ส.ว.สรรหา เตือน รบ.ฉีกทิ้ง รธน.50 จะนำไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหญ่ ไม่ไว้ใจหวั่นพวกลากมากไป ลักไก่แตะหมวดกษัตริย์-เปลี่ยนรูปแบบการปกครอง เสนอร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่าน ส.ส.ร.ต้องกลับมาให้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาอีกครั้งก่อน
วันนี้ (24 ก.พ.) ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา อภิปรายว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขในปัจจุบัน คือ ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งฉบับแล้วเขียนใหม่ และที่สำคัญคือ เป็นการเขียนใหม่โดยปราศจากกรอบ ด้วยเหตุผลสำคัญที่สุด คือ เป็นการไม่ตอบโจทย์ของประเทศไทยในปัจจบัน ไม่นำไปสู่ความปรองดอง และไม่นำไปสู่ความสงบสุข เพราะการเขียนรัฐธรรมนูญโดยไม่มีการกำหนดกรอบไว้ ยังมีความเป็นไปได้มากว่า จะนำไปสู่ความขัดแย้งใหญ่อีกครั้ง หากเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นจริง ตามร่างที่พิจารณาอยู่นี้ 2 ใน 3 ฉบับ คือ ร่างของรัฐบาลและร่างพรรคเพื่อไทย จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านกระบวนของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จะหลุดลอยออกจากรัฐสภา โดยไม่มีโอกาสแก้ไขสถานกาณ์ในขณะนั้น คงมีร่างของชาติไทยพัฒนาเพียงร่างเดียวที่กำหนดให้ร่างของ ส.ส.ร.กลับมาสู่การพิจารณาอนุมัติหรือไม่ โดยแก้ไขไม่ได้ของรัฐสภาครั้งหนึ่งก่อน
นายคำนูณ กล่าวอีกว่า ประเด็นสำคัญตลอดสองวันที่ผ่านมา คือ หลายคนเป็นห่วง โดยเฉพาะ ส.ว.ห่วงเปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐว่าอาจจะเกิดขึ้น โดยมีความเป็นห่วงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญในหมวด 2 พระมหากษัตรย์ มาตรา 8-25 แต่ตนเห็นว่าควรต้องรวมหมวด 1 บททั่วไป มาตรา 1-7 เข้าไปด้วย โดยแม้ว่ารัฐบาลจะชี้แจงว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับรัฐบาลได้ป้องกันไว้แล้ว ทั้งในหลักการและเหตุผลที่เขียนไว้ว่า ทั้งนี้ จะยังคงรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไว้ตลอดไป และเป็นข้อห้ามในมาตรา 291/11 วรรค 5 ที่บอกว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือรูปของรัฐจะกระทำมิได้ โดยในมาตรา 291/11 วรรค 6 กำหนดให้รัฐสภาเป็นผู้วินิจฉัย แต่ตนเห็นว่า แค่เท่านี้ไม่เพียงพอ เพราะคำว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีมาตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย.2475 แต่สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ พระราชอำนาจ นิติประเพณี มีหลายรูปแบบตามบริบทของสถานการณ์บ้านเมืองขณะนั้น
นายคำนูณ อธิบายต่อว่า มีทั้งตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยามฉบับชั่วคราว 27 มิ.ย.2475 หรือรัฐธรรมนูญ ฉบับวันที่ 10 ธ.ค.2475 ไปจนถึงก่อนการรัฐประหาร 8 พ.ย.2490 มีทั้งหลังปี 2490 และปี 2500 ตลอดจนข้อเสนอของนักวิชาการบางคนบางกลุ่ม รวมทั้งคณะนิติราษฎร์ด้วย ทั้งหมดที่กล่าวอ้างมานั้นล้วนแล้วแต่เป็นไปตามหลักการระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขทั้งสิ้น แต่ว่ารูปแบบนั้นทั้งเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ นิติประเพณี และประเพณีต่างๆ ที่คุ้นชินกันนั้นส่วนใหญ่จะเป็นไปตามเนื้อหาของหมวด 1 และ 2 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เหมือนฉบับปี 2540 ทุกตัวอักษร และดำรงอยู่มายาวนานไม่ต่ำกว่า 50 ปีแล้ว
“เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า ส.ส.ร.จะคงหลักการตามมาตรา 8 ที่มีมาตั้งแต่ปี 2475 หรือว่าจะยกเลิก และไปเขียนตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยามฉบับชั่วคราว 27 มิ.ย.2475 หรือจะแน่ใจได้อย่างไรว่าบทบัญญัติที่ว่าด้วยองคมนตรี ที่เพิ่งมีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูย 2492 หรือจะยังคงบทบัญญัติที่ว่าด้วยพระราชอำนาจ ในประเด็นการแก้ไขกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ รวมทั้งการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนในกรณีต่างๆ ไว้ดั้งเดิมทุกประการ” นายคำนูณ ระบุ
