ASTVผู้จัดการรายวัน-ศาลรัฐธรรมนูญเปิดไต่สวนคดีแก้รัฐธรรมนูญ ตั้งธง 4 ประเด็นต้องวินิจฉัย "สมเจตน์-เดชอุดม"ยืนยันไม่เห็นด้วยแก้ไขรัฐธรรมนูญ เหตุมีธงล้มล้างการปกครอง มุ่งร้ายสถาบัน ฟากเพื่อไทยเล่นวิชามาร ถอดเทปคำสัมภาษณ์ "จรัล"กดดัน ทำเอาต้องถอนตัวจากการพิจารณาคดี จับตาเกิดเดตล็อก หลังเหลือ 8 เสียง รัฐบาลมั่นใจชี้แจงได้ บอกแดงอย่าเพิ่งขนม็อบมา
วานนี้ (5 ก.ค.) คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มี นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ เป็นประธาน ได้ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนผู้ร้อง และพยานในคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่
ทั้งนี้ มีพยานผู้ร้องที่เข้าไต่สวน จำนวน 7 คน ประกอบด้วย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ ส.ว.สรรหา นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ นายวันธงชัย ชำนาญกิจ นายวรินทร์ เทียมจรัส อดีต ส.ว.สรรหา นายบวร ยสินธร นายสุรพล นิติไกรพจน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โดยการไต่สวนครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้องอย่างมาก ซึ่งบุคคลที่ไม่ได้เข้ารับการไต่สวน อาทิ นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ นายพีระพันธุ์ พาลุสุข นายพิชิต ชื่นบาน นายวีรภัทร ศรีโชค รวมถึงสื่อมวลชน และเครือข่ายประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้เดินทางมาร่วมรับฟังและให้กำลังใจผู้เข้าไต่สวนอย่างคับคั่ง
นายจรัญ ภักดีธนากุล สมัยที่เป็น ส.ส.ร. ที่มีการระบุว่า ให้รับร่างรัฐธรรมนูญ 50 ไปก่อน แล้วค่อยมีการแก้ไขภายหลัง และเมื่อเริ่มการไต่สวน นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้มอบหมายให้ นายนุรักษ์ มาประณีต และนายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ดำเนินกระบวนการพิจารณา โดยนายนุรักษ์ ได้แจ้งถึงประเด็นในการพิจารณาวินิจฉัย ของคณะตุลาการว่า จะมีทั้งสิ้น 4 ประเด็น คือ
1.ผู้ฟ้องมีอำนาจในการฟ้องคดีตาม มาตรา 68 วรรคสอง หรือไม่
2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 โดยเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับสามารถทำได้หรือไม่
3.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 มีปัญหาว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่
4.หากมีการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้ต้องมีการยุบพรรค ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสาม และสี่ หรือไม่
ส่วนการไต่สวนพยานปากแรก คือ พล.อ.สมเจตน์ ผู้ร้องที่ 1 ได้เบิกความยืนยันถ้อยคำตามบันทึกถ้อยคำที่ได้ยื่นไว้ และนำส่งรายงานการพิจารณาของอัยการสูงสุด ที่มีมติว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ไม่เป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 จึงไม่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามที่ศาลขอไว้ รวมทั้งขอนำส่งบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 6 ก.ค. ซึ่งถูกคัดค้านจากฝ่ายผู้ถูกร้อง โดยอ้างว่าเกินระหว่างที่ศาลกำหนดให้ยื่นบันทึกถ้อยคำ แต่ศาลก็อนุญาตให้นำส่งได้ และจะพิจารณาภายหลังว่าจะให้รวมไว้ในสำนวนหรือไม่
** แก้ทั้งฉบับไม่ต่างจากรัฐประหาร
จากนั้นนายวัฒนา เซ่งไพเราะ และนายชูศักดิ์ ศิรินิล ในฐานะตัวแทนผู้ถูกร้อง ได้ซักค้าน พล.อ.สมเจตน์ ว่า พล.อ.สมเจตน์ เป็น ส.ว. ทราบดีว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเดินหน้าไม่ได้ หากส.ว.ไม่เสนอสัดส่วนกรรมาธิการพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญขึ้น แต่ทำไม พล.อ.สมเจตน์ กลับเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการฯ ยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และที่คิดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการล้มล้างการปกครองฯ ก็เป็นการคิดไปเอง รวมทั้งที่ผ่านมา การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เคยใช้กระบวนการ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาแล้ว จึงอาจถือเป็นประเพณีปฏิบัติได้ เมื่อรัฐธรรมนูญ 50 ไม่ได้บัญญัติไว้โดยตรงว่าให้มีการตั้ง ส.ส.ร.
