xs
xsm
sm
md
lg

อาจารย์จุฬาฯ หวั่นเสียงข้างมากกลายพันธุ์ “อำนาจนิยมผ้าคลุม ปชต.”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และประธานวิปฝ่ายค้าน (ภาพจากแฟ้ม)
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดเสวนา 80 ปีประชาธิปไตยฯ “อ๋อย” แผ่นเสียงตกร่องซัดศาล รธน. มีอำนาจเหนือสภา หยิบมาตรา 7 โยงเปลี่ยนขั้วการเมือง “อู๊ดด้า” ห่วงฟื้นระบบเผด็จการรัฐสภา ส่อถูกยึดอำนาจอีกในอนาคต ชี้แก้ รธน.-ปรองดองล้างผิดคนๆ เดียวพาขัดแย้ง ด้าน “สุรชาติ” อาจารย์จุฬาฯ ชี้หลังรัฐประหาร เห็นการเปลี่ยนแปลงในชนบท เกิดทุนนิยมภาคท้องถิ่น เปรียบเหมือนเปิดกล่องแพนเดอร่า ส่วน “อนุสรณ์” กังวล ปชต.เดินพร้อมความขัดแย้ง หวั่นใช้หลักการเดียวแสวงหาอำนาจ กลายพันธุ์เป็นอำนาจนิยมผ้าคลุม ปชต. แนะควรหาทางออกร่วมกัน

วันนี้ (21 มิ.ย.) ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาภายใต้หัวข้อ "80 ปี ประชาธิปไตย รัฐศาสตร์กับการเมืองไทย" ประเด็นวิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองเชิงสถาบัน โดยมี นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐฎ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และประธานวิปฝ่ายค้าน รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศ.ดร.อนุสรณ์ ลิ่มมณี อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเสวนา

โดยนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 ทำให้เกิดวิกฤติการเมืองของประเทศมาจนทุกวันนี้ ขณะที่ปัจจุบันความขัดแย้งระหว่างตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกับรัฐสภาฝ่ายบริหาร กำลังพัฒนาไปสู่การขยายขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีอำนาจสูงสุดในอำนาจอธิปไตย บทบาทของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดปรากฎการณ์ที่ชื่อว่าตุลาการภิวัฒน์ ซึ่งทำให้รัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นกฎหมายสูงสุดจริง และทำให้เกิดความชอบธรรมของการรัฐประหาร ที่ถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน คือลดกลไกของรัฐสภาและทำลายพรรคการเมืองให้อ่อนแอ

ทั้งนี้ การที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ว่าอาจทำให้เกิดความผิดตามมาตรา 68 โดยไม่ผ่านอัยการก็สะท้อนอำนาจของตุลาการอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว อาจนำไปสู่สุญญากาศทางการเมือง และนำไปสู่การใช้มาตรา 7 รวมไปถึงการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก และเปลี่ยนขั้วทางการเมือง นอกจากนี้ การยุติการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผลล้มล้างการปกครอง จะทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทำให้ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเหนือรัฐสภา และฝ่ายนิติบัญญัติ โดยปิดทางไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อีกต่อไป ซึ่งก็จะนำไปสู่วิกฤตมากขึ้นและรุนแรงกว่าที่ผ่านมา

