xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ความขัดแย้งในมหาวิทยาลัย !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ข้อเท็จจริงในช่วงเปลี่ยนผ่านของมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้นำไปสู่ข้อขัดแย้งเชิงอำนาจ และผลประโยชน์ระหว่างอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมากขึ้น

เหตุผลสำคัญคือ การเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยนั้น ทุกคนมีสิทธิและฐานะเท่าเทียมกัน

ความแตกต่างในเรื่องตำแหน่งทางบริหารนั้น เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นชั่วคราว

แต่ความแตกต่างที่สำคัญคือ ตำแหน่งทางวิชาการ ซึ่งจะติดตัวไปกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยไปตลอดชีวิต

ประกอบกับความแตกต่างระหว่าง สถานะความเป็นข้าราชการ และพนักงานในมหาวิทยาลัย ยังคงมีช่องว่างอยู่

ทำให้ความขัดแย้งระหว่างอาจารย์กับอาจารย์ อาจารย์กับผู้บริหารมหาวิทยาลัย มีมากขึ้น

ล่าสุดมีข้อเรียกร้องของ เครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา กว่า 40 แห่งทั่วประเทศ เพื่อขอความธรรม เรื่องสิทธิประโยชน์ และให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบต่างๆให้กับพนักงาน เพื่อได้รับสิทธิประโยชน์และการดูแลไม่น้อยกว่าหรือเท่าเทียมกับข้าราชการ เช่น สวัสดิการ สิทธิประโยชน์ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ เป็นต้น

แม้กระทั่ง ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ยังยอมรับว่า เรื่องสวัสดิการ การรักษาพยาบาล ระบบประกันสังคมต่างๆนั้น เป็นปัญหา เพราะแต่ละแห่งก็นำไปจัดสวัสดิการ ไม่เหมือนกัน มาตรฐานกลางไม่มี ซึ่งทปอ. อาจจะต้องนำปัญหานี้ไปหารือร่วมกันอีกครั้ง

สอดคล้องกับความเห็นของ ศ.(พิเศษ) ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา (พม.) ที่ยอมรับว่า พนักงานมหาวิทยาลัยมีปัญหาเรื่อของสิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่างๆที่ไม่เท่าเทียม หรือน้อยกว่าข้าราชการจริง ๆ

นั่นคือ ตัวอย่างของความขัดแย้งด้านสถานะการเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย

แต่ความขัดแย้งด้านอำนาจระหว่างอาจารย์ กับผู้บริหารในมหาวิทยาลัย มักจะปรากฏอยู่ในสำนวนการพิจารณาคดีของศาลปกครองเสมอ

แม้กระทั่งความขัดแย้งระหว่างอาจารย์ด้วยกันก็ตาม

ตามที่สำรวจข้อมูลในสำนวนการฟ้องร้องในศาลปกครอง ปรากฏว่ามีอาจารย์จำนวนมากฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ทั้งศาลปกครองกลาง ศาลปกครองสูงสุด

โดยเฉพาะ “นางสาวสุภาสินี ตันติศรีสุข” ฟ้องร้องต่อมหาวิทยาลัยสุโชทัยธรรมาธิราช มากถึง 6 คดี ทั้งคดีออกคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย การลดขั้นเงินเดือน เป็นต้น

ไม่รู้ว่า ยังทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัยได้อย่างไร โดยไม่มีจิตสำนึกต่อมหาวิทยาลัย !?

นอกจากนั้น ความขัดแย้งที่ปรากฏเป็นข่าว และถึงขั้นฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ก็คือ ความขัดแย้งในการสรรหาอธิการบดี

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ที่ผ่านมา ได้มีการแต่งตั้งอธิการบดีคนใหม่ ของมหาวิทยาลัยอีสาน

โดย รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ในฐานะคณะกรรมการการควบคุมมหาวิทยาลัยอีสาน ( มอส.) บอกว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ มอส. ได้พิจารณาการสรรหาอธิการบดี มอส.คนใหม่ ซึ่งที่ผ่านมามีผู้สมัคร จำนวน 10 คน แต่ขอถอนตัวจำนวน 5 คน เหลือ จำนวน 5 คน และในจำนวนนี้ มี จำนวน 1 คน ขาดคุณสมบัติ ทำให้เหลือผู้เหมาะสมจำนวน 4 คน

