xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.แก้ร่าง รธน.ไม่แตะหมวดกษัตริย์ โยน ส.ส.ร.ยุบศาลฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สามารถ แก้วมีชัย
ที่ประชุม กมธ.แก้ร่าง รธน.เห็นพ้องไม่แตะหมวดสถาบันพระมหากษัติย์ แต่เปิดช่องเป็นหน้าที่ ส.ส.ร.ยกเครื่ององค์กรอิสระหรือศาล โบ้ยหากถูกต้านก็อยู่ไม่ได้ เริ่มพิจารณาแก้ไขเป็นรายมาตราสัปดาห์หน้า

วันนี้ (1 มี.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) โดยมีนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ประธาน กมธ. เป็นประธานในที่ประชุมเพื่อเปิดโอกาสให้ กมธ.แสดงความคิดเห็นถึงกรอบการทำงานของกมธ.ว่าควรเป็นไปในลักษณะใด ปรากฏว่ามี กมธ.ได้อภิปรายเป็นจำนวนมากจนทำให้การประชุมไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้เพราะ กมธ.ซีกของพรรคประชาธิปัตย์ต้องการให้แสดงความชัดเจนว่าจะไม่แตะหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ประชาชนและสังคมหมดความคลางแคลงใจ แล้วจะได้รับความเชื่อมั่นจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญราบรื่นไปด้วย โดยเฉพาะ กมธ.ซีกพรรคประชาธิปัตย์ นายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ก่อนที่ กมธ.จะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่ามีอำนาจหรือไม่ เนื่องจากมาตรา 291 อยู่ในหมวดของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และไม่มีบทบัญญัติให้สามารถยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้ ซึ่งตอนนี้เริ่มมีกระบวนการจากภายนอกว่าเตรียมฟ้องศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณาในประเด็นนี้แล้ว

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา กมธ.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เจตนารมณ์ของมาตรา 291 ต้องการเปิดช่องให้เฉพาะการแก้ไขเพิ่มเติมเท่านั้น ไม่ใช่การเปิดให้มีกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ดังนั้น ที่ประชุมกมธ.ควรเชิญนายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ ส.ว.สรรหา ซึ่งเป็นผู้เปิดประเด็นนี้ระหว่างการประชุมรัฐสภามาให้ข้อมูลและข้อเสนอแนะ

ขณะที่ กมธ.ในส่วนของพรรคเพื่อไทยต่างแสดงความคิดเห็นคัดค้านข้อสังเกตของกมธ.พรรคประชาธิปัตย์ โดยนายสงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูนกล่าวว่า แม้ในมาตรา 291 จะไม่ได้กำหนดชัดแต่คิดว่าสามารถดำเนินการได้โดยให้ยึดรัฐธรรมนูญมาตรา 7 เป็นหลัก คือ ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในอดีตเมื่อครั้งร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็เริ่มด้วยการแก้ไขมาตรา 211 ก่อน ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 นี้ก็ดำเนินการตามครรลองเดียวกัน จึงคิดว่าสามารถดำเนินการได้ไม่ขัดต่อกฎหมาย

นายพีรพันธุ์ พาลุสุข รองประธาน กมธ.ซีกพรรคเพื่อไทย เสริมว่า การแก้ไขมาตรา 291 เป็นเพียงการเปิดเรื่องเท่านั้นไม่ใช่การยกร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการกำหนดข้อห้ามไม่ให้ ส.ส.ร.ทำอะไรบ้างคงทำไม่ได้ เพราะตามหลักการสิ่งที่กระทำไม่ได้อยู่แล้ว คือ การเปลี่ยนอาณาเขตของประเทศไทย และสถาบันพระมหากษัตริย์ ยกเว้น 2 เรื่องนี้แสดงว่าเรื่องอื่นๆสามารถแก้ไขได้ แต่ถึงเวลานั้นเป็นเรื่องของ ส.ส.ร.ที่เราไม่รู้ว่าคิดอย่างไร จึงเป็นการยากที่ กมธ.จะกำหนดลงไปว่าห้ามนิรโทษกรรม ห้ามครอบงำศาล ห้ามแทรกแซงองค์กรอิสระ เพราะยังไม่มีใครสามารถกำหนดนิยามหรือมีคำอธิบายของหลายข้อห้ามนี้ว่ามีลักษณะอย่างไร

