xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ร่างแก้ไข รธน.สั่งแขวนหลักการ ห้าม ส.ส.ร.แตะหมวดสถาบัน-ศาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สามารถ แก้วมีชัย
ที่ประชุม กมธ.ร่างแก้ไข รธน.สั่งแขวนหลักการ หลังถกไม่ลงตัวให้เขียนห้าม ส.ส.ร.แก้ไขหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์-ศาล-องค์กรอิสระ พร้อมเตรียมเชิญ กกต.-กฤษฎีกาแจงความพร้อมจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ร.

วันนี้ (8 มี.ค.) ในการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยมีนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ประธานกรรมาธิการทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยการประชุมในวันนี้ (8 มี.ค.) เป็นการเริ่มพิจารณาในร่างแก้ไขที่ได้รับหลักการไว้ลงรายมาตราทั้ง 3 ร่าง คือ ร่างของรัฐบาล, ร่างของพรรคเพื่อไทย และร่างของพรรคชาติไทยพัฒนา โดยประธานได้ยึดตามที่ที่ประชุมพิจารณาแล้วว่าให้ใช้ร่างของรัฐบาลเป็นหลักในการพิจารณาที่ประชุมจึงเริ่มพิจารณาในหลักการและเหตุผล โดยพิจารณาในมาตรา 4 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด 16 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรา 291/1 ถึงมาตรา 291/16 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 โดยนายวิรัช กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ เสนอว่า ควรมีการเขียนไว้ให้ชัดเรื่องที่จะไม่ก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ก้าวล่วงสถาบันศาล องค์กรอิสระหรือจะไม่แก้ไขเพื่อประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่ง ประธานจึงวินิจฉัยว่าที่ประชุมจะรับเรื่องนี้ไว้ในส่วนที่เป็นข้อหารือ โดยจะมีการพิจารณาต่อไป

ด้าน นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง ทักท้วงว่า สิ่งที่นายวิรัชหยิบยกไว้ไม่ใช่การหารือแต่คงต้องการให้เขียนไว้ในหลักการให้ชัดเจน ด้านนายชวลิต วิชยสุต ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลักการของร่างเป็นเรื่องที่รับหลักการไว้แล้วในวาระแรก ถ้าไปเปลี่ยนหลักการของร่างแก้ไขจะมีปัญหา ตนเห็นว่าควรลงไว้ในส่วนที่เป็นจตนารมณ์ของร่างฯ จะเหมาะสมกว่า

ในการอภิปรายแสดงความเห็น กรรมาธิการฝั่งรัฐบาลเห็นว่าหลักการเป็นสิ่งที่สภาได้พิจารณาเห็นชอบไปแล้วไม่ควรแก้ไขเพิ่มเติมอีก ส่วนที่เป็นความคิดเห็นข้อกังวลควรเสนอเป็นข้อพิจารณา หรือข้อเสนอแนะ ขณะที่กรรมาธิการเสียงข้างน้อยในฝั่งฝ่ายค้านยืนกรานว่า ควรเพิ่มเติมไว้ในหลักการให้ชัดเจนว่าจะไม่มีการแก้ไขในบทบัญญัติที่หลายฝ่ายมีความกังวล ในที่สุดประธานได้วินิจฉัยให้พิจารณาผ่านไปก่อน โดยหากมีบทบัญญัติใดที่จะบรรจุข้อกังวลไว้ได้ค่อยพิจารณาเขียนไว้ต่อไป ทั้งนี้ เพราะทุกฝ่ายเห็นตรงกันอยู่แล้วว่าจะเขียนไว้ให้ชัดเจนว่าจะเขียนระบุว่าไม่ให้ ส.ส.ร.เปลี่ยนแปลงบทบัญญัติในหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ดี กรรมาธิการของฝ่ายค้านยืนยันว่า เมื่อเห็นตรงกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาควรเขียนไว้ในหลักการได้ ทั้งนี้ ในมาตรา 4 ได้กำหนดถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ย่อมหมายถึงการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เข้ามาแทนฉบับปัจจุบันอาจเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย กรรมาธิการฯ ยืนยันว่า ส.ส.ร.จะไม่มีการแก้ไขใน 4 ประเด็นที่ทุกฝ่ายเป็นห่วง คือ หมวดที่เกี่ยวกับสถาบัน, ศาล, องค์กรอิสระ และการแก้ไขในส่วนที่จะเอื้อประโยชน์ให้ใครคนใดคนหนึ่ง ด้านนายชวลิตได้ยืนยันว่า เมื่อรับหลักการร่างแก้ไขในวาระที่ 1 แล้วจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขหลักการไม่ได้ ทั้งข้อบังคับการประชุมและประเพณีน่าจะยืนยันได้ว่าไม่สามารถเพิ่มเติมในหลักการได้ ส่วนข้อห่วงใยของเพื่อนสมาชิกควรไปพิจารณาภายหลังในมาตราอื่น ตนไม่อยากให้ต้องมีการลงมติ

