xs
xsm
sm
md
lg

การต่อสู้ยังไม่จบ !

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่หมดทั้งฉบับโดย "ไม่มีการกำหนดกรอบ" ไม่ตอบโจทย์ของบ้านเมือง

ประเด็น สำคัญที่สุดเห็นจะเป็นประเด็นข้อเป็นห่วงเรื่อง "การเปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ" หรือพูดให้เป็นรูปธรรมคือเนื้อหาในหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ มาตรา 8 - 25

ถึงร่างรัฐธรรมนูญฯแก้ไปมาตรา 291 ที่เพิ่งผ่านรัฐสภาไปด้วยคะแนนเสียง 399 : 199 จะมีบทบัญญัติ ป้องกันไว้ในหลักการและเหตุผลว่า "ทั้งนี้ โดยยังคงรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไว้ตลอดไป" และในมาตรา 291/11 วรรคห้าว่า "ร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประขาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ จะกระทำมิได้" โดยในมาตรา 291/11 วรรคหกกำหนดให้รัฐสภาเป็นผู้วินิจฉัย

แต่แค่นี้ไม่พอ !

ไม่ใช่เพียงเพราะเป็นบทบัญญัติทั่วไปที่รัฐธรรมนูญห้ามอยู่แล้ว ถึงไม่เขียนไว้ก็ทำไม่ได้

แต่เพราะ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” มีมาตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2475 แต่สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ องค์พระมหากษัตริย์ พระราชอำนาจ นิติประเพณี และประเพณีทั่วไป มีหลายรูปแบบ

1. ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามฉบับชั่วคราว 27 มิถุนายน 2475

2. ตั้งแต่รัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ถึงก่อนการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490

3. หลังปี 2490 โดยเฉพาะหลังรัฐธรรมนูญฉบับปี 2492

4. ตามข้อเสนอของนักวิชาการบางคนบางกลุ่ม รวมทั้งคณะนิติราษฎร์

ทั้งหมดต่างล้วนกล่าวอ้างว่าเป็นไปตามหลักการ "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ทั้งสิ้น ยังคงมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขทั้งสิ้น

แต่รูปแบบและเนื้อหาในรัฐธรรมนูญที่กำหนดสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ องค์พระมหากษัตริย์ พระราชอำนาจ นิติประเพณี และประเพณีทั่วไป ที่คนรุ่นเราส่วนใหญ่คุ้นชินที่สุดก็คือเนื้อหาในหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ก็เหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 ทุกตัวอักษร ดำรงอยู่มายาวนานไม่ต่ำกว่า 50 ปีแล้ว หากแก้ไขเป็นอย่างอื่นคง “เป็นเรื่อง” แน่ในสถานการณ์ปัจจุบัน

จะแน่ใจอย่างไรว่าส.ส.ร. 99 คนท่านจะคงหลักการเนื้อหาของมาตรา 8 ที่มีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 หรือจะยกเลิก แล้วไปเขียนตามแบบมาตรา 6 ของพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามฉบับชั่วคราว 27 มิถุนายน 2475

จะแน่ใจอย่างไรว่าส.ส.ร.ท่านจะคงบทบัญญัติว่าด้วยคณะองคมนตรีที่มีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2492 ไว้

จะแน่ใจอย่างไรว่าส.ส.ร.ท่านจะคงบทบัญญัติว่าด้วยพระราชอำนาจในประเด็นการ แก้ไขกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ รวมทั้งการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในกรณีต่าง ๆ ไว้ดังเดิมทุกประการ

จะแน่ใจได้อย่างไรว่าส.ส.ร.ท่านจะไม่บัญญัติเพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญใหม่ว่า "พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ" อันจะเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักการสำคัญเดิมว่าด้วยศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 อย่างชาญฉลาดแล้วว่า "พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก"
ฯลฯ