ทั้งนี้ พล.อ.สมเจตน์ ชี้แจงว่า ที่ผ่านมา ได้คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด เพราะเห็นว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่แตกต่างจากการรัฐประหารเพื่อฉีกรัฐธรรมนูญ เพียงแต่การรัฐประหารใช้ปืน แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ใช้ข้ออ้างเรื่องประชาธิปไตย
"ยอมรับว่าได้รับทราบถึงกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแต่ต้น แต่ไม่มีอำนาจใดๆ ไปคัดค้านการดำเนินการของรัฐสภา ซึ่งได้แสดงความเห็นต่อสาธารณะมาตลอดว่า ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะจะเกิดภัยร้ายแรงต่อประเทศชาติ จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และอัยการสูงสุด แม้ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 291/11 จะบัญญัติให้การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจะกระทำไม่ได้ ก็จริง แต่กระบวนการในการวินิจฉัยประเด็นนี้ อยู่ที่ประธานรัฐสภาแต่เพียงผู้เดียว ผมไม่สามารถเอาความมั่นคงของประเทศชาติ และการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ มาฝากไว้กับประธานรัฐสภาคนเดียว ยิ่งมีคลิปเสียงออกมา ยิ่งทำให้ไว้วางใจไม่ได้" พล.อ.สมเจตน์กล่าว
ส่วนการอ้างว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 35 ก็มีการตั้ง ส.ส.ร.และยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 นั้น จะเอามาเทียบเคียงกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้ เพราะในอดีตบริบทของสังคมเวลานั้น ต้องการให้เกิดการปฏิรูปการเมือง เพื่อปลดแอกจากทหาร และต้องการนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง แต่บริบทสังคมเวลานี้ เกิดความขัดแย้งรุนแรง อีกทั้งสมาชิกของพรรคเพื่อไทยและอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย เช่น นายอดิศร เพียงเกษ ก็ปราศรัยเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า "ใฝ่ฝันที่อยากจะเห็นสถาบันฯ ของเรา เป็นเพียงสัญลักษณ์ เหมือนประเทศอังกฤษ" ซึ่ง ก็คือ แตกต่างจากปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง เห็นว่ามีความมุ่งร้ายกับสถาบันฯ อย่างชัดเจน ดังนั้น บริบทของสังคมในปี 40 และ 50 จึงแตกต่างกัน
ในการซักค้านของนายชูศักดิ์ ได้มีการหยิบยกคำสัมภาษณ์ของ นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ขณะนั้นเป็น ส.ส.ร. ระบุว่า ให้มีการรับร่างรัฐธรรมนูญ 50 ไปก่อน แล้วค่อยไปแก้ไขมาตราเดียว ก็แก้ได้ทั้งฉบับแล้ว ซึ่งทำให้นายจรัญ ต้องขอชี้แจง โดยระบุว่า ในขณะนั้นได้แสดงความเห็นว่า ถ้าเราไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 50 ก็จะไม่พ้นระบอบรัฐประหาร จึงน่าจะรับไปก่อน ถ้าไม่เหมาะสมตรงไหน ก็แก้ไขได้ แต่ไม่ได้บอกว่าแก้มาตราเดียว แล้วเลิกทั้งฉบับได้ ตนไม่เคยพูด