จากนั้น นายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กรรมาธิการฯ ได้ขอให้ที่ประชุมเขียนให้ชัดเจนว่าจะไม่แก้ไขเพราะจะทำให้หลายฝ่ายเกิดความเคลือบแคลงใจและมีปัญหาในภายหลัง นายวรวัจน์ยืนยันว่า หมวดที่ 1 และ 2 เป็นมติของพรรคชัดเจนว่าจะไม่แตะต้อง ส่วนเรื่องของศาล และองค์กรอิสระ เราประสงค์ให้หน่วยงานความเป็นกลางอย่างแท้จริง โดยจะปกป้ององค์กรเหล่านั้นไม่ให้ถูกนำมาใช้ทางการเมืองเพราะจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ระบบ เราต้องคุยกันในรายละเอียดว่าจะให้องค์กรเหล่านั้นมีลักษณะเป็นกลาง หรือไม่ยุ่งกับการเมืองได้อย่างไร

ด้าน นายสงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เรื่องไหนเป็นเรื่องหลักการให้แขวนไว้ก่อน แล้วพิจารณาในส่วนอื่นไปก่อน เมื่อพิจารณาเสร็จแล้วจึงกลับมาพิจารณาต่อ ส่วนหากต้องลงมติก็ต้องลงมติ สุดท้ายแล้วตนเชื่อว่าอาจไม่ต้องมีการลงมติก็ได้ ด้าน นพ.วรงค์กล่าวว่า เมื่อยังตกลงกันไม่ได้และจะแขวนไว้ ตนในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อยขอสงวนคำแปรญัตติไว้ในมาตรา 4 ให้แก้ไขคำว่าจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นจัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับเพิ่มเติม และการทำรัฐธรรมนูญต้องไม่แก้ไขหมวดที่ 2 ว่าด้วยสถาบัน หมวดที่ 10 และ 11 ว่าด้วยศาลและองค์กรอิสระ และการแก้ไขที่เกี่ยวกับการนิรโทษกรรม

ในที่สุดประธานให้วินิจฉัยให้แขวนส่วนหลักการไว้ก่อน เพื่อดำเนินการพิจารณาต่อในส่วนของเหตุผล ซึ่งเชื่อมโยงกับหมวด 16 การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมาตรา 291/1 ระบุถึงที่มาของ ส.ส.ร.และจำนวน ส.ส.ร. นายวิรัชกล่าวว่า กรณีจำนวน ส.ส.ร.จังหวัดละ 1 ตนเห็นด้วย แต่เห็นว่าควรใช้วิธีคำนวณจำนวน ส.ส.ร.โดยคิดจากสัดส่วนของประชาชนเป็นเกณฑ์ โดยให้สามารถเพิ่มจำนวนได้อีก 1 คนในส่วนของจังหวัดที่มีจำนวนประชากรมาเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในแต่ละจังหวัด ทั้งนี้ เห็นว่าควรลักษณะต้องห้ามบุคคลลงสมัครรับเลือกตั้งมาเป็นลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะมาสมัครเป็น ส.ส.ร.ด้วย

