xs
xsm
sm
md
lg

“จาตุรนต์-ธเนศวร์-สมชาย” ประสานเสียง ตุลาการระงับแก้ รธน.เป็น “รัฐประหารบนบัลลังก์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - วงเสวนา “ตุลาการภิวัฒน์ หรือรัฐประหารบนบัลลังก์ศาล” ระอุ “จาตุรนต์” ระบุศาลรับพิจารณาคำร้องทั้งที่ไม่มีสิทธิแถมเมื่อก่อนเคยปฏิเสธกรณีลักษณะเดียวกัน ชี้ศาล รธน.กำลังทำตัวเป็น รธน.เสียเอง หวั่นศาลเดินหน้าลุย “ยุบพรรค-ถอดถอน ครม.” ทำเกิดสุญญากาศจนต้องใช้มาตรา 7 ด้าน “สมชาย” สงสัยศาลสั่งชะลอแก้ รธน.เพราะผลประโยชน์ทับซ้อนเหตุกลัวถูกลิดรอนอำนาจ-ที่มา ยัน “ตุลาการภิวัฒน์” ในต่างประเทศทำแล้วประชาชนมีสิทธิมากขึ้น แต่ในไทยกลายเป็นเข้าข้างคู่ขัดแย้งทางการเมือง

วันที่ 9 มิ.ย. 2555 ที่ห้องประชุม PSB 1101 คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะนิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดให้มีการเสวนาเรื่อง “ตุลาการภิวัฒน์ หรือรัฐประหารบนบัลลังก์ศาล” ขึ้น โดยมีนายจาตุรนต์ ฉายแสง ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ดร.วรพงศ์ ตระการศิรินนท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมในการเสวนา และมีนายชำนาญ จันทร์เรือง เป็นผู้ดำเนินรายการ

นายจาตุรนต์ กล่าวในการเสวนาว่า กระบวนการที่เรียกว่าตุลาการภิวัฒน์นั้นมีความเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ก่อนการทำรัฐประหารในปี 2549 โดยแสดงออกอย่างชัดเจนผ่านการยุบพรรคการเมืองและถอดถอนนายกรัฐมนตรีไปแล้ว 2 คน ว่าตั้งใจที่จะหักล้างมติของประชาชนที่เลือกพรรคการเมืองพรรคหนึ่งขึ้นมาเป็นรัฐบาล

ขณะที่การที่ศาลรัฐธรรมนูญได้แจ้งผ่านเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้แจ้งต่อประธานรัฐสภาให้ชะลอการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 นั้นก็มีข้อสังเกตว่าศาลรัฐธรรมนูญสามารถทำได้หรือไม่ เนื่องจากเมื่อปี 2549 ศาลรัฐธรรมนูญเคยยกคำร้องกรณีที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ยื่นคำร้องให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ กรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เสนอให้มีการใช้มาตรา 7 โดยชี้แจงว่านายสุรพงษ์ไม่มีสิทธิยื่นเรื่องตรงมาที่ศาล แต่ต้องต้องเสนอให้อัยการสูงสุดทำการสอบสวนและยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น

นายจาตุรนต์กล่าวต่อไปว่า การตีความมาตรา 68 ที่ผิดไปจากรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญนั้น กำลังทำให้ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นรัฐธรรมนูญของประเทศไปแล้ว ทั้งๆ ที่ศาลไม่มีสิทธิสั่งรัฐสภาได้ และอำนาจในการบัญญัติและพิจารณารัฐธรรมนูญก็อยู่ที่รัฐสภาเท่านั้น แต่ศาลกลับใช้รัฐธรรมนูญตามอำเภอใจโดยไม่ยึดถือตามหลัก

สิ่งที่เป็นอันตรายก็คือ เมื่อศาลก้าวเข้ามาตรวจสอบกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว จะตามมาด้วยการยกเลิกการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยอ้างว่าผิดกฎหมาย อันจะนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองและถอดถอนคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะทำให้ไม่มีคณะรัฐมนตรีบริหารประเทศ และจะนำไปสู่การใช้มาตรา 7 เพื่อจัดตั้งรัฐบาล อันเป็นการกระทำที่ผิดหลักนิติธรรม และจะก่อให้เกิดวิกฤตในประเทศอย่างรุนแรง

