xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์ประสานงานลูกหนี้แฉ รบ.จงใจทำของแพง คนไทย “จน ทุกข์ โง่” จะได้คุมง่าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางกัลยาณี รุทระกาญจน์
เลขาธิการศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ เชื่อรัฐบาลจงใจให้สินค้าแพง ตั้งข้อสังเกตถ้าไม่รู้มาก่อนว่าประชาชนจะต้องเดือดร้อน ทำไมถึงไปเพิ่มเงินจำนวนมหาศาลให้กองทุนต่างๆ เพื่อส่งเสริมการเป็นหนี้ ชี้เมื่อคนไทย “จน ทุกข์ โง่” จะได้ควบคุมง่าย พร้อมเตือนพยายามอย่าเป็นหนี้แบงก์ ถ้าตราบใดโครงสร้างหนี้ของประเทศยังเป็นแบบทุกวันนี้ เพราะใช้สัญญาไร้มาตรฐาน สามารถโดนยึดจนหมดตัว ทั้งที่กฎหมายห้ามไว้

วันที่ 17 พ.ค. นางกัลยาณี รุทระกาญจน์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และ น.ส.สวนีย์ ฉ่ำเฉลียว เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ร่วมในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV

โดย นางกัลยาณีกล่าวว่า หนี้ครัวเรือน แสดงถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจของภาคประชาชน ตอนนี้มี 18 ล้านครัวเรือน เป็นเกษตรกรประมาณ 2 ล้านครัวเรือน ยอดหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือน 1.35 แสนบาท 4-5 ปีมานี้ยอดหนี้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10 เปอร์เซ็นต์ทุกปี ตอนนี้ปัญหาคือสินเชื่อส่วนบุคคล เช่น การก่อหนี้ภาคประชาชน เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เทียบระหว่างปี 53-54 ยอดขอสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นถึง 64 เปอร์เซ็นต์ โดยกู้มาเพื่อใช้ 1. ค่าใช้จ่ายประจำวัน ซึ่งตรงนี้โอกาสหาคืนยาก นอกจากเงินเดือน ถ้าไม่ใช่มนุษย์เงินเดือนอันตรายมาก 2. ซื้อยานพาหนะ ตรงนี้ไม่เท่าไหร่ ไม่มีจ่ายก็ยึดรถไป 3. เพื่อลงทุน หรือซื้อที่อยู่อาศัย

ทั้งนี้ พบว่า 67 เปอร์เซ็นต์มีรายได้ไม่พอรายจ่าย คนที่เงินเดิน 5 พันบาท มีหนี้เฉลี่ยตามหลักฐานที่ประกาศโดยหน่วยงานรัฐประมาณ 7 เท่า ที่ไม่ประกาศเท่าที่เจอ 15-30 เท่า คนเงินเดือน 1 หมื่นบาท ตามหลักฐานที่ประกาศโดยหน่วยงานรัฐประมาณ 5 เท่า ของจริงที่เจอคือ 10-20 เท่า เงินเดือน 3 หมื่น ตามที่ประกาศโดยรัฐ 10-20 เท่า โดยกรณีหนักสุดเจอคนมีเงินเดือน 3 หมื่น มีบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล ทั้งหมด 37 บัญชีต่อหนึ่งคน

นางกัลยาณีกล่าวอีกว่า สิ่งที่ทำทั้งหมด ทั้งขึ้นค่าแรง ขึ้นค่าพลังงาน ขึ้นค่าใช้จ่าย ไม่ใช่ไม่คิด แต่วางแผนให้เกิดอะไรบางอย่าง ถ้าไม่คิดว่าจะทำให้เกิดความเดือดร้อน หรือไม่พอใช้จ่าย ทำไมตั้งกองทุนหมู่บ้านเพิ่ม 7 หมื่น 9 พันกว่ากองทุน ทำไมต้องยกระดับกองทุนหมู่บ้านให้เป็นสถาบันการเงินชุมชน ทำไมต้องจ่ายเงินให้กองทุนพัฒนาสตรีจังหวัดละ 100 ล้านบาท ทำไมต้องเพิ่มเงินกองทุนหมู่บ้านอีก 1 ล้านบาท แล้วยังให้กองทุนตั้งตัวกับสถาบันอุดมศึกษา ให้กู้ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบอีก 1 พันล้านบาท