ด้าน นพ.ชลน่านกล่าวว่า เมื่อแขวนหลักการไว้ยังไม่ควรเขียนลงลึกไปก่อนในส่วนของเหตุผล ทั้งนี้เพราะเหตุผลเกี่ยวเนื่องกับหลักการ เมื่อยังไม่รู้ว่าหลักการจะมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมหรือไม่ นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง กล่าวอีกว่า ยังไม่ควรมีการเขียนระบุจำนวนส.ส.ร.ไว้ว่าเป็นจำนวนเท่าใดแต่ควรพิจารณาโดยคำนวณจากจำนวนประชากร โดยให้ได้ข้อสรุปชัดเจนก่อนว่าจะมีหลักเกณฑ์แลวิธีการอย่างไรในการคำนวณ ด้านนายอลงกรณ์เสนอว่าควรมีการเคารพประชาชนส่วนใหญ่ให้เขียนเหตุผลให้สอดรับกับมาตราต่างๆ ด้วย และหากต้องมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับจริง ควรให้ประชาชนออกเสียงประชามติก่อนว่าต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ แล้วจึงเข้าสู่กระบวนการ

ในที่สุด ประธานได้สรุปให้แขวนในส่วนของเหตุผลเอาไว้ก่อน ที่ประชุมจึงพิจารณาต่อในมาตรา 2 การให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ โดยเห็นว่าควรมีเวลาพักไว้สัก 90 วันเพื่อให้ประชาชนได้ปรับตัวและทราบข้อมูลก่อนจึงจะนำไปทำประชาชนได้รับทราบก่อน ด้าน นพ.ชลน่านกล่าวว่า การเตรียมการไม่จำเป็นต้องใช้เวลา เพราะเมื่อร่างฯ ผ่านรัฐสภาแล้ว การเลือกสสร.ต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกาซึ่งใช้เวลาไม่มาก ในขั้นตอนนี้น่าจะมีการประชาสัมพันธ์ซึ่งพร้อมจะทำอยู่แล้ว ดังนั้นควรให้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขมีผลบังคับใช้นัแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เสนอว่า ควรเชิญกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาชี้แจงและให้คำยืนยันต่อกรรมาธิการว่าจะสามารถจัดการเลือกตั้งได้เลยหรือไม่ ด้านายชวลิตกล่าวว่า กรณีนี้เห็นควรยืนตามร่างของรัฐธรรมนูญ เพราะหากรัฐธรรมนูญผ่านแล้วแต่ไม่มีผลนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาจะไม่มีผลอนุมัติให้ทำอะไรได้เลยจะไปออกกฎหมายหรือทำอะไรก็จะทำไม่ได้ ด้านนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ รองประธานกรรมาธิการฯ เสนอว่า การกำหนดต่างๆ ควรเหมาะสมกับสถานะของอำนาจหน้าที่ ส.ส.ร.ครั้งนี้เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญอีกองค์กรหนึ่ง ดังนั้น การให้ กกต.ออกระเบียบเพื่อให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ดูจะไม่เหมาะสมควรออกเป็นข้อกฎหมายจะเหมาะสมกว่า ด้านนายชวลิตกล่าวว่า การที่รัฐบาลจะตราพระราชกฤษฎีการัฐธรรมนูญจะต้องมีผลบังคับใช้ก่อน ดังนั้นการดำเนินการใดๆ รัฐธรรมนูญต้องมีผลบังคับใช้อยู่ ส่วน กกต.จะไปดำเนินการอย่างไรนั้นมีห้วงเวลาเพียงพออยู่ที่จะดำเนินการได้