นายคำนูณ กล่าวแสดงความเป็นห่วงอีกว่า จะสามารถแน่ใจได้อย่างไรว่า ส.ส.ร.จะไม่บัญญัติเพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญใหม่ ว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ อันจะเป็นการเปลี่ยนหลักการสำคัญเดิมว่าด้วย ศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 อย่างชาญฉลาดแล้วว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก สิ่งที่น่าเป็นห่วง เพราะร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับไม่ได้มีข้อความใดเลยที่ระบุไว้ว่า ให้คงบทบัญญัติในหมวด 1 และ 2 มาตรา 1-25 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เหมือนกับฉบับอื่นๆ เอาไว้ แถมในมาตรา 291/11 วรรค 2 ยังระบุอีกว่า ส.ส.ร.อาจนำรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งที่เห็นว่ามีความเป็นประชาธิปไตยสูงมาเป็นต้นแบบในการยกร่างก็ได้
“อะไรคือความหมายของคำว่าประชาธิปไตยสูง พ.ร.บ.ธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยามฉบับชั่วคราว 27 มิ.ย.2475 หรือการไม่มีองคมนตรีเหมือนรัฐธรรมนูญก่อนปี 2492 จะเข้าข่ายหรือไม่ ส.ส.ร.จะเป็นผู้พิจารณา ไม่ใช่รัฐบาล และไม่ใช่รัฐสภาแห่งนี้ ผมจึงไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่รัฐบาลและผู้เสนอร่างรู้ได้อย่างไรว่าจะไม่เกิดขึ้น รับประกันได้อย่างไร” นายคำนูณ กล่าว
นายคำนูณ กล่าวอีกว่า ตนไม่ได้ยืนยันว่า ในหมวด 1 และ 2 จะเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย เพราะยอมรับว่าสรรพสิ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามยุคสมัย โดยไม่ขอกล่าวหาว่าหลักการอื่นนอกจากที่เขียนไว้ในหมวด 1 และ 2 ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 จะไม่เป็นไปตามหลักการของระบอบประชาธิปไตย แต่หากพูดกันตรงไปตรงมาต้องบอกว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันยังไม่สมควรที่จะเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในหมวด 1 และ 2 เพราะในการพิจารณาว่าจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ครั้งนี้ หากเกิดขึ้นก็จะอยู่ภายใต้บรรยากาศการเคลื่อนไหวมวลชนที่มีความเห็นต่างกัน โดยถือเอากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของ ส.ส.ร.เป็นฐานในการเคลื่อนไหว เพื่อรักษาและขยายมวลชนของทุกกลุ่ม สิ่งที่เกิดขึ้นคงไม่ใช่ความปรองดองอย่างแน่นอน แม้จะมีข้อห้ามในมากตรา 291/11 วรรค 5 และทางแก้ไขที่ระบุไว้ในวรรค 6 ที่ให้รัฐสภาเป็นผู้วินิจฉัย แต่การให้อำนาจวินิจฉัยเรื่องสำคัญนี้ไว้กับประธานรัฐสภาเพียงผู้เดียวในมาตรา 291/13 วรรค 2 ถือว่าเป็นการโยนภาระหนักอึ้งให้กับประธานรัฐสภา ในขณะที่สมาชิกรัฐสภาไม่มีโอกาสร่วมพิจารณาด้วย
นายคำนูณ กล่าวด้วยว่า ความในมาตรา 291/11 วรรค 6 ก็ลอกมาจากมาตรา 211 ของรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี 2539 แต่คัดมาไม่หมด ตกในสาระสำคัญที่ว่า ร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมดที่ร่างมาจะต้องผ่านเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาก่อน ดังนั้นถ้าจะให้รอบคอบยรัดกุมก่อนนำไปทำประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่าน ส.ส.ร.ต้องกลับมาให้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน
นายคำนูณ ยังกล่าวด้วยว่า แม้ว่าตนจะลงมติไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขครั้งนี้ แต่เนื่องจากว่ามีความเป็นไปได้สูงว่ารัฐสภาต้องลงมติให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เกิดขึ้น ตนจึงขอเสนอว่าหาก รัฐสภาผ่านหลักการในวาระที่ 1 จำเป็นต้องมีการแก้ไขใน 2 ประเด็น คือ ปรับแก้มาตรา 291/11 วรรค 5 ให้เกิดความชัดเจนว่าไม่ให้มีการแก้ไขความในหมวด 1 และ 2 มาตรา 1-25 ของรัฐธรรมนูญ 2550 เด็ดขาด และก่อนนำไปลงประชามติเห็นควรให้นำกลับพิจารณาลงมติเห็นชอบโดยรัฐสภาอีกครั้งหนึ่ง