xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ร่างแก้ รธน.จี้ถาม กกต.พร้อมจัดเลือกตั้ง ส.ส.ร.หรือไม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สามารถ แก้วมีชัย
ที่ประชุม กมธ.ร่างแก้ รธน.เรียก กกต.ยืนยันความพร้อมในการจัดเลือกตั้ง ส.ส.ร.แต่ยังเป็นห่วงในเรื่องกฎหมายรองรับ เหตุไม่ใช่ผู้แทนประชาชนเหมือนส.ส.เสนอขยายเวลาจัดเลือกตั้งจาก 75 วัน เป็น 90 วัน

วันนี้ (14 มี.ค.) ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มี นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน มีวาระการพิจารณาสำคัญ คือ เนื้อหาในมาตรา 2 ที่ระบุว่า รัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับนับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยการประชุมในครั้งนี้ที่ประชุม กมธ.ได้เชิญ นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายบุณยเกียรติ รักชาติเจริญ รองเลขาธิการ กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง น.ส.ลักขณา บัณฑิตวรภูมิ ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย 2 และ นายยงเกียรติ อดิเศรษฐกุล ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและคดี มาชี้แจง

สำหรับประเด็นนี้มีการแขวนเอาไว้ตั้งแต่การประชุมสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่ง กมธ.ในซีกของพรรคประชาธิปัตย์แสดงความเป็นกังวล ว่า ถ้ากำหนดเนื้อในลักษณะนี้จะทำให้การจัดเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจะไม่สามารถดำเนินการได้ทันภายใน 75 วันตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291/5

ทั้งนี้ ในการชี้แจงจาก กกต.ได้ยืนยันถึงความพร้อมในการจัดเลือกตั้ง ส.ส.ร.แต่มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการกฎหมายรองรับสำหรับการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ร.โดย นายบุณยเกียรติ กล่าวว่า การจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ตามมาตราดังกล่าวไม่มีปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะสำนักงาน กกต.ได้เตรียมความพร้อมเอาไว้หมดแล้ว แต่ในที่นี้มีข้อสังเกตว่าหากนำหลักเกณฑ์การเลือกตั้งส.ส.ในระบบแบ่งเขตมาดำเนินการจัดการเลือกตั้งมาบังคับใช้จะมีปัญหา เพราะยังไม่มีกฎหมายกำหนดอำนาจในการจัดการเลือกตั้งหลายประเด็น เช่น การลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า การลงคะแนนนอกราชอาณาจักร การกำหนดค่าใช้จ่ายของผู้สมัคร การหาเสียง การคัดค้านการเลือกตั้ง คุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส.ร.

“กกต.อยากขอความชัดเจนจาก กมธ.ว่าจะดำเนินการอย่างไร เช่น การอนุโลมให้ใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง หรือ การออกระเบียบกฎหมายเลือกตั้งได้หรือไม่อย่างไร” นายบุณยเกียรติ กล่าว

นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ กมธ.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องออกกฎหมายมารองรับ เพราะ ส.ส.ร.ไม่ใช่ผู้ใช้อำนาจแทนประชาชนเหมือน ส.ส.แต่เป็นหน้าที่เฉพาะกิจเท่านั้น ทำให้อาจมีความจำเป็นต้องออกกฎหมายใหม่ และใช้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.มาเทียบเคียงเพื่อให้ กกต.ออกระเบียบไม่ได้ ดังนั้น ทางที่ดีควรให้ฝ่ายข้าราชการประจำของกกต.ไปหารือกับ กกต.5 คน ก่อนเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ในการกำหนดการเลือกตั้ง ส.ส.ร.แล้วค่อยมาให้ข้อมูลกับ กมธ.อีกครั้ง

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง กมธ.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เครื่องมือในการเลือกตั้งการใช้ประกาศ หรือระเบียบโดยไม่มีกฎหมายมารองรับทำได้หรือไม่ หรือจำเป็นต้องมีกฎหมายมาเลือกตั้ง ส.ส.ร.การตัดสิทธิ์เลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในต่างประเทศ ทำได้หรือไม่ ผู้สมัคร ส.ส.ร.ทำอะไรได้บ้างหรือให้หาเสียงลักษณะการเลือกตั้ง ส.ว.ออกระเบียบให้ทำหรืองดเว้นการกระทำได้หรือไม่ ถ้าไม่ระบุตรงนี้ให้ชัดเจนในอนาคตจะมีปัญหาแน่นอน

จากนั้น กมธ.พรรคเพื่อไทย หลายคนนำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน ได้เสนอให้ที่ประชุม กมธ.กำหนดลงไปว่า “หลักเกณฑ์และวิธีการในการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ให้เป็นไปตามระเบียบที่ กกต.กำหนดโดยอาจนำหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้ง ส.ส.ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.มาบังคับใช้โดยอนุโลมในบางประเด็นเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง” ซึ่งจะเป็นการกำหนดหน้าที่ของกกต.ชัดเจนแทนเนื้อหาร่างแก้ไขเดิมที่กำหนดให้นำเฉพาะเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตมาใช้บังคับโดยอนุโลม

ด้าน นายนิพนธ์ ฮะกีมี รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า เมื่อมาตรา 291/5 วรรค 4 กำหนดให้ กกต.ออกระเบียบหลักเกณฑ์และวิธีการในการเลือกตั้ง ส.ส.ร.โดยนำวิธีการเลือกตั้ง ส.ส.แบบเบ่งเขตมาบังคับใช้โดยอนุโลมแล้ว ก็ไม่มีปัญหาที่ต้องกังวลเกี่ยวกับกฎหมายรองรับการเลือกตั้ง ส.ส.ร.เพราะเท่ากับว่าระเบียบดังกล่าวออกโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ

