รายงานการเมือง
ยังไม่รู้ผลว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินอย่างไร แต่ฝ่ายรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยร้อนรนผิดปกติ
ถึงขั้นให้แกนนำหลักฝ่ายกฎหมายเพื่อไทยอย่าง พีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร ไปตั้งโต๊ะแถลงข่าวแล้วว่ารัฐบาลไม่จำเป็นรับผิดชอบทางการเมือง หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำร้องกรณี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และสมาชิกวุฒิสภา ร่วมกันยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าการออกพระราชกำหนด 2 ฉบับของรัฐบาลขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 184 ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดลงมติและอ่านคำตัดสินในวันนี้ (22 กุมภาพันธ์) เวลา 14.00 น.
พ.ร.ก.ฉบับแรก คือ พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำ และสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 (กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท)
ส่วนฉบับที่ 2 คือ พระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อ ช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันเงิน พ.ศ. 2555 (โอนหนี้จากกองทุนฟื้นฟูไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย 1.14 ล้านล้านบาท)
จึงเป็นเรื่องน่าแปลกใจไม่น้อยว่า เพื่อไทยกลัวอะไรหนักหนา ถึงต้องรีบออกมาตีปลาหน้าไซล่วงหน้าทั้งที่ยังไม่มีมติศาลรัฐธรรมนูญออกมาไม่นับรวมกับอีกหลายคนที่พยายามดักทางศาลก่อนตัดสิน 2-3 วัน ไม่ว่าจะเป็น พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์โฆษกพรรคเพื่อไทยที่ขอให้ประชาธิปัตย์ และ สว.ถอนคำร้องออกจากศาลรัฐธรรมนูญก่อนการตัดสินไม่กี่วันเพื่อให้คำร้องตกไป ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ฝ่ายรัฐบาลทั้งเฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี- กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ก็บอกว่าเชื่อมั่นพระราชกำหนดทั้งสองฉบับไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แล้วไฉนคนในพรรคเพื่อไทยถึงดิ้นพล่านเช่นนี้
แม้แต่กับพวกนักโทษการเมืองอย่าง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ก็ยังเอากับเขาด้วย ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อแดงว่า หากพระราชกำหนดสองฉบับไม่ผ่านรัฐบาลไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ก็กลับไปทำให้เป็นพระราชบัญญัติ แต่หากศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ประชาธิปัตย์ก็ต้องรับผิดชอบ ฐานทำให้การนำเงินงบประมาณไปแก้ปัญหาน้ำท่วมล่าช้า ประชาชนเดือดร้อน
เรียกได้ว่า ไม่ว่าออกหน้าไหน เพื่อไทยก็หวังตีกินการเมืองหมด
เป็นรัฐบาลแล้วออกพระราชกำหนดผิดรัฐธรรมนูญ ทำผิดกฎหมายอย่างร้ายแรง ก็บอกไม่ต้องรับผิดชอบเป็นแค่ความผิดพลาดทางเทคนิค แต่หากไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ไอ้คนที่ยื่นคำร้องทั้งประชาธิปัตย์และสว.ต้องรับผิดชอบ ฐานทำให้การป้องกันน้ำท่วมล่าช้า ประชาชนจะเดือดร้อน
นี่แหละมาตรฐานการเมืองแบบไทยๆ สไตล์เพื่อไทย
ก็ต้องลุ้นกันในช่วงสายวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ว่าผลจะออกมาแบบไหน คาดกันว่าไม่น่าจะเกิน 4 โมงเย็นก็รู้ผลกันแล้ว เพราะศาลนัดอ่านบ่ายสองโมง อ่านกันเต็มที่อย่างมากก็คำร้องละหนึ่งชั่วโมง ก็รู้ผลว่าทั้งสอง พ.ร.ก.เดินหน้าต่อหรือสะดุดชั่วคราว
