xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ล้มล้างการปกครอง คำตอบสุดท้ายของศาลรธน.ถอยทัพรักษารัฐบาลปู คำสั่งสุดท้ายของ “นช.ทักษิณ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- หากจับปฏิกิริยาของแกนนำรัฐไทยใหม่ต่อกรณี “ศาลรัฐธรรมนูญ” นัดไต่สวนคดีมีผู้ร้องว่า การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 จะสามารถรับรู้ถึงความปริวิตกที่พวกเขามีต่อ “คำพิพากษา” ในคดีนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะแต่ละคนล้วนแล้วแต่ดาหน้ากันออกมาโจมตีการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญอย่างไม่ยั้ง

ทั้งนายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย นช.ทักษิณ ชินวัตร
ทั้งนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย
ทั้งนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย
ทั้ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี
ทั้งนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย
ฯลฯ

ยิ่งเมื่อนำไปเชื่อมโยงกับ 2 รายชื่อบุคคลสำคัญที่ตกเป็นข่าวว่า ถูกเรียกไปเป็นพยานในการไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 5-6 กรกฎาคม 2555 คือนายอานันท์ ปันยารชุน เจ้าของฉายาผู้ดีรัตนโกสินทร์ อดีตนายกรัฐมนตรีไทยและ ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ด้วยแล้ว ก็ไม่น่าแปลกใจที่ข้าทาสของระบอบทักษิณจะดิ้นพลาดๆ ราวกับปลาช่อนถูกทุบหัวอย่างไรอย่างนั้น แม้ภายหลัง พล.อ.สมเจตต์ บุญถนอมจะขอถอนชื่อนายอานันท์จากพยานแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ เนื่องเพราะไม่ว่าที่สุดของคดีจะออกมาในทิศทางใด ย่อมต้องส่งผลสะเทือนต่อการเมืองไทยอย่างนัยสำคัญ ยิ่งถ้าออกมาในทิศทางที่เลวร้ายต่อพรรคเพื่อไทยรัฐบาลด้วยแล้ว เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า จะถึงขั้นพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินกันเลยทีเดียว เพราะนั่นหมายความว่า รัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ที่ร่วมลงมติสนับสนุนโครงการนี้จะได้รับโทษทัณฑ์ที่หนักหนาสาหัสไม่เบา

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า สมการการเมืองของเรื่องนี้จะไม่ใช่แค่เรื่อง 1+1 เท่ากับ 2 เท่านั้น เพราะขณะที่บรรดาทาสในเรือนเบี้ยดิ้นพลาดๆ ปฏิกิริยาจากผู้มีอำนาจตัวจริงกลับสงบนิ่งจนน่าผิดสังเกต

ไมว่าจะเป็นจาก “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีที่เซ็กซี่ที่สุดของนิตยสาร FHM ที่ดูเหมือนไม่อนาทรร้อนใจเท่าใดนัก แถมยังแต่งตัวสวยไปรับประทานอาหารร่วมกับผู้บัญชาการเหล่าทัพอีกต่างหาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับปฏิกิริยาของทหารมากกว่าคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ

เฉกเช่นเดียวกับปฏิกิริยาจาก นช.ทักษิณ ชินวัตรที่มีการปล่อยข่าวออกมาว่า นายใหญ่ของรัฐไทยใหม่สั่งให้ถอยจนสุดกระดานด้วยการยอมรับคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อรักษารัฐบาลยิ่งลักษณ์เอาไว้ให้ได้

ดังนั้น การศึกครั้งนี้ จึงน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง

**รัฐไทยใหม่ ปลุกผีอำมาตย์ ท้ารบ ศาลรธน.

สำหรับการต่อสู้ของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลในกรณีนี้นั้น ยังคงใช้ยุทธศาสตร์เดิมไม่เปลี่ยนแปลงคือ พยายามให้ข่าวทั้งบนดินและใต้เพื่อล้างสมอง “กองทัพแดง” อาวุธสำคัญในการช่วงชิงอำนาจการปกครองว่า กำลังถูก “อำมาตย์รังแก” ทั้งๆ ที่ในความจริงแล้ว นี่ไม่ใช่เรื่องอำมาตย์รังแก หรือสองมาตรฐาน หากแต่คือข้อเท็จจริงทางกฎหมายที่มิอาจบิดเบือนให้คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงได้

