xs
xsm
sm
md
lg

“ปริญญา” เตือน พท.ยึดเสียงข้างมากแก้ รธน.ไม่ต่างจากยุค คมช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
วงเสวนาสถาบันพัฒนา ปชต.ปริญญา เตือน “เพื่อไทย” ถ้ายึดเสียงข้างมาก แก้ รธน.ไม่ต่างจากผลงาน คมช.บีบคอลงประชามติ รธน.50 ปัญหาขัดแย้งรุนแรง แนะเคารพเสียงข้างน้อย ปล่อยให้ประชาชนทำหน้าที่ตรวจสอบ ชี้คุณสมบัติ ส.ส.ร.ปลอดการเมือง 5 ปี หลังประกาศใช้

วันนี้ (1 เม.ย.) ที่โรงแรมสยามซิตี สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย จัดการเสวนาวิชาการ “รัฐธรรมนูญเสียงข้างมากกับการปรองดอง” โดยนายจาตุรนต์ ฉายแสง ในฐานะประธานสถาบันฯ กล่าวนำการเสวนาตอนหนึ่งว่าจะมีการจัดเสวนาเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อเนื่องไปจนกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเสร็จสิ้น เสวนาเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญและการพยายามให้เกิดความปรองดองมาเป็นหัวข้อร่วม เรื่อง 2 เรื่องอาจไม่จำเป็นต้องจับคู่ หรือประสานกลมกลืนกันไป แต่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ และส่งผลกระทบต่อกันและกัน ปัญหาวิกฤตต้องแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อสอดคล้องหลักนิติธรรม การแก้ด้วยเสียงข้างมากไม่คำนึงเสียงข้างน้อยอาจทำให้เกิดวิกฤตได้ ถ้าการปรองดองนำไปสู่ประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จะกระทบต่อการแก้รัฐธรรมนูญแก้จะทำไม่สำเร็จ กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ ควรเป็นอย่างไร จึงจะรับฟังเสียงทุกฝ่ายเข้ามาสู่การพิจารณา เป็นโจทย์ที่ได้รวบรวมมาได้

นายธเนศ อาภรณ์สุวรรณ กล่าวว่า ปัญหาวิกฤตรัฐธรรมนูญนั้นตัวรัฐธรรมนูญเองไม่ได้มีปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่ผู้ใช้ แม้ว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับในโลกจะเขียนดีอย่างไรหรือใช้มานานแค่ไหน หากฝ่ายการเมืองเกิดวิกฤตไม่สามารถตกลงกันได้ รัฐธรรมนูญก็หมดสภาพ เพราะไม่สามารถยับยั้งวิกฤตได้ ทุกครั้งที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะนำไปสู่วิกฤตใหม่เสมอ ทั้งนี้ปัญหารัฐธรรมนูญรัฐธรรมนูญปี 40 กลายเป็นวิฤตที่นำไปสู่ทางตัน เพราะผู้ที่เข้าถึงอำนาจได้มากกว่ามองว่าไม่มีทางออก จึงกลายเป็นมรดกทางการเมืองไทยที่ใช้วิธีการแก้ไขวิกฤตโดยใช้เครื่องมือในระบบน้อยกว่านอกระบบ หรือใช้อำนาจนอกระบบ ครั้งนี้สิ่งที่ต่างจากที่ผ่านมาเนื่องจากมีกลุ่มพลังมวลชนนอกระบบที่มีจุดหมายทางการเมืองสร้างอุดมคติทางการเมือง กลายเป็นพลังมหึมาออกมาเครื่องไหว เป็นวิกฤตินอกระบบที่ต่อสู้กัน

ด้าน นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ กล่าวว่า เรามีรัฐธรรมนูญมา 18 ฉบับ และฉบับที่จะร่างนี้จะเป็นฉบับที่ 19 ถ้าจะร่างใหม่โดยไม่หาสาเหตุว่าล้มเหลวเพราะอะไร ก็รอการฉีกทิ้งแล้วร่างใหม่อีก ซึ่งควรเป็นครั้งสุดท้าย ทำไมรัฐธรรมนูญจึงล้มเหลวในระบอบประชาธิปไตย เพราะเมื่อถึงจุดขัดแย้งเราก็ฉีกกติกาทิ้ง ต่อให้ร่างวิเศษแค่ไหน เลอเลิศแต่ไม่ทำตามก็ไม่มีความหมาย นอกจากนี้ยังเห็นว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 มาจากการประชามติของประชาชน หรือเสียงข้างมากนั่นเอง แต่คนเสื้อแดงพรรคเพื่อไทยกลับรู้สึกว่าไม่ได้เป็นรัฐธรรมนูญของเขาเพราะมาจากการยึดอำนาจ