“ ดังนั้นประชุมได้ลงมติลับ ผลปรากฏว่า ดร.ฉันทวิทย์ สุตาชานนท์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดี มอส. ได้รับการสรรหา เป็นอธิการบดี มอส.คนใหม่ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. นี้”รศ.นพ.กำจร กล่าว

นอกจากนี้ คณะกรรมการได้รายงานต่อที่ประชุมเรื่อง “ ดร.อัษฎางค์ แสวงการ ” อดีตอธิการบดี มอส. ฟ้องศาลปกครองขอนแก่น กรณีถูกควมคุมไม่เป็นธรรม และขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อสั่งให้มีการยกเลิกคำสั่งควบคุม มอส. และคืนอำนาจการบริหารแก่ผู้บริหารชุดเดิม รวมทั้งเรียกค่าเสียหายจากคณะกรรมการควบคุมฯ 100 ล้านบาท ที่ทำให้มหาวิทยาลัยเสียหายด้วย

ก่อนหน้านี้มีความขัดแย้งในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ระหว่างคณบดี กับอธิการบดี

โดยเมื่อวันที่ 4 พ.ค.ที่ผ่านมา สภามหาวิทยาลัยได้สั่งตัดเงินเดือน นายกิตติบดี ใยพูล คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น แทนที่จะไล่ออก เพราะมีการประท้วงขับไล่อธิการบดีที่ได้ออกคำสั่งดังกล่าว

ความขัดแย้งเกิดขึ้น เมื่อต้นปี 2553 นายกิตติบดี ใยพูล คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น ขณะนั้นได้หมดวาระลง แต่สภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้สรรหาคณบดีขึ้นมาใหม่ โดยนายกิตติบดี ได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งต่อ ซึ่งระหว่างรอการรับรอง สภามหาวิทยาลัย ได้มีมติให้ นายกิตติบดี รักษาการไปก่อนเป็นเวลา 6 เดือน แต่เมื่อครบกำหนด สภามหาวิทยาลัยกลับแต่งตั้งให้ รศ.ดร.รังสรรค์ เนียมสนิท รองอธิการบดีฝ่ายแผนฯ ทำหน้าที่แทน โดยให้นายกิตติบดี ไปปฏิบัติหน้าที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์แทน

จากนั้น นายกิตติบดี ได้สอบถามสาเหตุที่ถูกปลด หรือโอนย้าย แต่สภามหาวิทยาลัย ยืนยันในการชี้แจงเดิม ทำให้เห็นว่าผู้บริหารโดยเฉพาะ รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดี ม.ขอนแก่น ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ขาดหลักธรรมาภิบาล จึงได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ต่อมาคณะกรรมการสิทธิฯ ได้วินิจฉัยว่า ผู้บริหาร ม.ขอนแก่นใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์ ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ด้วยการติดประกาศห้าม นายกิตติบดี และอาจารย์ อีก 6 คน เข้าบริเวณพื้นที่คณะนิติศาสตร์ การปฏิบัติดังกล่าวของผู้บริหาร เฉกเช่นอาชญากรร้ายแรง จึงเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

รศ.ดร.กิตติชัย อธิบายผลการสอบสวนวินัย นายกิตติบดี ที่มีพฤติกรรมทำให้ราชการเสียหาย หลังจากที่ไม่พอใจที่ถูกถอดถอนจากตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์ฯ ตามมติอำนาจของสภามหาวิทยาลัย จนนำไปสู่การฟ้องร้องอธิการบดี และผู้บริหาร ม.ขอนแก่น ว่า

“ พฤติกรรมของ นายกิตติบดี ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งคณบดีฯ มีการบริหารจัดการเงินกองกลางของคณะนิติศาสตร์ โดยไม่มีระเบียบรองรับ อีกทั้งในขณะนั้นเขาได้ไปเช่ารถยนต์มาใช้ในคณะฯ ทั้งที่ไม่มีอำนาจ ทำให้ราชการเสียหาย และเกิดข้อขัดแย้งเกิดขึ้นในคณะนิติศาสตร์ ในช่วงนั้น ทางคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย จึงได้พิจารณาโทษ ซึ่งคณะกรรมการฯ ก็มองว่า โทษไม่ได้ร้ายแรงถึงขั้นทำให้ราชการเสียหายมาก แต่เป็นการดำเนินการที่ไม่มีระเบียบรองรับ และไม่มีอำนาจในการดำเนินการ”