ยกตัวอย่างเช่น นายจาตุรนต์ที่เป็นหัวหมู่ทะลวงฟันรายแรกๆ โดยระบุว่า “คาดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องยุติ เนื่องจากมีการตั้งธงไว้แล้ว หรือเขียนคำวินิจฉัยล่วงหน้าไว้แล้ว ซึ่งจะมีเนื้อหาเหมือนกับคำร้องของผู้ร้อง ที่ผ่านมาท่าทีของศาลรัฐธรรมนูญและผู้ร้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันตลอด ตรงนี้จะถือเป็นวิกฤติของประเทศอย่างแน่นอน ส่วนพยานของผู้ร้องที่จะไต่ศาลต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น ผมเห็นว่าเป็นพวกเดียวกันที่เคยร่วมรัฐประหารและร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ขึ้นมา”

ส่วนเลขาธิการพรรคอย่างนายจารุพงศ์ก็ประกาศอย่างไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหมว่า “ผมก็ไม่อยากให้ชนกัน ทางใครทางมันดีกว่า ผมชอบฟังเพลง มายเวย์ ของแฟรงก์ ซิเนตรา ทางใครทางมัน ทางมึง ทางกูดีกว่า”

ขณะที่นายพร้อมพงศ์ขู่ฟ่อเช่นเคยว่า ถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ความขัดแย้งจะยิ่งเพิ่มขึ้น และนำไปสู่ความวุ่นวาย เช่นเดียวกับนายนพดลที่ประกาศชัดเจนว่า “ถ้าตัดสินถูกต้องบ้านเมืองก็เรียบร้อย แต่ถ้าไม่ยึดตามตัวบทกฎหมายบ้านเมืองก็จะไม่เรียบร้อย นำไปสู่ความขัดแย้งของสังคม”

สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทยที่เวลานี้เดินสายเปิดเวทีปราศรัย “เพื่อไทย...พบประชาชน” ทั่วประเทศ ซึ่งมิอาจตีความเป็นอย่างอื่นได้ว่า เป็นการระดม “กองทัพแดง” เพื่อปฏิบัติการพิทักษ์รัฐธรรมนูญแห่งรัฐไทยใหม่ ซึ่งเมื่อตอกย้ำด้วยคำพูดของ “นายขวัญชัย ไพรพนา” แกนนำคนเสื้อแดงตัวเอ้แห่งอุดรธานีที่ระบุชัดเจนว่า ให้มีการเตรียมสรรพกำลังเอาไว้ให้พร้อมพัก และเพิ่มดีกรีความรุนแรงในกาลต่อมาโดยเรียกร้องให้คนเสื้อแดงไปชุมนุมกันที่หน้าศาลากลางจังหวัด ก็ยิ่งทำให้คาดการณ์สถานการณ์ความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้ถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไม่เป็นไปตามความต้องการของรัฐไทยใหม่

เพราะหากยังจำกันได้ เมื่อครั้งที่มีการสลายการชุมนุมที่ราชประสงค์ ก็เคยเกิดเหตุคนเสื้อแดงบุกเผาศาลากลางจังหวัดในหลายพื้นที่มาแล้ว

ดังนั้น หลายคนจึงเชื่อว่า ยิ่งใกล้วันตัดสิน สถานการณ์ก็ย่อมจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีกในทุกรูปแบบ

แต่ความจริงของกรณีการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งรัฐไทยใหม่ฉบับนี้ก็ย่อมเป็นความจริงวันยังค่ำ และเป็นความจริงที่ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย คนเสื้อแดงและรัฐบาลจะดิ้นสักเพียงใดก็ไม่สามารถปฏิเสธการยอมรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะมีคำพิพากษาออกมาในแง่มุมใด