นายจาตุรนต์แสดงความเห็นว่า เหตุการณ์ที่ตนกล่าวถึงนั้นอาจเกิดขึ้นได้ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่หยุดการแทรกแซงรัฐสภา ซึ่งตนก็วิตกเพราะไม่รู้ว่าศาลจะดึงดันไปถึงขั้นไหน ส่วนวิธีการที่จะควบคุมศาลไม่ให้ก้าวล้ำเส้นเข้ามานั้นอาจจะเป็นไปได้ยาก เพราะศาลมีเครื่องมือหลายอย่างที่เป็นเกราะกำบัง ทั้ง ป.ป.ช.ที่ศาลเป็นผู้แต่งตั้ง หรือจะใช้เสียงของวุฒิสภาในการถอดถอน วุฒิสมาชิกส่วนหนึ่งก็มาจากการแต่งตั้งและคงจะไม่ร่วมมือด้วย หรือหากจะแต่งตั้ง ป.ป.ช.ขึ้นใหม่ อำนาจในการแต่งตั้งก็ยังเป็นของศาลอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พอจะเป็นไปได้ก็คือ หากเกิดการยุบพรรคหรือถอดถอนรัฐบาลขึ้นจริง ประชาชนต้องเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้คะแนนเสียงเกินครึ่ง จากนั้นพรรคการเมืองจะต้องขับเคลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยค่อยๆ ปรับแก้ในจุดที่เป็นปัญหาต่อการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน เมื่อแก้ไขได้แล้วจึงเดินหน้าต่อไปสู่การตั้ง สสร.เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ให้ดีขึ้น ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นแล้วจะไม่มีใครสามารถมาขัดขวางได้ และถ้าประชาชนเห็นว่าการมีองค์กรอิสระบางอย่างไม่ได้มีผลประโยชน์ต่อประชาชนจริง ก็จะยกเลิกไปเสียก็ได้

ขณะที่ ศ.ดร.ธเนศวร์กล่าวว่า กรณีการระงับการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3 แสดงให้เห็นถึงการใช้มาตรการทางศาลและองค์กรอิสระเพื่อบ่อนทำลายระบบรัฐสภา ประชาชนในฟากประชาธิปไตยจึงจำเป็นที่จะต้องยกระดับความรู้ทางกฎหมาย รวมทั้งสะสมความรู้และติดตามข่าวสารต่างๆ และอย่าเกิดความรู้สึกท้อถอยว่าทำไมประเทศไทยถึงยังล้าหลัง เพราะสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายตรงข้ามจะเข้มข้นและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และฝ่ายที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับประชาธิปไตยก็จะมีพัฒนาการของการใช้เครื่องมือและกระบวนการต่างๆ ในการล้มล้างประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้น ประชาชนในฟากที่สนับสนุนประชาธิปไตยต้องรู้เท่าทันเรื่องเหล่านี้ และพยายามนำไปสู่การคุยกันด้วยเหตุด้วยผล เพื่อหลักเลี่ยงสถานการณ์ที่จะนำไปสู่การใช้ความรุนแรง

ด้าน รศ.สมชายกล่าวว่าตนสิ่งที่ต้องพิจารณาในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งการระงับการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3 เรื่องแรกได้แก่การออกคำสั่งของศาล ซึ่งต้องมาพิจารณาว่าศาลมีอำนาจในการรับคำร้องจริงหรือไม่ หรือที่ถูกต้องคือเรื่องต้องผ่านอัยการสูงสุดมาก่อน

ขณะเดียวกันการรับพิจารณาเรื่องดังกล่าวของศาลยังเป็นการพิจารณาในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ และศาลก็ยังไม่ทราบด้วยว่ารัฐธรรมนูญที่จะร่างออกมานั้นจะเป็นภัยต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยจริงหรือไม่

