xs
xsm
sm
md
lg

23 ก.พ. “วันชำเรารธน.” ปธ.สภาฯเรียกถกร่วม “ฉบับพท.-รบ.”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(15 ก.พ.55) ที่รัฐสภา นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า เตรียมนัดประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ในวันที่ 23 ก.พ.นี้ ในช่วงเช้า
นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า วันที่ 16 ก.พ. เวลา 14.00 น. จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมชี้แจงและทำความเข้าใจกับภาคประชาชนที่ยื่นเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเนื่องจากทุกร่างกำลังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบความถูกต้อง
ส่วนร่างของรัฐบาล ที่คณะกรรมการกฤษฏีกากำลังตรวจสอบ หากเสร็จสิ้น จะสามารถเสนอต่อประธานรัฐสภา เพื่อบรรจุเข้าสู่การพิจารณา แต่ตนยังเป็นห่วงร่างภาคประชาชน 2 ร่าง ที่จะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือน เพื่อตรวจสอบความถูกต้องผู้ลงลายมือชื่อสนับสนุนกว่า 5-6 หมื่นชื่อ
ส่วนร่างของพรรคชาติไทยพัฒนา ตนได้รับแล้วพบว่ามีความแตกต่างกันเล็กน้อย ในส่วนของกระบวนการทำประชามติ โดยพรรคเพื่อไทยมีมติที่จะลงชื่อสนับสนุนให้ครบ 1 ใน 5 ตามหลักเกณฑ์เสนอร่างแก้ไข
ขณะที่กรอบเวลาที่จะพิจารณาวาระแรก น่าจะทันในสมัยประชุมนี้ ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ ที่ประธานรัฐสภาอาจบรรจุร่างของ ส.ส. และรัฐบาล เข้าสู่การพิจารณาก่อน เพราะมีความเห็นสอดคล้องกันในการแก้ไขมาตรา 291 ให้มีส.ส.ร. จึงอาจจะมีการพูดคุยทำความเข้าใจว่า หากรอร่างของภาคประชาชน จะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือน
อย่างไรก็ดี เมื่อกระบวนการแก้ไขดำเนินไป และร่างของภาคประชาชนตรวจสอบความถูกต้องเสร็จแล้ว น่าจะมีการพูดคุยกันว่า จะแก้ไขสิ่งใดเพิ่มเติมได้ จะใช้ร่างใดเป็นหลักในการพิจารณา คงจะมีการหารือกันอีกครั้ง
นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ฐานะรองประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า รัฐสภาจำเป็นต้องรับฟังเสียงของประชาชนด้วยว่าคิดเห็นเช่นไร หากรัฐสภาจะพิจารณาร่างของรัฐบาล และของส.ส. ไปล่วงหน้าก่อนที่การตรวจสอบรายชื่อของประชาชนจะแล้วเสร็จ หากได้รับคำตอบว่า ให้เดินหน้าโดยไม่ต้องรอก็จะมีการหารือถึงการส่งตัวแทนให้เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญ แต่หากประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าควรจะต้องรอ ทางรัฐสภาก็ควรบรรจุญัตติแก้รัฐธรรมนูญไว้ในวาระประชุมค้างไว้ก่อน
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี พรรคประชาธิปัตย์มีมติคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่ารัฐบาลมีนัยยะแอบแฝง ไม่ใช่แก้ไขเพื่อประชาธิปไตย แต่เพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และยังตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมไม่แก้เฉพาะบางประเด็นที่เกี่ยวข้องกับส่วนรวมว่า โดยความเป็นจริงรัฐธรรมนูญปี 2550 พรรคพลังประชาชนหาเสียง พรรคเพื่อไทยหาเสียงก็ปฏิเสธ บอกว่ามาจากคณะปฏิวัติ และประกาศต่อประชาชนว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยได้เสียงข้างมาก เราจะแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 ทั้งฉบับ
ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ อาจยังไม่ได้อ่านร่าง เพราะเราร่างครั้งนี้ เราแก้ไข มาตรา 291 ใน 16 ประเด็น เป็น มาตรา 291/1 -มาตรา 291/16 ให้มี ส.ส.ร. 77 คนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และมีตัวแทนวิชาชีพ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ประชาชนจะเลือกใคร นักวิชาการทุกสถาบัน สถาบันอุดมศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน ส่งมาที่ละ 2 คน ก็เข้ามาตรวจสอบคุณสมบัติ รัฐสภาเลือกเอา 22 คน เราจะรู้หรือไม่ว่าสถาบันต่างๆ เขาจะส่งใคร รวมส.ส.ร.ทั้งหมด 99 คน เรายังไม่รู้ว่าประชาชนจะเลือกใคร สถาบันการศึกษาจะส่งใคร แล้วให้ส.ส.ร.ดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จ ภายใน 180 วัน ระหว่างยกร่างก็ต้องฟังเสียงประชาชน ยกร่างเสร็จประธานสภาฯ ส่งให้ กกต.ไปทำประชามติ ต้องให้เสร็จภายใน 45-60 วัน ถ้าประชาชนไม่เอาก็จบ เรายกร่างทั้งฉบับ และยังไม่รู้ว่าใครจะมาร่าง และไม่รู้ว่าจะร่างอย่างไร แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะช่วยใคร หรือไม่ช่วยใคร