“พรรคเพื่อไทยบอกว่าพรรคประชาธิปัตย์ต้องยอมรับเสียงข้างมากนั้น รัฐธรรมนูญปี 50 ก็มาจากเสียงข้างมาก ถ้าครั้งนี้ใช้เสียงข้างมากในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จากเสียงข้างมาก ปัญหาก็จะเหมือนกับรัฐธรรมนูญ 50 เพียงแต่กลับข้างกัน ทีใครทีมัน ทั้งนี้ ประชาธิปไตยไม่ได้เป็นการปกครองที่ฟังแต่เสียงข้างมาก แต่จะต้องคุ้มครองเสียงข้างน้อยด้วย และต้องเคารพกันและกัน เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ ไม่เช่นนั้นปัญหาก็จะไม่มีทางจบ คงรอให้มีการฉีกทิ้งหรือร่างใหม่อีกครั้งในอนาคตข้างหน้า การร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะต้องทำความเข้าใจ ไม่เช่นนั้นจะเกิดความขัดแย้งครั้งใหม่ได้ 6 ปีที่ผ่านมาเราขาดการสรุปบทเรียนที่ผิดพลาด ไม่ได้แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ” นายปริญญากล่าว

นายปริญญายังกล่าวด้วยว่า หากจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่อยากให้มีความหนาน้อยลง ประชาชนสามารถทำความเข้าใจ ไม่ซับซ้อนอย่างปี 40 และ 50 เพราะยิ่งบังคับใช้มากยิ่งล้มเหลว ต้องทำให้รัฐธรรมนูญไม่เป็นระบบที่ซับซ้อนและหนาเกินไป เพราะอำนาจจะถ่วงดุลกันเอง การหาองค์กรตรวจสอบนั้น ถามว่าแล้วใครจะตรวจสอบองค์กรที่ตรวจสอบ ทำให้คนดูไม่เชื่อว่าการตัดสินเที่ยงธรรมจึงเป็นจุดพลาดของรัฐธรรมนูญ 50 ทั้งนี้อย่าไปสรรหาของวิเศษมาอีกเลย ของวิเศษที่สุดของประชาธิปไตยคือประชาชนที่ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลนักการเมือง ไม่จำเป็นต้องมี องค์กรอิสระมากขนาดนี้ ซึ่งจะเหมือนการแข่งฟุตบอล คนดูรู้กติกา กรรมการไม่สามารถตัดสินผิดไปจากกติกาได้ ทำให้คนดูเป็นผู้ควบคุม ดังนั้นจะไม่มีการชกต่อยต่อต้าน จน รปภ.ต้องเข้ามาระงับเหตุ

“ที่ผ่านมาเราเอากรรมการตัดสินมาเลือกตัวผู้เล่น ต่อให้ตัดสินเที่ยงธรรม คนดูเริ่มไม่เชื่อ และแข่งบอลกันไม่ได้ จุดพลาดของรัฐธรรมนูญ 50 คือให้ศาลมีอำนาจสรรหา ส.ว.องค์กรอิสระ ที่ผ่านมาประชาชนเชื่อถือกรรมการ แต่ตอนนี้เริ่มไม่เชื่อ ได้คุยกับฝ่ายตุลาการ ท่านทั้งหลายรู้ไม่อยากมา แต่รัฐธรรมนูญ เขียนให้มาสรรหา”

นายปริญญากล่าวอีกว่า อยากให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)ต้องเป็นผู้ไม่มีส่วนได้เสียมาจัดทำรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ห้ามเป็น ส.ส.-ส.ว.ต้องคลุมไปถึงการไม่มีส่วนได้เสียในอนาคตด้วย ต้องห้ามมิให้ดำรงฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ อย่างน้อย 5 ปี หลังรัฐธรรมนูญ ประกาศใช้ และต้องยึดประโยชน์ส่วนรวมในการร่าง

ด้าน นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย นักนิติศาสตร์อิสระ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า ขณะนี้สังคมไทยมีความแตกแยกทางความคิดสูง ต้องมีการสร้างกระบวนการเรียนรู้ในสังคม ไม่ใช่เฉพาะแค่สื่อสารกับฐานเสียงของตัวเอง ตนมั่นใจว่าไม่ใช่เสื้อแดงทุกคนที่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และไม่ใช่คนเสื้อเหลืองทุกคนที่คัดค้านการ เพราะจากการสำรวจที่ผ่านมาจะเห็นว่ายังมีกลุ่มคนยังรอฟังเหตุผลจากรัฐบาลที่อาจจะเปลี่ยนการตัดสินใจในอนาคต

ขณะที่ นายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เรื่องการปรองดองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ส่วนใหญ่มีการจ้างนักวิชาการไปเขียนกว้างแบบมหาสมุทร ไม่ได้ค้นหาความจริงอย่างแท้จริง เป็นการเขียนเพื่อความถูกต้องทางการเมือง และต้องการเคลียร์ตัวเองเท่านั้น เปรียบเสมือนเป็นวรรณกรรมทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ตนไม่เห็นด้วยกับการมีนักวิชาการเข้าไปทำหน้าที่ ส.ส.ร. เพราะผู้ที่ร่างรัฐธรรมนูญควรมาจากการเลือกตั้ง นักวิชาการมีหน้าที่เสนอความเห็นหรือเป็นที่ปรึกษาเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น