เพราะข้อเท็จจริงในการวินิจฉัยกรณีนี้ย่อมต้องใช้กฎหมายและใช้ระบบนิติรัฐของบ้านเมืองเป็นตัวตั้ง

หรือพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลกำลังจะบอกต่อสังคมว่า ถ้าคำวินิจฉัยไม่ตรงกับสิ่งที่พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลตั้งธงเอาไว้ บ้านเมืองจะเกิดกลียุคแน่นอนเช่นนั้นหรือ การวินิจฉัยที่ถูกต้องคือการวินิจฉัยที่ตรงกับธงของพรรคเพื่อไทยเช่นนั้นหรือ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นระบบนิติรัฐของบ้านเมืองจะมิพินาศฉิบหายดอกหรือ

ที่สำคัญคือ ข้อเท็จจริงตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า ห้ามแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ดังที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า “ที่ผ่านมารัฐบาลมีความพยายามขอแก้รัฐธรรมนูญในมาตรา 291 เพราะต้องการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่ยังมีปัญหาว่า สามารถแก้ไขได้ทั้งฉบับหรือไม่ เพราะในสมัยของนายบรรหาร ศิลปะอาชา เป็นนายกฯ เคยมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 211 โดยกำหนดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)ขึ้นเพื่อให้สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทั้งฉบับ ดังนั้น รัฐบาลจึงยกเหตุผลนี้ขึ้นมาแก้มาตรา 291 ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเพื่อให้สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ทั้งฉบับ ในฐานะที่ผมเป็นเลขานุการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 จำได้ว่าคณะกรรมาธิการยกร่างได้มีการพูดถึงเจตนารมณ์ในการยกร่างมาตรา 291 โดยไม่ต้องการให้มีการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จึงกำหนดข้อห้ามในการตั้ง ส.ส.ร.เอาไว้ ซึ่งผมต้องไปดูข้อกฎหมายเพื่อไปชี้แจงต่อศาลต่อไป”

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะว่าไปแล้ว พรรคเพื่อไทยซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายเป็นพะเรอเกวียนชักแถวเข้าคิวไปทำงานด้วยน่าจะสังหรณ์หรือเฉลียวใจกับความสุ่มเสี่ยงดังกล่าวได้บ้างไม่มากก็น้อย แต่ด้วยความที่หน้ามืดหรือไม่ลืมหูลืมตารับใช้ “นายใหญ่” กันตะพึดตะพือ จึงทำให้พร้อมใจกันเชลียร์กันอย่างสนุกสนานเพื่อทำคลอดรัฐธรรมนูญแห่งรัฐไทยใหม่ออกมาให้จงได้

ทว่า เมื่อไม่เป็นไปตามที่ฝ่ายตนเองต้องการ ก็ออกมาตีโพยตีพายว่า อำมาตย์สั่งหรืออำมาตย์บงการ พร้อมโจมตีศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นแค่ “สุนัขรับใช้” ทั้งๆ ที่ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น

เหมือนดังเช่นในเวทีสัมมนาเรื่อง “หากจะวินิจฉัยกรณีมาตรา 68 ด้วยหลักนิติธรรม” ที่ทั้งนายสถิตย์ ไพเราะ ผู้พิพากษาอาวุโส ศาลยุติธรรม ออกมาตีปลาหน้าไซว่า “ผมมองผู้พิพากษาที่ตัดสินตามธงไม่ใช่ผู้พิพากษา เป็นแค่สุนัขรับใช้” หรือนายอัษฎางค์ ปาณิกบุตร นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ ที่ระบุว่า “ขณะนี้กฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือ บ้านเมืองมีอำนาจเบื้องหลังที่สั่งได้” หรือนายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ระบุว่า “ตุลาการยุคนี้ได้กลายพันธุ์ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญเป็นพันธุ์ใหม่ที่ดุมาก”