**"ภารดร"ปะทะคารม"สมเจตน์"
ต่อมา นายภารดร ปริศนานันทกุล ผู้ถูกร้องที่ 6 ได้ซักค้าน พล.อ.สมเจตน์ ซึ่งตลอดเวลาของการซักค้านทั้ง 3 ฝ่าย ค่อนข้างกล่าวด้วยน้ำเสียงมีอารมณ์ โดยเฉพาะเมื่อนายภารดร ถามว่า พล.อ.สมเจตน์ ก็อยู่ร่วมในการรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ซึ่งการปฏิวัติดังกล่าว ถือเป็นการล้มล้างการปกครอง และเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญ แต่ครั้งนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ให้อำนาจไว้ ซึ่ง พล.อ.สมเจตน์ ก็ตอบด้วยเสียงดังว่า “ผมไม่ร่วมปฏิวัติ ถ้าบอกว่าการรัฐประหาร เป็นการฉีกรัฐธรรมนูญ ผลของการแก้รัฐธรรมนูญนี้ ก็เป็นการฉีกรัฐธรรมนูญเหมือนกัน” ซึ่งนายภารดร ก็ตอบโต้ว่า “ผมทำตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ส.ส.ร. จะไปทำอะไรเหนือการตัดสินใจของพวกผม”
** ม.291ไม่ได้ให้แก้ไขทั้งฉบับ
ขณะที่การไต่สวนนายเดชอุดมนั้น นายวัฒนา ได้พยายามซักค้านถึงกรณีการตั้งส.ส.ร. และการที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา จะไม่ใช้อำนาจเพียงลำพังวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง แต่จะมีการตั้ง คณะกรรมการที่ประกอบไปภาคส่วนต่างๆ รวมถึงคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ จะสามารถคลายความกังวลได้หรือไม่ หรือมีบุคคลที่นายเดชอุดม อยากเสนอให้ร่วมเป็นคณะกรรมการฯ แต่นายเดชอุดม กล่าวว่า ตนเองไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้มาแต่ต้น และคิดว่าสังคมก็ไม่สบายใจ กับการที่จะให้อำนาจประธานรัฐสภาวินิจฉัยชี้ขาด แม้ประธานรัฐสภา ระบุว่า จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาช่วยพิจารณาก่อนตัดสินใจ ก็เกรงว่าประธานฯ จะทำผิดกฎหมาย ซึ่งความจริงไม่ควรมาถามคำถามนี้กับตน เพราะโดยข้อเท็จจริงรัฐธรรมนูญ ไม่มีเจตนาให้มีการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ
“จะได้ว่าถ้อยคำว่าใน มาตรา 291 ระบุชัดว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการดังต่อไปนี้ ซึ่งไม่ต้องเป็นนักกฎหมาย ก็รู้ว่าหมายความว่าอย่างไร แต่นักกฎหมายก็มาคุยกันว่า เมื่อมีถ้อยอย่างนี้อยู่ มันจะตั้ง ส.ส.ร. ได้ไหม ก็เห็นว่า ไม่ได้ การจะแก้ไขต้องให้รัฐสภาดำเนินการ"นายเดชอุดมกล่าวชี้แจง
อย่างไรก็ตาม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ขอความเห็นนายเดชอุดมว่า อำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญ เป็นของใคร ซึ่งนายเดชอุดม กล่าวว่า หลักการอำนาจนี้ เป็นของประชาชน โดยเสียงส่วนใหญ่ แต่วันนี้ที่มาชี้แจงต่อศาลฯ คือ การแปรความรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญนี้ ได้ผ่านเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนมาแล้ว
ส่วนนายวันธงชัย ผู้ร้องที่ 2 ชี้แจงว่า เหตุที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เนื่องจากเห็นว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ไม่เปิดช่องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในลักษณะยกเลิกรัฐธรรมนูญ 50 ทั้งฉบับ และอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นของรัฐสภา ไม่ใช่การตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาทำการ
**"จรัญ"ถอนตัวจากองค์คณะ
ส่วนการไต่สวนในช่วงบ่าย คณะตุลาการได้เริ่มในเวลา 14.00 น. โดยเมื่อคณะตุลาการฯ ออกนั่งบัลลังก์ ได้แจ้งคู่กรณีว่า เหตุที่ออกนั่งบัลลังก์ช้า เนื่องมาจากกรณีที่มีการอ้างถึงคำให้สัมภาษณ์ของนายจรัญ เมื่อครั้งเป็น ส.ส.ร. ทำให้นายจรัญ ไม่สบายใจ และขอถอนตัวจากการเป็นองค์คณะพิจารณาคดีนี้ ซึ่งที่ประชุมคณะตุลาการ ก็อนุญาต แต่นายชูศักดิ์ ได้ชี้แจงว่า การที่ตนเองอ้างคำสัมภาษณ์ของนายจรัญ ไม่ได้เป็นการคัดค้านการเป็นองค์คณะ นายวสันต์ จึงอธิบายต่อว่า การขอถอนตัวเกิดจากการที่นายจรัญ ไม่สบายใจ ซึ่งนายจรัญ บอกว่า ถ้าท่านจะตัดสินใจ ก็เท่ากับว่า คนรู้ความเห็นของท่านล่วงหน้าแล้ว เพราะท่านต้องตัดสินไปตามสิ่งที่ท่านเคยแสดงความคิดความเเห็นเอาไว้ การที่ท่านชี้แจงขณะไต่สวน ก็เหมือนท่านเปิดเผยความเห็นของท่านไปแล้ว ซึ่งที่ประชุมคณะตุลาการฯ ก็เห็นด้วยจึงอนุญาตให้ถอนตัวจากการเป็นองค์คณะ
** "จรัญ" รับเคยพูดเรื่องม.291 จริง
ด้านนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ 100.5 เอฟเอ็มถึงการถอนตัวจากองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้พิจารณาคำร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยกฎหมายว่า ได้ตัดสินใจโดยทันที หลังจากที่ฝ่ายผู้ถูกร้องได้มีการอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของตนในอดีต ในห้องพิจารณาคดี และเมื่อเสร็จสิ้นการไต่สวนในช่วงเช้า จึงได้รีบให้เจ้าหน้าที่ไปค้นคำให้สัมภาษณ์ และหลักฐานต่างๆ ก็พบคลิปที่เคยกล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้ โดยตรวจสอบคำพูดอย่างละเอียดแล้ว ก็เห็นว่า เป็นการพูดในช่วงการรณรงค์ให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ซึ่งได้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรา 291 ไว้ด้วย จึงเห็นว่าหากทำหน้าที่ต่อไปคงไม่สมควร และจะถูกมองว่าทำหน้าที่โดยอคติในการตัดสินคำร้องนี้
**“จรัญ”ถอนตัวอาจเสียงเท่ากัน
แหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า หลังจากที่นายจรัญ ถอนตัวจากการเป็นองค์คณะ ส่งผลให้มีตุลาการที่เป็นองค์คณะวินิจฉัยคำร้องนี้ เหลือเพียง 8 คน ซึ่งการลงมติวินิจฉัยอาจเกิดปัญหาเสียงเท่ากัน ซึ่งในข้อกำหนดวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้กำหนดให้ประธานออกเสียงชี้ขาดได้เหมือนกับกกต. ที่พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งให้อำนาจไว้ แต่ในแนวปฏิบัติของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา หากเกิดปัญหาดังกล่าว ก็จะใช้วิธีอภิปรายเพื่อนำไปสู่การลงมติวินิจฉัยต่อไป โดยจะเป็นการนำประเด็นข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริง มาอภิปรายหักล้างจนโน้มน้าวให้ได้ข้อยุติ ที่เป็นเสียงข้างมาก หรือเสียงเอกฉันท์
อย่างไรก็ตาม ในร่างข้อกำหนดวิธีพิจารณาคดีศาลรัฐธรรมนูญที่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภา ได้มีบทบัญญัติที่เป็นการแก้ไขปัญหานี้ไว้ว่า กรณีเสียงลงมติตุลาการเท่ากัน ให้ยกประโยชน์ให้กับผู้ถูกร้อง แต่ข้อกำหนดนี้ จะยังไม่นำมาใช้กับการลงมติในคดีนี้ เนื่องจากยังไม่มีผลบังคับใช้