“แปลว่าตั้งใจวางระบบเพื่อให้เกิดหนี้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ในครัวเรือนประเทศไทย เพื่อให้ควบคุมง่าย แม้ชาวบ้านรู้เวลาไปเซ็นอะไรอันตรายแค่ไหน รู้ว่ารัฐบาลเอาเปรียบยังไง แต่เงิน 1-2 พันบาทมีความสำคัญมากกับเขาในยามที่จำเป็น ฉะนั้น การทำให้หนี้ครัวเรือน ซึ่งมันคือความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประชาชน ถ้าทำให้ประชาชนเกิดความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ เขาไม่คิดเรื่องอื่นหรอก เขาไม่คิดว่าจะเสียดินแดนที่เขาพระวิหาร แต่คิดว่าทำไงถึงจะมีเงินซื้อข้าวให้ลูกกิน ทำไงให้ลูกมีนมไปกินโรงเรียน ฉะนั้น การทำให้ประชาชนในแผ่นดินใดแผ่นดินหนึ่งซึ่งมีที่ตั้งทางภูมิประเทศสุดยอดในภูมิภาค สังคมใดสังคมหนึ่งในประเทศที่มีทรัพยากรมหาศาล แผ่นดินอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารหนึ่งในไม่กี่แห่งของโลกที่ติดอันดับ การทำให้มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินนั้นกลายเป็นทาส จน ทุกข์ โง่ ได้มากเท่าไหร่ ผู้ปกครองแผ่นดินนั้นย่อมได้ผลประโยชน์สูงสุด” นางกัลยาณีระบุ

เลขาธิการศูนย์ประสานงานลูกหนี้ฯ กล่าวต่อว่า กรณีหนี้บัตรเครดิต หากขึ้นศาล เจ้าหนี้แพ้หมด เพราะทุกบัตรมันผูกสูตรผิด ทางศูนย์ฯ ก็ขอให้จับติดคุกสักคนได้ไหมจะได้เป็นตัวอย่าง เตรียมการกับลูกหนี้อย่างดีว่าจะเอาเรื่องให้ถึงที่สุด แต่พอถึงจุดหนึ่งเจ้าหนี้เห็นว่าแพ้ก็จะยกหนี้ให้ ลูกหนี้ก็หน้าบานมีความสุข แล้วก็ไม่สู้ต่อ เป็นอย่างนี้ทุกราย ตัวศาลเองก็ชอบให้ยอมความกันไป

นางกัลยณีกล่าวอีกว่า กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 บอกไว้เรื่องการค้ำประกัน ว่ายึดทรัพย์จำนองแล้วไม่พอชำระหนี้ ก็ยึดทรัพย์อื่นๆ ไม่ได้ แต่เราก็ไปเซ็นสัญญากับเขาให้ยึดทรัพย์อื่นๆ ได้ด้วย ประเทศไทยประเทศเดียวเลยที่เป็นอย่างนี้ ฉะนั้นปัญหาวิธีแก้ คือ ต้องไม่สร้างหนี้ ถ้าตราบใดโครงสร้างการเป็นหนี้ของประเทศไทยยังเป็นแบบนี้ ไปโรงรับจำนำยังปลอดภัยกว่า รวมหัวตั้งกองทุนเองยังปลอดภัยกว่า สหกรณ์ก็น่ากลัวเพราะอยู่ดีๆ ก็รวมหัวกันไปแก้กฎหมายสหกรณ์ ให้สามารถตัดเงินเดือนได้ก่อน และตัดไปเรื่อยๆ ขนาดกรมบังคับคดียังให้ตัดไม่หมด แต่สหกรณ์แอบไปเปลี่ยนกัน