แต่หากบุคคลเหล่านี้หันกลับไปพิจารณาความเห็นของสังคมสักนิดก็จะเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของสังคมต่อกรณีการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี ดังเช่นที่ “สวนดุสิตโพล “มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตได้สะท้อนความคิดเห็นของประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศต่อการเมืองไทย ซึ่งมีผลต่ออายุรัฐบาล โดยกรณีความเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญควรดำเนินการต่อไปอย่างไร ผลสำรวจอันดับ 1 พบร้อยละ 45.23 เห็นควรให้ชะลอออกไปก่อนเพราะควรศึกษาให้รอบด้านไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์คนใดคนหนึ่ง ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ จะได้จบลง ส่วนอันดับ 2 พบร้อยละ 28.31 เห็นควรยกเลิกโดยไม่มีการแก้ไข เพราะถึงแม้แก้ไขรัฐธรรมนูญปัญหาต่างๆ ก็ยังไม่จบลง การเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์ ปัญหาน้ำท่วม ของแพงเร่งด่วนกว่า ฯลฯ

นี่คือเสียงสะท้อนที่สังคมมีต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้

และที่น่ายกย่องที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้น “นายจรัญ ภักดีธนากุล” หนึ่งในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ประกาศถอนตัวจากคดีนี้เพื่อป้องกันมิให้มีการใช้วิชามารบิดเบือนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากคำวินิจฉัยที่ออกมาได้

**จุดจบพรรคเพื่อไทย-รัฐบาลปู?

ทีนี้ก็มาถึงประเด็นสำคัญว่า สุดท้ายแล้วผลแห่งนี้จะออกมาเป็นอย่างไร

และคำพิพากษาที่ออกมา ถ้าหากเป็นไปในแนวทางที่เลวร้ายที่สุด จะก่อให้เกิดผลสะเทือนต่อการเมืองไทยอย่างไรบ้าง

แน่นอน ผู้ที่จะตัดสินใจในเรื่องนี้ย่อมหนีไม่พ้นองค์คณะผู้พิพากษาหรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 ท่าน

ทั้งนี้ ถ้าหากพิจารณาหลักฐานและประจักษ์พยานแวดล้อมแล้ว ย่อมมีประเด็นที่น่าสนใจในข้อเท็จจริงหลายประการด้วยกัน

จุดที่น่าสนใจประเด็นแรกก็คือ พยานที่ทั้ง 2 ฝ่ายยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขึ้นให้การ

สำหรับในฝ่ายของผู้ร้องนั้น มีทั้งหมด 20 คนด้วยกัน โดนพยานปากเอกที่สำคัญก็อย่างเช่น นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายจรัส สุวรรณมาลา อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายกิตติศักดิ์ ปกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศ ส.ว.สรรหา นายปริญญา ศิริสารการ นายแก้วสรร อติโพธิ นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชและอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550

ขณะที่ทางด้านพรรคเพื่อไทย รายชื่อพยานที่ยื่นประกอบด้วยนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายคณิน บุญสุวรรณ อดีต ส.ส.ร.40 นายวิฑูร พุ่มหิรัญ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานวิปรัฐบาล นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

เทียบน้ำหนักกันปอนด์ต่อปอนด์แล้ว ไม่ต้องชี้นำ สังคมก็ย่อมเห็นว่า พยานฝ่ายไหนน่าเชื่อถือมากกว่ากันระหว่างพยานของพรรคเพื่อไทยที่ล้วนแล้วแต่เป็นคนของระบอบทักษิณทั้งสิ้นกับพยานของฝ่ายผู้ร้องที่ล้วนแล้วแต่เป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียงและมีเกียรติภูมิอันเป็นที่ยอมรับของคนทั้งประเทศ

ดังนั้น ในกรณีนี้ น้ำหนักของพยานฝ่ายผู้ร้องจึงน่าจะทำให้สังคมมองเห็น แนวทางของคำพิพากษาได้ในระดับหนึ่ง

