สุรินทร์ - ครูเมืองช้าง เคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐบาลแก้ไข พ.ร.บ.กบข.มาตรา 63 รวม 4 ข้อ เปลี่ยนหลักเกณฑ์คำนวณเงินบำเหน็จบำนาญให้ได้มากขึ้น อ้างหลังเกษียณได้รับเงินน้อยไม่พอเลี้ยงชีพ กลายเป็น “คนจนพันธุ์ใหม่” เผย ขับเคลื่อนร่วมกับเครือข่ายสมาชิก กบข.ทั่วประเทศกว่า 1 ล้านคน ระบุ รวมตัวบุกพบ “นายกฯ ปู” ประชุม ครม.สัญจร จ.อุดรฯ 22 ก.พ.นี้ ก่อนระดมพลบุกทำเนียบและรัฐสภา 24 ก.พ.
วันนี้ (17 ก.พ. ) ที่หอประชุมโรงเรียนโนนเทพ ต.หนองเทพ อ.โนนนารายณ์ จ.สุรินทร์ นายตวง อันทะไชย สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สรรหา พร้อมด้วย ดร.วิศร์ อัครสันตติกุล ประธานองค์กรเครือข่ายสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) แห่งประเทศไทย ได้เป็นประธานเปิดการสัมมนาสมาชิก กบข.จ.สุรินทร์ เตรียมพร้อมสู่ครูอาชีพ เรียนรู้วิทยฐานะ เชิงประจักษ์ พิทักษ์สิทธิ์ครูไทย โดยมี นายเลิศชาย สุขประเสริฐ ประธานองค์กรเครือข่ายสมาชิก กบข.แห่งประเทศไทย จ.สุรินทร์ เป็นผู้กล่าวรายงาน มีครูอาจารย์ ในพื้นที่ จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นสมาชิก กบข.เข้าร่วมสัมมนากว่า 300 คน
ทั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนและเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขหลักเกณฑ์การคำนวณเงิน กบข.ในมาตรา 63 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ โดยมีเรียกร้อง 4 ข้อประกอบด้วย 1.ให้ได้รับบำนาญที่สูงขึ้น 2.ลาออกได้ 3.ตายให้ได้รับประโยชน์ที่เป็นธรรม และ 4.ให้มีผลย้อนหลังไปถึงผู้เกษียณราชการไปแล้ว เนื่องจากปัจจุบันเห็นว่าเป็นกฎหมายเอารัดเอาเปรียบก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหาย ไม่เป็นธรรมแก่ข้าราชการที่เป็นสมาชิก กบข.เป็นอย่างมาก เพราะสมาชิกสูญเสียผลประโยชน์มหาศาล ไม่ดูแลสมาชิกในวัยเกษียณตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้อย่างแท้จริง
ดร.วิศร์ อัครสันตติกุล ประธานองค์กรเครือข่ายสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การผลักดันเรียกร้องเรื่องดังกล่าว ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ม.ค. ที่ผ่านมา ทางองค์การเครือข่าย กบข.ได้นำตัวแทนข้าราชการที่เป็นสมาชิก กบข.ทั่วประเทศเข้าพบ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่รัฐสภา ซึ่งทั้ง 2 คนได้รับเรื่องไว้แล้วและรับปากกว่าจะเร่งดำเนินการให้
โดยได้มอบหมายให้ ดร.พีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย (พท.) ดำเนินการในส่วนของการร่างกฎหมายที่รัฐสภา และ นายเวียง วรเชษฐ์ ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย เป็นผู้ประสานการดำเนินงานกับฝ่ายการเมือง เพื่อเร่งให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ตามที่สมาชิก กบข.ทั่วประเทศ เรียกร้องมานานกว่า 4 ปีแล้ว เนื่องจากเป็นกฎหมายอัปยศ เอารัดเอาเปรียบสมาชิกทุกคน เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นก็ปล่อยให้สมาชิกรับไว้ทั้งหมด ทำให้สมาชิกเดือดร้อนเสียหายมาก
ขณะที่ทางฝ่ายกฎหมายของรัฐสภา ได้จัดทำร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้นำเสนอประธานรัฐสภาแล้ว เพื่อดำเนินการในส่วนของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อพิจารณาเสร็จแล้วก็จะได้ส่งให้วุฒิสภาดำเนินการต่อไป ซึ่งทางองค์กรเครือข่ายฯได้ขอให้ เร่งดำเนินการให้เสร็จทันสมัยการประชุมสมัยนิติบัญญัติ ในเดือนมีนาคมนี้ เพราะข้าราชการที่เป็นสมาชิกได้รับความเดือดร้อนมานานมากแล้ว
