“ชัจจ์” สั่ง “ยุทธนา” ทำแผนปฏิบัติการป้องกันรถไฟตกราง หลังจากนี้เกิดเหตุอีกผู้บริหารต้องรับโทษด้วย ชี้เหตุเกิดจากคนไม่เอาใจใส่ในหน้าที่ ขาดความเอาใจใส่ในการตรวจตราสภาพทางและรถจักร สั่งตรวจสภาพทาง ทางลงเขา ทางโค้งเน้นเป็นพิเศษ ลั่นได้หัวจักรใหม่ และปรับปรุงรางเสร็จทั่วประเทศปี 57 แจงตกรางที่ลำพูนนอตยึดรางไม่หาย “ยุทธนา” ให้ข้อมูลคลาดเคลื่อน
เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 55 พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ประชุมร่วมกับนายศิลปชัย จารุเกษมรัตนะ รักษาการปลัดกระทรวงคมนาคม, นายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ รองปลัดกระทรวง, นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในฐานะประธานคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และนายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. เพื่อสรุปสาเหตุและวางมาตรการป้องกันรถไฟตกรางซ้ำซาก โดย พล.ต.ท.ชัจจ์กล่าวว่า การที่รถไฟตกรางที่เกิดขึ้นบ่อยมาจาก 2 สาเหตุ คือ 1. สภาพทางและรางไม่ดี 2. สภาพตัวรถ ล้อเลื่อน ห้ามล้อและรถจักรไม่สมบูรณ์ ซึ่งปัญหามาจากบุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบไม่ตรวจตราดูแล ซ่อมบำรุง ทำให้มีการนำอุปกรณ์ที่ไม่พร้อมไปใช้จนเกิดอุบัติเหตุขึ้น
ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดมาตรการป้องกันเหตุ โดยให้นายยุทธนาจัดทำแผนปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทุกระดับให้ชัดเจน โดยจะต้องมีแผนการตรวจสภาพทาง ราง ขบวนรถ หัวจักร อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะทางโค้ง ทางลงเขา ขึ้นเขา และในจุดที่เป็นจุดเลี่ยง และต้องตรวจเช็กการกำหนดพิกัดความเร็วในแต่ละช่วงว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ โดยให้จัดทำแผนเสนอมาโดยเร็วที่สุด
อนึ่ง หลังจากนี้หากเกิดเหตุขึ้นอีกนอกจากเพิ่มโทษแล้ว ระดับผู้บังคับบัญชาระดับสูงก็จะต้องถูกลงโทษด้วย เชื่อว่าการเข้มงวดการลงโทษที่เด็ดขาด และการให้กำลังใจในการทำงาน โดยมีแผนปฏิบัติที่ชัดเจนจะช่วยให้เหตุรถไฟตกรางน้อยลงหรือไม่เกิดขึ้นอีก เพราะแนวทางดังกล่าวจะเป็นการกระตุ้นให้พนักงานทุกระดับชั้นตระหนักและให้ความใส่ใจต่อหน้าที่เพิ่มขึ้น
“ปัจจุบันรถไฟมีระเบียบปฏิบัติในการทำงาน การตรวจตราเส้นทางตามหลักวิชาการอยู่แล้ว อย่าไปโทษทางไม่ดีอย่างเดียว แต่เพราะคนปฏิบัติหย่อนยานการตรวจตรา ขาดจิตวิญญาณ ซึ่งจากนี้ไปต้องมีความตั้งใจมากขึ้น และผู้บริหารระดับสูงต้องลงไปตรวจตราบ่อยๆ ส่วนการลงโทษมีตั้งแต่ตักเตือน ตัดเงินเดือน ปลดออก ไล่ออก”พล.ต.ท.ชัจจ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีการปรับปรุงทางตามแผนแล้ว โดยจะมีการเปลี่ยนรางใหม่ ซึ่งเส้นทางสายเหนือจะแล้วเสร็จในปี 2556 สายใต้จะเสร็จในปี 2557 ส่วนการจัดซื้อหัวจักรใหม่ จำนวน 70 หัว และการซ่อมหัวจักร 56 หัวจะแล้วเสร็จในปี 2557 ซึ่งจะทำให้มีหัวจักรกว่า 200 หัว
ส่วนความคืบหน้าเหตุรถไฟขบวนรถด่วนนครพิงค์ เชียงใหม่-กรุงเทพฯ ตกรางที่บ้านหนองหล่ม อ.เมือง จ.ลำพูน เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2555 รวมถึงกรณีที่นายยุทธนาระบุว่า นอตยึดเหล็กประกบรางหายไปแบบผิดปกตินั้น นายยุทธนายืนยันว่ายังไม่ได้รับรายงานเพิ่มเติม ซึ่งแหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมให้ข้อมูลว่า หลังจากยกขบวนรถที่ตกรางออกไปแล้วพบว่า นอตและอุปกรณ์ทุกชิ้นอยู่ครบไม่ได้หายไปแต่อย่างใด จึงไม่เข้าใจว่าการให้ข่าวว่ามีคนเข้ามาถอดนอตซึ่งไม่เป็นความจริงและยังโยงว่ามีขบวนการทำลายความน่าเชื่อถือนายยุทธนานั้นเพื่ออะไร เพราะเป็นการทำลาย ร.ฟ.ท.ทั้งองค์กรมากกว่า