ขณะที่หากพิจารณาในแง่มุมของกฎหมายจะเห็นได้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ของ คณะรัฐมนตรียิ่งลักษณ์และ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล มิอาจปฏิเสธได้ว่าคือการสร้างองค์การขึ้นมาองค์การหนึ่ง เพื่อให้องค์การนั้นทำหน้าที่ในการล้มล้างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และหากพิจารณาการพูดในหลายที่หลายแห่งของแกนนำเสื้อแดงที่เป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทยบางคน ก็ยิ่งทำให้สังคมทราบอย่างชัดเจนว่า พวกเขามีเจตนาล้มล้างศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครองอันเป็นหนึ่งในสามอำนาจอธิปไตยที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ รวมทั้งมีการแสดงเจตนารมณ์ในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการตรวจสอบขององค์การอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการทำลายระบบการตรวจสอบอันเป็นกลไกที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตย

นอกจากนี้ ถ้าหากนำคำให้การของ “นายถาวร เสนเนียม” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะหนึ่งในพยานบุคคลในคดีนี้ ก็จะเห็นความผิดของการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ได้ชัดเจนว่าอยู่ที่ตรงไหนบ้าง

1.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะตามมาตรา 291 ประกอบมาตรา 68 ให้แก้ไขเป็นรายมาตราเท่านั้น ไม่ใช่ล้มล้าง หรือฉีกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

2.การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยที่รัฐสภาไม่มีอำนาจพิจารณา ขัดต่อมาตรา 291 ที่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐสภาและมาตรา 3 กำหนดให้พระมหากษัตริย์ต้องใช้อำนาจดังกล่าวผ่านรัฐสภา จึงถือว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ขัดต่อมาตรา 291 และในส่วนที่ 13 ของรัฐธรรมนูญกำหนดให้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ และมาตรา 68 ระบุว่า บุคคลจะใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่ได้ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ จึงถือเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และขัดต่อมาตรา 68

ยิ่งเมื่อนำไปเชื่อมโยงกับคลิปเสียงของ “ค้อนปลอม-สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์” ประธานรัฐสภา ขณะที่เปิดใจในงานวันคล้ายวันเกิดที่จังหวัดเพชรบูรณ์เมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา (อ่าน ... ใครฆ่า ขุนค้อน-สมศักดิ์? โม้มากเลยตายเพราะปาก...หน้า 18) ก็ทำให้สังคมเชื่อโดยสนิทใจว่า การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้มี นช.ทักษิณเป็นหัวหน้าสั่งการ รวมทั้งทำให้จิตประหวัดคิดไปถึงเนื้อหาสาระในรัฐธรรมนูญฉบับทักษิณว่า จะมีเนื้อหาที่กระทบกับสถาบันหลักของชาติคือสถาบันตุลาการและสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่

เพราะนั่นคือใบเสร็จและหลักฐานชั้นดีที่มีผลต่อคดีนี้

ส่วนเมื่อถามว่า ผลของคำพิพากษาจะส่งผลออกมาอย่างไรบ้าง

ถ้าหากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยว่าไม่เข้าข่ายมาตรา 68 ชัยชนะก็ย่อมตกเป็นของพรรคเพื่อไทย โดยในประเด็นนี้สิ่งที่น่าจะทำให้พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลมั่นใจในชัยชนะชนิดฉิวเฉียดในยกที่ 5 ก็คือ แม้จะมีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญจริง แต่พวกเขาก็อ้างว่า ความผิดยังไม่สำเร็จ ดังนั้น ศาลจึงไม่มีอำนาจที่จะพิพากษาคดีนี้

แต่ถ้าหากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาว่า มีความผิดจริง ความโกลาหลย่อมเกิดกับรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยมีความเป็นไปได้ที่จะออกมาใน 3 แนวทางด้วยกันคือ

หนึ่ง-สั่งให้บุคคล และคณะบุคคลที่กระทำการดังกล่าวยุติการกระทำ อันเป็นการทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ต้องตกไป แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะยังไม่สั่งยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิการเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค รวมทั้งยังไม่สั่งตัดสิทธิการเลือกตั้งของ ส.ส. ที่สมรู้ร่วมคิด ทำให้บุคคลเหล่านั้นยังรักษาสถานภาพเอาไว้ได้