“ที่สำคัญ การเลือกตั้ง ส.ส.ร.ไม่มีความจำเป็นต้องไปจำกัดขอบเขตมากเท่ากับการเลือกตั้ง ส.ส.เพราะ ส.ส.ร.เป็นเพียงบุคคลที่เข้ามาทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้เข้ามาเป็นตัวแทนประชาชนเพื่อใช้อำนาจอธิปไตยในส่วนของฝ่ายนิติบัญญัติเหมือนกับ ส.ส.” นายนิพนธ์ กล่าว

นายบุณยเกียรติ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจนการกำหนดการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ไม่ควรทำโดยระเบียบ แต่ควรทำเป็น พ.ร.บ.ออกมาให้ชัดเจน สำหรับการกำหนดให้ผู้สมัคร ส.ส.ร.สามารถเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้หรือไม่ต้องกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ให้กกต.มากำหนดเอง เพราะ กกต.กำหนดได้แค่วิธีการเลือกตั้งเท่านั้น

“ระยะเวลาความพร้อมจริงๆ คือ 75 วัน สามารถกระทำได้ต้องพร้อมทุกด้านตั้งแต่การตรา พ.ร.ฎ.กำหนดกฤษฎีกา อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติทั้ง กกต.และกฤษฎีกาก็ทำงานควบคู่กับกมธ.ของรัฐสภาอยู่แล้วเหมือนกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งล่าสุดเพื่อจัดการเลือกตั้ง 3 ก.ค.2554 แต่ทางที่ดีอาจเผื่อเอาไว้ 90 วัน ก็ได้จะช่วยให้ กกต.ไม่เครียดมาก ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีประเด็นอีกว่าหากต้องมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.แทนตำแหน่งที่ว่างภายใน 30 วันจะทำอย่างไรเพราะเพียงแค่การประกาศโดย พ.ร.ฎ.ต้องใช้เวลาถึง 15 วันแล้ว หรือ ในกรณีหากมีผู้สมัครในจังหวัดนั้นเพียงคนเดียวจะกำหนดคะแนนขั้นต่ำอย่างไรด้วย” นายบุณยเกียรติ กล่าว

นายนิพนธ์ กล่าวว่า การกำหนดให้รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้เมื่อไหรนั้นขึ้นอยู่กับกมธ.ว่าจะกำหนดอย่างไรเพราะถือเป็นอำนาจของ กมธ.ส่วนเรื่องการให้ กกต.ไปออกระเบียบตามรัฐธรรมนูญในอดีตเคยมีการกระทำมาแล้ว โดยการเฉพาะการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปี2550 เมื่อปี พ.ศ.2554 โดยให้ กกต.มีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการเลือกตั้งสส.ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญเพื่อใช้บังคับกับการเลือกตั้ง และให้ข้อกําหนดตามประกาศของกกต.ใช้บังคับแทนบทบัญญัติแห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.

“การให้อำนาจ กกต.ออกระเบียบการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังเบากว่าการให้อำนาจกกต.ออกระเบียบเมื่อปี 2554 เพราะในปี 2554 เป็นการให้อำนาจ กกต.กำหนดเนื้อหาได้เองและเนื้อหาดังกล่าวให้มีผลบังคับใช้เทียบเท่ากับ พ.ร.บ.เลือกตั้งด้วยซ้ำ” นายนิพนธ์ กล่าว

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ รองประธาน กมธ.กล่าวว่า เกรงว่า การออกระเบียบประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.ร.จะดำเนินการไม่ทันกับกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ภายใน 75 วันที่ต้องให้ ส.ส.ร.ที่สำคัญ การกำหนดให้นำกฎหมายเลือกตั้งฉบับปัจจุบันมาบังคับใช้อนุโลมจะมีปัญหาเพราะกฎหมายดังกล่าวเป็นการอ้างอิงการเลือกตั้งสส.ที่ให้สมาชิกพรรคการเมืองสามารถลงสมัครสส.ได้ อย่างนี้เท่ากับว่าผู้จะสมัครส.ส.ร.สามารถเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้หรือไม่ ดังนั้น ควรมีระยะเวลาพอสมควรภายหลังจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้ กกต.ไปดำเนินการยกร่างระเบียบให้มีความรอบคอบก่อนให้มีผลบังคับใช้

“นอกจากนี้ มีปัญหาสำคัญอีก คือ ไม่มี พ.ร.บ.ว่าด้วย ส.ส.ร.เพราะเราถือว่า ส.ส.ร.เป็นองค์กรชั่วคราวไม่ใช่องค์กรถาวร การกำหนดให้การเลือกตั้ง ส.ส.ร.จะกระทำโดยการออกระเบียบคงจะไม่เหมาะสม และคงไม่สามารถนำกรณีการให้อำนาจกกต.ออกระเบียบการเลือกตั้งภายหลังแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2554 มาเทียบเคียงได้ เพราะครั้งนั้นมี พ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.รองรับ และเป็นเพียงการกำหนดให้กกต.ไปดำเนินการตามพ.ร.บ.ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ให้อำนาจกกต.ยกร่างขึ้นมาใหม่โดยไม่มีอะไรรองรับและไม่มีรายละเอียดกำหนดชัดเจน จึงคิดว่าไม่มีความเหมาะสม” นายพีระพันธุ์ กล่าว

ที่สุดแล้วที่ประชุม กมธ.เสียงข้างมากให้คงเนื้อมาตรา 2 ไว้ตามเดิม แต่ กมธ.ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ได้ใช้สิทธิ์ยืนยันคัดค้าน และขอสงวนความเห็นไว้ไปอภิปรายในการประชุมรัฐสภาวาระ 2 ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น