xs
xsm
sm
md
lg

“สุรพล” ชี้แก้ รธน.ต้องถามประชาชนก่อน มองตั้ง ส.ส.ร.แค่ตีเช็คเปล่า หวั่นให้อำนาจ ปธ.สภาชี้ขาดอันตราย!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เบิกความต่อคณะตุลาการศษลรัฐธรรมนูญในฐานะพยานฝ่ายผู้ร้อง
อดีตอธิการบดี มธ. ชี้ศาลมีอำนาจตีความมีอำนาจรับคำร้อง ม.68 เหตุมีช่องวินิจฉัยเองได้ ส่วนการแก้ ม.291 ที่ยกเลิกทั้งฉบับขัด รธน.เพราะเป็นฉบับประวัติศาสตร์ ผ่านการลงประชามติ จึงแก้ไขเองไม่ได้ ถ้าไม่สอบถามความเห็นเจ้าของตัวจริง อีกทั้งการตั้ง ส.ส.ร.เป็นการตีเช็คเปล่า ทั้งที่ประชาชนยังไม่รู้จะแก้อะไร เพื่ออะไร เผยให้อาจารย์นิติศาสตร์ เป็น ส.ส.ร.ขาดความเป็นอิสระ ไม่มีการกระบวนการพิสูจน์หลักฐาน ไม่น่าเชื่อถือ ก่อนระบุการให้อำนาจประธานรัฐสภาชี้ขาดอันตรายยิ่งกว่า

วันนี้ (5 ก.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น.ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มี นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ เป็นประธาน ได้ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนผู้ร้องและพยานในคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ ต่อเนื่องจากเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา

โดยเมื่อคณะตุลาการออกนั่งบัลลังก์ก็ได้แจ้งคู่กรณีว่า เหตุที่ออกนั่งบัลลังก์ช้าก็เนื่องมาจากกรณีที่มีการอ้างถึงคำให้สัมภาษณ์ของนายจรัญ เมื่อครั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.ซึ่งทำให้นายจรัญ ไม่สบายใจ และขอถอนตัวจากการเป็นองค์คณะพิจารณาคดีนี้ ซึ่งที่ประชุมคณะตุลาการก็อนุญาต แต่ นายชูศักดิ์ ศิรินิล ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ก็ได้ชี้แจงว่าการที่ตนเองอ้างคำสัมภาษณ์ของนายจรัญ ไม่ได้เป็นการคัดค้านการเป็นองค์คณะ

นายวสันต์จึงอธิบายว่า การขอถอนตัวเกิดจากการที่นายจรัญไม่สบายใจ ซึ่งนายจรัญบอกว่า ถ้าท่านจะตัดสินใจก็เท่ากับว่า คนรู้ความเห็นของท่านล่วงหน้าแล้ว เพราะท่านก็ต้องตัดสินไปตามสิ่งที่ท่านเคยแสดงความคิดความเห็นเอาไว้ การที่ท่านชี้แจงขณะไต่สวน ก็เหมือนท่านเปิดเผยความเห็นของท่านไปแล้ว ซึ่งที่ประชุมคณะตุลาการก็เห็นด้วยจึงอนุญาตให้ถอนตัวจากการเป็นองค์คณะ

จากนั้น นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรประชาธิปัตย์ ผู้ร้องที่ 3 ได้ขออนุญาตศาลเพื่อขอเปิดคลิปภาพ และเสียงของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี, นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่ม นปช., นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย, นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้เห็นถึงพฤติกรรมของบุคคลซึ่งสามารถบ่งชี้ได้ว่า มีกระบวนการล้มล้างการปกครอง อย่างแท้จริง แต่ศาลเห็นว่า นายวิรัตน์ ได้มีการถอดเทปถ้อยคำดังกล่าวแล้วนำส่งศาลแล้ว จึงไม่อนุญาตให้มีการเปิด

จากนั้น นายวิรัตน์ก็ได้ไล่เรียงถึงเหตุการณ์เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐสภา ว่า การล้มล้างรัฐธรรมนูญที่บอกว่าเหตุการณ์ยังไม่เกิดขึ้น จริงๆ แล้วเกิดขึ้นทันที เมื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่ข้อเท็จจริงแล้วการแก้ไขทำได้ แต่ไม่ใช่แก้มาตราเดียว ยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แล้วให้มี ส.ส.ร.ตรงนี้เท่ากับเป็นการกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 แล้ว

