กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญฉะกันแหลก มาตรา 291/3 เหตุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของรัฐบาลให้นักโทษที่เพิ่งพ้นคุกสมัครเป็น ส.ส.ร.ได้ ขณะที่ ปชป.ขวางเต็มที่แต่เอาไม่อยู่ ประธาน กมธ.ให้สงวนคำแปรญัตติไปถกในวาระ 2 ของการประชุมสภา
ที่รัฐสภา วันนี้ (21 มี.ค.) มีการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ..... โดบมี นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เป็นประธานในที่ประชุม เพื่อพิจารณามาตรา 291/1 เรื่องที่มาและคุณสมบัติของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยที่ประชุมได้หารือกันอย่างกว้างขวางถึงที่มา ส.ส.ร.ซึ่งมีการเสนอ 3 รูปแบบ คือ 1.ให้คงร่างตามที่รัฐบาลเสนอ คือ มี ส.ส.ร.99 คน 2.ให้มี ส.ส.ร.150 คน มาจากการเลือกตั้งตามสัดส่วนประชากร 130 คน และเลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิ 20 คน ตามข้อเสนอของ นายเทพไท เสนพงศ์ กรรมาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และ 3.ให้มี ส.ส.ร.100 คน จากการเลือกตั้งทั้งหมด ตามร่างของภาคประชาชน
ทั้งนี้ กรรมาธิการได้แสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่ไม่ขัดข้องกับการให้เลือกตั้ง ส.ส.ร.มากกว่าจังหวัดละ 1 คน แบ่งตามสัดส่วนประชากรในจังหวัด แต่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปเรื่องจำนวน และที่มาของ ส.ส.ร.ที่ชัดเจนได้ ประธานในที่ประชุมจึงให้แขวนมาตราดังกล่าวไว้ก่อน เพื่อรอฟังความคิดเห็นจากตัวแทนภาคประชาชน และตัวแทนองค์กรวิชาชีพที่จะมาเสนอความเห็นเรื่องที่มาของ ส.ส.ร.ในวันที่ 22 มี.ค.นี้
จากนั้นคณะกรรมาธิการฯได้หารือมาตรา 291/2 และ 291/3 เรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ ส.ส.ร.ซึ่งกรรมาธิการซีกพรรคประชาธิปัตย์ทั้ง นายอลงกรณ์ พลบุตร นายวิรัตน์ กัลยาศิริ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ นายสาธิต ปิตุเตชะ อยากให้กำหนดคุณสมบัติต้องห้ามของผู้สมัครว่า ต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกพรรคการเมือง และผู้สมัครต้องพ้นจากตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกพรรคจนถึงวันสมัครมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ปี รวมถึงห้ามผู้มีส่วนได้เสียทางตรงกับนักการเมืองทั้งพ่อแม่ พี่น้อง มาสมัคร ส.ส.ร.เพื่อป้องกันข้อครหาเรื่องสภาผัวเมีย สภาพ่อแม่พี่น้อง เพื่อแสดงถึงความเป็นกลาง ไม่มีส่วนได้เสียทางการเมือง เพราะสังคมคลางแคลงใจว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ทำเพื่อใครบางคน จึงไม่อยากให้เกี่ยวข้องกับนักการเมือง
จากนั้นที่ประชุมได้ถกเถียงกันอย่างหนัก ในมาตรา 291/3 ที่ตามร่างของ ครม.มีการตัดคุณสมบัติต้องห้ามเป็นผู้สมัคร ตามมาตรา 102(5) เรื่อง ห้ามผู้ถูกคำพิพากษาจำคุก และเพิ่งพ้นโทษจำคุกไม่ถึง 5 ปี มาลงสมัคร ส.ส.ร ทิ้งไป ซึ่งกรรมาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า ไม่มีความเหมาะสม เปิดโอกาสให้คนมีคดีติดตัว และพ้นโทษมาเพียง 1 วัน มาลงสมัครได้ เป็นการทำผิดจริยธรรม แม้ตัวแทนจากคณะกรรมการกฤษฎีกา และ นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ กรรมาธิการพรรคเพื่อไทย จะชี้แจงเหตุผลที่ตัด (5) ทิ้ง เนื่องจากตำแหน่ง ส.ส.ร.เข้ามาทำหน้าที่เพียงไม่นาน จึงไม่จำเป็นต้องกำหนดคุณสมบัติต้องห้ามเคร่งครัดเหมือน ส.ส.และเปิดโอกาสให้นักวิชาการฝีปากดีที่ติดคุก มาลงสมัครได้
แต่กรรมาธิการจากพรรคประชาธิปัตย์ ก็ยังยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยที่มีการตัดคุณสมบัติต้องห้ามมาตราดังกล่าวทิ้งไป โดย นายธนา ชีรวินิจ กรรมาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ต้องบอกว่า นายแน่มากที่ตัด (5) ทิ้ง เพราะการตัดมาตราดังกล่าวทิ้ง คงมีนักวิชาการปากกล้าไม่กี่คนที่ติดคุกอยู่ แต่คนที่ติดคุกมีทั้งคดีฆ่า ยาเสพติด ข่มขืน แล้วจะเอาคนแบบนี้มาเป็น ส.ส.ร.ได้อย่างไร การตัดมาตรานี้ทิ้งคงเล็งไว้อยู่แล้วว่า จะเอาใครมาเป็น ส.ส.ร.
ขณะที่ นายเทพไท เสนพงศ์ กรรมาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การตัด (5) เป็นการหมกเม็ด เพื่อต้องการโยนหินถามทางหรือไม่ เพราะเป็นประเด็นได้เสียของใครบางคน จากนั้นประธานในที่ประชุมได้ตัดบท ว่า หากใครไม่เห็นด้วยก็ขอให้สงวนคำแปรญัตติมาพูดในการประชุมสภาวาระ 2 ก่อนที่จะสั่งปิดประชุมในที่สุด