นอกจากนี้ แม้ศาลจะยืนยันว่ามีอำนาจในการรับเรื่องไว้พิจารณา แต่ก็ไม่มีอำนาจที่จะสั่งชะลอการแก้ไข เพราะหากเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะล้มล้างการปกครองก็ต้องตัดสินไปเลยว่ามีความผิด ซึ่งในส่วนนี้เชื่อว่าศาลก็ไม่กล้าตัดสินเพราะไม่มีเหตุผลพอ

ดังนั้น การออกคำสั่งของศาลจึงกลายเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจรองรับตามรัฐธรรมนูญ เป็นการแทรกแซงรัฐสภา รวมทั้งมีอีกเรื่องที่ตนเห็นว่ายังไม่ถูกกล่าวถึง ซึ่งก็คือเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะศาลอาจเกรงว่าหากปล่อยให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว อาจมีการแก้ไขในเรื่องที่มาและอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญด้วย

สำหรับเรื่องต่อมาก็คือ หากพิจารณาเรื่องดังกล่าวในเชิงของความขัดแย้งทางการเมืองของไทยแล้ว จะพบว่านี่คือการชิงอำนาจของ 2 ฝ่ายที่ตนเรียกว่าฝ่ายรัฐสภากับฝ่ายอำมาตยาธิปไตย ซึ่งในปัจจุบันฝ่ายรัฐสภามีอำนาจลดลง ขณะที่ฝ่ายอำมาตยาธิปไตยได้เปลี่ยนจากการใช้สถาบันทหารมาใช้สถาบันตุลาการในการต่อสู้แทน หรืออาจเรียกว่าเป็น “นวอำมาตยาธิปไตย” ก็ได้

ขณะเดียวกันการใช้ตุลาการเข้ามาจะนำไปสู่เรื่องที่ 3 นั่นคือ สถาบันตุลาการถูกดึงเข้ามาในความขัดแย้ง โดยถูกมองว่าเป็นเทวดาที่จะสามารถแก้ไขปัญหาและนำประชาธิปไตยมาสู่ประเทศไทยได้ แต่แนวความคิดที่ศาลไทยยึดถือมาโดยตลอดก็คือยอมรับอำนาจการรัฐประหารที่ทำสำเร็จว่าเป็นรัฐาธิปัตย์ หรือชนะเป็นเจ้าแพ้เป็นโจร อีกทั้งศาลยังไม่มีจุดที่ยึดโยงกับประชาชน ยกตัวอย่างเช่นการตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่ง 5 คนมาจากการแต่งตั้งของศาลโดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาแต่อย่างใด

รศ.สมชายระบุว่า จากสิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้กระบวนการที่เรียกว่าตุลาการภิวัฒน์ในไทยมีปัญหา เพราะสิ่งที่รียกว่าตุลาการภิวัฒน์ในต่างประเทศนั้น คือการตัดสินข้อขัดแย้งในเชิงกฎหมายที่นำไปสู่การขยายสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ในประเทศไทยตุลาการภิวัฒน์กลับกลายเป็นการผลักศาลให้โดดไปอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในทางการเมือง และการตัดสินให้มีคำสั่งระงับการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3 ก็เป็นเสมือนการทำรัฐประหารบนบัลลังก์

นอกจากนี้ เขายังระบุด้วยว่า แม้จะมีความพยายามอ้างว่าในต่างประเทศ อย่างเช่นที่เยอรมนีนั้นศาลรัฐธรรมนูญสามารถรับเรื่องร้องเรียนโดยตรงจากประชาชนได้ แต่นั่นก็เป็นเพราะรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ชัดเจน ต่างกับของไทยที่บัญญัติไว้ว่าเรื่องต้องผ่านอัยการสูงสุด แต่กลับมีการเล่นกับความหมายของถ้อยคำเพื่อทำหน้าที่เกินกว่าขอบเขตของรัฐธรรมนูญ จึงอยากถามกลับไปยังคนที่อ้างเรื่องกฎหมายของต่างประเทศว่า ทำไมไม่ชี้แจงให้ครบด้วยว่าในเยอรมนีนั้นมีกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องของการบิดเบือนกฎหมายอยู่ด้วยเช่นกัน



กำลังโหลดความคิดเห็น