ทั้งนี้ พฤติกรรมการล้มล้างการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีการเดินทั้งในและนอกสภา ในสภาก็ใช้เสียงข้างมาก นอกสภาก็ใช้กำลังข่มขู่ ที่อยากได้ ส.ส.ร.เพราะแม้มาจากการเลือกตั้ง แต่ 45 คน ใน 77 คน มาจากพรรคเพื่อไทยแน่ และยังมีอีก 22 คนสายผู้ทรงคุณวุฒิ ก็มาจากพรรคเพื่อไทยอีก ถ้าผู้มีอำนาจอยากได้อะไรก็ได้แน่นอน เมื่อ ส.ส.ร.ร่างออกมาแล้วก็มาอยู่ที่ นายสมศักดิ์ ประธานสภา

“ถ้าประธานสภาเป็นคนดีก็แล้วไป เช่น วางตัวเป็นกลาง แล้วมีคลิปที่โฆษกพรรคเพื่อไทย ยอมรับว่า เป็นเสียงนายสมศักดิ์ จริง ประธานสภา เป็นเครื่องมือรัฐบาลในการขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปรองดอง การให้อำนาจประธานรัฐสภา เป็นผู้มีอำนาจชี้ขาด ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการล้มล้างการปกครอง หรือเปลี่ยนรูปแบบรัฐหรือไม่ มันผิดระบบ และเชื่อว่า ถึงตรงนั้นไม่มีศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน ทุกอย่างก็จบ ไม่มีการตรวจสอบ อันนี้คือกระบวนการไม่ชอบ และเดินมาเสร็จเรียบร้อยไปแล้ว ความผิดสำเร็จแล้ว” นายวิรัตน์กล่าว

นายวิรัตน์ยังชี้แจงว่า การจะล้มล้างการปกครองได้ ผู้ถูกร้องคิดแล้วว่าจะทำได้ก็ต้องลดความน่าเชื่อของสถาบันหลัก จะเห็นได้ว่า บุคคลในรัฐบาลหลายคน มีการพูดถึงสถาบันและใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมในการเรียกเอ่ยถึงบุคคลเบื้องสูง เช่น คำว่า “คุณลุงสั่งฆ่า คุณป้าสั่งยิง” หรือมีการใช้รูปสัญลักษณ์ “ตาสว่าง” โดยอ้างถึงคำแปลของบางคน ว่า หมายถึงการให้เอาระบบกษัตริย์ออกไปทั้งหมด ซึ่งการกระทำต่างๆ ล้วนแต่ขัดกับถ้อยคำที่บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าจะเทิดทูนสถาบัน

เมื่อ นายวิรัตน์ชี้แจงมาถึงตรงนี้ นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็ได้คัดค้าน โดยอ้างว่านายวิรัตน์อ้างถึงแต่บุคคลภายนอกที่คนเหล่านี้ ไม่รู้ว่าจะมาเป็น ส.ส.ร.หรือไม่ กระทั่ง นายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็ระบุว่า เข้าใจในการคัดค้าน แต่การจะสรุปว่า เป็นการล้มล้างการปกครองอย่างไร ผู้ร้องก็ต้องกล่าวถึงที่มาที่ไปก่อน

นายวิรัตน์จึงชี้แจงต่อว่า ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ระบุว่า จะไม่แตะต้องหมวดของพระมหากษัตริย์ แต่ต้องไม่ลืมว่าอำนาจของพระมหากษัตริย์ ตามรัฐธรรมนูญมีอยู่ในอีกหลายมาตรา ทั้งในเรื่องการตราพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด การประกาศกฎอัยการศึก การประกาศสงคราม การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่มีหลักประกันใดว่าจะไม่มีการแก้ไข