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ปัญหาของประชาธิปไตยได้เผชิญกับการปฏิวัติ เผด็จการทหารมาหลายครั้ง ปัจจุบันเผด็จการได้เปลี่ยนรูปแบบใหม่คือเผด็จการรัฐสภา โดยคนถืออำนาจรัฐต้องมีเสียงข้างมากซึ่งเป็นภัยใหม่ของประชาธิปไตยต่อจากเผด็จการทหาร โดยเฉพาะช่วงก่อนการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 จะเห็นว่ามีการทุจริตเชิงนโยบายและใช้เสียงข้างมากเอื้อประโยชน์ตัวเองและพวกพ้องอย่างกว้างขวาง และยังมีการบิดเบือนการใช้รัฐธรรมนูญเพื่อปิดกั้นการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอีกด้วย ทั้งนี้ การฟื้นระบบเผด็จการรัฐสภา อาจนำไปสู่การยึดอำนาจได้อีกในอนาคต เพราะปัจจุบันคู่ขัดแย้งที่แท้จริงคือ ฝ่ายต่อต้าน กับ ระบอบเผด็จการรัฐสภา ที่มีเป้าหมายเปลี่ยนคือต้องการเงินและอำนาจคืนโดยอาศัยเสียงข้างมากในสภา ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและออก พ.ร.บ.ปรองดอง เพื่อล้างผิดและนิรโทษกรรมเพื่อนำไปสู่ประโยชน์ของคนๆ เดียว ซึ่งสองเรื่องนี้ได้นำไปสู่ความขัดแย้ง วิกฤตของประเทศในปัจจุบัน

ขณะที่ รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การฟื้นอำนาจปี 2549 เป็นการฟื้นอำนาจบนการเปลี่ยนแปลงที่ใหม่ที่สุด ทำให้ชนบทมีพลวัฒน์มากขึ้น และเห็นการเปลี่ยนแปลงมากกว่า โดยเฉพาะทุนนิยมภาคท้องถิ่นที่ผูกโยงการเมืองและนโยบาย ซึ่งพรรคไทยรักไทยสามารถดึงเอาชนบทมามีส่วนร่วมทางการเมืองได้เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในโลกอาหรับเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ การรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 เหมือนการเปิดกล่องแพนเดอร่า ที่ทำให้ความขัดแย้งบางอย่างในสังคมทางการเมืองไทยเด่นชัดขึ้นจริง ทั้งในเรื่องของชนชั้นนำ ชนชั้นล่าง ทหาร กับการเมืองการเมือง รวมไปถึงความขัดแย้งในระบบทุนนิยม ระหว่างทุนเก่าและทุนใหม่ด้วย

ด้าน ศ.ดร.อนุสรณ์ ลิ่มมณี อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความขัดแย้งทางการเมืองเชิงสถาบันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ในขณะนี้เป็นวิกฤตที่น่ากังวลที่การพัฒนาประชาธิปไตยดำเนินไปพร้อมกับความขัดแย้งทำให้ขอบเขตความขัดแย้งสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการใช้หลักการเพียงหลักการเดียวเพื่อได้มาซึ่งอำนาจและเสียงข้างมาก เพื่อกำหนดการปกครองที่ได้มาจากเสียงส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงต้องมีหลักการปกป้องสิทธิเสรีภาพ ประชาชน และกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐขึ้นมาเพื่อไม่ให้สถาบันของรัฐใช้เสียงข้างมากละเมิด เพราะถ้ายึดเสียงข้างมากโดยไม่คำนึงผลกระทบของคนอื่นถือว่าเป็นการทำลายกระบวนการกลไกตรวจสอบของตัวเอง และจะนำไปสู่อำนาจนิยมสมัยใหม่ภายใต้ผ้าคลุมประชาธิปไตยหลายๆ รูปแบบมากขึ้น

ศ.ดร.อนุสรณ์ ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันเป็นยุคที่รัฐสภาเป็นเสียงข้างมากถ้าสามารถคุมอำนาจกันได้ตามกลไกการมีดุลยภาพทั้งสองด้านได้ทั้งผู้ปกคองเสียงข้างมาก และการตรวจสอบอำนาจรัฐ ความขัดแย้งธรรมดาที่เกิดขึ้นก็จะไม่ขยายตัวเป็นสภาวะสงคราม ส่วนระบอบประชาธิปไตยของไทยตลอดเวลา 80 ปี ที่ผ่านมามีการพัฒนาอย่างสม่ำเสมอแต่ยังไม่เข้มแข็ง เพราะยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ดังนั้นถ้าไม่ต้องการให้ประชาธิปไตยอยู่ในภาวะหยุดชะงัก ก็ควรที่จะร่วมกันหาทางออกภายใต้กฎหมายที่มีอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น