สอง-สั่งยุบพรรค และตัดสิทธิการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค แต่ไม่สั่งตัดสิทธิของ ส.ส. ผู้สมรู้ร่วมคิด กรณีนี้รัฐบาลอาจมีผลกระทบบ้างเพราะมีรัฐมนตรีบางคนเป็นกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล แต่รัฐบาลก็ยังคงอยู่เพราะนางสาวยิ่งลักษณ์นายกรัฐมนตรีมิได้เป็นกรรมการบริหารของพรรคเพื่อไทย

และสาม-สั่งยุบพรรคร่วมรัฐบาล และสั่งตัดสิทธิการเลือกตั้งของ ส.ส. ทั้งหมดที่ร่วมลงชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญทันที ซึ่งนั่นจะนำไปสู่การล่มสลายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในฉับพลันทันที

นอกจากนี้ ผลดังกล่าวยังไปเชื่อมโยงกับห้วงเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำพิพากษาออกมาด้วย ยิ่งถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำพิพากษาในเดือนสิงหาคมยิ่งแล้วไปกันใหญ่ เพราะในช่วงนั้นจะเข้าสมัยประชุมสภา และถ้าหากพรรคประชาธิปัตย์เดินเกมด้วยการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็จะทำให้อำนาจในการ “ยุบสภา” ของนายกฯ เซ็กซี่หมดไป เนื่องจากกฎหมายห้ามเอาไว้

กรณีนี้จะก่อให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองอย่างที่ไม่อาจประเมินสถานการณ์บ้านเมืองได้เลยทีเดียว

**นายใหญ่สั่งถอย ทำไม และเหตุใด

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ลิ่วล้อออกมาตีฝีปากด่าศาลรัฐธรรมนูญไม่เว้นแต่ละวัน บรรดาผู้มีอำนาจตัวจริงกลับดูเหมือนไม่สะทกสะท้านอย่างน่าผิดสังเกต ที่สำคัญคือทำไปทำมายังมีการส่งสัญญาณถอยออกมาจากผู้เป็นประมุขแห่งรัฐไทยใหม่อีกต่างหาก

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ พรรคเพื่อไทยต้องการให้สถานการณ์นี้เดินทางไปในรูปแบบใด เพราะเป็นที่น่าผิดสังเกตเช่นกันกรณีการยื่นรายชื่อพยานที่ประหนึ่งว่า พรรคมิได้ให้ความสำคัญเท่าใดนัก

ไม่แน่นักว่า นช.ทักษิณที่เงียบผิดสังเกตต้องการให้คำพิพากษาออกมาในทิศทางที่เป็นโทษกับพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลปูเซ็กซี่หรือไม่ เพราะนั่นคือเงื่อนไขสำคัญที่เขาต้องการใช้คำพิพากษาในการเคลื่อนไหวตามยุทธศาสตร์ “โลกล้อมประเทศ” ขณะเดียวกันก็สามารถเรียกคะแนนสงสารให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยได้อีกกระบุงโกยด้วยวาทกรรมเดิมๆ “สองมาตรฐาน-อำมาตย์-ไพร่” เพราะ นช.ทักษิณคิดคำนวณแล้วว่า แม้ผลแห่งคำพิพากษาจะออกมาเลวร้ายสุดๆ แต่ก็ยังไม่สามารถสั่นคลอนการดำรงอยู่ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้

ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ว่า ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ได้รวมตัวกันเดินทางไปพบ นช.ทักษิณ ที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อฉลองชัยชนะการเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี ซึ่งนายวิเชียร ขาวขำ ได้รับการคัดเลือก ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า ในระหว่างการสนทนานั้น นช.ทักษิณได้พูดคุยกับ ส.ส.ที่เดินทางไปพบถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคำร้องเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า “หากศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสั่งให้ระงับจริงๆ เราก็ถอย อย่าไปดื้อ เพราะดื้อไปก็เกิดปัญหากับรัฐบาล ศาลรัฐธรรมนูญจะพุ่งเป้าไปที่รัฐบาล ดังนั้น ต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของสภาฯ โดยภาพรวมไม่อยากให้กระทบกระเทือนรัฐบาล ต้องรักษารัฐบาลไว้”

