xs
xsm
sm
md
lg

เปิดช่องอดีตนช.นั่งสสร. ข้องใจพ้นโทษไม่เกิน 5 ปีสมัครได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(21 มี.ค.55) ที่รัฐสภา การประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.)พิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่มีนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน มีวาระพิจารณาองค์ประกอบและคุณสมบัติสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ทั้งนี้กมธ.พรรคประชาธิปัตย์ ยังยืนยันในจุดเดิม คือ ให้มีส.ส.ร.จำนวน 150 คน โดยมาจากการเลือกตั้ง 2 ระบบจากผู้สมัคร 130 คนและผู้ทรงคุณวุฒิ 20 คน และเสนอให้ผู้สมัครมีอายุไม่ต่ำ กว่า 30 ปีจากเดิมในร่างแก้ไขของรัฐเสนอให้ผู้สมัครส.ส.ร.ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี นอกจากนี้ ยังต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองอย่างน้อย 1 ปีเพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญผ่านส.ส.ร.
โดยนายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ สส.พัทลุง นายสาธิต ปิตุเตชะ อยากให้กำหนดคุณสมบัติต้องห้ามของผู้สมัครว่า ต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกพรรคการเมือง และผู้สมัครต้องพ้นจากตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกพรรคจนถึงวันสมัคร มาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ปี รวมถึงห้ามผู้มีส่วนได้เสียทางตรงกับนักการเมืองทั้งพ่อแม่ พี่น้อง มาสมัครส.ส.ร. เพื่อ ป้องกันข้อครหา
นอกจากนี้ กมธ.พรรคประชาธิปัตย์มีข้อสังเกตว่าเหตุใดในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลไม่กำหนด ข้อห้ามไม่ให้ผู้เคยต้องคำพิพากษาลงสมัครส.ส.ร. โดยเกรงว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับใครหรือไม่ จึงอยากให้นำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 102 (5) มาใส่เอาไว้ในคุณสมบัติของส.ส.ร.ที่ระบุว่า บุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยได้พ้นโทษยังไม่ถึง 5 ปีในวันเลือกตั้งไม่สามารถลงสมัครส.ส.ร.ได้ เพื่อป้องกันปัญหา
ขณะที่ ตัวแทนจากคณะกรรมการกฤษฎีกาและนพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ กมธ.พรรคเพื่อไทยจะชี้แจงเหตุผลที่ไม่เสนอข้อห้ามนี้เพราะตำแหน่งส.ส.ร.เข้ามาทำหน้าที่เพียงไม่นาน จึงไม่จำเป็นต้องกำหนดคุณสมบัติต้องห้ามเคร่งครัดเหมือนส.ส. และเปิดโอกาสให้นักวิชาการที่ติดคุกมาลงสมัครได้
ทั้งนี้ การหารือใน มาตรา 291 / 1 291 / 2 291 / 3 ยังไม่มีข้อสรุป เนื่องจาก รอภาคประชาชนที่เสนอร่างรัฐธรรมนูญ 3 ร่าง และตัวแทนขององค์กรวิชาการจากมหาวิทยาลัยมหิดล มาให้ความคิดเห็นในวันที่ 22 มี.ค.นี้ ก่อนที่จะมีข้อสรุป
อีกด้าน นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมือง เปิดเผยว่า การเลือกตั้ง ส.ส.ร. รัฐบาลควรออกเป็นพระราชบัญญัติกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ร. มาให้ใช้มากกว่าจะเป็นการที่ กมธ.ร่างรธน.เสนอให้ออกเป็นระเบียบข้อบังคับการเลือกตั้ง เพราะจะทำให้เกิดปัญหาต่อการควบคุมการเลือกตั้ง อาทิ เลือกตั้งล่วงหน้าได้หรือไม่ กรอบระยะกี่วัน โทษการฉีกบัตรเลือกตั้ง และเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งต้องปฎิบัติตัวอย่างไร ทั้งนี้ประเด็นปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ก็ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ และขัดต่อรัฐธรรมนูญได้ทันที
“ถ้าให้กกต.เป็นผู้จัดการเลือกตั้งส.ส.ร.แล้ว ขอให้มีกฎหมายให้อำนาจกกต.อย่างชัดเจน และการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ก็ไม่ใช่เรื่องยาก ดังนั้น รัฐบาลควรออกเป็นมติครม. เสนอเข้าสภา จากนั้นส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา เพื่อประกาศใช้ได้ คาดว่ากระบวนการนี้จะไม่ทำให้เสียเวลา ซึ่งกกต.ก็จะมีเครื่องมือใช้ควบคุมการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยดี ”นางสดศรี กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น