สิ่งที่น่าสังเกตคือ เพื่อไทยดูจะวิตกกังวลเรื่องนี้มากเกินไป คงเพราะเกรงว่าจะมีการนำเรื่องการทวงถามความรับผิดชอบทางการเมืองมาผสมโรงเป็นประเด็นเคลื่อนไหวขับไล่โจมตีรัฐบาล เพราะตอนนี้มีหลายเรื่องที่เพื่อไทยมองว่ากำลังถูกโดนมรสุมเข้ามาโจมตีหนัก
เช่นเรื่องกรณี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไปทำ ว.5 ชั้น 7 ที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ ที่ฝ่ายค้านกำลังหาช่องทางไล่ตรวจสอบอยู่ ทั้งผ่านกรรมาธิการสภาฯ ในซีกที่ประชาธิปัตย์คุมอยู่หรือผ่านองค์กรต่างๆ เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่มีข่าวว่าได้รับเรื่องไว้สอบสวนแล้วหลังกลุ่มการเมืองกลุ่มกรีน ไปยื่นเรื่องไว้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ผสมกับสัปดาห์นี้เพื่อไทยก็เดินหน้าแก้ไขชำเรารัฐธรรมนูญแล้ว โดยกะเอาให้เสร็จภายในวันเดียว คือ วันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้กับการแก้ไขมาตรา 291 เพื่อเปิดช่องยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
ฝ่ายเพื่อไทยจึงอาจหวั่นเกรงว่าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐบาลออกพระราชกำหนดขัดรัฐธรรมนูญ อาจเป็นประเด็นให้ฝ่ายตรงข้ามหยิบมาเคลื่อนไหวโจมตีนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลให้หนักขึ้นผสมกับหลายเรื่องๆ ที่รัฐบาลเพลี่ยงพล้ำ
ทั้งที่รู้กันว่าแม้กระแสความไม่พอใจรัฐบาลจะมีอยู่หลายส่วนและขยายวงกว้างมากขึ้น แต่จะถึงขั้นล้มรัฐบาลไปเลยนั้น สถานการณ์ดูกันจริงๆ แล้วใครก็ประเมินออกว่ายังไม่สุกงอมพอ
แต่เพื่อไทยกลับตื่นกลัวไปเอง และพยายามหาช่องทางสร้างกระแสการเมืองบล็อกฝ่ายตรงข้ามเอาไว้ก่อน
ดูอย่างก่อนการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญสองวัน พวกคณะทำงานยุทธศาสตร์การเมืองของพรรคเพื่อไทย ที่ไม่มีงานการอะไรทำ นอกจากตั้งวงวิเคราะห์ว่าใครจะล้มรัฐบาล จะช่วยรัฐบาลให้อยู่รอดอย่างไร ไปตั้งวงประชุมกันที่พรรคเพื่อไทยเมื่อ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยมี สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ พี่เขย ยิ่งลักษณ์นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน
เรียกว่าพวกนี้ในพรรคเพื่อไทยเล่นทำตัวเป็นตุลาการ นอกจากศาลรัฐธรรมนูญกันไปแล้ว
ถึงขั้นวิเคราะห์กันไปล่วงหน้าว่าสถานการณ์รัฐบาลอาจถึงจุดเสี่ยงหากศาลรัฐธรรมนูญบอกว่ารัฐบาลออก พ.ร.ก.โดยขัดรัฐธรรมนูญ โดยพวกนี้ต่างเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า มีโอกาสสูงไม่น้อยที่จะออกมาว่า มี พ.ร.ก.หนึ่งฉบับขัดรัฐธรรมนูญ อีกหนึ่งฉบับไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
โดยเก็งกันว่าที่เสี่ยงก็คือ พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ วงเงิน 1.14 ล้านล้านบาท
คนพวกนี้ทำตัวรู้ดีกว่าศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว
ทั้งที่จากการข่าวพบว่า นับแต่ศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบังลังก์พิจารณาคำชี้แจงจากฝ่ายผู้ร้องและฝ่ายรัฐบาลเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จนถึงก่อนวันนัดลงมติ 22 ก.พ. ตุลาการทั้ง 9 คน ไม่ได้มีการหารือถึงทิศทางของคดีนี้ว่าควรจะตัดสินออกมาอย่างไรเลย เพราะเป็นเรื่องที่แต่ละคนจะไปพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกันเอง ตุลาการแต่ละคนก็ล้วนระดับอาวุโสทั้งสิ้น อาจมีการคุยกันบ้างแต่ก็ไม่ได้เป็นกิจจะลักษณะ ไม่มีใครมาบอกล่วงหน้าว่าจะตัดสินแบบไหน ให้เกิดเป็นมติรั่วกันแน่นอน
ต้องดูกันว่า เพื่อไทยจะเก็งกันผิดหรือไม่