“ ตามกรอบระเบียบวินัยนั้น โทษที่ นายกิตติบดี ได้กระทำไปคือผิดร้ายแรง ถึงขั้นไล่ออก แต่ทางคณะกรรมการเห็นควรว่าการกระทำของเขาราชการไม่เกิดความเสียหายมากนัก จึงมีบทลงโทษคือ ลดขั้นเงินเดือนลง” อธิการบดี ม.ขอนแก่น บอกผลการรอมชอมกับคณบดี คณะนิติศาสตร์

ในเรื่องใช้อำนาจโดยมิชอบ ปลดออกจากตำแหน่งนั้น นายกิตติบดี ได้ร้องเรียนจนนำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลอาญาว่า อธิการบดีปลดออกจากตำแหน่งคณบดีฯ และฝ่ายบริหารคณะฯ โดยไม่มีเหตุผลอันควร แล้วแต่งตั้งบุคคลอื่น ขึ้นดำรงตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์ แทนนั้น

นอกจากนั้น นายกิตติบดี ยังได้ยื่นอุทธรณ์ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ร้องทุกข์และพิทักษ์ระบบคุณธรรม ประจำมหาวิทยาลัย (ก.อ.พ.ร.) และร้องต่อศาลปกครองจังหวัดขอนแก่น รวมถึงการร้องเพื่อขอให้ศาลปกครองจังหวัดขอนแก่น มีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการอย่างใดๆ เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยให้ระงับการสรรหาคณบดีคณะนิติศาสตร์ตามประกาศของมหาวิทยาลัยไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา และให้นายกิตติบดี ปฏิบัติงานต่อไปในตำแหน่งรักษาการคณบดีคณะนิติศาสตร์

แต่ผลก็คือทั้ง ก.อ.พ.ร. และศาลปกครองฯ ก็มีข้อสรุปไปในทิศทางเดียวกัน คือ การกระทำดังกล่าวของสภามหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเป็นไปโดยชอบและเป็นการดำเนินการภายใต้ขอบอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2541 อีกทั้งย่อมเป็นดุลยพินิจในการบริหารงานบุคคลของสภามหาวิทยาลัย ที่จะพิจารณาก่อนมีมติถอดถอนบุคลากรจากตำแหน่งได้

แม้ว่าผลการพิจารณาของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่พิจารณาคำร้องของ นายกิตติบดี ที่ร้องไปว่าผู้บริหารใช้อำนาจโดยมิชอบปลดจากตำแหน่งคณบดีฯ มีความผิด ก็ตาม ทำให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องจัดทำเอกสารขอให้คณะกรรมการสิทธิฯพิจารณาททวนอีกครั้ง

โดยก่อนหน้านี้เครือข่ายคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ภาคประชาชน 81 องค์กร จำนวน 200 คน ได้เดินขบวนไปยังตึกอธิการ ม.ขอนแก่น เพื่อขับไล่ รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตน์ศิริชัย อธิการบดี ม.ขอนแก่น หลังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้มีหนังสือรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยพบว่าว่า อธิการบดี ม.ขอนแก่น ใช้อำนาจปลด รศ.ดร.กิตติบดี ใยพูล ออกจากตำแหน่งคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยขาดความชอบธรรม

ความขัดแย้งในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็เคยเกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อสภามหาวิทยาลัยลงมติ ปลดอธิการบดี จนทำให้ต้องฟ้องร้องศาลปกครอง

แต่แล้วศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่ นายวิวัฒน์ชัย อัตถากร อดีตอธิการบดี ม.ศิลปากร ยื่นฟ้องสภามหาวิทยาลัยศิลปากร และม.ศิลปากร ผู้ถูกฟ้องที่1-2 เรื่องกระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณี สภามหาวิทยาลัย มีมติเมื่อวันที่ 24 พ.ค.50 ให้ดำเนินการถอดถอนนายวิวัฒน์ชัย ออกจากตำแหน่งอธิการบดี ม.ศิลปากร 

โดยศาลพิเคราะห์ข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า การที่สภามหาวิทยาลัยศิลปากร นำผลการสำรวจความคิดเห็นบุคคลาการของมหาวิทยาลัย การที่มีต่อปฏิบัติงานของนายวิวัฒน์ชัย ในฐานะอธิการบดี ม.ศิลปากรมา มาประกอบการพิจารณาถอดถอนนายวิวัฒน์ชัย ออกจากตำแหน่งอธิการบดี ม.ศิลปากร เป็นการกระทำที่ชอบตาม พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2530 ข้ออ้างของนายวิวัฒน์ชัย ฟังไม่ขึ้น

ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม “นางสุภรณ์ ลิ้มอารีย์” ก็ฟ้องมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ต่อศาลปกครองขอนแก่น ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีออกคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง (3) และ (4) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาสารคาม พ.ศ. 2537 และออกคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจาก พระราชบัญญัติการบริหารส่วนงานภายในของสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2550 และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2551 ขัดกับพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาสารคาม พ.ศ. 2537

คดีนี้ศาลปกครองชั้นต้น ได้มีคำสั่งยกคำขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินของผู้ฟ้องคดี
เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2552 แต่ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้นำคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีมาดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป และหากการฟ้องคดีนี้เป็นไปโดยถูกต้องตามเงื่อนไขแห่งการฟ้องคดีตามกฎหมาย ว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองและระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 กำหนด ก็ให้รับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณา โดยให้รับเอกสารเพิ่มเติมที่ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นต่อศาล เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2552 โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไว้ประกอบการพิจารณาด้วย และมีคำสั่งไม่รับคำขอกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาและขอให้ไต่สวนฉุกเฉินของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณา

การฟ้องร้องมหาวิทยาลัย ก็เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยศาสตราจารย์ เจริญศักดิ์ โรจนฤทธิ์พิเชษฐ์ ได้ฟ้องร้องมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ 1 สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ 2 และคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ 3 ต่อศาลปกครองกลาง และยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ต่อศาลปกครองสูงสุด

โดยคดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเพื่อดำรงตำแหน่งอธิการบดีของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในการสรรหาอธิการบดีครั้งนี้ มีผู้สมัครเข้ารับการสรรหา 5 คน คือ 1. ศาสตราจารย์ ดร.ธรรมศักดิ์ สมมาตย์ 2. ผู้ฟ้องคดี 3. ดร.สมุทร มงคลกิติ 4. รองศาสตราจารย์ วุฒิชัย กปิลกาญจน์ และ 5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประยุทธ พรรณวรรณ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้ให้ผู้สมัครแถลงนโยบายและวิสัยทัศน์ต่อคณะบุคลากรของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในวันที่ 10 มีนาคม 2549 โดยไม่มีการซักถาม กับได้ทำการหยั่งเสียงบุคลากรของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในวันที่ 13 มีนาคม 2549 และพิจารณากลั่นกรองตัวบุคคลเพื่อนำเสนอผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยไม่นำผลคะแนนจากการหยั่งเสียงบุคลากรของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา

ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้สรุปผลการสรรหาว่า ผู้ฟ้องคดีอยู่ในลำดับที่ 1 ศาสตราจารย์ ดร.ธรรมศักดิ์ สมมาตย์ อยู่ในลำดับที่ 2 รองศาสตราจารย์ วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อยู่ในลำดับที่ 3 แล้วเสนอต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในการประชุมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ครั้งที่ 3/2549 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2549 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีมติให้ลงมติเป็นการลับ โดยถือเอาคะแนนข้างมากไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการที่เข้าประชุม โดยไม่ได้ให้กรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 แสดงความคิดเห็นวิเคราะห์ผู้ถูกเสนอชื่อต่อที่ประชุม และไม่ได้นำเอาคะแนนหยั่งเสียงบุคลากรของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มาเป็นองค์ประกอบในการพิจารณาลงมติ

ในที่สุด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีมติลงคะแนนให้ รองศาสตราจารย์ วุฒิชัย กปิลกาญจน์ได้ 19 เสียง ผู้ฟ้องคดีได้ 10 เสียง และ ศาสตราจารย์ ดร.ธรรมศักดิ์ สมมาตย์ ไม่ได้เสียง โดยที่ประชุมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีมติและให้นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง รองศาสตราจารย์ วุฒิชัย กปิลกาญจน์ ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1

ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ในการประชุมครั้งที่ 4/2549 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2549 และมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในการประชุมครั้งที่ 3/2549 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2549

แต่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น เป็นยกฟ้อง

ทำให้ รองศาสตราจารย์ วุฒิชัย กปิลกาญจน์ ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาจนถึงทุกวันนี้

แต่เชื่อหรือไม่ว่า ความขัดแย้งในมหาวิทยาลัยจะยังอยู่ไปอีกนาน เพราะมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ทรัพย์สินของใครคนใดคนหนึ่งนั่นเอง !!!
รศ.วิวัฒน์ชัย อัตถากร
รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์
กำลังโหลดความคิดเห็น