“ทั้งหลายทั้งปวง บงการโดยทักษิณ เพื่อหวังกลับประเทศ กลับไม่ได้เพราะรัฐธรรมนูญ 50 มี จึงต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 50 แต่ก็ใช้เวลานานก็เลยต้องออกกฎหมายปรองดองด้วย ทักษิณเคยบอกว่า อำมาตย์ต้องหยุดรังสีอำมหิต ที่คนบอกว่า อำมาตย์ คือ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ผมว่าไม่ใช่ เพราะทักษิณเคยใช้คำว่า เท็จทูล ซึ่งถ้าผู้ถูกร้องถามว่า จะให้ทำอย่างไรผมถึงจะสบายใจ ก็คือ ให้ถอนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไป และยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ต่างจากสมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ เพราะการแก้ครั้งนี้เป็นการแก้ที่ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 50 ทั้งฉบับ” นายวิรัตน์ กล่าว

ต่อมา นายสุรพล นิติไกรพจน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พยานฝ่ายผู้ร้องที่ 3 กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่า อำนาจในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะหากพบว่า มีการกระทำที่จะมีการล้มล้างการปกครอง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 กฎหมายไม่ได้ให้เป็นหน้าที่ของศาลปกครอง หรือศาลยุติธรรม แต่เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนในเรื่องการรับวินิจฉัยนั้น จากการศึกษารัฐธรรมนูญ และรายงานของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 50 พบว่า ไม่มีความประสงค์ที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญรับคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 โดยไม่ผ่านอัยการสูงสุด

ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ยกร่างจะประสงค์อย่างไร ถ้อยคำที่เป็นลายลักษณ์อักษรของรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ตนเห็นว่า ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถตีความว่า ศาลมีอำนาจที่จะรับคำร้องนี้ไว้วินิจฉัยได้ ซึ่งก็ตรงกับคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 1/2489 ในคดีอาชญากรสงคราม ที่บอกว่า ศาลอาจตีความกฎหมายเองได้ และองค์กรศาลย่อมมีอำนาจชี้ขาดว่าข้อใดเป็นกฎหมายหรือไม่ โดยหมายรวมถึงการควบคุมกฎหมายไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญด้วย และหลักนี้นักกฎหมายมหาชนของไทย ต่างก็ให้การยอมรับ ตนจึงเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจที่จะวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องนี้

ในส่วนของการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่เป็นยกเลิกรัฐธรรมนูญ 50 ทั้งฉบับนั้นน่าจะเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญ 50 เป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรฉบับเดียวในประวัติศาสตร์ ที่ผ่านประชามติของประชาชนทั้งหมด จึงเป็นสัญลักษณ์ของการใช้อำนาจอธิปไตยโดยตรงของประชาชน ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีสารสำคัญเป็นการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จึงไม่พึงกระทำโดยผู้ถืออำนาจอธิปไตยที่เป็นเพียงตัวแทนปวงชน โดยไม่มีการสอบถามความเห็นของผู้ที่เป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตัวจริงเสียก่อน ว่า สมควรที่จะมีการแก้ไขหรือไม่

“กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กระทำกันนั้น ไม่มีขั้นตอน หรือกระบวนวิธีพิจารณาใดที่ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 291 บัญญัติไว้เลย เพราะเขียนแก้เป็นรายมาตรา ชอบด้วยกลไกรัฐสภา แต่ผลของการแก้ไขมาตราเดียว มีผลอัตโนมัติเป็นการทำลายล้างรัฐธรรมนูญ 50 ในทันที และหลังจากนั้น 7-8 เดือน รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะมีผลใช้บังคับ ซึ่งการลงประชามติไม่ได้เป็นการลงว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขหรือไม่ และจะรับไม่รับมาตราใด สุดท้ายเมื่อ ส.ส.ร.ยกร่างเสร็จสิ้น และมีการลงประชามติก็จะเป็นการลบล้างรัฐธรรมนูญ 50 ทั้งฉบับ” นายสุรพลกล่าว

