xs
xsm
sm
md
lg

“อ๋อย” โวยรัฐประหารตุลาการภิวัฒน์เกิดแล้ว ยุสภาฯเดินหน้าแก้ รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย (แฟ้มภาพ)
“จาตุรนต์” จวกศาลรัฐธรรมนูญทำลายช่องทางแก้รัฐธรรมนูญ ซัดใช้อำนาจนอกกฎหมาย อ้าง ม.68 ต้องชงอัยการสูงสุด ส่งเรื่องมายังศาลก่อน จะมาร้องโดยตรงไม่ได้ โวยเล่นกลภาษาไทย หักล้างหลักการ อ้างไร้อำนาจวินิจฉัยได้ เชื่อ ผลักประเทศสู่วิกฤตใหญ่ แนะสภาฯอย่าทำตาม บอกคำสั่งไม่ผูกพันองค์กรอื่น แถมลงโทษไม่ได้ หนุนล่าชื่อถอดตุลาการ แต่ดูก่อนเอาด้วยมั้ย ระบุ เกิดรัฐประหารตุลาการภิวัฒน์แล้ว โบ้ยเป็นต้นตอสร้างความขัดแย้ง

วันนี้ (3 มิ.ย.) เมื่อเวลา 11.30 น.นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก มีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญ ว่า การทำอย่างนี้ เท่ากับเป็นการไม่ให้แก้รัฐธรรมนูญโดยรัฐสภา เท่ากับว่า ได้ทำลายช่องทางที่ประชาชนจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย ปิดช่องทางในการที่สังคมจะใช้แก้ปัญหาความขัดแย้งแตกต่างทางความคิด โดยกระบวนการวิถีทางที่เป็นประชาธิปไตย สังคมไทยมีความขัดแย้งกันมาอย่างน้อย 2 เรื่อง คือ 1.ใครควรเป็นรัฐบาล และ 2.รัฐธรรมนูญ หรือกติกาบ้านเมืองควรเป็นอย่างไร โดยประชาชนตัดสินไปแล้วในประเด็นว่า ใครควรเป็นรัฐบาล และกำลังจะตัดสินผ่านรัฐสภา ผ่าน ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง และผ่านการลงประชามติเพื่อจะตัดสิน ว่า รัฐธรรมนูญของประเทศนี้ควรเป็นอย่างไร แต่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังมาใช้อำนาจนอกเหนือรัฐธรรมนูญ ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเสียเอง

นายจาตุรนต์ ยังกล่าวถึงการยื่นคำร้องตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า กระบวนการตามมาตรา 68 ที่ปฏิบัติกันมาจะต้องส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณา และเป็นผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยบทบัญญัติเขียนไว้ว่า กรณีที่บุคคลใดหรือพรรคการเมืองกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบมีสิทธิ์ให้เสนอเรื่องอัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ โดยตามเจตนารมณ์ของการร่างรัฐธรรมนูญมาตรานี้ก็มีพูดชัดเจนว่า ผู้ที่ร้องนั้นจะไปร้องโดยตรงกับศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ แต่ต้องร้องผ่านอัยการสูงสุด แต่เวลานี้ศาลรัฐธรรมนูญไปตีความภาษาไทยแบบพิสดาร คือ ผู้ที่ทราบเรื่องนอกจากจะยื่นอัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว และให้ผู้ร้องยื่นเรื่องศาลรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งผิดจากเจตนารมณ์ และหลักปฏิบัติที่ผ่านมาตลอด เหมือนเป็นการเล่นกลภาษาไทย เพื่อหักล้างหลักการใหญ่ทั้งหมดของรัฐธรรมนูญที่ว่าอำนาจในการร่างและวินิจฉัย รธน.คือ รัฐสภา ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีอำนาจจะมาวินิจฉัยได้

“ถ้าล้มกระบวนการนี้ เท่ากับเป็นการผลักประเทศเข้าสู่วิกฤตครั้งใหญ่ ปิดช่องทางในการแก้ไขความขัดแย้งโดยวิถีทางตามระบอบประชาธิปไตย ทำให้ประเทศอยู่ในภาวะล่อแหลมของการเผชิญหน้า และจะเป็นวิกฤตที่ร้ายแรงกว่าที่เป็นอยู่” นายจาตุรนต์ กล่าว

นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า ในเฉพาะหน้านี้ ตนขอเสนอว่า กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญนั้น รัฐสภาไม่ควรที่จะปฏิบัติตามคำสั่งนั้น เพราะคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่สิ่งที่ผูกพันองค์กรอื่น ไม่เหมือนกรณีที่เป็นคำวินิจฉัยที่จะต้องผูกพันทั้ง ครม.รัฐสภา และศาล ดังนั้น รัฐสภาจึงจำเป็นจะต้องทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291/5 ที่จะพิจารณาลงมติในวาระที่ 3 เมื่อพ้นกำหนด 15 วัน ขณะที่เห็นด้วยว่า ประชาชนควรจะรณรงค์กันอย่างจริงจัง เพื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงส่วนใหญ่ ที่ลงมติเรื่องนี้ เนื่องจากกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญเสียเอง นอกจากนี้ จะต้องรับมือกับการรัฐประหารตุลาภิวัฒน์ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อจะรักษาประชาธิปไตยไว้