หลังจากอภิปรายแสดงความเห็นพอสมควร ประธานสรุปว่า เมื่อลงรายละเอียดไปแล้วจะมีช่วงเวลาที่เพียงพอที่จะดำเนินการเรื่องต่างๆ กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา ดังนั้นจึงไม่น่าเป็นห่วง ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านวาร 3 แล้ว แต่ไปมีข้อติดขัดเรื่องเวลาการดำเนินการต่างๆ จะเดินต่อไปไม่ได้ ดังนั้น หากเห็นว่าเวลาก่อนเลือก ส.ส.ร.ที่พระราชกฤษฎีกาอาจกำหนดไว้ประมาณ 75 วันไม่เพียงพอก็แก้ไขได้ หรือถ้าเห็นว่าการออกระเบียบให้ กกต.ไปเลือกตั้ง ส.ส.ร.ไม่เหมาะต้องไปออกพระราชกฤษฎีกาก็ไปกำหนดได้ ตนเห็นว่าหลักการคือเมื่อต้องการให้ขั้นตอนต่างๆ ดำเนินการไปได้ต้องกำหนดให้กลไกต่างๆ ดำเนินไปตามที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ดี กรรมาธิการในฝั่งของฝ่ายค้านมีความพยายาให้กรรมาธิการฯ เชิญ กกต.มาชี้แจงกับที่ประชุมได้ ด้านนายวิชาญ มีชัยนันท์ ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่ หากมีข้อสงสัยและข้อกังวลกันมาตนเสนอให้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการเพื่อหาทางออกในข้อสงสัยต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องแขวนหรือเสียเวลาเชิญใครมา

ทั้งนี้ แม้ว่าประธานจะพยายามขอให้กรรมาธิการของฝ่ายค้านผ่านมาตรานี้ไปก่อน แต่ฝ่ายค้านยังคงติดใจเรื่องการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ประธานจึงวินิจฉัยว่า ยังไงคงต้องผ่านมาตราสองไปตามร่างเดิมเนื่องจากต้องให้รัฐธรรมนูญมีผลบังคับในวันถัดจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้กลไกต่างๆ ดำเนินไปได้ ส่วนข้อกังวลของฝ่ายค้านเรื่องการเลือกตั้ง ส.ส.ร. กรรมาธิการฯ จะเชิญ กกต.มาให้ความมั่นใจโดยหากเห็นว่ากรอบเวลาที่จะกำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาไม่เพียงพอที่จะเลือกตั้งก็ให้ปรับเปลี่ยนได้ นนพ.วรงค์จึงขอสงวนคำแปรญัตติ ให้รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา 30 วัน จากนั้นประธานจึงให้พิจารณาต่อในมาตรา 3 และมาตรา 4 ซึ่งมีเนื้อหาให้ที่ประชุมร่วมกันองรัฐสภาพิจารณาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเกี่ยวเนื่องกับหมวด 16 การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อประธานเห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาพิจารณามาก โดยวันนี้ได้ประชุมมาเป็นเวลาพอสมควรจึงให้เลื่อนไปประชุมต่อในวันที่ 14 มี.ค. เวลา 09.00 น. อย่างไรก็ดี ในตอนท้ายกรรมาธิการฝ่ายรัฐบาลได้หารือโดยเสนอให้เพิ่มเวลาประชุมในวันพฤหัสบดีทั้งช่วงเช้าและบ่าย โดยช่วงบ่ายเพิ่มเวลาอีก 3 ชั่วโมงเพื่อให้มีเวลาเพียงพอในการพิจารณา แต่กรรมาธิการฝ่ายค้านยังเห็นว่าเวลาที่มีอยู่เพียงพอ หากจะเพิ่มเวลาควรรอดูไปก่อนว่าจะจำเป็นต้องเพิ่มเวลาหรือไม่ ประธานจึงสรุปให้เชิญ กกต.และกรรมการกฤษฎีกามาชี้แจงในการประชุมสัปดาห์หน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น