**“สมเจตน์”มั่นใจแจงครบถ้วน
พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา ในฐานะพยานฝ่ายผู้ร้อง กล่าวภายหลังเข้าชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า ตนไม่รู้สึกหนักใจกับการไต่สวนครั้งนี้ เพราะข้อซักถามของฝ่ายผู้ถูกร้อง ตนสามารถตอบได้ครบถ้วนทั้งหมด ส่วนกรณีที่นายจรัญ ขอถอนตัวจากองค์คณะนั้น ถือว่าเป็นสปิริต เมื่อถูกพาดพิงก็ถอนตัวออกไป ต่างจากนักการเมืองที่ไร้สปิริต จนประชาชนไม่ไว้วางใจ อย่างไรก็ตาม คิดว่าการถอนของนายจรัญ จะไม่เป็นผลต่อคำวินิฉัย เพราะยังเหลือตุลาการอีก 8 ท่าน ทั้งนี้ เมื่อที่สุดแล้วผลออกมาจะเป็นอย่างไร ก็พร้อมเคารพ
** เชื่อ"คลิปสมศักดิ์"มีผลต่อคดี
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา ในฐานะทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่อนุญาติให้เปิดคลิปที่มีความยาว 20 นาที ในห้องพิจารณาความว่า คลิปดังกล่าว จะเป็นหลักฐานที่น้ำหนักมากพอในการชี้ให้เห็นว่าฝ่ายผู้ถูกร้องมีปัญหากับอำมาตย์ และต้องการทำลายความน่าเชื่อถือของสถาบัน และมีความตั้งใจยุบศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อต้องการรวบอำนาจไว้ที่ตัวเองเบ็ดเสร็จ
ทั้งนี้ จากการฟังการไต่สวนวันนี้ เป็นบริบทเดิม คือ ต้องการล้มล้างคดี และให้พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง โดยไม่ต้องรับผิดใดๆ ส่วนการถอนตัวของนายจรัญ มองว่า นายชูศักดิ์ ศิรินิล ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ตั้งใจการก้าวล่วงตุลาการ จนต้องถอนตัว เพื่อป้องศักดิ์ศรี แต่ก็ต้องเคารพการตัดสินใจของนายจรัญ
**รัฐบาลมั่นใจแจงศาลรัฐธรรมนูญได้
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนมีความมั่นใจในการชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ (6ก.ค.) ในฐานะผู้ถูกร้อง ซึ่งวันนี้สังคมได้เห็นแล้วว่า เจตนาของรัฐบาลเพียงต้องการให้มี ส.ส.ร. ขึ้นมาทำหน้าที่ในการร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น ส่วนปัญหาที่ผู้ร้องยื่นมานั้น เป็นเรื่องของการคาดการณ์ในอนาคต
นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนคิดว่าไม่ได้ทำอะไรผิด ตนต้องไปยืนยันตามที่ได้ชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรไปแล้ว และความมั่นใจก็ยังมีเหมือนเดิม ไม่ได้มากขึ้นหรือน้อยลง จากนั้นจะต้องดำเนินการอย่างไรก็ต้องแล้วแต่ขั้นตอนของศาลรัฐธรรมนูญ จะให้ยืนยันสิ่งที่ได้ชี้แจงไป หรือจะมีการซักถามอะไรเพิ่มเติม ก็จะทำตามที่ศาลกำหนดขั้นตอนไว้
**“ม็อบแดง” อย่าเพิ่งชุมนุมกดดันศาลฯ
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนตื่นตัว และรับรู้ว่าองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้เริ่มการไต่สวนและวินิจฉัยแล้ว โดยกลุ่มมวลชนต่างๆ ในพื้นที่ รวมถึงกลุ่มคนเสื้อแดง ต่างก็สอบถาม และพูดถึงการเตรียมความพร้อมในการเดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯ เพื่อแสดงพลังต่อกรณีนี้ ซึ่งตนได้ให้คำแนะนำไปยังกลุ่มคนเสื้อแดงว่า ยังไม่ให้มีการชุมนุม เพื่อแสดงพลังใดๆ เพราะโดยส่วนตัวยังเชื่อมั่นว่า องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังสามารถที่จะกลับคืนสู่ความเหมาะสม และเป็นที่พึ่งของสังคมในระบอบประชาธิปไตยได้ เพราะความสงสัยรอบใหม่ได้เริ่มต้นเกิดขึ้น เมื่อไปรับคำร้องโดยไม่ผ่านอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมมองเรื่องนี้กันมาก