xs
xsm
sm
md
lg

“ธิดา” ห้าว! ฉีก รธน.50 เราเตือนคุณแล้ว ปัดพรรคเสื้อแดงหนุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปธ.นปช.เสนอที่มา ส.ส.ร.100 คน มาจากการเลือกตั้งของ ปชช.แถไม่มีพรรคเสื้อแดงหนุนหลัง เชื่อ จะเป็นก้าวแรกของการสร้างความปรองดอง ห้าวเราเตือนคุณแล้ว ฉีกรธน.50 เพราะมาจากรัฐประหาร ด้าน “โคทม” แนะ กกต.จัดเวทีแนะนำตัว-หาเสียงให้ ส.ส.ร.“สามารถ” รับลูก ได้ข้อมูลใกล้ครบถ้วน ช่วยให้กรรมาธิการแปรญัตติได้เร็วขึ้น

วันนี้ (22 มี.ค.) ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ …) พ.ศ…. ที่มี นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ เป็นประธานการประชุม โดยกรรมาธิการได้เชิญตัวแทนภาคประชาชนที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ร่าง และนักวิชาการมาแสดงความคิดเห็นในการทำร่างแก้ไข ประกอบด้วย นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นายนิรันดร์ ด่านไพบูลย์ นายเยี่ยมยอด ศรีมันตะ และ นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล

โดย นางธิดา กล่าวว่า เป้าหมายของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) คือ ต้องการรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่ของพรรคการเมืองใดๆ แต่นี่ไม่ใช่ร่างรัฐธรรมนูญของคนเสื้อแดง อยากขอเตือนพรรคการเมืองทั้งหลาย ว่า ประชาชนจับตาดูอยู่ว่าเขาต้องการรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด เราเตือนคุณแล้ว ซึ่งกระบวนการเป็นสิ่งที่สำคัญ การที่ประชาชนปฏิเสธรัฐธรรมนูญ 2550 นั้น เนื่องจากที่มาไม่ถูกต้อง การสนับสนุนให้มีการแก้ไขในครั้งนี้ ก็เพื่อแสดงเจตนารมณ์ให้เห็นว่า ผู้มีบทบาทการกำหนดร่างรัฐธรรมนูญนั้นไม่มีเล่ห์นัย แต่หากพรรคการเมืองตั้งธงไว้ เราต้องเน้นกระบวนการที่ชอบธรรม และทำให้การคัดค้านต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผล

นางธิดา กล่าวอีกว่า ที่มาของ ส.ส.ร.จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้มีความชอบธรรม เราจะเสนอให้มีการเลือกตั้งโดยตรง 100 เปอร์เซ็นต์ ในจำนวน 100 คน หากมีมากเกินจะเป็นการจงใจให้ส.ส.ร.ไม่มีอำนาจ แต่หากน้อยเกินไปก็จะเป็นการจัดตั้งรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เราปฏิเสธ เพื่อความชอบธรรม เขาก็มีการทำประชามติเช่นกัน โดยมีอรหันต์เป็นผู้ร่าง แต่ในครั้งนี้ร่างประชาชนไม่ต้องการอรหันต์ แต่ต้องการประชาชนเป็นผู้ร่าง ไม่ใช่รัฐธรรมนูญของโจโฉ หรือเล่าปี่ อย่างที่ นายธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการได้วิเคราะห์กลุ่มอำนาจทางการเมือง นี่จะเป็นก้าวแรกของการปรองดองอย่างแท้จริง และยั่งยืน ทั้งนี้ หากมีการกำหนดคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส.ร.มากเท่าไหร่ ก็จะเป็นการลดคนให้เหลือน้อยลง ที่สำคัญคือ จุดยืน คือ ประชาชน หากมีความเชี่ยวชาญแค่ไหน แต่ไม่มีจุดยืนเพื่อประชาชนก็ไร้ประโยชน์ อยากเสนอว่าข้อจำกัดใดๆก็ตามต้องลดให้น้อยลง ร่างของเราคุณสมบัติ มีอายุ 25 ปีขึ้นไป และไม่จำกัดวุฒิการศึกษา อยู่ในพื้นที่เพียง 1ปี และเสนอให้จำนวน ส.ส.ร.เป็นไปตามสัดส่วนประชากร

“ถ้าต้องการรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย แต่ไม่คำนึงถึงสิทธิประชาธิปไตยของประชาชน ก็ป่วยการที่จะได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ประชาธิปไตยเป็นทั้งเป้าหมายและวิธีการ เราคำนึงถึงสิทธิประชาธิปไตยของประชาชน วิธีคิดเอาพื้นที่เป็นหลัก คือ วิธีคิดแบบอนุรักษ์นิยม ที่เห็นพื้นที่สำคัญกว่าประชาชน การเลือกตั้ง ส.ส.ร.นั้น ขึ้นอยู่กับวิธีคิด บางร่างอาจจะแบ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ 22 คน และประชาชนทั่วไปที่มาจากการเลือกตั้ง 77 คน ตนอยากถามว่า เหตุผลอะไรที่จะให้มีผู้ทรงคุณวุฒิ 22คน นั่นคือ ตัวจริงที่จะเป็นผู้เขียนใช่หรือไม่ ขอยืนยันว่า นี่คือ รัฐธรรมนูญของประชาชนทั้งหมด ไม่ใช่ของชนชั้นกลาง หรือชนชั้นสูง รัฐธรรมนูญดีๆ ของเรามีมาก ทั้งรัฐธรรมนูญปี 2489 2517 2540 แต่กลับถูกฉีกทิ้ง ยิ่งรัฐธรรมนูญดีเท่าไหร่ก็ยิ่งถูกฉีกทิ้งง่าย” นางธิดา กล่าว