“เป็นความคิดคับแคบ เมื่อปี 2540 พรรคประชาธิปัตย์ ก็ร่วมด้วยแก้ไข ม. 211 เอาธงเขียวมาสะบัด ฉวัดเฉวียน นั่นไม่ได้ทำประชามติด้วย ทำไมพรรคประชาธิปัตย์ ถึงยอมรับ แล้วคราวนี้ประชาธิปัตย์ไม่ยอมรับ เพราะอะไร อย่าไปบอกว่าไปเลิก ม.102 (7) ม. 309 เลิกทั้งฉบับ อ้าวถ้าพรรคประชาธิปัตย์สนใจ เอาเช่าเวลาที่ไหนก็ได้ พูดกับผมสัก ช.ม.ครึ่ง มานั่งคุยกัน " รองนายกฯ กล่าว
กรณีพรรคประชาธิปัตย์บอกไม่มีหลักประกันว่า รัฐบาลจะไม่แก้หมวดสถาบันฯ และจะไม่ยกเลิกองค์กรอิสระ รองนายกฯ กล่าวว่า "เขียนชัดเจน ไม่แตะต้องหมวดพระมหากษัตริย์ ส่วนจะยกร่างอย่างไร ก็เป็นเรื่องของส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง หรือประชาธิปัตย์ชอบรัฐธรรมนูญเผด็จการ หรือประชาธิปัตย์ไม่ชอบการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทย ชอบการเลือกตั้ง เพราะเมื่อมาจากการเลือกตั้ง เราไม่รู้ว่าประชาชนจะเลือกใคร ถ้าเลือกมาแล้วคุณไม่ยอมรับ คุณก็ไม่ใช่นักประชาธิปไตย 22 คนที่รัฐสภาเลือก คุณก็อยู่ในสภาฯ ถ้าเห็นใครไม่เหมาะสม ก็อภิปรายคัดค้านได้
ที่พรรคประชาธิปัตย์ แฉว่ามีข่าวว่ารัฐบาลล็อบบี้ ส.ว.เพื่อให้รับร่างแลกกับการ ต่อวาระ หรือให้สิทธิ์ลงสมัครส.ว.ต่ออีกวาระหนึ่ง รองนายกฯ กล่าวว่า " ถามว่ารัฐธรรมนูญที่กำลังจะยกร่าง ใครยกร่าง พรรคเพื่อไทยไม่ได้ยกร่าง แล้วจะไปต่อรองได้อย่างไร เป็นเรื่องของ ส.ส.ร. 99 คนยกร่าง ถ้าพรรคประชาธิปัตย์เล่นการเมืองแบบนี้ ผมก็กล่าวหาว่าประชาธิปัตย์ ชอบรัฐธรรมนูญที่มาจากการปฏิวัติ ผมกล่าวหาได้เลย และคุณไม่นิยมการเลือกตั้ง คุณถึงปฏิเสธ ส.ส.ร.อะไรก็ยังไม่เกิด เลือกตั้งก็ยังไม่เกิด เราไม่กำหนดคุณวุฒิปริญญาตรี ใครก็ได้เข้ามาใน 77 คน แต่สัดส่วนตัวแทนคณะรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และวิชาชีพอื่น รวม 22 คน อันไหนล็อกสเปก คุณค้านทุกเรื่อง ไม่มีเหตุผล " ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว
วันเดียวกัน นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ออกแถลงการโต้แย้งว่า ไม่เกี่ยวกับ พ.ต.ท. ทักษิณ เพราะเรื่องนี้เป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ใช้หาเสียง ดังนั้นจึงเป็นความชอบธรรมอย่างมากที่รัฐบาลจะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ เพียงแต่รัฐบาลไม่ได้กำหนดประเด็นเนื้อหาสาระว่าจะแก้เรื่องใด แต่ปล่อยให้ประชาชนเป็นคนยกร่าง โดยฝ่ายการเมืองและพรรคเพื่อไทยไปแทรกแซงไม่ได้
อีกด้าน นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เป็นการสร้างความสับสนให้กับสังคม ทั้งที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา จึงเป็นสิทธิที่สามารถยื่นได้ทันที แต่รัฐบาลนี้กลับให้ลิ่วล้อหรือหน้าม้าทางการเมืองออกมาเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดกระแสทางการเมืองก่อน จากนั้นรัฐบาลก็ฉวยโอกาสในนาทีสุดท้ายยื่นร่างรัฐบาลโดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ออกมาอ้างว่า ไม่ต้องการเสียสิทธิทางการเมือง ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่น่าเชื่อถือ
ทำให้เข้าใจได้ว่าการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้คงได้รับไฟเขียวจากนายใหญ่ที่ดูไบสั่งการกำชับมา มิฉะนั้น ร.ต.อ.เฉลิม คงไม่กระดี้กระด้าออกหน้าออกตารับบทเป็นโต้โผใหญ่ ออกมาระรานท้าทายการดีเบตมายังพรรคประชาธิปัตย์ ตนจึงอยากบอกว่า การดีเบตเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ สามารถทำได้ในการประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว แต่ถ้าเป็นความประสงค์ของร.ต.อ.เฉลิมที่ต้องการจะโชว์ออฟเพื่อให้เข้าตานายใหญ่ ตนในฐานะส.ส.พรรคพร้อมที่จะรับคำท้ากับร.ต.อ.เฉลิม
ส่วนกรณีที่ร.ต.อ.เฉลิม ระบุว่า รัฐบาลไม่สามารถแทรกแซงส.ส.ร.ได้ และปล่อยให้ส.ส.ร.มีอิสระในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้น ตนก็แปลกใจว่า ทำไมร.ต.อ.เฉลิม จึงออกมาการันตีและสั่งห้ามว่า จะไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการแก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ ซึ่งถ้ารัฐบาลสามารถสั่ง ไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดนี้ได้ ก็ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่า รัฐบาลนี้สามารถแทรกแซงการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราอื่นๆได้ด้วย
กรณีที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สไกป์มายังที่ประชุมส.ส.พรรคเพื่อไทย เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณคือนายกฯตัวจริงและเป็นเจ้าของพรรคเพื่อไทยแต่เพียงผู้เดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น