จากนั้น นายวัฒนา และ นายชูศักดิ์ ก็ได้ซักค้านว่า ถ้าจะให้มีการทำประชามติว่าประชาชนเห็นควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 หรือไม่ ประชาชนจะรู้ได้อย่างไรว่าจะแก้อะไรบ้าง และเมื่อครั้งมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญปี 49 การลงประชามติก็ไม่บริสุทธิ์ผุดผ่อง โดยมีการชี้นำว่า หากไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 50 ก็จะมีการนำรัฐธรรมนูญฉบับอื่นมาใช้บังคับ จะมั่นใจได้อย่างไร ว่า ถ้าประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 จะไม่มีการชี้นำ รวมทั้งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 วรรคหนึ่ง (2) ก็มีบทบัญญัติห้ามเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือรูปแบบรัฐ ถ้ามีการดำเนินการดังกล่าวก็ถือเป็นความผิดอาญาหรือไม่ และการที่ประธานรัฐสภาจะมีการตั้งคณะกรรมการที่เป็นอาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ช่วยพิจารณาทำให้คลายกังวลหรือไม่

นายสุรพลชี้แจงว่า ปกติกระบวนการประชามติในประเทศตะวันตก จะมีการกำหนดประเด็นแต่ต้นว่าจะแก้ไขเรื่องอะไร และจะมีการบอกว่าถ้าจะแก้จะมีประเด็นใดบ้าง เพื่ออะไร ซึ่งถ้าในกรณีนี้จะมีการทำประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 ก็ต้องทำในลักษณะนี้ ส่วนการลงประชามติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 49 ที่ขณะนั้นมีการระบุว่า หากประชาชนไม่รับ คณะรัฐประหารในขณะนั้นจะนำรัฐธรรมนูญฉบับใดมาบังคับใช้ก็ได้นั้น เห็นว่า ขณะนั้นรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 2549 ไม่สามารถจัดระบบการเมืองการปกครองได้เลย ซึ่งเมื่อกับสถานการณ์ในขณะนี้มีรัฐธรรมนูญใช้อยู่แล้ว การทำประชามติน่าจะเป็นไปได้ไม่ยาก และผลการประชามติที่จะออกมาไม่ว่าเป็นอย่างไร แม้จะมีข้อคัดค้านว่า มีการจูงใจ แต่ก็ถือว่าประชาชนได้แสดงเจตนาแล้ว

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่ให้มีการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น ก็เห็นว่า ส.ส.ร.มีอำนาจหน้าที่ในลักษณะองค์กรกลุ่ม เมื่อดำเนินการยกร่างๆ ความเห็นในขณะนั้นมันจะยังไม่เป็นที่สุด ตราบที่ยังไม่ได้มีการประชามติ หรือเป็นรัฐธรรมนูญแล้ว การจะเอามาให้ศาลพิจารณา มันเป็นเพียงความเห็น ส่วนจะไปเอาผิดในคดีอาญาได้หรือไม่ ไม่อยู่ในวิสัยที่ตอบได้ แต่การที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมีการบัญญัติให้ประธานรัฐสภามีอำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดว่า การแก้ไขนั้นเป็นการล้มล้าง หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐนั้น เพราะตรงนี้เป็นปัญหามากที่สุดของรัฐธรรมนูญนี้ เพราะก็ไม่ได้บอกว่าถ้าประธานรัฐสภาเอาให้ที่ประชุมวินิจฉัยได้หรือไม่

ทั้งนี้ การที่ประธานจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาช่วยให้ข้อมูลในการพิจารณา ตนก็เชื่อว่า การวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นการเมือง การปกครอง ที่ทำโดยองค์กรที่ขาดความเป็นอิสระ ไม่มีการกระบวนการพิสูจน์หลักฐาน ไม่น่าเชื่อถือทั้งสิ้น ซึ่งแนวทางที่น่าจะเป็นควรให้องค์กรตุลาการที่มีความเป็นอิสระ และมีกระบวนการพิสูจน์พยานหลักฐานเป็นผู้ชี้ขาดซึ่งก็คือศาลรัฐธรรมนูญ และหากเกรงว่าศาลจะประวิงเวลาก็สามารถกำหนดให้ศาลพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 15 หรือ 30 วันก็ได้

ด้าน นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานผู้ถูกร้องที่ 6 ก็ได้ซักค้านว่า เมื่อรัฐธรรมนูญ 50 ผ่านประชามติ ก็เท่ากับว่า มาตรา 7 ได้รับความเห็นชอบจากประชาชน ดังนั้น การยึดหลักธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติตามมาตรานี้ในการตั้ง ส.ส.ร.ก็น่าจะสามารถทำได้ และที่มีการพูดกันว่า ตั้ง ส.ส.ร.ที่จะมีขึ้นเป็นการให้เช็คเปล่านั้น ถามว่า เมื่อครั้งร่างรัฐธรรมนูญ 50 นั้น ไม่มีการให้เช็คเปล่ากับ ส.ส.ร.ในขณะนั้นหรือ