ขณะที่ นายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะคณะกรรมาธิการ ติดใจในคำพูดของ นางธิดา ในถ้อยคำที่ว่า “เราเตือนคุณแล้ว” จึงกล่าวโต้ตอบเชิงทีเล่นทีจริงว่า ขอให้ นางธิดา กลับไปดูคำแปรญัตติของ นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ด้วย ว่า ได้เคยแปรญัตติที่ขัดกับหลักการของนางธิดาหรือไม่

ด้าน นายโคทม กล่าวว่า ข้อเสนอในเชิงหลักการอยากเห็นรัฐธรรมนูญใหม่ร่างโดยตัวแทนของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน หลังจากนั้น ต้องผ่านการลงประชามติ ถึงเวลาที่จะต้องเปิดโรงเรียนการเมืองครั้งใหญ่ และให้ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดเนื้อหาด้วย หากเปิดรับทุกฝ่ายเข้าร่วมจะเป็นการสร้างความปรองดองผ่านการยกร่างในครั้งนี้ นอกจากนั้น เราควรจะปลูกฝังจิตสำนึก การยอมรับ ว่ารัฐธรรมนูญเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์ร่วมสร้างสัญญาประชาคมของคนไทย ส่วนที่มาและจำนวน ส.ส.ร.นั้น ควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนทั้งหมด และให้ใช้เขตจังหวัดเลือกตั้ง โดยคำนวณจากสัดส่วนประชากร ไม่ควรมีมาจากการเลือกตั้งผ่านรัฐสภา ซึ่งบางจังหวัดอาจจะมี ส.ส.ร.มากกว่า 1 คน และควรจะมีจำนวนมากพอสมควร อาจจะเป็น 200 คน หรือมากกว่า200 คนก็ได้

“เราต้องการป้องกันไม่ให้มีการบล็อกโหวต อยากเสนอให้ใช้ระบบเลือกตั้งคะแนนเสียงเดียว ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกได้เพียง 1 คน คุณสมบัติควรจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และไม่กำหนดคุณวุฒิการศึกษา และอยากเสนอให้ กกต.จัดเวทีแนะนำตัวและหาเสียงให้แก่ ส.ส.ร.ด้วย” นายโคมทม กล่าว

นายโคทม กล่าวอีกว่า คณะกรรมการยกร่างฯ ควรจะมีทั้งหมด 30 คน ประกอบด้วย ส.ส.ร. 15 คน ตัวแทนจากผู้เชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์ 5 คน รัฐประศาสนศาสตร์ 5 คน และผู้มีประสบการณ์ร่างรัฐธรรมนูญ 5 คน และจะต้องมีจำนวนสตรีไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ด้วย ทำการยกร่างภายใน 365 วัน และทำประชามติ 90 วัน และหลังจากร่างเสร็จแล้ว ควรจะเปิดโรงเรียนการเมืองให้ประชาชนได้เรียนรู้ เพื่อให้ประชาชนเกิดการยอมรับกติการ่วมกัน

ด้าน นายเยี่ยมยอด กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญขณะนี้ เกิดความเห็นต่างในสังคมค่อนข้างรุนแรง ร่างฉบับที่เราได้เสนอขึ้นมานั้น หลักการสำคัญคือ ให้มีการแก้ไขหรือยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 โดยการแก้ไขมาตรา 291 เพื่อให้มี ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ส.ส.ร.ต้องเป็นอิสระจากรัฐสภา พรรคการเมือง และนักการเมือง และต้องมีประชาชนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ส่วนจำนวน ส.ส.ร.ต้องคำนึงตามสัดส่วนของประชากรของประเทศ และไม่มีการกำหนดวุฒิการศึกษา โดยมีอายุ 18 ปีขึ้นไป และห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง และไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ซึ่งตนอยากเห็นทิศทางในการปฏิรูปประเทศ และการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตย

ขณะที่ นายนิรันดร์ กล่าวว่า อยากให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับ และมี ส.ส.ร.ที่เป็นตัวแทนจากทุกภาคส่วน มีเลือกตั้งโดยตรงจากจังหวัดละ 1 คน เป็นจำนวนทั้งหมด 77 คน และมีผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆ จำนวน 24 คน และให้มีการทำประชามติ ทั้งนี้ ต้องการให้ที่มาของ ส.ส.ร.มาจาก 2 ฝ่าย ได้แก่ 1.มาจากประชาชนโดยตรง และ 2.ฝ่ายวิชาการ ซึ่งคุณสมบัติไม่จำเป็นต้องจบปริญญาตรี และตนอยากเปิดโอกาสให้พระภิกษุสามารถเป็น ส.ส.ร.ได้ โดยให้ตัวแทนทางศาสนาเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

อย่างไรก็ตาม นายสามารถ กล่าวสรุปว่า การเชิญภาคประชาชนมาแสดงความคิดเห็นในวันนี้จะช่วยให้กรรมาธิการแปรญัตติได้เร็วขึ้น โดยหลังครบกำหนดรับคำแปรญัตติของสมาชิกที่ไม่ได้เป็นกรรมาธิการ ในวันที่ 25 มี.ค.กรรมาธิการจะสรุปความคิดเห็น และดำเนินการใช้ชั้นการแปรญัตติให้เร็วที่สุด แต่การพิจารณาจะไม่รวบรัด แต่จะเน้นพิจารณาให้ครบถ้วนทุกความเห็น

กำลังโหลดความคิดเห็น