“ขณะนี้สิ่งที่ควรทำ คือ การทำความเข้าใจกับประชาชนผู้สนใจปัญหาบ้านเมือง และผู้รักประชาธิปไตยทั้งหลาย ให้ทราบว่า ขณะนี้เกิดกระบวนการรัฐประหารโดยตุลาการภิวัฒน์แล้ว ที่เกิดการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นภัยร้ายแรงต่อประชาธิปไตยของประเทศ เพื่อที่จะหาทางสกัดกั้นกระบวนการนี้กันใหม่ ซึ่งแน่นอนว่า ผู้ที่ร่วมในกระบวนการนี้เป็นผู้ที่จะมีอำนาจวินิจฉัยรัฐธรรมนูญ ผลที่ตามมาคือ ถ้าไม่มีแรงต่อต้าน ไม่มีการแสดงความเห็นเชิงหลักการให้หนักแน่นเพียงพอ ก็ยากที่จะทัดทานตุลาภิวัฒน์นี้ได้” นายจาตุรนต์ ระบุ

เมื่อถามว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น ส.ส.ที่เป็นผู้เสนอร่าง รธน.ที่ถูกร้อง ไม่จำเป็นต้องส่งคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วยใช่หรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า เขาจะคิดอย่างไรกันต่อ ตนไม่ทราบ แต่ในขั้นต้น ตนคิดว่า หากใครจะส่งคำชี้แจงก็ส่งในทางปฏิเสธอำนาจศาลรัฐธรรมนูญเลยว่าไม่มีอำนาจอย่างนี้ เพราะชัดเจนว่า ที่ทำไปโมเมกันชัดๆ ซึ่งจะต้องไปปฏิบัติตามคำสั่งนั้น เพราะคำสั่งเล็กกว่ารัฐธรรมนูญ โดยมาตรา 291 ที่ว่า เมื่อพิจารณาวาระ 2 เสร็จสิ้นแล้วจะต้องพิจารณาวาระ 3 เมื่อพ้น 15 วัน แต่คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญกลับอ้างอิงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ที่มีศักดิ์ทางกฎหมายเล็กกว่ารัฐธรรมนูญ

เมื่อถามว่า หากประธานสภาฯจะเรียกประชุม แต่ ส.ส.อาจกลัวว่าจะเป็นการกระทำละเมิดที่ขัดต่อกฎหมาย และศาล รธน.แล้ว ทำให้สมาชิกไม่ครบองค์ประชุม และไม่อาจผ่านการพิจารณาวาระ 3 ได้ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า เรื่องเช่นนั้นอาจเกิดขึ้นได้ ถ้าเกิดจากความกลัวต่ออำนาจศาล แต่โดยขั้นตอนที่ทำอยู่นี้ ศาลไม่มีอำนาจที่จะลงโทษได้ แต่ถ้าเป็นไปอย่างที่ถาม ก็แสดงว่า เราอยู่ภายใต้ความกลัวในอำนาจที่ไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรม ซึ่งหากสุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญจะไปวินิจฉัยว่า การพิจารณาแก้ รธน.เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยแล้วลงโทษพรรคการเมือง หรือจะดำเนินคดีอาญา ก็จะเป็นเรื่องไปกันใหญ่เลย เพราะการเสนอแก้ รธน.ครั้งนี้ เขาก็ระบุชัดเจนอยู่ว่า การแก้ รธน.จะมีผลเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากได้รับสิทธิทางการเมืองคืนแล้ว จะร่วมลงชื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ขณะนี้ตนมาส่งเสริม ปลุกระดม ยุยงให้ประชาชนใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ส่วนตนจะลงชื่อเองด้วยหรือไม่จะพิจารณาอีกครั้ง เพราะเกรงว่า จะมีการนำไปบิดเบือน ส่วนที่มีการเสนอให้ยื่นเรื่องถอดถอนทั้งคณะ หรือเฉพาะตุลาการสียงข้างมากที่ลงมตินั้น คงต้องกลับไปดูรายละเอียดการลงคะแนนก่อนมีคำสั่งว่าเป็น 8 ต่อ 1 หรือ 5 ต่อเสียง 4

เมื่อถามว่า ไม่มีทางออกการแก้ไขปัญหาที่ดีกว่านี้ นอกเหนือจากวิธีการนี้ที่อาจจะเป็นตอกลิ่มความขัดแย้งยิ่งขึ้นหรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ฝ่ายการเมือง แต่เกิดจากการกระทำตุลาการภิวัฒน์ และการกระทำที่ขัดต่อ รธน.ของศาลรัฐธรรมนูญ ขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชน ซึ่งการรณรงค์การถอดถอนเป็นการใช้สิทธิ์ภายใต้กฎหมาย ไม่ใช่ต้นเหตุของปัญหา แต่การดำเนินการของตุลาการเป็นการสร้างวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่หลังเกิดการรัฐประหาร ปี 49 มา ซึ่งการขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ เกิดจากความคิดที่ไม่ยอมรับอำนาจประชาชนและยังต้องการรักษาอำนาจไว้ในมือของชนชั้นนำที่มีจำนวนไม่มาก
กำลังโหลดความคิดเห็น