ร่าง รัฐธรรมนูญฯแก้ไขมาตรา 291 ทไม่ได้มีข้อความใดบอกไว้เลยว่าให้คงบทบัญญัติในหมวด 1 และ 2 มาตรา 1 - 25 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งเหมือนกับ 2540 ทุกตัวอักษร และเหมือนโดยสาระสำคัญกับรัฐธรรมนูญฉบับอื่น ๆ ก่อนหน้าตั้งแต่หลังปี 2500 เป็นต้นมา แถมในมาตรา 291/11 วรรคสอง ยังระบุไว้อีกว่า

"สภาร่างรัฐธรรมนูญอาจนำรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งที่เห็นว่ามีความเป็น ประชาธิปไตยสูงมาเป็นต้นแบบในการยกร่างก็ได้"

อะไรคือความหมายของคำ "ประชาธิปไตยสูง" ?

พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามฉบับชั่วคราว 27 มิถุนายน 2475 มีความเป็นประขาธิปไตยสูงหรือไม่ ??

การไม่มีคณะองคมนตรีเหมือนก่อนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2492 เป็นประชาธิปไตยสูงหรือไม่ ???

ไม่มีใครรู้ชัดเจนว่าจะไม่เกิดขึ้น !

ผมไม่ได้ยืนยันตายตัวว่าเนื้อหาในหมวด 1 และหมวด 2 จะเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย สรรพสิ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทั้งนั้นตามยุคสมัย และไม่ได้กล่าวว่าหลักการอื่นนอกเหนือจากนี้ไม่เป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน ยังไม่ใช่เวลาที่จะมาพิจารณาว่าจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไร !

เพราะ ในการพิจารณาว่าจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ครั้งนี้ หากเกิดขึ้น จะเกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศการเคลื่อนไหวมวลชนที่มีความเห็นต่างกัน โดยถือเนื้อหาและกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของส.ส.ร.เป็นฐานในการเคลื่อนไหวมวลชน เพื่อรักษามวลชน ขยายมวลชน

อะไรจะเกิดขึ้น ?

จริงอยู่ มีข้อห้ามในมาตรา 291/11 วรรคห้า และทางแก้ไขในมาตรา 291/11 วรรคหก "ในกรณีที่รัฐสภาวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญมีลักษณะตามวรรคห้า ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นตกไป" แต่ดันไปกำหนดให้อำนาจวินิจฉัยเรื่องสำคัญอย่างนี้ไว้กับประธานรัฐสภาคนเดียวในมาตรา 291/13 วรรคสอง "เมื่อประธานรัฐสภาได้รับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว หากเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญนั้นมิได้มีลักษณะตามมาตรา 291/11 วรรคห้าที่ต้องเสนอรัฐสภาวินิจฉัย" นั้นไม่รัดกุมเพียงพอ

ความในมาตรา 291/11 วรรคหก ลอกมาจากรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 211 ของรัฐธรรมนูญ 2534 เมื่อปี 2539 เกือบทั้งหมด แต่ตกในสาระสำคัญ

รัฐธรรมนูญฯแก้ไขมาตรา 211 กระบวนการขั้นสุดท้ายไม่หลุดลอยจากรัฐสภา

รัฐสภาต้องลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากส.ส.ร.ก่อนโดย แก้ไขไม่ได้

ถ้าจะให้รอบคอบรัดกุมจริง ๆ ก่อนนำไปลงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับส.ส.ร.จะต้องกลับมาผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน ถึงเวลานั้นจะได้พิจาราณากันให้รอบคอบสุด ๆ จริงในทุกประเด็นก่อน อย่างน้อยพวกผมที่เป็นเสียงข้างน้อยยังจะได้ใช้สิทธิอภิปรายและออกเสียงอีกครั้ง

แม้ร่างรัฐธรรมนูญ “ฉีกรัฐธรรมนูญ 2550” จะผ่านวาระ 1 ในรัฐสภาไปแล้วด้วยเสียงท่วมท้น...
แต่การต่อสู้ยังไม่จบ....
กำลังโหลดความคิดเห็น