นายสุรพลชี้แจงว่า จริงอยู่ที่เมื่อรัฐธรรมนูญ 50 ผ่านประชามติก็เท่ากับมาตรา 7 ได้รับการยอมรับให้นำมาใช้ได้ แต่ถ้าเมื่อรัฐธรรมนูญนี้เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจอธิปไตยโดยตรงของประชาชนในการทำประชามติ การจะประชามติถามประชาชนก่อนว่าสมควรแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ จึงน่าจะถูกต้องกว่า และแม้จะอธิบายว่า ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ไมได้บอกเลยว่า จะให้ ส.ส.ร.ไปร่างรัฐธรรมนูญมาอย่างไรเหมือนกับเป็นการให้เช็คเปล่า ส.ส.ร.ไปกรอกตัวเองเองว่าจะแก้อย่างไรก็ได้ แล้วค่อยมาให้ประธานรัฐสภาชี้ขาดว่าการแก้ไขเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รูปแบบรัฐหรือไม่ ซึ่งมันอันตรายเสียยิ่งกว่าให้มีการลงประชามติเสียแต่ต้นว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 หรือไม่

อีกทั้งการร่างรัฐธรรมนูญโดย ส.ส.ร.ที่ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญ 50 ก็เป็นการร่างหลังประเทศผ่านการรัฐประหาร ซึ่งรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 49 ที่มีอยู่ขณะนั้น 30 มาตราไม่สามารถจัดระบบการเมือง การปกครองได้ การมี ส.ส.ร.ก็เพื่อนำประเทศกลับไปสู่ระบบที่ควรจะเป็น แต่ถามว่าขณะนี้ประเทศเราไม่มีประชาธิปไตยจริงหรือ เรามีการเลือกตั้งมา 2 ครั้ง มีรัฐบาลที่บริหารประเทศเป็นปกติ แต่ก็มีการแก้ไขยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยที่คนทั่วไปยังไม่รู้เลยว่าจะแก้เรื่องอะไร เพราะอะไร นอกจากรัฐธรรมนูญนี้มีที่มาจากการปฏิวัติ

ด้าน นายวรินทร์ เทียมจรัส อดีต ส.ว.สรรหา ผู้ร้องที่ 4 ชี้แจงว่า แม้ผู้ถุกร้องจะอ้างว่าไม่มีเจตนาในการล้มล้างรัฐธรรมนูญ แต่ข้อเท็จจริง หลักฐานชัดเจนว่า มีการกระทำที่เป็นล้มล้าง และความผิดสำเร็จแล้ว เนื่องจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับ เขียนไว้ชัดเจนว่าจะมีการตั้ง ส.ส.ร.ที่ถือเป็นการยืนยันว่าจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญใหม่แน่นอน

แต่ในมาตรา 291 เขียนชัดเจนว่า การแก้ไขเพิ่มเติมต้องทำได้ภายใต้หลักเกณฑ์และวิธีการที่จะต้องไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง หรือรูปแบบรัฐใหม่ ซึ่งไม่สามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญ 2550 แตกต่างจากที่เขียนไว้ชัดเจนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมีการตั้ง ส.ส.ร.ในการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยมาตรา 7 อีกทั้งรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ปรากฏว่า ให้อำนาจรัฐสภา ถ่ายโอนอำนาจที่ได้มาจากประชาชนมอบให้บุคคลอื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจเฉพาะตัว ไม่สามารถถ่ายโอนอำนาจให้ใครได้ ถือว่าการกระทำดังกล่าวได้มาซึ่งอำนาจที่ไม่ถูกต้อง