ดร.วิศร์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ตัวแทนสมาชิก กบข.จำนวนมาก ได้นัดหมายจะรวมตัวขับเคลื่อนไปพบ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่มีกำหนดเดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ที่ จ.อุดรธานี ในวันพุธที่ 22 ก.พ นี้ จากนั้นจะรวมตัวกันไปรับฟังผลการพิจารณาที่ทำเนียบรัฐบาลและที่รัฐสภา ในวันศุกร์ที่ 24 ก.พ.นี้
“จึงขอวิงวอนให้ทางรัฐบาลได้โปรดเห็นใจข้าราชการสมาชิก กบข.ที่เดือดร้อนกับเรื่องนี้มานาน ด้วยการเร่งแก้ไขกฎหมาย กบข.ให้โดยด่วนด้วย” ดร.วิศร์ กล่าว
ดร.วิศร์ กล่าวอีกว่า กบข.นั้น มีสมาชิกเป็น ข้าราชการทหาร ตำรวจ ครู อยู่ทั่วประเทศประมาณ 1,180,000 คน ซึ่งต่างรู้ที่มาที่ไปกันหมดแล้วว่า กองทุนนี้ตั้งขึ้นและเอาเปรียบข้าราชการอย่างมาก แทนที่ข้าราชการจะมีชีวิตสุขสบายหลังเกษียณ กลับมีไม่พออยู่พอกิน เพราะเงินบำนาญมีน้อยจึงได้ถูกตั้งชื่อว่า “คนจนพันธุ์ใหม่” เพราะฉะนั้นจึงได้ร่วมกับขับเคลื่อนมา 4-5 ปีแล้ว
ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขจากรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา นั่นคือ แก้ไขมาตรา 63 หลักเกณฑ์ ว่าด้วยการคำนวณเงินบำนาญที่ต้องให้ได้รับบำนาญสูงขึ้นจากที่ไม่เกิน 70% เฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ให้ได้ประมาณ 80-85 หรือ 90% โดยต้องเฉลี่ยเป็น 24 เดือนสุดท้าย
ประเด็นที่ 2 คือ ต้องให้สมาชิกสามารถลาออกได้ เพราะคนที่เป็นสมาชิกถ้าลาออกไม่ได้นั้นลำบากมาก ประเด็นที่ 3 คือ ตายให้ได้ประโยชน์ตามสิทธิ และประเด็นสุดท้าย พี่น้องข้าราชการที่เกษียณไปแล้วในขณะนี้ลำบากมาก เพราะนั้นต้องมีผลย้อยหลังไปถึงบุคคลเหล่านั้นด้วย
ทางด้าน นายเลิศชาย สุขประเสริฐ ประธานองค์กรเครือข่ายสมาชิก กบข.แห่งประเทศไทย จ.สุรินทร์ กล่าวว่า ข้าราชการครูสุรินทร์ มีความรู้สึกเหมือนกับครูทั่วประเทศในเรื่องกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการกับผลกระทบที่ได้รับ เนื่องจากครูที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว ได้รับเงินบำเหน็จบำนาญค่อนข้างน้อยมากประมาณร้อยละ 55% ไม่พอค่าใช้จ่ายประจำวัน พวกเราในฐานะครูบาอาจารย์ที่ได้เห็นว่าได้รับความเดือดร้อนจึงได้รวมตัวเป็นเครือข่าย เพื่อขับเคลื่อนและต่อสู้ให้กองทุนบำเหน็จบำนาญสามารถจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญให้เพียงพอที่จะครองชีพได้อย่างมีเกียรติในสังคม
ทั้งนี้ พวกเราได้เริ่มต้นการต่อสู้ จากการประสานงานกันในเครือข่ายของครูในทุกเขตพื้นที่การศึกษาและวางแผนประสานงานกับฝ่ายการเมือง ทั้งวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้แก้ไข พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ฉบับนี้ เนื่องจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นพระราชบัญญัติการเงิน มีผลกระทบต่อการเงินจึงต้องผ่านคณะรัฐมนตรี คือ ต้องมีคณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วย หากรัฐมนตรีเห็นชอบก็จะเสนอไปยังสภาผู้แทนราษฎร
ฉะนั้น การขับเคลื่อนได้ต้องอาศัยพลังจากทุกภาคส่วน ทั้งครูที่ได้รับผลกระทบ ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้ที่มีหน้าที่พิจารณาร่างแก้ไขเพิ่ม พ.ร.บ.หากเขาเห็นด้วยก็สามารถขับเคลื่อนให้ประสบผลสำเร็จได้
“พวกเรามีเครือข่ายทั่วประเทศ ซึ่งทุกจังหวัดจะแต่งตั้งเครือข่ายขึ้นมาเพื่อประสานงานรวมพลังกันให้เห็นว่าครูเดือดร้อนจริงๆ หากไม่มีผลตอบรับกลับมา หรือรัฐบาลนิ่งเฉย ก็จะมีมาตรการขับเคลื่อนต่อสู้ต่อไป ซึ่งครูตื่นตัวมากเพราะมีผลกระทบโดยตรง และเดือดร้อนกันมาก เพราะวิธีคิดเงินบำเหน็จบำนาญของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ถูกต้อง จึงพยายามที่จะต่อสู้ ให้ครูได้รับอย่างน้อยมีเงินเหลือประมาณร้อยละ 80 ของเงินเดือนๆ สุดท้าย หลังเกษียณอายุราชการ” นายเลิศชาย กล่าว