และย้ำกันชัดๆ กับคำให้สัมภาษณ์ของ “นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม” ส.ส.อุดรธานีที่ระบุชัดเจนว่า “พ.ต.ท.ทักษิณพูดในหลักการว่า หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินอย่างไรขอให้ยอมรับ และเชื่อว่าคงไม่มีเหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้น

ขณะที่อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่ต้องถือว่ามีนัยสำคัญที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นเหตุการณ์เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา เมื่อปรากฏร่างของ 2 แกนนำเสื้อแดงอย่างนายจตุพร พรหมพันธุ์ ว่าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยไทย และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางไปพบนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวและน้องเขยของ นช.ทักษิณ ชินวัตร ที่หมู่บ้านเบเวอร์รี่ฮอลล์ ซึ่งเป็นบ้านพักส่วนตัวของเจ๊แดงและสามี

ทั้งนี้ ภายหลังการหารือร่วม 3 ชั่วโมง ทั้ง 2 คนปฏิเสธว่า ไม่มีเรื่องทางการเมือง ไม่ใช่กรณีปัญหาศาลรัฐธรรมนูญ

เป็นไปได้หรือไม่ว่า การเรียกนายจตุพรและนายณัฐวุฒิไปพบครั้งนี้คือคำสั่งมิให้คนเสื้อแดงเคลื่อนไหวจนเกินความพอดี เนื่องเพราะสอดคล้องกับการปล่อยข่าวออกมาว่า นช.ทักษิณมีคำสั่งให้ถอยจนสุดกระดานเพื่อรักษารัฐบาลยิ่งลักษณ์เอาไว้ให้ได้

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ย่อมหมายความว่า นช.ทักษิณยังไม่พร้อมที่จะแตกหัก

และในที่สุดผู้ที่เฉลยคำตอบในเรื่องนี้ก็คือนายณัฐวุฒิ เมื่อมีการออกมาให้สัมภาษณ์ชัดเจนว่า “ในวันที่ 5-6 กรกฎาคม ที่ศาลจะไต่สวนนั้น กลุ่มคนเสื้อแดงจะไปชุมนุมกดดันศาลหรือไม่นั้น คงไม่ต้องไปดีกว่า” และว่า “รัฐบาลต้องรักษาอำนาจอธิปไตยของประชาชนไว้อย่างมั่นคง”

หรือดังที่ “ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง” อธิบายสถานการณ์เอาไว้อย่างละเอียดลออว่า

“ถามว่า ถ้าเกิดมีคำสั่งยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมือง ต้องอย่าลืมว่า นายกรัฐมนตรีไม่ได้เป็นคณะกรรมการในพรรค ยุบพรรคได้แต่ยุบรัฐบาลไม่ได้ หากคิดว่าจะให้นายกรัฐมนตรีพ้นหน้าที่ก็ไม่เกี่ยวกัน เราหาพรรคสังกัดใหม่ได้ใน 60 วัน รัฐธรรมนูญเขียนชัด อย่าไปคิดว่าจะเกิดโกลาหลแบบสมัยไทยรักไทย พลังประชาชน ถ้าใครคิดอย่างนี้คิดผิด รัฐบาลจะยังอยู่แน่”

แถมยังประชดประชันด้วยการโยนหินถามทางออกมาด้วยว่า อาจจะมีการตั้งพรรคสำรองด้วยการใช้ชื่อ “พรรคทักษิณ” ให้รู้แล้วรู้รอดไปอีกต่างหาก

ดังนั้น ศึกครั้งนี้จึงไม่อาจที่จะกระพริบตาได้เลยทีเดียว เพราะการถอยก็ถือเป็นอีกหนึ่งกลเกมศึกที่สำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์ที่บอกว่า “มึงมากูมุด มึงหยุดกูแหย่ มึงแหย่กูตี มึงหนีกูไล่”


กำลังโหลดความคิดเห็น