ทั้งนี้ การตีความของอัยการสูงสุด ใช้อำนาจก้าวล่วงในกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งตนไม่เห็นด้วย การกระทำดังกล่าวมีกระบวนการล้มล้างการปกครองหรือไม่นั้น จะเห็นได้ว่า มีการกระบวนการต่างๆ ที่จะก้าวล้วงกระบวนการศาลยุติธรรม ที่อ้างว่ากระบวนการยุติธรรมจะต้องมาจากการเลือกตั้ง ที่สำคัญที่สุด คือ การแสดงหลักการ และเหตุผลในร่างทั้ง 4 ฉบับ ยืนยันว่า จะมีการตั้ง ส.ส.ร.ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญแน่นอน รวมถึงการแต่งตั้งองค์กรอิสระซึ่งเป็นอำนาจในส่วนพระองค์มาตลอด มีหลักประกันอะไรที่ ส.ส.ร.จะไม่ไปแตะ ทั้งที่กระแสข่าวรุมเร้าในทางนี้มาตลอด

“ผมยืนยันว่า กระบวนการถ่ายโอนอำนาจจากรัฐสภามายัง ส.ส.ร.ไม่สามารถทำได้ อีกทั้งเจตนารมณ์ของมาตรา 291 ได้ระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องมีการกำหนดประเด็นเนื้อหาที่จะแก้ไขไว้อย่างชัดเจนเสียก่อน ซึ่งถือว่าหลักเกณฑ์นี้ผิดตั้งแต่ต้นแล้ว ผมไม่เชื่อใจประชาชนที่จะเลือก ส.ส.ร.เพราะกระบวนการได้มา มันไม่สุจริตตามปรัชญาและเจตนารมณ์ของกฎหมาย ในทางปฏิบัติผมไม่เชื่อว่าการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง ไม่ได้ดูที่คุณสมบัติของตัวบุคคล แต่ดูแค่ว่าเป็นคนของพรรคใด พวกใดเท่านั้น” นายวรินทร์ กล่าว

ส่วน นายบวร ยสินธร แกนนำเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบัน ผู้ร้องที่ 5 กล่าวว่า หากจะพิจารณาว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เป็นไปตามมาตรา 68 หรือไม่นั้น ต้องมาดูก่อนว่า ในมาตรา 68 กำหนดไว้ว่า การกระทำผิด คือ การล้มล้างระบอบการปกครอง ซึ่งมีความหมายเช่นเดียวกับการให้รัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง หรือยกเลิกรัฐธรรมนูญ แต่ในมาตรา 291/11 ที่มีการแก้ไขกำหนดไว้เพียงว่า ห้ามไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งแตกต่างกัน เนื่องจากประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งเดียวเมื่อปี 2475

ฉะนั้น ในมาตรา 291/11 จึงไม่ครอบคุลมถึงมาตรา 68 อีกทั้งในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่ได้สงวนการแก้ไขการใช้พระราชอำนาจที่อยู่นอกเหนือจากหมวด 2 จะส่งผลให้เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ไม่มีพระราชอำนาจ รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมของประชาชน การตรวจสอบขององค์กรอิสระ เป็นต้น

นายบวรกล่าวต่อว่า หากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ควรจะกระทำตามมาตรา 136 ให้รัฐสภาเห็นชอบแล้วจึงให้มีการลงประชามติ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ผ่านการลงประชามติมาก่อน หลังจากนั้น จึงจะสามารถแก้ไขตามาตรา 291 ได้ แต่เมื่อรัฐสภาข้ามขั้นตอน แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อเพิ่มอำนาจของตัวเอง และยังไปให้อำนาจกับกลุ่มบุคคลอื่นมามีอำนาจในการร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนการนำคะแนนเสียงตอนเลือกตั้งมาเป็นข้ออ้างก็เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากจากคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นคะแนนนิยมในขณะนั้นเท่านั้น ฉะนั้น การแก้รัฐธรรมนูญในครั้งนี้จึงมีความผิดตามมาตรา 68

ทั้งนี้ การไต่สวนผู้ร้องและพยานเสร็จสิ้นในเวลา 17.25 น.รวมระยะเวลากว่า 7 ชั่วโมง โดยศาลได้นัดไต่สวนฝ่ายผู้ถูกร้องและพยานในวันนี้ (6 ก.ค.) ตั้งแต่เวลา 09.30 น.
กำลังโหลดความคิดเห็น