xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.แก้รัฐธรรมนูญเลือก “สามารถ” นั่งประธาน ถกสัปดาห์ละ 2 วัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณารัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จะมีการประชุมร่วมกันนัดแรก หลังจากที่ประชุมร่วมรัฐสภา มีมติแต่งตั้งกรรมาธิการจำนวน 45 คน โดยวาระหลักจะเป็นเรื่องการแต่งตั้งประธาน รองประธาน เลขาธิการ และโฆษกกรรมาธิการ รวมทั้งการแบ่งงานทั่วไป
คณะกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประชุมนัดแรกราบรื่น เลือก “สามารถ” นั่งประธานตามโผ พท. พร้อมแบ่งโควตารองประธานให้ทุกฝ่าย ขณะเดียวกันยังกำหนดกรอบพิจารณาสัปดาห์ละ 2 วัน ถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์วงจรผิดรัฐสภา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรรมาธิการพิจารณารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ... ที่รัฐสภา นัดแรก วันนี้ (29 ก.พ.) ซึ่งมีนายสงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย ทำหน้าที่ประธานชั่วคราว ที่ประชุมมีมติเลือกนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทยเป็นประธานคณะกรรมาธิการ โดยนายสามารถกล่าวภายหลังขึ้นทำหน้าที่ประธานว่า แนวทางการทำงานของกรรมาธิการฯ จะต้องมีความชัดเจนโดยข้อสรุปแต่ละมาตราที่กรรมาธิการพิจารณาไปต้องเป็นเรื่องที่อธิบายต่อสาธารณะได้ถึงที่มาที่ไปให้มีความชัดเจน

จากนั้นที่ประชุมพิจารณากำหนดตำแหน่งในกรรมาธิการ โดยพรรคเพื่อไทยเสนอให้มีรองประธาน 4 คน โดยให้เหตุผลว่าการทำงานของกรรมาธิการมีมากจำเป็นต้องมีรองประธานหลานคน ขณะที่กรรมาธิการฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์เสนอให้มีกรรมาธิการ 3 คน มาจากตัวแทนของฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว. ในที่สุดกรรมาธิการของฝ่ายค้านไม่ติดใจทีประชุมจึงกำหนดให้มีรองประธานจำนวน 4 คน

อย่างไรก็ตาม ในการเสนอชื่อรองประธานกรรมาธิการคนที่ 1 มีความเห็นไม่ตรงกันเมื่อ นายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธปิตย์ เสนอชื่อนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ขณะที่ นายอุดมเดช วัชรเสถียร ส.ส.นนบทบุรี เสนอนายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย แต่เมื่อประธานจะให้ลงมติที่ประชุมเห็นว่าน่าจะมีการพูดจากตกลงกันได้ ไม่จำเป็นต้องมีการลงมติในการประชุมครั้งแรก ขณะที่นายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร เสนอว่าเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ส.ว.เสนอที่จะเป็นรองประธานกรรมาธิการ ในที่สุดผู้เสนอรายชื่อทั้งสองฝ่ายยินดีถอนชื่อ โดยนายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย เสนอนายสมชาติ พรรณพัฒน์ ส.ว.นครปฐม เป็นรองประธานคนที่ 1

จากนั้นที่ประชุมพิจารณาเลือกรองประธานกรรมาธิการคนที่ 2 ซึ่งนายนิพนธ์ บุญยญามณี ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ เสนอชื่อนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นรองประธานกรรมาธิการคนที่ 2 เมื่อเสนอแล้วประธานได้ถามว่าจะมีการเสนอชื่อใครหรือไม่ เมื่อไม่มีใครเสนอ นายสามารถจึงขานว่านายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นรองประธานคนที่ 2 ขณะที่นายวิชาญ มีชัยนันท์ ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคเพื่อไทย กลับเสนอชื่อนายพีรพันธุ์ พาลุสุข เป็นรองประธานกรรมาธิการคนที่ 2 ที่ประชุมจึงเกิดการทักท้วง โดยกรรมาธิการฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันว่าประธานได้วินิจฉัยแล้ว ขณะที่กรรมาธิการฝั่งพรรคเพื่อไทยยืนกรานที่จะเสนอนายพีรพันธุ์ พาลุสุข อย่างไรก็ตาม ในที่สุดนายสุนัยยอมให้ถอนชื่อนายพีรพันธุ์ พาลุสุข โดยเสนอให้เป็นรองประธานกรรมาธิการคนที่ 3 แทน จากนั้นที่ประชุมได้เลือกนายเรืองศักดิ์ งามสมภาค ส.ส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทยเป็นรองประธานกรรมาธการคนที่ 4

จากนั้นที่ประชุมได้มีมติให้นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย เป็น เลขานุการ และให้นายชูชัย เลิศพงศ์อดิศรี เป็นผู้ช่วยเลขานุการคนที่ 1, นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณูโลก พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ช่วยเลขานุการคนที่ 2 และให้นายเชิดชัย ตันตติศิรินทร์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย เป็นผู้ช่วยเลขานุการคนที่ 3 และนายอโณทัย รอดมุ้ย นิติกรเชี่ยวชาญพิเศษ เป็นผูช่วยเลขานุการคนที่ 4

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เลือก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย, นายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร, นายธนา ชีวรวินิจ ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์, นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคพลังชล เป็นโฆษกรรมาธิการ

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้เสนอตำแหน่งที่ปรึกษากรรมาธการ โดยที่ประชุมเห็นว่าควรมีที่ปรึกษามาจากทุกพรรคการเมืองมาเป็นที่ปรึกษากรรมาธิการ โดยที่ประชุมเสนอชื่อ นายชุมพล ศีลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา, นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์, พล.อ.ชูชาติ สุขสงวน ส.ว.สรรหา, นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคชาติพัฒนา, นายสนอง เทพอักษรณรงค์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย ทั้งนี้ในส่วนของตัวแทนภาคประชาชน ที่ประชุมมีความเห็นให้แจ้งคณะภาคประชาชนที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญร่างละ 1 คน โดยให้ภาคประชาชนพิจารณาว่าสมควรส่งใครมาเป็นที่ปรึกษา

ด้าน นายอลงกรณ์ พลบุตร เสนอให้เชิญประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 (นายอุทัย พิมพ์ใจชน) และ 2550 (นายนรนิติ เศรษฐบุตร) รวมถึงเชิญตัวแทนของภาคประชาชนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาเป็นที่ปรึกษาด้วย อย่างไรก็ดี นายสามารถท้วงว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนให้มี ส.ส.ร.ก่อนยังไม่ถึงขั้นที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญ กรรมาธิการไม่ขัดข้องที่จะเชิญอดีตประธาน ส.ส.ร.มาเป็นที่ปรึกษา โดยตนจะทำหนังสือเชิญไปยังอดีตประธานทั้งสองคน ส่วนประเด็นที่ปรึกษาที่มาจากภายนอกขอให้แขวนไว้ก่อนโดยจะนำมาพิจารณาอีกครั้งในภายหลัง

ที่ประชุมยังได้กำหนดกรอบเวลาการทำงานโดยให้มีการประชุมสัปดาห์ละ 2 วัน คือ วันพุธ และพฤหัสบดี เวลา 09.00-12.00 น. โดยให้เริ่มประชุมนัดต่อไปในวันที่ 1 มี.ค. ทั้งนี้ ให้การประชุมเป็นการประชุมปกติโดยให้สื่อมวลชนสามารถฟังการประชุมได้ตลอดเวลา โดยให้มีการถ่ายทอดการประชุมผ่านโทรทัศน์วงจรปิดของรัฐสภา

กำลังโหลดความคิดเห็น