียงพอที่จะเข้าเงื่อนไขการชุมนุมเคลื่อนไหวมวลชน อย่างไรก็ตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้น่าจะเข้าข่ายเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ 50 ทั้งฉบับ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ปัจจุบันและเป็นปัญหาที่ต้องมีข้อยุติได้ด้วยกฎหมาย พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงแสดงจุดยืนคัดค้านตามแถลงการณ์พันธมิตรฯ ฉบับที่ 1/2555 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 โดยกำหนดวิธีการในชั้นนี้โดยได้ประกาศมาตรการความตอนหนึ่งว่า:

“1. ให้ดำเนินคดีอาญาต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และ/หรือถอดถอน และ/หรือยุบพรรค ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา คณะรัฐมนตรี และพรรคการเมือง ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดล้มล้างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ โดยมอบหมายให้นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยดำเนินการต่อไป”

หลังจากนั้นปรากฏว่าเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2555 พันธมิตรฯ ได้ยื่นหนังสือถึงองค์กรเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย 3 แห่ง ได้แก่

1. ยื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุดเพื่อส่งให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งให้นักการเมืองเลิกการกระทำดังกล่าว ยุบพรรค และเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง

2. ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อดำเนินการให้ยุบพรรคการเมือง และ

3. ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเพื่อให้ดำเนินคดีอาญากับนักการเมือง 416 คน หากมีความผิดจริงจะมีโทษสูงสุดคือประหารชีวิต

ต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน 2555 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้อาศัยรัฐธรรมนูญมาตรา 68 สั่งให้นักการเมืองในรัฐสภาหยุดการลงมติในวาระที่ 3 ตามสำนวนคำร้อง 5 กรณี แม้จะไม่ใช่คดีที่พันธมิตรฯ ได้ยื่นไปในวันที่ 26 เมษายน 2555 แต่ก็ถือได้ว่ากระบวนการพิจารณาในคดีนี้เริ่มต้นขึ้นแล้ว จึงถือว่ายังไม่มีความจำเป็นที่พันธมิตรฯ จะชุมนุมในเวลานี้ (จนกว่ามติที่ประชุมจะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น) และถือเป็นความเสี่ยงที่นักการเมืองในรัฐสภาจะพิจารณาและรับความเสี่ยงทางกฎหมายเอาเองหากยังดึงดันที่จะลงมติฉีกรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ต่อไป

ทั้งนี้สมาชิกรัฐสภาพึงจะต้องพิจารณาด้วยว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 216 วรรคห้าบัญญัติเอาไว้ว่า:

“ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ”
กำลังโหลดความคิดเห็น