จากนั้นการประชุม กมธ.เริ่มตอบโต้กันไปมา เมื่อ กมธ.ซีกพรรคประชาธิปัตย์ต้องการให้กมธ.ต้องเคลียร์ให้ชัดเจนว่าจะไม่แก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์ ครอบงำ หรือแทรกแซงศาล และนิรโทษกรรมเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง โดยนายนิพนธ์ บุญญามณี ส.ส.สงขลา กล่าวว่า ในเมื่อทีประชุม กมธ.มีความเห็นว่าไม่สามารถแก้ไขสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว จึงเห็นว่ากมธ.ควรทำให้หลายข้อสงสัยของสังคมเกิดความชัดเจนทั้งในส่วนขององค์กรอิสระและศาล เพราะสังคมยังเคลือบแคลงสงสัยอยู่

ด้าน นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์คงไปแตะต้องอะไรไม่ได้เพราะถ้า ส.ส.ร.มีแนวคิดทำจริงๆและไปทำประชามติเชื่อว่าจะมีการยึดอำนาจแน่นอนและ ส.ส.ร.ถูกจับในข้อหากบฏ แต่ถ้าเป็นหมวดอื่นๆ เช่น ศาล องค์กรอิสระ เราคงไปบังคับให้ ส.ส.ร.ไปห้ามแก้ไขคงไม่ได้ ถามว่าถ้าสิ่งเหล่านี้ที่เป็นปัญหาและเรามีเจตนาต้องการเข้ามาแก้ปัญหา ถ้าทำไม่ได้เราจะเข้ามาทำไม และเชื่อว่า ส.ส.ร.คงไม่ไปแก้ไขจนกระทบกระบวนการยุติธรรมของศาล เพราะเรื่องนี้ประชาชนให้ความสนใจติดตาม และรัฐบาลคงไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว ดังนั้น ควรให้ ส.ส.ร.ทำงานก่อน ถ้า ส.ส.ร.ทำอะไรไม่ถูกต้องพวกเขาก็อยู่ไม่ได้

นายสามารถ แก้วมีชัย ประธาน กมธ.สรุปว่า ในการประชุม กมธ.สัปดาห์หน้าจะเริ่มกระบวนการพิจารณาแก้ไขเป็นรายมาตราเริ่มตั้งแต่หลักการและเหตุผล ควบคู่กับการรอรับคำแปรญัตติของรัฐสภาที่กำหนดไว้ภายใน 30 วัน คือ ระหว่างวันที่ 25 ก.พ .- 25 มี.ค.ส่วนเรืองการที่ปรึกษา กมธ.จากสัดส่วนของภาคประชาชนนั้นจะทำหนังสือถึงตัวแทนประชาชนที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับมาร่วมเป็นที่ปรึกษาในการเสนอความคิดเห็น แต่ทั้งนี้จะไม่ตั้งนายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธาน ส.ส.ร.2540 และนายนรนิติ เศรษฐบุตร อดีตประธาน ส.ส.ร.2550 เป็นที่ปรึกษาแต่จะเชิญทั้ง 2 ท่านมาให้ข้อมูลเสนอความคิดเห็นเป็นครั้งคราวแทน อย่างไรก็ตาม ขณะเดียวกันขอให้ทุกฝ่ายให้งดการกล่าวหาด้วยถ้อยคำรุนแรง เช่น เผาบ้านเผาเมือง สั่งฆ่าประชาชน เพราะเรื่องนี้มีคดีความอยู่ในชั้นศาล
กำลังโหลดความคิดเห็น