แล้วเมื่อเซ็นไปแล้วขึ้นศาลก็ไม่มีทางชนะ ศาลก็จะบอกว่าทำไมไม่อ่านก่อน ซึ่งประชาชนก็คิดว่านี่เป็นฟอร์มสัญญามาตรฐาน แต่ประเทศไทยไม่มีมาตรฐาน แล้วทุกสถาบันการเงินก็รวมหัวกันเป็นเหมือนกันหมด แล้วประชาชนจะไปกู้ใคร สัญญามาตรฐานอยู่ไหน ทำไมไม่มี ใครอยากเขียนอะไรก็เขียน เป็นกรรมหนักของคนไทย ตนมองภาพรวมที่เป็นแบบนี้แสดงว่ามีคนตั้งใจทำ

นางกัลยณียังกล่าวด้วยว่า การแก้ปัญหาหนี้ทำได้ ถ้าผู้บริหารประเทศจริงใจ ไม่ต้องใช้เงินเยอะด้วย แต่ที่ผ่านมามีแต่พูดถึงการพักหนี้ การให้หนี้เพิ่ม การย้ายหนี้ แต่ไม่มีการแก้ไขหนี้ให้คนไทยควรใช้หนี้ที่เป็นธรรม เราพร้อมใช้หนี้แต่ต้องเป็นธรรม เอาแค่ตามที่กฎหมายกำหนด แค่นี้ยังทำให้ไม่ได้ ถ้ามีระบบการจัดการหนี้ที่ดีมั่นใจลูกหนี้จบหนี้ได้

แต่คงต้องรอรัฐบาลที่มาจากภาคประชาชน จุดหนึ่งเมื่อประชาชนเดือดร้อนสุด ต้องลุกขึ้นช่วยตัวเอง ตนหวังว่าประเทศไทยน่าจะมีความหวังในเร็วๆ นี้ ถ้าเชื่อในเรื่องสถิติ เรื่องดวงชะตา เวลาของคนไทยใกล้จะมาถึง เร็วๆ นี้จะมีการเปลี่ยนแปลง คนดีอยู่ คนชั่วถูกกันออกไป เมืองไทยจะกลับไปน่าอยู่เหมือนเดิมแน่นอน ทางพุทธศาสนาบอกว่าแผ่นดินที่มีค่าจะเหมาะสมกับมนุษย์ที่มีค่าเท่านั้น

นายชาลีกล่าวว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมาเป็น 300 บาทนั้น ตามหลักสากลแล้ว 1 คนทำงาน ต้องเลี้ยงครอบครัวได้ 2 คน ฉะนั้นจากการที่เราได้สำรวจ 1 คนต้องได้ 560 บาทต่อวัน ถึงจะเลี้ยงครอบครัวได้ 2 คน สำหรับคนที่ไม่มีครอบครัวต้องได้วันละ 340 บาท ดังนั้น การขึ้นค่าแรง 300 บาทก็ยังไม่พอ แต่ก็ยังดีที่มาประทังชีวิต แต่ทีนี้แทนที่จะมาประทังชีวิต แต่เพราะประโคมข่าวว่าจะขึ้นค่าแรงวันนั้นวันนี้ ราคาสินค้าเลยขึ้นไปรอไว้แล้ว เลยเท่ากับว่าค่าแรงที่ได้เพิ่มก็เอาไปโป๊วของที่ราคาแพงขึ้นมา มันก็กลายเป็นว่าได้เท่าเดิมหรือน้อยลงกว่าเดิมด้วยซ้ำ

ค่าแรงขึ้นได้แต่ต้องเป็นไปตามกลไก และรัฐบาลต้องมีวิธีการขนาบมาด้วย ถ้าปรับ 300 บาท อีกขาก็ต้องควบคุมราคาสินค้าควบคู่ไป เพราะรู้อยู่แล้วว่าเหตุการณ์นี้มันต้องเกิด แต่การควบคุมระยะสั้นๆ มันลำบาก นอกจากต้องใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ โดยการควบคุมสินค้าต้นน้ำ พอต้นน้ำต่ำแล้วพ่อค้าแม้ค้าที่มาขายเราก็จะขายได้ถูก แต่วันนี้ดันไปแก้ปัญหาที่ปลายน้ำ มันแก้ไม่ได้หรอก

ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยกล่าวด้วยว่า ทำให้ประชาชนเป็นหนี้เพื่อจะได้เหมือนคนติดยาแล้วก็ออกประชานิยมต่างๆ คนก็จะเชื่อง พอเป็นหนี้มากๆ ใครเอาเงินมาให้ใช้ก็เอา ต่อให้ดีไม่ดีไม่รู้ แต่ปัญหาเฉพาะหน้าต้องเอาไว้ก่อน แรงงานก็รู้แต่ทำอะไรไม่ได้ อีกสิ่งหนึ่งตนมอง SME ในอนาคตจะอยู่ไม่ได้ แต่รายใหญ่อยู่ได้ แล้วก็จะไปฮุบ SME มารวมด้วย และเป็นการผูกขาดในอนาคต ของก็จะแพงหมด เพราะไม่มีการแข่งขันแล้ว

น.ส.สวนีย์กล่าวว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภครับเรื่องร้องเรียน 7 หมวด เรื่องที่ได้รับร้องเรียนมากสุด คือ เรื่องหนี้ อีกทั้งตอนนี้ราคาข้าวของแพงขึ้น อัตราค่าบริการขนส่งมวลชนก็ขึ้น การปรับตรงนี้ประชาชนเดือดร้อน แล้วนี่มาคุมราคาข้าวแกง แต่ดูจากความเป็นจริง ขายตามราคาที่กำหนดแต่ปริมาณลดลง ต้นน้ำมาปลายน้ำเสียค่าต้นทุนมากมาย ถามว่าต้นทุนแฝงพวกนั้นเกิดจากอะไร เช่น ค่าขนส่ง ค่าพลังงาน ต้นทุนที่พยายามปั่นขึ้นมา นี่คือต้นทุนแฝงที่ผู้บริโภคยังต้องรับทุกข์กันอยู่

ปตท.เป็นบริษัทผูกขาดมาช้านาน จนคนไทยเห็นเป็นเรื่องธรรมดา มิหนำซ้ำยังควบคุมตั้งแต่ต้นน้ำยังปลายน้ำ กำหนดทุกอย่างในประเทศ อีกกรณีก็สัญญาเงินฝาก ประชาชนมักไม่รู้ว่าเวลาเปิดบัญชีเงินฝาก ในสัญญาจะมีบอกว่า ถ้ามีหนี้ที่เกี่ยวข้องกับธนาคาร สถาบันการเงินสามารถยึดได้เลย หรือสัญญาประกันชีวิต ปรากฏว่าเวลาตายไปลูกหลานไม่ได้เงิน เพราะอ้างว่าปกปิดข้อมูล ไม่บอกว่าเป็นโรคมาก่อนจึงไม่จ่าย นี่คือสิ่งที่คนนึกไม่ถึง อีกอย่างสัญญาประนีประนอมยอมความ ก็มีระบุว่าจะไม่เอาความต่อ แล้วพอผู้ได้รับความเสียหายไม่พอใจค่าชดเชยที่ได้มาจะไปเรียกร้องเพิ่มก็ไม่ได้ มันเชื่อมโยงไปยังการเป็นหนี้และการบังคับใช้กฎหมาย หรือบัตรเครดิตแบงก์ฟ้องลูกหนี้ทั้งที่อายุความหมดไปแล้ว ถ้าผู้บริโภคไม่ยกขึ้นมา ก็แพ้ ศาลก็ตัดสินไปตามนั้น

น.ส.สวนีย์กล่าวอีกว่า ประชาชนที่เป็นหนี้บ่นกันมาก แต่ออกมาสู้น้อย แล้วไปแสดงออกในเรื่องของอาชญากรรมแทน ทั้งปล้น ฆ่า วิ่งราว มันต้องกล้าหาญและชัดเจนมุ่งมั่น แล้วสิ่งต่างๆ ก็จะแก้ไขได้
นายชาลี ลอยสูง
นางสาวสวนีย์ ฉ่ำเฉลียว
กำลังโหลดความคิดเห็น